พระราชพิธีอาพาธพินาศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีอาพาธพินาศ
วันที่พ.ศ. 2363
สถานที่พระนคร
ที่ตั้งอาณาจักรรัตนโกสินทร์
สาเหตุเพื่อปลุกปลอบใจราษฎร และเป็นการปัดรังควานแก่พระนครจากการระบาดของอหิวาตกโรค
จัดโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระราชพิธีอาพาธพินาศ เป็นพระราชพิธีที่เกิดขึ้นในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ. 2363 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดทั่วพระนคร มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนเผาศพแทบไม่ทัน ศพกองสุมกันอยู่ที่วัดสระเกศ และมีอีแร้งลงมาจิกกินเป็นที่น่าสังเวชใจเป็นอย่างมาก จนมีคำกล่าวว่า "แร้งวัดสระเกศ"

จากบันทึกของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกเล่าถึงการะบาดของอหิวาตกโรคในครั้งนั้นว่า

...คนในกรุงเทพฯ เป็นโรคป่วยใหญ่ ขึ้นตั้งแต่ ณ วันเดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ำ ไปถึงวันเพ็ญ คนตายทั้งชายหญิงศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าและศาลาเดินในวัดสระเกศ วัดบางลำภู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา และวัดอื่น ๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัด คฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกัน ต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้งพริกกับเกลือเท่านั้น น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้ด้วยอาเกียรณไปด้วยซากศพ...

พระราชพิธีนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อปลุกปลอบใจราษฎร และเป็นการปัดรังควานแก่พระนคร โดยประกอบพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทคล้ายพระพิธีตรุษ มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน มีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และพระบรมสารีริกธาตุออกจากที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถพระบรมมหาราชวังแห่รอบพระนคร นับเป็นครั้งแรกที่มีการอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรออกจากที่ประดิษฐานเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ มีการนิมนต์สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) และพระสงฆ์รูปอื่น ๆ จำนวน 500 รูป สวดพระปริตรประพรมน้ำพระปริตรไปในขบวนแห่นั้นด้วย องค์พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรักษาศีล สละพระราชทรัพย์ ซื้อชีวิตสัตว์สี่เท้าสองเท้า ปล่อยนักโทษ และห้ามราษฎรทำปาณาติบาต[1] หลังพระราชพิธีนี้เสร็จ ฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ อหิวาตกโรคระบาดหนักอยู่ 15 วัน ก็ค่อยหายไป

หลังจากเกิดอหิวาตกโรคในครานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสังเวชสลดพระราชหฤทัยที่กรรมบันดาลให้เกิดภัยพิบัติแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลหลายอย่างหลายประการ

อ้างอิง[แก้]

  1. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 , คุรุสภา 2504

บรรณานุกรม[แก้]