พรรคสังคมสาธารณรัฐ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรรคสังคมสาธารณรัฐ (เขมร: គណបក្សសង្គមសាធារណរដ្ឋ คณบกฺสสงฺคมสาธารณรฎฺฐ; อังกฤษ: Social Republican Party; ฝรั่งเศส: Parti social républicain: PSR) เป็นพรรคการเมืองในกัมพูชา ก่อตั้งโดยลน นลเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2515 เพื่อเข้าร่วมในการเลือกตั้งแห่งชาติของสาธารณรัฐเขมรเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2515

ประวัติ[แก้]

พรรคนี้ก่อตั้งโดยสมาคมสังคมสาธารณรัฐของลน นล และได้รับการสนับสนุนจากน้องชายของเขาคือ ลน นน และกองทัพในยุคสาธารณรัฐเขมร โดยได้ปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์นครวัดที่เคยใช้โดยพรรคเสรีภาพของพระนโรดม นรินทเดชระหว่าง พ.ศ. 2489 – 2499 นโยบายของพรรคเป็นประชานิยม ชาตินิยม และต่อต้านคอมมิวนิสต์ ลน นลประกาศตนอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเวียดนามเหนือและจีน ที่เข้ามามีอิทธิพลในสงครามอินโดจีนครั้งที่สอง หลักการของพรรคสามข้อที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนคือ สาธารณรัฐ ความรับผิดชอบต่อสังคมและชาตินิยม[1] การทำงานหลักของพรรคเป็นการสนับสนุนระบอบของลน นล

ภายในพรรคมีการแบ่งแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียกว่า ดังเร็ก เป็นกลุ่มขวาจัดนำโดยนายกรัฐมนตรี เซิง งอกทัญ และนักวิชาการฝ่ายซ้าย ฮาง ทุน ฮัก[2] คำว่าดังเร็กนี้มาจากชื่อเทือกเขาพนมดงรักในภาษาเขมรซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของกองกำลังเขมรเสรี ซึ่งเป็นกลุ่มนิยมสาธารณรัฐและต่อต้านระบอบของพระนโรดม สีหนุ อีกกลุ่มหนึ่งเรียกว่า ดังกอร์ นำโดยลน นลและกองทัพ[2] ความแตกแยกระหว่างสองกลุ่มนี้ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างรุนแรง

การเลือกตั้ง พ.ศ. 2515[แก้]

พรรคหลักที่เป็นฝ่ายตรงข้ามของพรรคสังคมสาธารณรัฐมีสองพรรคคือ พรรคประชาธิปไตยนำโดยอิน ตัมและพรรคสาธารณรัฐนำโดยพระสีสุวัตถิ์ สิริมตะ ไม่ได้เข้าร่วมในการเลือกตั้งครั้งนี้เพราะผิดกฎหมายเลือกตั้งในขณะนั้น พรรคสังคมสาธารณรัฐได้รับเลือกตั้งทั้งหมด[3] โดยพรรคตรงข้ามมีเพียงกรมประชาชนซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้งเลย ในการเลือกตั้งสภาสูง พรรคสังคมสาธารณรัฐได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด คู่แข่งมีเพียงอดีตสมาชิกพรรคสังคมราษฎร์นิยม ซึ่งเป็นพรรคในสมัยระบอบสีหนุ[4] พรรคสังคมราษฎร์นิยมสลายตัวไปอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2514 ในขณะที่กรมประชาชนที่สลายตัวไปแล้ว ได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อสร้างภาพของระบบหลายพรรคการเมือง[4]

ความขัดแย้ง[แก้]

เซิง งอกทัญได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงช่วงสั้นๆจนถึง 15 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หลังจากที่มีการลอบสังหารฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้นมากซึ่งเชื่อว่าเป็นฝีมือของลน นน[1] ฮาง ทุน ฮักขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนแต่ถูกบีบให้ลาออกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2516 หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลเริ่มเพลี่ยงพล้ำในสงครามกลางเมืองกัมพูชา ลอง โบเรตขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อมาในช่วงปลายปี พ.ศ. 2516

ลน นนพยายามรักษาอำนาจของตนไว้แต่ถูกบังคับให้ลี้ภัยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2516 และกลับมาใน พ.ศ. 2517 ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2518 ลน นนพยายามขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคแม้ว่าขณะนั้น สถานการณ์ของรัฐบาลสาธารณรัฐเขมรอ่อนแอมาก มีอำนาจปกครองนอกกรุงพนมเปญเพียงเล็กน้อย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 พรรคนี้สลายตัวไปพร้อมสาธารณรัฐเขมรและเข้าสู่ยุคการปกครองของเขมรแดง[5][6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Kiernan, B. How Pol Pot came to power, Yale UP, 2004, p.348
  2. 2.0 2.1 Corfield, J. The History of Cambodia, ABC-CLIO, 2009, p.78
  3. Khmer Republic 1972, Inter-Parliamentary Union
  4. 4.0 4.1 Corfield, J. Khmers stand up!: a history of the Cambodian government 1970-1975, p.160
  5. Part II, p697
  6. Situation in Indochina Peninsula