พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย
อเล็กซานเดอร์ โอเบรโนวิก
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย
เจ้าชายแห่งเซอร์เบีย
พระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบีย
ครองราชย์6 มีนาคม ค.ศ. 1889 - 11 มิถุนายน ค.ศ. 1903
รัชสมัย14 ปี 97 วัน
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้ามิลานที่ 1
รัชกาลถัดไปพระเจ้าปีเตอร์ที่ 1
ประสูติ14 สิงหาคม ค.ศ. 1876
เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย
สวรรคต11 มิถุนายน ค.ศ. 1903
เบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย
(พระชนมายุ 26 พรรษา)
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย
ราชวงศ์โอเบรโนวิก
พระราชบิดาพระเจ้ามิลานที่ 1 แห่งเซอร์เบีย
พระราชมารดานาตาลี เคสโก

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย หรือ อเล็กซานเดอร์ โอเบรโนวิก (เซอร์เบีย: Александар Обреновић; 14 สิงหาคม ค.ศ. 1876 - 11 มิถุนายน ค.ศ. 1903) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบียตั้งแต่ค.ศ. 1889 ถึงค.ศ. 1903 เมื่อพระองค์และพระมเหสีคือ สมเด็จพระราชินีดรากาถูกลอบปลงพระชนม์ภายในพระราชวังหลวง กรุงเบลเกรดโดยกลุ่มทหาร[1] นำโดยดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก เอพิส ซึ่งเรียกว่าเหตุการณ์การโค่นล้มอำนาจเดือนพฤษภาคม

ครองราชย์[แก้]

เจ้าชายอเล็กซานเดอร์เมื่อทรงพระเยาว์กับพระเจ้ามิลานที่ 1 แห่งเซอร์เบีย ภาพฉายหนึ่งปีก่อนที่จะสละราชบัลลังก์ให้พระโอรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ในปีค.ศ. 1889 พระราชบิดาของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ คือ พระเจ้ามิลานที่ 1 แห่งเซอร์เบีย ทรงสละราชบัลลังก์อย่างไม่คาดคิดและทรงออกไปดำรงพระชนม์ชีพส่วนพระองค์ ได้มีการประกาศให้เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ทรงดำรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบียภายใต้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะในพระชนมายุ 18 พรรษา สมเด็จพระราชินีนาตาลียาทรงดำรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในปีค.ศ. 1893 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงมีพระชนมายุ 16 พรรษา ทรงสำคัญพระองค์เองว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว ด้วยการปลดผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรัฐบาล และทรงนำพระราชอำนาจมาไว้ที่พระองค์เอง การกระทำของพระองค์ได้รับการสนับสนุนอย่างมาก โดยที่ทรงแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากฝ่ายพรรคการเมืองปฏิกิริยา

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1894 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงล้มล้างรัฐธรรมนูญเสรีนิยมของพระเจ้ามิลานในปีค.ศ. 1888 โดยพลการและทรงฟื้นฟูรัฐธรรมนูญฉบับอนุรักษนิยมในปีค.ศ. 1869 ทัศนคติของพระองค์ต่อสงครามกรีซ - ตุรกี (1897) ทรงแสดงความเป็นกลางอย่างเห็นได้ชัด

ในปีค.ศ. 1894 พระมหากษัตริย์หนุ่มทรงนำพระราชบิดากลับมายังเซอร์เบีย และในปีค.ศ. 1898 ทรงแต่งตั้งอดีตพระมหากษัตริย์เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเซอร์เบีย ในช่วงนี้อดีตพระเจ้ามิลานทรงใช้อำนาจในการปกครองโดยพฤตินัย

อภิเษกสมรส[แก้]

ในฤดูร้อนของปีค.ศ. 1900 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ประกาศหมั้นกับแม่ม่ายคือ ดรากา มาซินอย่างทันทีทันใด ซึ่งเคยเป็นอดีตนางสนองพระโอษฐ์ในพระราชมารดาของพระองค์ การกระทำเช่นนี้ทำให้พระองค์ทรงถูกต่อต้านอย่างมาก ด้วยพระองค์มิได้ทรงปรึกษากับพระราชบิดาซึ่งเสด็จไปพักผ่อนที่คาร์โลวี วารี และเพื่อเตรียมการสู่ขอเจ้าหญิงเยอรมัน เจ้าหญิงอเล็กซานดราแห่งชอมบวร์ก-ลิปป์พระธิดาในเจ้าชายวิลเลียมแห่งชอมบวร์ก-ลิปป์ ให้แก่พระโอรส และในช่วงที่นายกรัฐมนตรีของพระองค์ วลาดัน จอร์เจวิกได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมการแสดงนิทรรศการนานาชาติที่กรุงปารีสในช่วงที่มีประกาศออกมา ทั้งอดีตพระเจ้ามิลานและนายกรัฐมนตรีจอร์เจวิกได้ลาออกจากตำแหน่งและทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มีความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ พระมารดาของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ก็ทรงคัดค้านการอภิเษกสมรสด้วยและต่อมาทรงถูกเนรเทศออกจากราชอาณาจักร พระนางทรงได้รับการเห็นใจจากประเทศใกล้เคียง เช่น ออสเตรีย-ฮังการีและบัลแกเรีย

ความขัดแย้งในสหภาพดูเหมือนจะเบาบางลงบ้างเมื่อมีการประกาศแสดงความยินดีจากซาร์นีโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียในการหมั้นครั้งนี้และทรงยอมรับที่จะเป็นพยานในการอภิเษกสมรส พระราชพิธีอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1900 ถึงแม้ว่าจะสร้างความไม่นิยมในหมู่สหภาพที่ทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์อ่อนแอลงในสายตาของกองทัพและประเทศใหญ่ๆ

การต่อรองทางการเมือง[แก้]

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 และสมเด็จพระราชินีดรากา

พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงพยายามต่อรองกับพรรคการเมืองด้วยการเปิดเผยรัฐธรรมนูญเสรรีนิยมในพระดำริของพระองค์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญเซอร์เบียที่กำหนดให้สภามีสองสภา ได้แก่ วุฒิสภา (สภาสูง) และสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) แต่การเจรจาต่อรองครั้งนี้ พระองค์มิได้ทรงเจรจาต่อรองกับกองทัพด้วย ที่ไม่พอใจอยู่แล้วในการอภิเษกสมรสของพระมหากษัตริย์ และยังคงเป็นเช่นนั้นเรื่อยๆสิ่งมีข่าวลือถึงความไม่นิยมในตัวพระเชษฐาคนหนึ่งของสมเด็จพระราชินีดรากา ซึ่งก็คือ ร้อยโทนิโกดิเย ลุนเยวิกา ที่จะได้รับการประกาศให้เป็นองค์รัชทายาท

ในขณะที่การให้ความเป็นอิสระของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นสาเหตุที่ทำให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ทรงขัดเคืองพระทัย พระมหากษัตริย์ทรงประกาศระงับ (มีนาคม ค.ศ. 1903) รัฐธรรมนูญเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลานานพอที่พระองค์ได้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ปลดวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดเก่าออกทั้งหมด และทรงแต่งตั้งชุดใหม่เข้าแทนที่ การที่ทรงกระทำโดยพลการเช่นนี้ได้สร้างความไม่พอใจไปทั่วประเทศ

การลอบปลงพระชนม์[แก้]

ผลโดยทั่วไปคือ วุฒิสภาได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีมากที่สุดและรัฐบาลก็ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไป พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ไม่ทรงลังเลอีกต่อไปโดยทรงประกาศให้พระเชษฐาของสมเด็จพระราชินีดรากาดำรงเป็นรัชทายาทโดยสมมติ ทั้งๆที่มีการตกลงกับรัฐบาลเซอร์เบียไว้แล้วว่า เจ้าชายมีร์โกแห่งมอนเตเนโกร ผู้ซึ่งอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงนาตาลียา ตอนสแตนติโนวิกที่เป็นพระนัดดาในเจ้าหญิงอันกา โอเบรโนวิก ผู้ทรงมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉาในพระเจ้ามิลาน ควรจะเป็นองค์รัชทายาทสืบต่อเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์และสมเด็จพระราชินีดรากาทรงไร้รัชทายาท[2]

เห็นได้ชัดว่าเพื่อป้องกันไม่ให้พระเชษฐาของสมเด็จพระราชินีดรากาได้รับการแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาท แต่ในความเป็นจริงเป็นการพยายามแทนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ โอเบรโนวิกด้วยปีเตอร์ คาราดอร์เจวิก กลุ่มผู้ก่อการถูกจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มทหารนำโดยดรากูทิน ดิมิทรีเจวิก ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามว่า "เอพิส" ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยจักรวรรดิรัสเซีย[3] และเอพิสเป็นหัวหน้าของสมาคมลับ แบล็กแฮนด์ องค์กรที่ต่อมาทำการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์แห่งออสเตรียในปีค.ศ. 1914 นักการเมืองหลายคนก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อการและอดีตนายกรัฐมนตรีนิโกลา พาสิกก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดเช่นกัน[4] พระราชวังได้ถูกบุกรุก ทั้งสองพระองค์ทรงหลบซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องบรรทมของสมเด็จพระราชินี และยังมีความเป็นไปได้อื่นอีกในละครโทรทัศน์ประวัติศาสตร์เซอร์เบีย เรื่อง "อวสานราชวงศ์โอเบรโนวิก" ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้หลบซ่อนในเซฟรูมที่ถูกซ่อนไว้หลังกระจกในห้องบรรทม ห้องได้มีทางเข้าลับที่จะนำออกนอกพระราชวังได้ แต่ทางเข้าไม่สามารถเข้าได้เนื่องจากตำแหน่งตู้เสื้อผ้าของสมเด็จพระราชินีได้ปิดทางไว้หลังงานพระราชพิธีอภิเษกสมรส

ผู้ก่อการได้ค้นหาทั่วพระราชวังและในที่สุดก็ค้นพบและปลงพระชนม์ทั้งสองพระองค์ในเช้าตรู่ของวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1903 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์และสมเด็จพระราชินีดรากาทรงถูกยิง พระศพถูกทำลายและถูกควักเอาเครื่องในออกมา ตามบันทึกของพยาน ร่างของทั้งสองพระองค์ได้ถูกโยนลงมาจากหน้าต่างชั้นสองลงสู่กองปุ๋ยคอกในสวนของพระราชวัง[4] ในคืนเดียวกัน พระเชษฐาของสมเด็จพระราชินีคือ นิโกดิเยและนิโกลา ลุนเยวิกาได้ถูกสังหาร นายกรัฐมนตรีนายพลดิมิทรีเย ซินซา-มาร์โกวิกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มิโลวาน ปาฟโลวิกถูกสังหารในที่พำนัก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ขณะนั้นทางมีพระชนมายุ 26 พรรษา พระบรมศพของทั้งสองพระองค์ถูกฝังไว้ที่โบสถ์เซนต์มาร์ค กรุงเบลเกรด

ผลที่ตามมา[แก้]

สมาชิกของรัฐบาลใหม่ได้รวมตัวกันภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานคณะรัฐมนตรีของโจวาน อะวาคูโมวิก รัฐสภาได้มีการเปิดสมัยประชุมในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1903 ได้เลือกปีเตอร์ คาราจอร์เจวิกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบีย และได้มีคำสั่งไปยังเจนีวาเพื่อทูลเชิญให้พระองค์เสด็จกลับเซอร์เบียสืบราชบัลลังก์ในฐานะ พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 แห่งเซอร์เบีย

ความตกตะลึงของประเทศต่างๆในการทำรัฐประหารได้มีขึ้นอย่างรวดเร็ว รัสเซียและออสเตรีย-ฮังการีได้ประณามการลอบปลงพระชนม์ที่โหดเหี้ยมนี้อย่างรุนแรง สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ได้มีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตออกจากเซอร์เบีย ดังนั้นความสัมพันธ์ทางการทูตจึงเหมือนกับถูกแช่แข็งไว้และถูกคว่ำบาตรซึ่งไม่ได้รับการยกเลิกจนกระทั่งปีค.ศ. 1905

อ้างอิง[แก้]

  1. Dorich, William. Kosovo. ISBN 0-317-05074-5.
  2. Leroy, Pierre Olivier (2004). "Biography of Prince Mihajlo Petrovic Njegos". The Njegoskij Fund Public Project. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ September 28, 2007.
  3. C. L. Sulzberger, The Fall of Eagles, p.202, Crown Publishers, New York, 1977
  4. 4.0 4.1 Sulzberger, p.202