พรรคสาธารณรัฐ (กัมพูชา)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรรคสาธารณรัฐ (เขมร: គណបក្សសាធារណរដ្ឋ คณบกฺสสาธารณรฎฺฐ อังกฤษ: Republican Party) เป็นพรรคการเมืองที่มีอายุสั้นในกัมพูชา ในช่วงสาธารณรัฐเขมร (พ.ศ. 2513 – 2518) พรรคนี้เป็นคนละพรรคกับพรรคสาธารณรัฐเขมรที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2549

ประวัติ[แก้]

พรรคสาธารณรัฐเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหารในกัมพูชา พ.ศ. 2513 เพื่อยุติระบอบสังคม (ซ็องกุม) ในสมัยพระนโรดม สีหนุ พรรคนี้ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2514 ในชื่อสมาคมสาธารณรัฐอิสระ โดยเทพ ฆุนนะซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระสีสุวัตถิ์ สิริมตะเป็นผู้นำ ต่อมาจึงจัดตั้งพรรคสาธารณรัฐเมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้น พระสีสุวัตถ์ สิริมตะเป็นเลขาธิการของพรรค

พรรคนี้เป็นฐานอำนาจของพระสีสุวัตถ์ สิริมตะ และคู่แข่งคือผู้นำรัฐประหารอีกคนหนึ่ง ลน นล และน้องชายของเขาคือ ลน นน ซึ่งจัดตั้งพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยมและมีฐานเสียงดีกว่าทั้งนักศึกษาหัวรุนแรงและกองทัพ ส่วนพรรคสาธารณรัฐมีฐานเสียงในเขตเมือง นักธุรกิจชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน แม้ว่าทั้งสองพรรคจะมีแนวนโยบายคล้ายกัน ในการเลือกตั้งเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2515 พรรคสาธารณรัฐปฏิเสธที่จะเข้าร่วม[1]

สถานการณ์ของพรรคในยุคสาธารณรัฐเขมรแย่ลง ต่อมา 25 มีนาคม พ.ศ. 2516 เทพ ฆุนนะ กลายเป็นเป้าหมายของการลอบสังหารแต่รอดชีวิตมาได้[2] ซึ่งเป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปในขณะนั้นว่าเป็นฝีมือของลน นน แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับเชื่อมโยงว่าเป็นการกระทำของตะวันตก[3] ด้วยแรงกดดันจากสหรัฐที่ต้องการเห็นความร่วมมือในพนมเปญ ลน นนจึงต้องลี้ภัยไปปารีส มีการจัดตั้งสภาสูงซึ่งรวม ลน นล พระสีสุวัตถ์ สิริมตะ เจง เสง และอิน ตัม[4]พรรคสาธารณรัฐได้รับเชิญให้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมแต่ไม่สามารถออกเสียงได้ เพราะถูกประกาศให้เป็นพรรคนอกกฎหมายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม พระสีสุวัตถ์ สิริมตะและพรรคสาธารณรัฐก็ไม่ได้มีบทบาทใดๆอีกในสาธารณรัฐเขมรจนกระทั่งพนมเปญแตก พ่ายแพ้ให้แก่เขมรแดงเมื่อ พ.ศ. 2518 ลน นลลี้ภัยไปอินโดนีเซีย ส่วนพระสีสุวัตถ์ สิริมตะถูกเขมรแดงสังหาร

อ้างอิง[แก้]

  1. Corfield, J. The History of Cambodia, ABC-CLIO, 2009, p.79
  2. Corfield, J. and Summers, L. Historical dictionary of Cambodia, Scarecrow Press, p.350
  3. Clymer, K. J. The United States and Cambodia, 1969-2000: a troubled relationship, Routledge, p.69
  4. Corfield, p.80