ฟาเธอร์แลนด์ (นวนิยาย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฟาเธอร์แลนด์  
ผู้ประพันธ์รอเบิร์ต แฮร์ริส
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาภาษาอังกฤษ
ประเภทระทึกขวัญ, ประวัติศาสตร์ประยุกต์
สำนักพิมพ์ฮัตชินสัน
ปราชญ์เปรียว (ไทย)
วันที่พิมพ์7 พฤษภาคม ค.ศ. 1992
ค.ศ. 2008 (ไทย)
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์
หน้า372 หน้า (ปกแข็ง, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1)
395 หน้า (ไทย)
ISBN0-09-174827-5 (ปกแข็ง, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1)
OCLC26548520

ฟาเธอร์แลนด์ เป็นนวนิยายขายดีในปี ค.ศ. 1992 มีเนื้อหาแนวสืบสวน-ฆาตกรรม เขียนโดยนักข่าวอังกฤษ รอเบิร์ต แฮร์ริส โดยมีจุดเด่นคือ ประวัติศาสตร์สมมุติว่า หากนาซีเยอรมนีชนะสงครามโลกครั้งที่สอง โลกจะเป็นอย่างไร ฉบับภาษาไทยแปลโดยนพดล เวชสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดยปราชญ์เปรียวสำนักพิมพ์ ในปี ค.ศ. 2008[1]

เนื้อเรื่อง[แก้]

ปี ค.ศ. 1964 7 วันก่อนวันเกิดของฮิตเลอร์ นักสืบหนุ่มไฟแรง พันตำรวจตรีซาเวียร์ มาร์ช สังกัด ครีมินัลโพลิไซ ได้รับแจ้งว่า มีชายชราเสียชีวิตอยู่ที่ริมทะเลสาบฮาเฟิล มาร์ชจึงไปสืบสวนคดีนี้ร่วมกับมักซ์ ยาเอเกอร์ แต่แล้วคดีฆาตกรรมนี้ก็ถูกโอนไปให้เกสตาโปรับผิดชอบ เนื่องจากมาร์ชไม่ไว้วางใจเกสตาโป จึงหาทางสืบคดีนี้ จนทราบว่า ผู้เสียชีวิตคือโจเซฟ บูลเลอร์ เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของพรรคนาซี

มาร์ชพบเงื่อนงำต่าง ๆ มากมายจากปากของชาร์ล็อต แมกไกรฟ์ (ชาร์ลี) นักข่าวของสำนักพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ซึ่งเข้ามาทำข่าวในเยอรมนี เนื่องจากอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะมีงานเฉลิมฉลองแด่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในวาระที่อายุครบ 75 ปี โดยโจเซฟ แพทริก เคนเนดีก็จะมาร่วมงานนี้ด้วย มาร์ชได้ยินคำเล่าลือต่าง ๆ เกี่ยวกับพรรคนาซีมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ ยามที่มาร์ชพยายามค้นประวัติของโจเซฟ บูลเลอร์ เขายังถูกพวกเกสตาโปที่นำโดยโอดีโล โกลบ็อทช์นิค (โกลบูส) ตามไล่ล่าเขาอีกด้วย โดยมาร์ชพบว่า บูลเลอร์มีผู้ร่วมงานอีกสองคน คือมาร์ติน ลูเธอร์ และวิลเฮล์ม ชตุคการ์ด

มาร์ชได้ขอคำอนุญาตพิเศษจากอาทูร์ เนเบอ เพื่อไปสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากลูเธอร์ได้เก็บความลับอะไรบางอย่างไว้ในบัญชีของเขาที่สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมันก็คือเอกสารที่กล่าวว่า สามคนนี้ยังมีส่วนร่วมในแผนการสร้างค่ายกักกันซึ่งมีไรน์ฮาร์ท ไฮดริชเป็นผู้คุมงานอีกด้วย เมื่อมาร์ชกลับมาที่เยอรมนี แล้วค้นเอกสารลับในหอสมุดแห่งชาติ จนพบเอกสารที่กล่าวถึงแผนการล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งผู้ร่วมงานกับไฮดริชมีทั้งหมด 14 คน ซึ่ง 13 คนในจำนวนนี้เสียชีวิตโดยรวมถึงบูลเลอร์ ซึ่งถูกระบุว่าฆ่าตัวตาย ทำให้มาร์ชเข้าใจว่า 13 คนที่ตายไปนี้อาจถูกลอบสังหาร แล้วพรางให้เป็นอุบัติเหตุ มาร์ชจึงขอชาร์ลีและเพื่อนร่วมงานอื่น ๆ ให้ช่วยปกป้องลูเธอร์ แต่แล้วลูเธอร์ก็ถูกลอบสังหาร

มาร์ชจึงพยายามค้นหาเอกสารที่สนามบิน จนพบเอกสารที่กล่าวถึงการล้างชาติพันธุ์โดยนาซีอย่างละเอียดยิบ แล้วเขาจึงขอให้ชาร์ลีนำเอกสารนี้ออกนอกประเทศ เพื่อให้คนทั่วโลกได้รับรู้ความลับของเยอรมนี ส่วนมาร์ชก็มุ่งหน้าไปที่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์เพื่อหาหลักฐานที่ชัดเจนมากขึ้น แต่แล้วพวกเกสตาโปก็จับตัวมาร์ช แล้วรุมซ้อมให้รับสารภาพก่อนจะพามาร์ชไปให้เครบกับเนเบอรับไปลงโทษทางกฎหมาย แต่เครบกับเนเบอก็ขอให้มาร์ชหาค่ายต่อไป มาร์ชไปกับยาเอเกอร์ จนพบว่ายาเอเกอร์หักหลังโดยบอกเรื่องของมาร์ชไปให้เกสตาโปทั้งหมด

และแล้วมาร์ชก็ถูกกองกำลังเกสตาโปล้อมจับ มาร์ชออกไปต่อสู้คนเดียว แม้จะรู้ว่าไม่สามารถเอาชนะกองกำลังติดอาวุธได้ก็ตามที ส่วนชาร์ลีสามารถหนีออกจากเยอรมนีได้สำเร็จ

ตัวละคร[แก้]

ตัวละครสมมุติ
  • พันตำรวจตรีซาเวียร์ มาร์ช หรือ ซาวี แฮร์ ชตวร์มบานฟือเรอห์ (ชตวร์มบานฟือเรอห์เป็นยศของ SS เทียบได้กับพันตรี) ตำรวจลับอายุ 41 ปี พักอาศัยอยู่ในเบอร์ลิน เป็นตำรวจสังกัดสืบสวนคดีทั่วไป ครีมินัลโพลิไซ ในอดีตเขาเคยเป็นลูกเรือของเรือดำน้ำ แม้จะมีคุณสมบัติทางชาติพันธุ์ที่เหมาะสมแต่นิสัยกลับไม่เหมาะสมเลย ไม่ว่าจะสูบบุหรี่ ล้อเลียนนาซีด้วยอารมณ์ขันเล็ก ๆ
  • ชาร์ล็อต แมกไกรฟ์ หรือ ชาร์ลี นักข่าวสาวอายุ 25 ปี ทำงานกับหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์
  • พอล มาร์ช หรือ พีลี ลูกชายอายุ 10 ปีของมาร์ช เขาเป็นยุวชนฮิตเลอร์ตามกฎหมายของนาซี
  • มักซ์ ยาเอเกอร์ เพื่อนสนิทของมาร์ช รูปร่างอ้วนกลม อายุ 50 ปี อยู่สังกัดเดียวกันกับมาร์ช มีภรรยาอยู่หนึ่งคนและลูกสาวอีกหนุ่งคน
  • รูดอล์ฟ ฮาลเดอร์ เพื่อนสนิทของมาร์ชเช่นกัน
ตัวละครจริงในประวัติศาสตร์
  • โอดีโล โกลบ็อกนิก (โกลบูส) ผู้บังคับการหน่วยเกสตาโปที่ตามล่ามาร์ช เขาเป็นคนโหดร้ายแบบหน่วยเอสเอส มีฉายาว่า เรือดำน้ำ เนื่องจากอัดไอเสียจากเครื่องเรือดำน้ำเพื่อฆ่านักโทษ
  • อาร์ทู เนเบอ ผู้บังคับการสูงสุดของครีมินัลโพลิไซ เขาเป็นชายชราอายุร่วม ๆ 70 ปี เขามีท่าทีไม่ชอบพวกเกสตาโป
  • ไรน์ฮาร์ท ไฮดริช ผู้รอดชีวิตจากการลอบสังหารในกรุงปรากในสาธารณรัฐเชคมาได้อย่างหวุดหวิด ในเรื่องเขาควบคุมหน่วยเอสเอส เกสตาโป และอาจจะกุมอำนาจทั้งหมดไว้คนเดียว เนื่องจากการเสียชีวิตของแฮร์มัน เกอริง และไฮน์ริช ฮิมเลอร์

ฉากของเรื่องฟาเธอร์แลนด์[แก้]

ประวัติศาสตร์

ในปี ค.ศ. 1943 กองทัพเยอรมันสามารถบุกยึดเทือกเขาคอเคซัส และบ่อน้ำมันบาคเอาไว้ได้ ทำให้กองทัพรถถังอันน่าพรั่นพรึงของรัสเซียขาดน้ำมันจนไม่สามารถรบได้อีกต่อไป ทำให้กองทัพนาซีสามารถบุกเข้าสหภาพโซเวียตได้อย่างต่อเนื่อง แต่สงครามครั้งนี้ยาวนานและยังมีการปะทะอยู่

ในปี ค.ศ. 1944 หลังจากที่สหราชอาณาจักร สามารถถอดรหัสเครื่องเอนิกมาได้แล้ว กองทัพเยอรมันจึงใช้เครื่องเข้ารหัสใหม่ ทำให้กองทัพเรือดำน้ำสามารปฏิบัติการได้อย่างเต็มที่ และการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของเยอรมันสำเร็จได้เป็นประเทศแรก ทำให้สหราชอาณาจักรยอมแพ้ วินสตัน เชอร์ชิลและพระเจ้าจอร์จที่ 6 รวมไปถึงนักการเมืองคนอื่น ๆ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศแคนาดา

ในปี ค.ศ. 1946 หลังจากที่จักรวรรดิญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามต่อสหรัฐอเมริกาจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ เยอรมนีก็ยิงจรวดวี 3 ไประเบิดกลางฟ้าที่นครนิวยอร์กทำให้สหรัฐอเมริกาเจรจาหยุดยิงกับเยอรมนี ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองจบลง เยอรมันได้เซ็นสนธิสัญญากรุงโรมซึ่งนำไปสู่การยุบรวมประเทศทุกประเทศในยุโรปตะวันตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมัน ยกเว้นแต่สวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น

แต่สงครามเยอรมนี-รัสเซียยังไม่จบดี ในเรื่องนี้ กองทัพนาซีสามารถรุกรานจนใกล้ถึงเทือกเขายูรัล แต่สงครามที่ยังไม่จบสิ้นทำให้ชาวเยอรมนียังประสบกับความอดอยากอยู่พอสมควร

แผนที่ของนาซีเยอรมนีในเรื่องนี้

หลังจากนั้น เยอรมันกับสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มต้นสั่งสมอาวุธร้ายแรงและกำลังทหารจำนวนมาก ซึ่งการสะสมอาวุธครั้งนี้เรียกว่า สงครามเย็น ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 1964 ตามท้องเรื่องนี้ สงครามเย็นกำลังอ่อนตัวลงตามแผนลดความรุนแรง (เดทันต์) ที่คิดขึ้นโดยจอห์น เอฟ. เคนเนดี นำไปสู่การเจรจาทางการค้าต่าง ๆ

เทคโนโลยี

นอกจากเทคโนโลยีด้านอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกแล้ว ยังมีเทคโนโลยีด้านเรือดำน้ำนิวเคลียร์และแผนการบุกเบิกอวกาศ ส่วนในด้านประชาชนก็มีทั้งการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย หรือเครื่องบินไอพ่นเพื่อการพาณิชย์และการทหารด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. "ฟาเธอร์แลนด์ = Fatherland". สำนักงานวิทยทรัพยากร - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ January 4, 2021.