พระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาศรีสุริยวงศ์ (เมืองไชย)

พระเมืองไชย
เจ้าผู้ครองนครแพร่
เจ้าผู้ครองนครแพร่จางวาง
ครองราชย์ก่อน พ.ศ. 2309-2330
จางวาง พ.ศ. 2330-พ.ศ. 2348
รัชกาลถัดไปพระยาแสนซ้าย
พิราลัยพ.ศ. 2348
พระชายาแม่เจ้าบุษบาราชเทวี
พระนามเต็ม
พระบาทศรีสุริยวงศ์
พระบุตรเจ้านางสุชาดา
ราชวงศ์ราชวงศ์เมืองไชย

พระยาศรีสุริยวงศ์ หรือเจ้าหลวงนครไชยวงศา หรือพระเมืองไชย ในพงศาวดารไทยเรียก พญามังไชย ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 21 ได้รับการสถาปนาจากกษัตริย์พม่าในยุคพม่าปกครอง ภายหลังได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2313 พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งยศตามแบบสยามเป็น “พระยาศรีสุริยวงศ์”[1]

พระประวัติ[แก้]

พระเมืองไชย หรือ เจ้ามังไชย (คำว่ามังไชยมาจากตำแหน่งพระเมืองไชย ทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเจ้าเมืองแพร่องค์นี้เป็นพม่า ที่มังมีความหมายว่าเจ้า) ไม่ทราบนามเดิม เชื้อสายและบรรพบุรุษนั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีการเสนอว่าพญาเชียงเลือ (เชียงเลอ) ผู้ถูกส่งมาปกครองเมืองแพร่เมื่อ พ.ศ. 2106 เป็นต้นตระกูลของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นเชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์มังรายแต่อย่างใด เดิมอาจเป็นเพียงขุนนางระดับ “เจ้าเมือง” หรือ “เจ้าพันนา” ที่ปกครองพันนาหนึ่งของเมืองเชียงใหม่เท่านั้น อีกทั้งในยุคพม่าปกครองมีการสับเปลี่ยนเจ้าเมืองหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ อยู่เสมอเพื่อป้องกันการสั่งสมอำนาจ จึงเป็นไปได้น้อยมากที่พม่าจะปล่อยให้เชื้อสายของพญาเชียงเลือสืบทอดอำนาจกันปกครองเมืองแพร่มาจนถึงพระเมืองไชยกว่า 200 ปี และที่กล่าวว่าพระเมืองไชยเป็นเชื้อสายพม่า แต่จากเอกสารบันทึกฝ่ายสยามระบุว่าพระเมืองไชยเป็น “คนลาว” (คนล้านนา, ไทยวน) อีกทั้งคัมภีร์ใบลานที่จารขึ้นโดยพระเมืองไชยก็เป็นอักษรธรรมล้านนา พระเมืองไชยจึงเป็นขุนนางเชื้อสายไทยวน ที่กษัตริย์พม่าสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่มาตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2309

สงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[แก้]

พ.ศ. 2309 พระเมืองไชยได้คุมกองทัพเมืองแพร่ประมาณ 300 เศษ ตามกองทัพพม่ามาทำศึกในคราวการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้รับมอบหมายให้ตั้งค่ายที่ตำบลโพธิ์งาม เกลี้ยกล่อมคนไทยในแขวงเมืองสิงห์บุรีและยกทัพมาตีค่ายบางระจันด้วย ต่อมาเนเมียวสีหบดีให้นำกองทัพมาตั้งค่าย ณ ค่ายโพธิ์สามต้นฟากตะวันออก แต่ภายหลังได้หลบหนีกลับเมืองไป พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุเพิ่มเติมว่าพระเมืองไชย "... ให้คนถือหนังสือเข้ามาถึงพระยายมราชว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงธรรมมีพระคุณอยู่ จึงมิได้อยู่รบกรุงด้วยพะม่า..."[2]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาที่ชำระในสมัยหลังระบุต่างไปว่า พระเมืองไชยนำทัพหนีกลับทางพระพุทธบาท สระบุรี พม่ายกไปติดตามทันได้รบกันกลางทาง ฝ่ายพม่าตายมากกว่าเลยถอยกลับ และให้ปักหนังสือความว่า "...สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระคุณแก่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยู่รบกรุงเทพมหานครด้วยพม่าแล้ว จะกลับบ้านเมืองของตน..." พวกขุนโขลนข้าพระพุทธบาทเก็บนำบอกส่งเข้ามาถวาย[3] ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ได้ เนื่องจากภายหลังจากการศึก ทางพม่ามิได้นำตัวพระเมืองไชยมาพิจารณาโทษหรือนำตัวมาลงโทษแต่ประการใด ยังคงปล่อยให้พระเมืองไชยเป็นเจ้าเมืองแพร่ตามเดิม

ชุมนุมเจ้าพระฝางและการสวามิภักดิ์ต่อกรุงธนบุรี[แก้]

ในช่วงสภาพจลาจลหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ปรากฏหลักฐานว่าพระเมืองไชยได้เข้าร่วมกับชุมนุมเจ้าพระฝางด้วย ดังโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี ของนายสวนมหาดเล็ก กล่าวว่า

๏ ปางสวางคบุเรศร้าย รแวงผิด
พุทธบุตรละพุทธกิจ ก่อแกล้ว
ทุศิลทุจริตอิจ ฉาราช
เสด็จปราบสัตวบาปแผ้ว ฟอกฟื้นสาสนา ฯ
๏ แล้วฉลองพุทธธาตุแท้ สุจริต
สมณะบรรพชิต ใช่น้อย
พระอวยธนอุทิศ ทานทั่ว
มีมหรศพช้อย ชื่นช้อยชนเขษม ฯ
เมืองชัยที่ร่วมร้าย เวียงสวางค์
พ่ายพระเดชคุณปาง ปิ่มม้วย
กลับน้อมศิโรตมางค์ มาเล่า
มาภักดิ์เปนทหารด้วย อยู่ใต้บาทบงสุ์ ฯ
โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี

[4]

พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จยกทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก ขณะตั้งทัพอยู่ที่พระตำหนักหาดทรายฟากตะวันออกของเมืองพิชัย พระเมืองไชยได้นำขุนนางไพร่พลเมืองแพร่ลงมาขอสวามิภักดิ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งยศแบบสยามให้เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ และโปรดเกล้าให้เข้าร่วมกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ด้วย ดังพระราชพงศาวดารระบุว่า

พระเจ้าอยู่หัวทรงพระนาวาธินั่งกราบ เสดจ์โดยทางชลมารรค์ขึ้นไปประทับ ณะพระตำหนักหาดทราย หน้าเมืองพิไชยฟากตวันออก เมืองไชยกับพักพวกล่าวมีชื่อสมักเข้ามาทำราชการ ทรงพระกรรณาตั้งให้เปนพญาศรีสุริวงษ์ แล้วสั่งให้เจ้าพญาจักรี เจ้าพญามหามนตรี อยู่รักษาเรือพระธินั่งแลเรือข้าทูลลอองทั้งปวงณเมืองพิไชย

— พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม

[5]

ในช่วงสงครามอะแซหวุ่นกี้ พ.ศ. 2318 หลักฐานไทยได้ระบุว่าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) ได้ถูกพม่าจับตัวไปในคราวนั้น[6] แต่ราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านระบุว่าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) ยังได้คุมทัพเมืองแพร่เข้าร่วมสงครามตีเมืองเชียงแสนใน พ.ศ. 2323 และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมือเชียงแสน คำมะเกล่าเมืองเชียงแสน และราชวงศ์ปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านต่างระบุเหมือนกันว่าพระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) ถูกพม่าจับตัวในช่วงสงครามเก้าทัพ หลักฐานไทยจึงน่าจะคลาดเคลื่อนมากกว่า

สงครามตีเมืองเชียงแสน[แก้]

พ.ศ. 2323 เจ้าฟ้าเพชรเม็ง (เจ้าน้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเชียงราย และเจ้าฟ้าเมืององค์ (เจ้าน้อยไชยสาร) ได้ทำการต่อต้านพม่าแล้วหนีเข้ามาเมืองนครลำปาง พระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละ เจ้าเมืองนครลำปาง พระยาศรีสุริยวงศ์ (พระเมืองไชย) เจ้าเมืองแพร่ และลาวหลวงพระบาง ร่วมกันนำกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพม่าในล้านนา กองทัพได้ตั้งค่ายอยู่บ้านสบกก ทำการสู้รบ 1 เดือนจนสามารถตีเมืองเชียงแสนแตกได้ กวาดต้อนครัวเมืองเชียงแสนลงมาได้ถึงประมาณ 1,767 ครัว

สงครามเก้าทัพ[แก้]

ในช่วงสงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328 สะโดศิริมหาอุจนา (Thado Thiri Maha Uzana) เจ้าเมืองตองอู (พื้นเมืองเชียงแสนเรียก โป่พะครานมินคี) ยกทัพจำนวน 30,000 คน จากเมืองเชียงแสนเข้าล้อมเมืองนครลำปาง และทำการโจมตีเมืองตาก เมืองแพร่ เมืองเถิน เมืองน่าน และหัวเมืองฝ่ายเหนือ กองทัพพม่าสามารถจับตัวพระยาเชียงเงิน พระยาเถินเฒ่า พระยามงคลยศประเทศราช (เจ้าขนานจันทปโชติ) และพระยาสุริวงศ์ (พระเมืองไชย) ได้[7][8] ราชวงษปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านระบุต่างไปว่า พระยามงคลยศประเทศราช (เจ้าขนานจันทปโชติ) และพระยาศรีสุริวงศ์ (พระเมืองไชย) ได้ทำการยอมสวามิภักดิ์กับพม่าโดยไม่ได้สู้รบ[9] กองทัพพม่ากวาดต้อนชาวเมืองตาก เถิน แพร่ น่านมาไว้ยังเมืองเชียงแสน ส่วนตัวพระยาศรีสุริวงศ์ (พระเมืองไชย) ถูกนำตัวไปเมืองอังวะ

การสวามิภักดิ์ต่อกรุงรัตนโกสินทร์[แก้]

ขณะที่พระเมืองไชยถูกนำตัวไปเมืองอังวะนั้น คงปฏิบัติตัวให้พม่าไว้เนื้อเชื่อใจ จนสามารถกราบทูลขอและได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้าปดุง ให้นำครอบครัวไพร่พลมาตั้งอยู่หัวป่ง (Hopong) เมื่อ พ.ศ. 2329 ภายหลังไปอยู่เมืองยอง (Mong Yawng) ต่อมาได้ชักชวนให้เจ้าฟ้ากอง เจ้าฟ้าเมืองยองร่วมกันต่อต้านพม่า และนำกองทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน ธาปะระกามะนี (Abaya-Kamani หลักฐานไทยเรียก อาประกามะนี พื้นเมืองเชียงแสนเรียก พะแพหวุ่น) เมียวหวุ่นเมืองเชียงแสนหนีไปหาเจ้าฟ้าเพชรเม็ง (เจ้าน้อยจิตตะ) เจ้าฟ้าเชียงราย แต่ถูกเจ้าฟ้าเชียงรายจับตัวส่งไปให้พระยากาวิละ เมืองนครลำปาง พระยากาวิละส่งตัวพระเมืองไชย เจ้าฟ้ากอง พระยาเถินเฒ่า และจำธาปะระกามะนีลงไปถวายยังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2330[10] ราชวงษปกรณ์ พงศาวดารเมืองน่านระบุต่างไปว่า พระเมืองไชยถูกจำขื่อคาขณะลงมา[11] ดังคำให้การของธาปะระกามะนีและพื้นเมืองเชียงราย เชียงแสนว่า

๏ ครั้นเมื่อศักราชได้ ๑๑๔๘ ปี เจ้าอังวะให้ปันยีเวซอ ซุยตองเวยะจอแทง กับไพร่สองพัน จอฆองนอระทา กับไพร่พันห้าร้อย เป็นโปชุกแม่ทัพ ธาปะระกามะนีกับไพร่สามพันเฝ้าเมืองเชียงแสนอยู่ ครั้งนั้น มีตราขึ้นไปให้เข้ากองทัพจอฆองนอระทาโปชุก ได้คนมาเข้ากองทัพแต่ห้าร้อย หนีไปก่อนสองพันห้าร้อย ยกไปตีเมืองฝางได้ แล้วให้ตั้งทำไร่นาอยู่ที่นั้น แต่ธาปะระกามะนีกับไพร่ห้าสิบคน โปชุกนอระทาให้กลับไปจัดแจงบ้านเมืองทำไร่นาอยู่ณเมืองเชียงแสนประมาณหมื่นหนึ่ง พระยาแพร่ พระยายอง ยกกองทัพมาณเมืองเชียงแสน ข้าพเจ้าผู้เป็นธาปะระกามะนีหนีไปหาพระยาเชียงราย ๆ จับข้าพเจ้าได้ ส่งมาเมืองลคร เจ้าเมืองลครส่งมากรุงศรีอยุธยาคุ้งเท่าบัดนี้

— คำให้การชาวอังวะ

สักกราชได้ ๑๑๔๘ ตัว ปีเมืองเม็ด เดือน ๘ ออก ๑๒ ฅ่ำ พระญายองเจ้าฟ้ากองลงมาพร้อมกับพระญาแพ่ มาหลอนเมืองเชียงแสน โมยหวานพะแพหนีไพเพิ่งพระญาเชียงราย ลวดยับไปส่งเมืองใต้

— พื้นเมืองเชียงราย เชียงแสน

[12]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้แก่พระเมืองไชยและเจ้าฟ้ากอง แต่ยังทรงพระราชดำริแคลงตัวไม่ไว้วางพระทัยพระเมืองไชย เนื่องจากเคยเป็นข้าเก่าผู้สวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีที่พระองค์เพิ่งได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน และพระเมืองไชยเคยยกกองทัพเมืองแพร่เข้าร่วมกับพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2310 อีกทั้งพระเมืองไชยพร้อมครอบครัวเคยไปอยู่เมืองอังวะกับกษัตริย์พม่าเป็นเวลานาน จึงให้กักตัวทำราชการในกรุงเทพฯ ส่วนเจ้าฟ้ากองโปรดฯ ให้ขึ้นไปช่วยราชการพระยากาวิละ[13]

ในจารึกท้ายคัมภีร์ใบลานภวิรัตติ พ.ศ. 2342 ซึ่งจารโดยพระเมืองไชย ถวายวัดหลวง (จังหวัดแพร่) เรียกนามตนเองขณะที่อยู่กรุงเทพมหานคร ว่า พระเมืองไชย

ปีกัดเม็ด...ปญติว่าพระเมืองไชยลิขิตยามเมื่อสถิตอยู่ยังกุงเทพพระมหานครใหม่วันนั้นแล

[14]

และคัมภีร์ใบลานเรื่องภิกขุปาฏิโมกข์ พ.ศ. 2343 ซึ่งจารโดยพระเมืองไชย ถวายวัดศรีชุม (จังหวัดแพร่) เรียกนามตนเองขณะที่อยู่กรุงเทพมหานคร ว่า พระยานครไชยวงศา แทนที่ตำแหน่ง พระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้ง

สระเด็จแล้วจุลสักกราชได้พันร้อยหกสิบสองตัว สนำกัมโพชภิไสย ไทภาสาว่าปีกดสัน เดือนสิบเอ็ดใต้ แรมเก้าฅ่ำ พร่ำว่าได้วันอาทิตย์ ยามแตรจักใกล้เที่ยงวัน...ตัวปาฏิโมกข์ผูกนี้สัทธามหาอุปาสักกะพระญาแพล่ ตนนามปญตินครไชยวงสา ได้ส้างเขียนไว้โชตกะวรพุทธสาสนายามเมื่อได้ลงมาสถิตอยู่ในเมืองกุงเทพพระมหานคอรใหม่วันนั้นแล ปิตตามาตาภริยาปุตตาปุตตีญาติกาขัติย์วงสาทังหลายทังมวล ขอได้นังผลอานิสงส์เสมอดั่งตัวข้านี้ชู่ตนชู่ฅนเทอะ

[15]

เป็นไปได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งรับรองให้มีตำแหน่งเป็นพระเมืองไชยหรือพระยานครไชยวงศา และอาจได้รับอนุญาตให้ขึ้นมาเมืองแพร่เพื่อเยี่ยมครอบครัวญาติพี่น้องและทำบุญถวายทานคัมภีร์ธรรมที่ได้เขียนจารเองระหว่างอยู่กรุงเทพฯ เป็นครั้งคราว

ภายหลังพระเมืองไชยได้กลับมาอยู่เมืองนครแพร่ประมาณช่วงหลัง พ.ศ. 2343 ถึงก่อน พ.ศ. 2348 ในตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่จางวาง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงได้แต่งตั้งพระยาแสนซ้ายเป็นพระยาแพร่องค์ถัดมาแล้ว[16] พระเมืองไชยยังคงมีพระชนม์ถึงยุคพระยาเทพวงศ์ (เจ้าน้อยอุปเสน) เรียกว่าพระยาแพร่หรือพระยาแพร่เฒ่า ปรากฏชื่อในบัญชีพระแสงปืนต้นจำหน่ายและคง โดยระบุว่าได้รับพระราชทานปืนแบบซ้นทายหอยโข่ง ต้นเลี่ยมเครื่องกาไหล่ ความว่า

เมีองแพร พญาแพร ซ้นทายหอยโขง ตํนเลยีมเครีองกาไล ๑ พรเมีอง กลํมรางคริ่งทอรครำเงิน ๑ (รวม) ๒ พรแพร ตํนเลยีมฝรังเสฎ ๑ เถา ตํนขุดครำครำทองเครีองกาไล ๑ (รวม) ๒ หนอยอุปเสนเปนพญาแพร ฝรังเสฎลายเงิน ๑ ทาวอินท่วิไชบุตรพญาแพ ตํนกลํมยางกลางศรีองกาไลทอง ๑ (รวม) ๖

— บัญชีพระแสงปืนต้นจำหน่ายและคง

[17]

พระเมืองไชยถึงแก่พิราลัยประมาณปี พ.ศ. 2348 จากหลักฐานใบลานวัดหลวงที่แม่เจ้าบุษบาราชเทวีทำบุญในช่วงปี พ.ศ. 2348

ราชโอรส-ธิดา[แก้]

พระเมืองไชยมีราชเทวีคือแม่เจ้าบุษบา มีราชธิดาปรากฏนามองค์หนึ่งชื่อ "เจ้านางสุชาดา" ต่อมาได้เสกสมรสกับพระยาเทพวงศ์ (เจ้าน้อยอุปเสน) เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 23 และได้รับการสถาปนาเป็นแม่เจ้าสุชาดาราชเทวี

อ้างอิง[แก้]

  1. จังหวัดแพร่ .เจ้าผู้ครองนคร เจ้ามังไชย(พระยาศรีสุริยวงศ์)
  2. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  3. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2545.
  4. https://vajirayana.org/โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี/โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี
  5. http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx?ref=Or_11827[ลิงก์เสีย]
  6. https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๔๖-กรมพระราชวังบวรฯ-เสด็จไปตั้งเมืองเชียงใหม่
  7. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  8. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. ISBN 974-8150-62-3
  9. https://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra57_0149/mobile/index.html#p=
  10. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  11. https://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra57_0149/mobile/index.html#p=
  12. สรัสวดี อ๋องสกุล (ปริวรรต). พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2546.
  13. https://vajirayana.org/พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์-รัชกาลที่-๑/๔๖-กรมพระราชวังบวรฯ-เสด็จไปตั้งเมืองเชียงใหม่
  14. ภูเดช แสนสา.เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ใน หมุดหมายประวัติศาสตร์ล้านนา: รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ศาสตราจารย์สรัสวดี-รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล, พ.ศ. 2556.
  15. ภูเดช แสนสา.เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ใน หมุดหมายประวัติศาสตร์ล้านนา: รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ศาสตราจารย์สรัสวดี-รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล, พ.ศ. 2556.
  16. ภูเดช แสนสา.เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ใน หมุดหมายประวัติศาสตร์ล้านนา: รวมบทความวิชาการในวาระครบรอบ 6 ทศวรรษ ศาสตราจารย์สรัสวดี-รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล, พ.ศ. 2556.
  17. จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๓ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : สหประชาพาณิชย์, ๒๕๓๐.