ข้ามไปเนื้อหา

พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเมตตาวิหารีเถร

(ปัด รัตตาคม , ธมฺมสโร)
คำนำหน้าชื่อท่านเจ้าคุณ
ชื่ออื่นหลวงพ่อปัด , ท่านเจ้าคุณปัด
ส่วนบุคคล
เกิด14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 (81 ปี)
มรณภาพ10 เมษายน พ.ศ. 2507
นิกายมหานิกาย
การศึกษา- ภาษาจีน
- คณิตศาสตร์ (ลูกคิด)
- พระธรรมวินัย
- อักษรสมัย
- พระปริยัติธรรม
- สมถกรรมฐาน
- วิปัสสนากรรมฐาน
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 
อุปสมบท23 กรกฎาคม พ.ศ. 2447
พรรษา60 พรรษา
ตำแหน่ง- เจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์
- เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร

พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร) นิยมเรียกว่า “หลวงพ่อปัด” หรือ "ท่านเจ้าคุณปัด" เป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียงของฝั่งธนบุรี อดีตเจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์ อดีตเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันแขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร)

ประวัติ

[แก้]

ชาติภูมิ

[แก้]

ชื่อ ปัด นามสกุล เกิดวัน ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น รัตตาคม ชาตะ วันพุธ ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 (วันพระ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีมะแม) ณ บ้านเตาอิฐ แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่ที่ 5 ตำบลวังหว้า อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี)

เป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวน 2 คน ของนายคอยเกี้ยน (ชาวจีน) นามสกุล แซ่จู[1] กับนางแดง (ชาวไทย) นามสกุล เกิดวัน ครอบครัวบิดาประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนมารดาประกอบอาชีพเกษตรกร[2]

วัยเยาว์ - วัยหนุ่ม

[แก้]

วัยเยาว์ได้รับการศึกษาเบื้องต้น ภาษาจีน และคณิตศาสตร์ (ลูกคิด) จากบิดา มีหน้าที่ช่วยเลี้ยงดูน้องที่ยังเล็ก เนื่องจากมารดาต้องประกอบอาชีพเกษตรกร ส่วนบิดามีอาชีพค้าขายข้าว ต้องนำเรือบรรทุกข้าวขึ้นล่องระหว่างเมืองสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร[2]

จวบจนเติบโตเป็นหนุ่มจึงช่วยบิดาทำการค้าขายข้าว กระทั่งบิดาป่วยหนักแล้วถึงแก่กรรม จึงหยุดลง

อุปสมบท

[แก้]

วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 (วันเสาร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 8 หลัง ปีมะโรง) บรรพชาและอุปสมบทพัทธสีมาวัดพร้าว อำเภอเมือง เมืองสุพรรณบุรี โดยมี[3]

พระครูปลื้ม เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์ เจ้าอาวาสวัดพร้าว (หลวงพ่อปลื้มเล็ก วัดพร้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระปลื้ม วัดพร้าว (หลวงพ่อปลื้มใหญ่ วัดพร้าว) เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระสมุห์พริ้ง วชิรสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดจันทร์ (หลวงพ่อพริ้ง วัดวรจันทร์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า ธมฺมสโร[4] [ทำ - มะ - สะ - โร]

การศึกษา

[แก้]

อุปสมบทแล้วจำพรรษาอยู่ที่วัดพร้าว อำเภอเมือง เมืองสุพรรณบุรี และวัดเกาะ[5] อำเภอศรีประจันต์ เมืองสุพรรณบุรี รวมเป็นระยะเวลา 3 พรรษา (พ.ศ. 2447 - 2449)

ศึกษาพระธรรมวินัยจากพระครูปลื้ม เจ้าอาวาสวัดพร้าว ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากพระอธิการพลาย (หลวงปู่เฒ่าพลาย) เจ้าอาวาสวัดเกาะ ศึกษาอักษรสมัยจากพระใบฎีกาอินทร์ เจ้าอาวาสวัดใหม่ (วัดราษฎรบำรุง) ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน

พ.ศ. 2450 - 2464 ย้ายมาศึกษาพระปริยัติธรรมและจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร ในสมัยพระธรรมเจดีย์ (แก้ว) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นเจ้าอาวาส

ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระภิกษุสด จนฺทสโร (เพื่อนพระภิกษุชาวเมืองสุพรรณบุรี) ได้ชักชวนศึกษาสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน จากพระอาจารย์ต่างๆ อาทิ พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) วัดราชสิทธาราม พระครูฌานวิรัต (โป๊ ธมฺมปาโล) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

เคยออกธุดงค์ไปถึงเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า และจำพรรษาอยู่ที่นั่นเป็นระยะเวลา 1 พรรษา

สหธรรมิก

[แก้]

ศิษย์

[แก้]

ตำแหน่ง

[แก้]

งานปกครอง

[แก้]
  • พ.ศ. 2465 เป็นเจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี[6]
  • พ.ศ. 2470 เป็นพระอุปัชฌาย์[2]
  • พ.ศ. 2472 เป็นเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร พระอารามหลวง[7]
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็นเจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์[2]

เจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี

[แก้]

พระราชสุธี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เจ้าคณะแขวงอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ส่งพระฐานานุกรมของท่านไปปกครองวัดต่างๆ ดังนี้

พระครูปลัดป่วน เกสโร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเจ้าอาวาสวัดนางชีโชติการาม อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี

พระครูสมุห์สด จนฺทสโร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี

พระครูใบฎีกาปัด ธมฺมสโร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นเจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี ตั้งแต่ พ.ศ. 2465 ถึง พ.ศ. 2472 รวมเป็นระยะเวลา 7 ปี

เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร

[แก้]

วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์ ให้พระครูสมุห์ปัด วัดชัยฉิมพลี เป็นพระครูเมตตาวิหารี ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร พระอารามหลวง ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี[7]

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร ตั้งแต่ พ.ศ. 2472 ถึง พ.ศ. 2507 รวมเป็นระยะเวลา 35 ปี

เกียรติคุณ

[แก้]

เป็นพระราชาคณะ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้รับพระราชทานพัดงาสาน ซึ่งพระราชทานเฉพาะพระราชาคณะผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาเท่านั้น เป็นพัดซึ่งสร้างจากงาช้างทั้งเล่ม หน้านาง งาสาน ขอบงา คาบตับงา ด้ามงาต่อ ส้นและคอแกะเป็นบัวกลุ่ม ยอดเป็นเม็ดทรงมัณฑ์

สมณศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2464 เป็นพระฐานานุกรมใน พระราชสุธี (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) ที่ พระครูใบฎีกาปัด ธมฺมสโร[8]
  • พ.ศ. 2469 เป็นพระฐานานุกรมใน พระธรรมปิฎก (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) ที่ พระครูสมุห์ปัด ธมฺมสโร[9]

มรณภาพ

[แก้]

พระเมตตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร) มรณภาพด้วยโรคชรา วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2507 เวลา 01.10 น. สิริอายุ 81 ปี 4 เดือน 26 วัน อุปสมบทได้ 60 พรรษา[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล). (2560). เจ้าคุณสุพรรณ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: หจก.สามลดา.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 อุสุม เมืองถ้ำ. (2518, กันยายน). เหรียญดีที่ยังพอหาได้. สิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระเครื่อง. 1(18): 31 - 35.
  3. พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2563). ที่ระลึก 125 ปีชาตกาล 40 ปีมรณภาพ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กุศลบุญการพิมพ์.
  4. กรมธรรมการ. (2473). ทำเนียบสมณศักดิ์ กับ ทำเนียบเปรียญ พ.ศ.2473. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
  5. พระปลัดสกล ปญฺญาพโล. (2523). ประวัติพระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). กรุงเทพฯ: อาทรการพิมพ์.
  6. ประวัติวัดชัยฉิมพลี วัดชัยฉิมพลี Watchaichimphli
  7. 7.0 7.1 7.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 46 ง, 17 พฤศจิกายน 2472, หน้า 2659
  8. ราชกิจจานุเบกษา, การสถาปนาและเลื่อนสมณศักดิ์, เล่ม 38, ตอน 0 ง, 2 ตุลาคม 2464, หน้า 1833
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 26 2469, หน้า 3074
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ , เล่ม 67, ตอนที่ 67 ง, 12 ธันวาคม 2493, หน้า 6321

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า พระเมตตาวิหารีเถร (ปัด ธมฺมสโร) ถัดไป
พระอธิการนิ่ม
เจ้าอาวาสวัดชัยฉิมพลี
(พ.ศ. 2465 — พ.ศ. 2472)
พระอธิการเตียบ ฉนฺโท
พระวิสุทธิสารเถร (ผ่อง ธมฺมโชติโก)
เจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์
(พ.ศ. 2472 – พ.ศ. 2507)
พระครูสังวรสมาธิวัตร (ชอุ่ม ผาสุโก)
รักษาการ
ไม่พบข้อมูล
เจ้าคณะตำบลคูหาสวรรค์
(พ.ศ. ไม่พบข้อมูล – พ.ศ. 2507)
ไม่พบข้อมูล