พูแดจีแก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พูแดจีแก
ประเภทจีแก
แหล่งกำเนิดเกาหลี
พูแดจีแก
ฮันกึล
부대찌개
ฮันจา
อาร์อาร์budae jjigae
เอ็มอาร์pudae tchigae

พูแดจีแก (เกาหลี: 부대찌개, แปลว่า "สตูกองทัพ") เป็นอาหารประเภท จีแก (ซุปเกาหลีมีลักษณะเหมือนกับสตูของตะวันตก) ไม่นานนักหลังจากสงครามเกาหลี อาหารเป็นที่ขาดแคลนไปทั่วทั้งโซล ผู้คนจำนวนหนึ่งจึงใช้วัตถุดิบที่เหลือจากกองทัพสหรัฐอเมริกาที่ประจำการในเกาหลีใต้ ในพื้นที่รอบ ๆ อึยจ็องบูและพย็องแท็ก (หรือซงทันในขณะนั้น)[1] หรือมุนซัน วัตถุดิบประกอบไปด้วยฮอตดอก, เนื้อกระป๋อง (สแปม) หรือแฮม ผสมกันลงไปในน้ำซุปรสเผ็ดดั้งเดิมของเกาหลีปรุงรสด้วย โคชูจัง (พริกแดงที่มีลักษณะเหนียว) และกิมจิ

พูแดจีแกยังคงได้รับความนิยมอยู่ในเกาหลีใต้ โดยในปัจจุบันมักผสมเครื่องปรุงสมัยใหม่เข้าไปด้วย เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อเมริกันชีสที่หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนเครื่องปรุงอื่น ๆ ก็ประกอบไปด้วยเนื้อบด, ไส้กรอกหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ, ถั่วกระป๋อง, มีนารี, หอมใหญ่, หอมต้นเดี่ยว, ต็อก, เต้าหู้, พริก, มะกะโรนี, กระเทียม, เห็ด และผักอื่น ๆ ตามฤดูกาล[2]

ต้นกำเนิด[แก้]

พูแดจีแกเริ่มทำขึ้นในช่วงระหว่างสงครามเกาหลี และได้รับความนิยมอย่างมากภายหลังจากนั้น ในขณะที่ชาวเกาหลีประสบภาวะอาหารขาดแคลนในช่วงสงครามเกาหลี ชาวเกาหลีนำส่วนผสมที่เหลือทิ้งจากกองทัพอเมริกันเช่นเนื้อกระป๋องและฮอตดอกหรืออย่างอื่นที่หาได้มาผสมรวมกันแล้วรับประทาน[3] โดยส่วนผสมทั้งหมดผสมในหม้อใบใหญ่แล้วต้ม[4] ในช่วงแรกอาหารประเภทนี้ถูกเรียกว่า ชนซึนทัง (존슨 탕) ซึ่งได้ชื่อมาจากนามสกุลจอห์นสันของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาลินดอน บี. จอห์นสัน กับคำว่า ทัง (, ) ซึ่งมีความหมายว่าซุป[5][6]

เมืองอึยจ็องบู (ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับโซลทางทิศเหนือและมีฐานทัพอเมริกันหลายแห่ง) มีชื่อเสียงจากอาหารพูแดจีแก ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทางเมืองได้ออกข้อกำหนดให้เรียกชื่ออาหารนี้ว่า อึยจ็องบูจีแก เพื่อถอนคำว่า พูแด ซึ่งแปลว่ากองทัพหรืออะไรที่เกี่ยวกับการทหารออกไป มีเพียงร้านอาหารไม่กี่แห่งที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ มิหนำซ้ำร้านอาหารบางแห่งยังเพียงแค่เติมชื่อเมืองโดยไม่ถอนคำว่า พูแด ออกไปเป็นชื่อ อึยจ็องบูบูแดจีแก และที่อึยจ็องบูยังมีถนนซึ่งมีชื่อเรียกว่า "ถนนอึยจ็องบูบูแดจีแก" เป็นถนนที่สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านอาหารที่ขายพูแดจีแก[7][8]

อ้างอิง[แก้]

  1. "수도권III 우리 동네 명물 송탄의 부대찌개". The Chosun Ilbo (ภาษาเกาหลี). 3 December 2009. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.
  2. Lee, Hyo-won (24 June 2010). "Life post-June 25, 1950: Korean War's impact on local diet & fashion". Korea Times. สืบค้นเมื่อ 1 April 2013.
  3. Williamson, Lucy (19 September 2013). "Why is Spam a luxury food in South Korea?". BBC News. สืบค้นเมื่อ 19 September 2013.
  4. "Korean Food: Stews". Life in Korea. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.
  5. Lee Yong-sung; Kim Hyun-chul (30 December 2004). "From Trash to Delicious Treasure". The Korea Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-01-13. สืบค้นเมื่อ 1 April 2012.{{cite news}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  6. Kang, Michelle (16 November 2012). "Grandma bone soup is not what you think it is". Joongang Daily. สืบค้นเมื่อ 1 April 2013.
  7. "Uijeongbu restaurant owners take pride in army base stew". Korea Times. 26 June 2012. สืบค้นเมื่อ 1 April 2013.
  8. Kim, Violet (6 April 2012). "Food map: Eat your way around Korea". CNN Travel. สืบค้นเมื่อ 2012-04-12.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]