รัชนีศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัชนีศ
รัชนีศในเดือนกันยายน ค.ศ. 1984
เกิดจันทระ โมหัน ไชน
11 ธันวาคม ค.ศ. 1931(1931-12-11)
Kuchwada, รัฐโภปาล, บริติชอินเดีย
เสียชีวิต19 มกราคม ค.ศ. 1990(1990-01-19) (58 ปี)
ปูเน รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย
สัญชาติอินเดีย
มีชื่อเสียงจากอาธยาตมิกตา, รหัสยลัทธิ
ขบวนการนวสันนยาสิน
เว็บไซต์osho.com

รัชนีศ (ฮินดี: रजनीश) หรือที่รู้จักในนาม โอโช (ญี่ปุ่น: 和尚 oshō) เป็นคุรุชาวอินเดีย ผู้ก่อตั้งขบวนการรัชนีศ

ช่วงที่เขามีชีวิต ในคริสต์ทศวรรษ 1960 รัชนีศเดินทางทั่วอินเดีย แสดงปาฐกถาวิพากษ์แนวคิดสังคมนิยมว่าไม่เหมาะกับอินเดีย เพราะสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ และอนาธิปไตย จะพัฒนาขึ้นได้ในสังคมที่ทุนนิยมเติบโตเต็มที่เท่านั้น นอกจากนี้เขายังวิพากษ์มหาตมา คานธี[1][2][3]และศาสนากระแสหลักในสมัยนั้นด้วย[4][5][6] เขาเน้นการฝึกสมาธิ สติ ความรัก การเฉลิมฉลอง ความกล้า ความคิดสร้างสรรค์ ความร่าเริง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ถูกความเชื่อ ศาสนา และสังคม กดทับไว้ให้แสดงออกได้ไม่เต็มที่ เขายังสนับสนุนการแสดงออกด้านเพศสภาพของมนุษย์[6] จนถูกวิจารณ์อย่างมากและได้รับฉายาว่า กามคุรุ[7][8]

ปี ค.ศ. 1970 รัชนีศอาศัยที่มุมไบ เพื่อสอนสาวกซึ่งเขาเรียกว่านวสันนยาสิน ปีต่อมาเขาเริ่มใช้ชื่อว่า ภควาน ศรี รัชนีศ (भगवान श्री रजनीश)[9] และเขียนวจนิพนธ์หลายเรื่องเกี่ยวกับศาสนา รหัสยิก และนักปรัชญาทั่วโลก ปี ค.ศ. 1974 เขาย้ายไปตั้งอาศรมที่ปูเน เพื่อให้การบำบัดแก่ชาวตะวันตกที่มาเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น[10][11] แต่ในปลายทศววรรษนั้นรัฐบาลพรรคชนตาได้เข้าตรวจสอบสำนัก และเรียกเก็บภาษีย้อนหลังประมาณ 5 ล้านดอลลาร์[12]

ปี ค.ศ. 1981 รัชนีศให้ย้ายสำนักไปตั้งที่รัฐออริกอน ตั้งชื่อว่า "รัชนีศปุรัม" แต่เกิดปัญหาขัดแย้งกับประชาชนและรัฐบาลท้องถิ่นอย่างรุนแรง จนนำไปสู่การวางยาลอบสังหารประชาชนและลอบสังหารอัยการประจำรัฐออริกอน สาวกของเขารับสารภาพว่าเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด[13] ส่วนรัชนีศถูกเนรเทศจากสหรัฐ รัฐบาล 21 ประเทศปฏิเสธไม่รับเขาเข้าประเทศ[14] เขาจึงต้องกลับไปอาศัยที่อาศรมในเมืองปูเน ในช่วงนี้เขาสนใจศึกษานิกายเซน[15] เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 เขาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น โอโช รัชนีศ จนถึงเดือนกันยายนจึงย่อเหลือเพียง โอโช[15][16] และให้เปลี่ยนชื่อองค์กรทั้งหมดจากรัชนีศเป็นโอโช (OSHO)[17][18] ต่อมาเขาสุขภาพอ่อนแอลง จนถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1990

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. FitzGerald 1986a, p. 77
  2. Carter 1990, p. 44
  3. Gordon 1987, pp. 26–27
  4. "Archived copy" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 March 2019. สืบค้นเมื่อ 25 March 2019.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  5. Mehta 1993, p. 150
  6. 6.0 6.1 Joshi 1982, pp. 1–4
  7. Urban 1996, p. 82
  8. Carter 1990, p. 45
  9. FitzGerald 1986a, p. 78
  10. Joshi 1982, p. 123
  11. Mullan 1983, pp. 26
  12. Carter 1990, pp. 63–64
  13. FitzGerald 1986b, p. 108
  14. Aveling 1999, p. xxii
  15. 15.0 15.1 Fox 2002, p. 34
  16. Süss 1996, p. 30
  17. "OSHO: Background Information". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (etext)เมื่อ 20 February 2012. สืบค้นเมื่อ 10 January 2011.
  18. Trademarks of Osho International Foundation เก็บถาวร 19 มิถุนายน 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 20 June 2018.
บรรณานุกรม