ข้ามไปเนื้อหา

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน
(แฉล้ม อมาตยกุล)
เกิดพ.ศ. 2393
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย
เสียชีวิตพ.ศ. 2459
คู่สมรสอำพัน, คุณหญิงอนงค์, หุ่น, ถมยา, เนย, เปรม, นิ่ม, ปราง, เนื่อง, ลำดวน, สง่า, ช่วง
บุตร27 คน
บิดามารดาพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล)
คุณหญิงพลอย ไกรฤกษ์

นายหมู่ตรี พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) เจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ ผู้ริเริ่มตั้งโรงไฟฟ้าและโรงน้ำแข็งในประเทศไทย (พ.ศ. 2393 - พ.ศ. 2459)

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]
ธรรมเนียมยศของ
พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน
ตราประจำตัว
การเรียนใต้เท้า
การแทนตนกระผม/ดิฉัน
การขานรับขอรับ/เจ้าค่ะ

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2393 เป็นบุตรชายของ พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) กับ คุณหญิงพลอย ไกรฤกษ์ ท่านมีพี่ชาย คือ พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) และพระยาเพ็ชรพิไชย (เจิม อมาตยกุล) [1]

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานมีภรรยาหลายคน มีเรื่องเล่าว่าเมื่อกลับจากทำงาน ภรรยาของท่านจะมานั่งเรียงกันตลอดสองฝั่งถนนที่อยู่ในบริเวณบ้าน คนหนึ่งรับหมวก ไม้เท้า กระเป๋า ฯลฯ นอกจากนี้ ท่านเป็นคนมีความเด็ดขาด หากภรรยาคนใดดื้อดึง ท่านจะให้บ่าวไพร่เฆี่ยนตีเสมอ [2] ในจำนวนภรรยาทั้งหมด มีภรรยาจำนวน 12 คน ที่มีบุตรธิดากับท่าน รวมบุตรธิดาจำนวน 27 คน คือ [3] [4]

อำพัน บูรณศิริ มีบุตรธิดา คือ

  1. คุณหญิงประไพ ภรรยาพระยาพิทักษ์ทวยหาญ (ทองคำ กฤษณามระ)
  2. พระยาราชวินิจฉัย (อุทัยวรรณ) สามีของคุณหญิงพุ่มพวงและคุณหญิงประทุม (บูรณศิริ)

คุณหญิงอนงค์ มีบุตรธิดา คือ

  1. วรนาฏ
  2. น.อ. พระยาสาครสงคราม (สุริเยศ) สามีของเล็ก
  3. เจ้าจอมประยงค์ ในรัชกาลที่ 5 [5]
  4. คุณหญิงปุก
  5. นายรัตน์ ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์
  6. ชายไม่มีชื่อ ถึงแก่กรรมแต่วัยเยาว์
  7. นายเสกศักดิ์หรือนายนิเวศน์ธิบาล สามีของสุ่น บุนนาค และอนงค์ ภูมิรัตน์

หุ่น มีบุตรธิดา คือ

  1. พระสวัสดิ์นคเรศ (มงคล) สามีของเลื่อนและสาย
  2. ระทวย
  3. หลวงรักษ์ราษฎร์นิกร (เทียบ) สามีของย้อย
  4. มาลัย ภรรยาขุนมัชชากรธนานุรักษ์ (เขียนพิมล บรรยงค์)

ถมยา มีบุตรธิดา คือ

  1. นายพยนต์ สามีของคืบ
  2. หลวงประภาธุรกิจ (ยัน) สามีของเยื้อน
  3. ขุนสรรพชวลิต (ยิน) สามีของรอดและลม้าย

เนย มีบุตรธิดา คือ

  1. นายเฉื่อย สามีของย้อยและเผื่อน
  2. คุณหญิงสนิท ภรรยาพระยาธรรมสารวิทย์ (สันต์ สันตสิริ)

เปรม มีบุตรธิดา คือ

  1. ขุนสำรวจรัฐกิจ (เล็ก) สามีของสาย
  2. นายไวย

นิ่ม มีบุตรธิดา คือ

  1. ขุนมาสมาศกรัตน์ (มาศ) สามีของพร้อม

ปราง มีบุตรธิดา คือ

  1. นายใหญ่

เนื่อง มีบุตรธิดา คือ

  1. ฉลวย ภรรยานายชื่น นาอิ่มใจ

ลำดวน มีบุตรธิดา คือ

  1. เฉลย ภรรยานายจันทร์ ศรีทองคำ

ช่วง มีบุตรธิดา คือ

  1. น.ต.จิรศักดิ์ ร.น. สามีของบุญมา รักเวชชอบ และขุนทอง เจริญภักดี

สง่า มีบุตรธิดา คือ

  1. หญิงแฝดไม่มีชื่อ ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์
  2. ทิพย์ ภรรยานายอินทร์ สุวรรณทัต

ในปัจจุบัน ท่านมีบุตรหลานที่มีความสามารถหลายท่าน เช่น นายบุญเติม อมาตยกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ปูนซีเมนต์ไทย [6] [7] รศ.ปฏิภาณ อมาตยกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอมาตยกุล นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา [8]ไชยยศ อมาตยกุล นักร้องในวงดนตรีจุฬารัตน์ ญาณินท์ อมาตยกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต สมาส อมาตยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัด มาริษา อมาตยกุล นักร้องวงสุนทราภรณ์ พ.ต.อ.อิสสร อมาตยกุล ผู้กำกับการตำรวจ และ ว่าที่ร้อยเอก ดร. ศรัณย์ อมาตยกุล นักวิชาการ [9] [10]

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. 2459 และได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2460 ที่เมรุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานวอรับศพ ผ้าไตร 1 ไตร ผ้าขาว 4 พับ และเงิน 2000 สตางค์[11]

ชีวิตการทำงาน

[แก้]

พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) ถวายตัวเป็นมหาดเล็กใน รัชกาลที่ 4 เมื่อปีพ.ศ. 2407 โปรดเกล้าฯ ให้ช่วยบิดาทำราชการในโรงกษาปณ์สิทธิการและโรงแก๊ส ท่านชอบการถ่ายรูปและทำโคมลอยอย่างต่างประเทศ

ต่อมาในสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงพินิจจักรภัณฑ์ ปลัดกรมโรงกษาปณ์ (กรมกษาปณ์สิทธิการ) ในปีพ.ศ. 2412 โดยเป็นผู้ที่ทรงใช้สอยใกล้ชิดในด้านกิจการสมัยใหม่ในยุคนั้น เช่น การแต่งพระที่นั่งและตำหนักรักษา ในเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ และข้าราชการต่าง ๆได้สนิทสนมคุ้นเคยกับท่าน จึงทำให้มีมิตรสหายเป็นจำนวนมาก

พระยาอภิรักษ์ฯ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 5 วิจิตรราภรณ์ ภายในปีแรกที่สร้างเครื่องราชอิศริยาภรณ์ และเมื่อปีพ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างสวนสราญรมย์ โปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานที่ยังเป็นหลวงพินิจจักรภัณฑ์ เป็นผู้ดูแลควบคุมการก่อสร้าง

ในปีพ.ศ. 2417 ถังโรงทำไฟแก๊สในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญในปัจจุบันเกิดไฟไหม้และระเบิดขึ้น รัชกาลที่ 5ได้โปรดให้ย้ายโรงแก๊สไปสร้างใหม่ที่หน้าวัดสุทัศน์ และฝังท่อใช้ไฟแก๊สทั้งในพระบรมมหาราชวังและถนนในพระนครด้วย โดย รัชกาลที่ 5โปรดให้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานเป็นผู้บังคับการโรงแก๊สนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง จนได้พระราชทานเหรียญบุษปมาลาเป็นบำเหน็จในวิชาช่าง เมื่อปีพ.ศ. 2418

นอกจากนี้ ท่านได้ริเริ่มธุรกิจต่าง ๆ ด้วยความที่เป็นผู้มีนิสัยอยู่ในทางวิชาช่างและได้รับการถ่ายทอดวิชาเครื่องกลจากบิดามากกว่าผู้อื่น จนสามารถอ่านแผนทางเดินของไฟฟ้าตามที่ใช้ในทวีปยุโรปได้ ท่านได้คิดค้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยร่วมมือกับนายช่างไฟฟ้าชาวอังกฤษนายเลียว นาดี เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นจำหน่าย [12] โรงไฟฟ้านี้เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ โรงไฟฟ้าวัดเลียบเนื่องจากสร้างขึ้นในบริเวณวัดราชบูรณะ ที่อยู่ตรงข้ามบ้านของท่าน [13] ท่านได้ตั้งบริษัทชื่อ บางกอกอิเล็กตริกไลท์ ซินดีเคต จำกัด (Bangkok Electric Light Syndicate) เมื่อพ.ศ. 2440 กิจการนี้ได้เรียกหุ้นในลักษณะของห้างหุ้นส่วนจากเจ้านายบางพระองค์ เช่น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ข้าราชการ รวมทั้งพี่น้องของท่าน คือ พระปรีชากลการและ พระยาเพชรพิชัย ส่วนนายช่างชาวอังกฤษผู้นำแผนผังการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตลอดจนอุปกรณ์ไฟฟ้ามานั้น ก็ได้รับหุ้นลมด้วยอีกผู้หนึ่ง

โรงไฟฟ้าวัดเลียบ

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าโรงไฟฟ้านี้ไม่อาจประกอบกิจการได้นาน เนื่องจากในขณะนั้นประชาชนยังไม่นิยมใช้ไฟฟ้า อีกทั้งลูกค้าส่วนมากเป็นเพียงวังเจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และสถานที่ราชการเท่านั้น ดังนั้น รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าจึงไม่คุ้มกับที่ต้องลงทุนไป กิจการจึงประสบภาวะขาดทุน กิจการโรงไฟฟ้านี้จึงได้โอนให้กับนายเว้สเตนโฮลส์ ชาวเดนมาร์ค เป็นผู้ดำเนินการต่อมา โดยตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดชื่อว่าบริษัทไฟฟ้าสยาม (Siam Electricity Company Ltd.) ที่จะทะเบียนที่กรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 โดยมีทุนจดทะเบียน 33,400 ปอนด์ ซึ่งในปัจจุบันกิจการนี้ก็คือ การไฟฟ้านครหลวง บริษัทไฟฟ้าสยามได้รับสัมปทานให้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวในเขตพระนครและธนบุรี และยังคงมีที่ทำการอยู่ที่เดิมตลอดจนกระทั่งบริษัทตกเป็นของรัฐบาล [14] อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากิจการบริษัทไฟฟ้าซึ่งพระยาอภิรักษ์ราชอุทยานได้เป็นผู้จัดตั้งขึ้นนี้ จะเปลี่ยนมือเป็นของคนต่างชาติ แต่สมาชิกในสกุลอมาตยกุลหลายท่านยังคงถือหุ้นใหญ่ และกลายเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลานในเวลาต่อมา

เมื่อโอนกิจการโรงไฟฟ้าไปแล้ว พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานได้ริเริ่มทำโรงน้ำแข็งขึ้นอีกธุรกิจหนึ่ง โดยจำหน่ายให้กับประชาชนในพระนคร กิจการนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านของท่านเองที่หน้าวัดราษฎรบูรณะ ทั้งนี้ การลงทุนทำโรงน้ำแข็ง ท่านมิได้เรียกหุ้นจากผู้อื่น แต่ใช้เงินส่วนตัวในการลงทุน ดังนั้น จึงมีข้อจำกัดในการประกอบกิจการที่ไม่สามารถทำได้ใหญ่โตนัก

จนเมื่อพ.ศ. 2442 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน เจ้ากรมพระราชอุทยานสราญรมย์ เและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ภูษณาสรณ์ (ช้างเผือกชั้น 4) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ในรัชกาลที่ 4 และต่อมาได้รับตรามัณฑนาภรณ์ (มงกุฏสยาม ชั้น 3)

ครั้นต่อมาเมื่อทรงสร้างพระราชวังดุสิต โปรดให้ไปดูการทำสวนในบริเวณพระราชวัง และในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2451 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้จัดการโรงทำโซดาดุสิต ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า น้ำโซดาดุสิต มาจนตลอดรัชกาล พระยาอภิรักษ์ราชอุทยานประกอบคุณงามความดีรับใช้เบื้องพระยุคลบาทนานับประการ จึงได้รับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 เหรียญราชรุจิ เหรียญประพาสยุโรป เหรียญทวีทาภิเษก เหรียญรัชมงคล เหรียญรัชมังคลาภิเษก เข็มครุฑ และในปีพ.ศ. 2455 ได้รับพระราชทานเหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 6 อีกด้วย

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งคณะเสือป่าขึ้น ท่านก็ได้เข้าเป็นเสือป่าด้วยเช่นกัน แต่ขณะนั้นท่านมีอายุถึง 62 ปี เข้าสู่วัยชราภาพแล้ว จึงจำต้องเป็นเสือป่านอกกอง แต่ก็ได้พยายามไปทำการตามหน้าที่เสือป่าอย่างสม่ำเสมอ จนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียร จึงพระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นนายหมู่ตรีเสือป่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2455[15]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ลำดับสาแหรก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มูลนิธิสกุลอมาตยกุล. (2514). ลำดับสกุลอมาตยกุล. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์มหาดไทย.
  2. น.ต. จิรศํกดิ์ อมาตยกุล ร.น. (2535). สัมภาษณ์.
  3. มูลนิธิสกุลอมาตยกุล. (2514). ลำดับสกุลอมาตยกุล. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์มหาดไทย.
  4. ตระกูลไกรฤกษ์. (2549). ลำดับตระกูลไกรฤกษ์. กรุงเทพฯ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
  5. วิกิพีเดีย. (2560). รายพระนามพระภรรยาเจ้าและพระสนมในรัชกาลที่ 5. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2560 จาก https://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระภรรยาเจ้าและพระสนมในรัชกาลที่_5
  6. นิตรสารผู้จัดการ. (2527). และแล้วจะถึงคราวใคร. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560 จาก http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=8427[ลิงก์เสีย]
  7. ปูนซีเมนต์ไทย. (2560). SCG Heritage. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560 จาก http://ww.sahaoffice.com/content/detail/reference/3470/1/[ลิงก์เสีย]
  8. T_0010.PDF (soc.go.th)
  9. ตระกูลไกรฤกษ์. (2549). ลำดับตระกูลไกรฤกษ์. กรุงเทพฯ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
  10. โครงการ “เศรษฐทัศน์” ประจำปี 2561 (bot.or.th)
  11. พระราชทานเพลิงศพ
  12. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (2560). ปฏิวัติกิจการไฟฟ้าไทย. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560 จาก https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=11&Itemid=152
  13. นายเอ็นจิเนียร์. (2560). วัดเลียบยุคบุกเบิกไฟฟ้าไทย. ค้นเมื่อ 20 กันยายน 2560 จาก http://www.9engineer.com/index.php?m=article&a=print&article_id=901
  14. การไฟฟ้านครหลวง. (2560). ประวัติความเป็นมาของการไฟฟ้านประเทศไทย. ค้นเมื่อ 22 กันยายน 2560 จาก http://www.mea.or.th/profile/91/96[ลิงก์เสีย]
  15. พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า
  16. "พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (หน้า ๘๐๓)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-06. สืบค้นเมื่อ 2020-07-05.
  17. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ (หน้า ๑๐๑๔)