พระพรหมวชิรคุณ (ไพบูลย์ สุมงฺคโล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระพรหมวชิรคุณ

(ไพบูลย์ สุมงฺคโล)
ส่วนบุคคล
เกิด3 สิงหาคม พ.ศ. 2477
อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง สยาม (89 ปี)
มรณภาพ26 กันยายน พ.ศ. 2566
โรงพยาบาลกรุงเทพ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมเอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม เชียงราย
อุปสมบทพ.ศ. 2507
พรรษา59
ตำแหน่งพระพรหม

พระพรหมวชิรคุณ (ไพบูลย์ สุมงฺคโล) เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองของฝ่ายธรรมยุต ผู้เป็นพระวิปัสสนาจารย์ปฏิบัติกรรมฐานที่นับถือของพุทธศาสนิกชนชาวไทย[1]

โดยเป็นเจ้าอาวาสและผู้สร้างวัดที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยหลายแห่ง อาทิ วัดอนาลโยทิพยาราม[2] วัดรัตนวนาราม[3] จังหวัดพะเยา และวัดพุทธบาทสุทธาวาส[4] จังหวัดลำปาง

ประวัติ[แก้]

พระพรหมวชิรคุณมีนามเดิมว่า ไพบูลย์ สิทธิ เป็นบุตรของคำ สิทธิ คหบดีชาวลำปาง ผู้เป็นบิดา และกองแก้ว สิทธิ ผู้เป็นมารดา โดยเกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เมื่อปฐมวัยศึกษาที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จนจบการศึกษา[5]

เมื่ออายุ 29 ปี ได้อุปสมบทที่วัดป่าสำราญนิวาส จังหวัดลำปาง โดยมีพระครูธรรมาภิวัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังอุปสมบทได้ออกจาริกธุดงค์ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ภายใต้การอบรมจากหลวงปู่หลวง กตปุญโญ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงราย

เครื่องประกอบอิสริยยศและพวงมาลาของพระพรหมวชิรคุณ

เมื่อปี พ.ศ. 2513 ได้จาริกธุดงค์ร่วมกับพระญาณวิศิษฏ์ (ทอง จนฺทสิริ) ชาวบ้านได้มาทำบุญฟังเทศน์ เกิดความศรัทธานิมนต์ให้บูรณะวัดร้างแห่งหนึ่ง ชื่อว่า วัดรัตนวนาราม ที่ตำบลท่าวังทอง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2525 ชาวบ้านจากฝั่งกว๊านพะเยาได้นิมนต์สร้างสถานที่สัปปายะบนดอยบุษราคัม ชื่อว่า วัดอนาลโยทิพยาราม ที่ตำบลต๋อม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2553 เป็นประธานการจัดสร้างวัดพุทธบาทสุทธาวาส เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันพระบรมราชสมภพ 200 ปี แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อว่า วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ ที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้สถาปนาสมณศักดิ์เป็น พระพรหมวชิรคุณ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง สถิตวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 8 รูป

เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2566 พระพรหมวชิรคุณมรณภาพที่โรงพยาบาลกรุงเทพ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร สิริอายุ 89 ปี[6]

สมณศักดิ์[แก้]

  • 2 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระปัญญาพิศาลเถร[7]
  • 17 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชสังวรญาณ พิศาลพัฒนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
  • 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิสุทธิญาณ ภาวนาวิธานปรีชา ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
  • 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระธรรมวิสุทธิญาณ ภาวนาวิธานปรีชา ญาณธรรมปคุณ ไพบูลศาสนกิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
  • 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง มีราชทินนามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระพรหมวชิรคุณ วิบุลประชาพัฒนาการ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. เดลินิวส์. ศิษย์น้อมกราบถวายความอาลัย “หลวงปู่ไพบูลย์” ละสังขารสงบ สิริอายุ 89 ปี. 2566.
  2. กรุงเทพธุรกิจ. ชม 'วัดอนาลโยทิพยาราม' วัดงามบนดอยบุษราคัม เมืองพะเยา. 2560.
  3. สังฆาธิการ.คอม. วัดรัตนวนาราม. ม.ป.ป.
  4. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. วัดพุทธบาทสุทธาวาส. ม.ป.ป.
  5. ไทยเถรวาท. หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล. 2561.
  6. ผู้จัดการ. รำลึก “หลวงปู่ไพบูลย์” เยือน “วัดอนาลโย” แดนธรรมะบนดอยบุษราคัม จ.พะเยา. 2566.
  7. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2532.
  8. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2547.
  9. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2551.
  10. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์. 2562.
  11. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์. 2564.