พิธีย่ำพระสุริย์ศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พิธีย่ำพระสุริย์ศรี เป็นพิธีการของทหารเรือไทยพิธีหนึ่ง คล้ายกับการสวนสนามเพื่ออำลาชีวิตราชการของผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน เป็นต้น กระทำในเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ มีความสวยงามจากดวงไฟที่ประดับและลำแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ก่อนที่จะลับขอบฟ้า

พิธีย่ำพระสุริย์ศรี มีขึ้นครั้งแรกที่บริเวณที่บริเวณสนามหน้ากองบัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ในโอกาสที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ฉลองพระเกียรติ เรือโทหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และได้จัดให้มีพิธีเช่นเดียวกันนี้ต่อเนื่องอีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งพิธีนี้นั้นจะเริ่มกระทำในเวลาที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าพอดี (ประมาณ 18.00 น.) ถือเป็นขนบธรรมเนียมของทหารหน่วยนาวิกโยธิน โดยมีการอัญเชิญธงราชนาวีลงจากยอดเสา โดยทั่วไปที่ถือเอาเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าเป็นหลัก จึงได้ชื่อว่า "พิธีย่ำพระสุริย์ศรี" ซึ่งเรียกตามชื่อ "เพลงพระสุริย์ศรี" ซึ่งเป็นเพลงที่เกิดจากภูมิปัญญาทหารเรือไทยที่พัฒนาจากจังหวะเพลงย่ำค่ำ มาเป็นเพลงบรรเลงรูปจบกระบวนของการแสดงดนตรีสยาม หรือเพลง ฟีนาเล่ และด้วยเหตุผลที่ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ เมื่อเชิญธงราชนาวีลงจากยอดเสา พลแตรเดี่ยวจะเป่าเพลง ย่ำค่ำ อันเป็นตำนานเก่าแก่สืบมาช้านาน จึงน่าอนุโลมใช้คำ ย่ำพระสุริย์ศรี กับพิธีการเช่นนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษนัก แต่มีความหมายในภาษาไทยว่า การจบ สิ้นสุด หรือยุติลงอย่างสง่างาม ซึ่งสอดรับกับพิธีการของการอำลาชีวิตราชการอย่างกลมกลืน ดังนั้น พิธีย่ำพระสุริย์ศรี จึงมีความเป็นมาด้วยประการเช่นนี้ โดยพิธีการนี้ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน มิได้ลอกเลียนแบบมาจากหน่วยทหารสวนสนามของนาวิกโยธินสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใดเพียงแต่อาศัยเค้าโครงมาสอดแทรกการแสดงทางทหารประกอบวงโยธวาทิต ซึ่งทั้งสิ้นจะกระทำอยู่ท่ามกลางความสว่างจากดวงไฟที่จัดไว้อย่างเหมาะสม โดยมีลำแสงของพระอาทิตย์ที่ทาบทาท้องฟ้ายามเย็นย่ำเป็นฉากหลังที่สวยงามตามธรรมชาติ และปิดท้ายด้วยการจุดพลุดอกไม้ไฟอันงดงามตระการตา หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน จะจัดพิธีเช่นนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ หรือเทิดเกียรติ หรือเทิดเกียรติบุคคลสำคัญของกองทัพเรือเท่านั้น พิธีดังกล่าว จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่ลำแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์จะค่อย ๆ เลือนลับไปกับความมืด และเหมาะสมสำหรับการต่อด้วยงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นพิธีการ ที่สามารถจัดขึ้นในเวลาถัดไปในสถานที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]