พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ลงนามพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วันลงนาม9 ตุลาคม พ.ศ. 2511
ผู้ลงนามรับรองจอมพลถนอม กิตติขจร
วันลงนามรับรอง9 ตุลาคม พ.ศ. 2511
วันประกาศ15 ตุลาคม พ.ศ. 2511
วันเริ่มใช้15 ตุลาคม พ.ศ. 2511
ท้องที่ใช้ไทย ประเทศไทย
การยกเลิก
ถูกยกเลิกโดยประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับที่ 2 ของประเทศไทยซึ่งได้ประกาศใช้แทน พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ที่ถูกยกเลิกไปตามคำสั่งของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ลงพระปรมาภิไธยให้ไว้เมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2511 โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและได้ประกาศใช้เมื่อวันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2511 [1]

สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือการกำหนดให้ผู้ที่จะจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต้องจดทะเบียนในรูปแบบเดียวกับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและในมาตรา 14 ได้กำหนดให้พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลซึ่งแตกต่างจากพระราชบัญญัติฉบับก่อนที่มิได้กำหนดให้พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคล

นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังได้กำหนดเรื่องหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสาขาของพรรคการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกและยังได้กำหนดให้ยุบพรรคการเมืองในกรณีที่สมาชิกของพรรคลดลงต่ำกว่า 500 คนและพรรคการเมืองไม่ได้รับเลือกตั้ง 2 ครั้งโดยพรรคการเมืองพรรคแรกที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ พรรคสหประชาไทย ที่ได้จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2511 โดยมี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ถูกยกเลิกตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 9 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 [2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 75 ตอน 94 ก หน้า 731 15 ตุลาคม พ.ศ. 2511
  2. ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 9 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 88 ตอน 126 ก พิเศษ หน้า 3 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]