ผู้ใช้:Wipawee Boorana/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

เนื่องจากเป็นสาขาวิชาที่มีเนื้อหาที่กว้างจึงมีผู้นิยามคำจำกัดความไว้ดังนี้

      คาร์ล ดับเบิ้ลยู ดอยซ์ (Karl W. Deutsch) ได้ให้คำนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปรียบเสมือนเวทีอันประกอบด้วยพฤติกรรมและการกระทำทั้งหลายของรัฐ ที่มีต่อกันโดยปราศจากการควบคุมอย่างพียงพอ” จากคำนิยามดังกล่าว สามารถศึกษาความสัมพันธ์ต่างประเทศได้ คือ รัฐในแต่ละรัฐมีความแตกต่างกันทั้งทางด้าน ทรัพยากรมนุษย์ ความเจริญทางเทคโนโลยี อำนาจ และต่างๆอีกมาก โดยเฉพาะประเทศโลกที่สามที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของตนจากประเทศโลกที่หนึ่ง[1]
      
      เค เจ โฮลสติ (K.J.Holsti )ได้ให้คำนิยามของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้ว่าปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในแต่ละสังคมเกิดขึ้นจากการที่รัฐสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนก็ได้[2]
    โดยสรุป ความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ ความสัมพันธ์ ปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐโดยตรง ตัวแทนของรัฐหรือไม่ใช่ตัวแทนของรัฐและเอกชน เป็นไปได้ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆของรัฐที่ต้องการแลกเปลี่ยนและเผยแผ่ไปให้รัฐอื่นๆ เช่น การศึกษา วัฒนธรรม หรือวัตถุประสงค์ทางด้านการเมือง โดยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปในรูปแบบของการร่วมมือหรือในรูปแบบของการขัดแย้ง เพื่อป้องกันสิทธิและรักษาผลประโยชน์ของรัฐ จึงเปรียบเสมือนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเหรียญสองด้าน


ขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีเนื้อหาที่กว้างซึ่งขอบเขตเหล่านี้จะครอบคลุมประเด็นต่างๆ

ความสัมพันธ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ในรูปแบบที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้อิทธิพลและการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากในแต่ละประเทศมีทรัพยากรที่ไม่เท่ากันจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

ความสัมพันธ์ทางสังคม ความสัมพันธ์ที่มีจุดประสงค์ในการเผยแผ่และแลกเปลี่ยน วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา การท่องเที่ยว เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นและยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทางด้านการเมืองด้วย

ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ความสัมพันธ์ที่มีจุดประสงค์ในการสร้างความสงบ สร้างแบบแผนให้เกิดขึ้นในสังคม และสร้างการรู้จักเคารพกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยผ่านความสัมพันธ์ทางกฎหมาย

ความสัมพันธ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความสัมพันธ์ที่มีจุดประสงค์ ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและพัฒนา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ การสร้างสรรค์นวัตรกรรมเพื่อใช่ในการค้นคว้าวิจัยสิ่งที่สามารถพัฒนาประเทศและตอบสนองความต้องการ[3]


วิวัฒนาการของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมตามคำกล่าวของอาริสโตเติลการเขียนและภาษาในอดีตเป็นสิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ที่อาศัยอยู่ จึงมีการสันนิษฐานว่า การเขียนในอดีตของมนุษย์มีเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมหรือชุมชนที่มนุษย์อาศัยอยู่หรือสังคมข้างเคียงในบริเวณนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกเขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยสี่พันปีมาแล้ว

วิวัฒนาการการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมี 4 ระยะ

ระยะแรก การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะแรกนั้นเป็นช่วงระหว่างและก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การศึกษาในระยะนี้ เป็นการศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์ทางการเมือง(Diplomatic Historian) เพียงด้านเดียว ระยะแรกของการศึกษานี้ถือเป็นยุคทองของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ว่าได้เพราะเป็นการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง จึงทำให้ผลการศึกษามีความแม่นยำและตรงกับความเป็นจริงโดยมีการคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงน้อยที่สุด การศึกษาในระยะแรกใช้การวิเคราะห์เชิงพรรณนา(Descriptive analysis) ซึ่งเป็นการมุ่งศึกษาข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เพื่อทราบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น การศึกษาในระยะแรกมีอุปสรรคต่อการศึกษาคือนักประวัติศาสตร์ทางการทูตในช่วงนั้น เลี่ยงการศึกษาเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันและไม่ชอบตั้งกฎเกณฑ์ในการศึกษา มักใช้วิธีการย่อหรือสรุปหลักฐานที่ได้ศึกษาจึงทำให้การตั้งทฤษฎีมีความคลาดเคลื่อนและไม่อาจเป็นไปได้ และทำให้การแสดงสภาพทั่วไปของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ไม่เต็มที่นัก นักวิจัยจึงเปลี่ยนวิธีการศึกษาและเก็บหลักฐานแบบใหม่และทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ระยะที่สอง เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ในระยะที่สองนี้นักวิชาการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการศึกษาเหตุการณ์ที่เป็นปัจจุบันในขณะนั้น โดยไม่ได้พิจารณามากนัก และการศึกษาถึงปัญหาทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลถึงการทำสงครามและการรักษาสันติภาพระหว่างประเทศ สมาคมที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้กำเนิดขึ้นหลายแห่งในระยะนี้ เช่น “The Royal Institute of International Affairs ในกรุงลอนดอน The Council of Foreign Relation sand The Foreign Policy Association ในกรุงนิวยอร์ก สมาคมดังกล่าวได้ตีพิมพ์หนังสือและเผยแพร่บทความวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในสมัยสงคารมโลกครั้งที่หนึ่งมีการศึกษาประวัติศาสตร์ทางการทูตของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายหมายระหว่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงมีการสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากขึ้น โยมีการเพิ่มวิชาเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมหาวิทยาลัยฝั่งอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะในอเมริกาที่ให้ความสำคัญกับความสำคัญและอิทธิพลทางการเมือง

ระยะที่สาม ยังอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสองเป็นระยะที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางการศึกษาระหว่างประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยมีการศึกษา ทูตและกงสุล เป็นการศึกษาควบคู่ไปกับกฎหมายระหว่างประเทศและการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่นการจัดตั้งสันนิบาตชาติ การวิจัยและแนวคิดเรื่องดุลแห่งอำนาจ(Balance of power) ซึ่งเคยได้รับความนิยมในอดีต มีแนวคิดและความเชื่อว่าประชาคมโลกจำเป็นต้องมีสถาบันและองค์การเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความร้ายแรงระดับโลก ในขณะเดียวกันต้องรักษาสันติภาพและความมั่นคงของโลกไว้ด้วย จากแนวคิดดังกล่าวทำให้นักวิชาการแสวงหาองค์การที่มีจุดประสงค์ในการรักษาความสงบของโลกและแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก การกระทำของนักวิชาการไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอและยังทำลายสิ่งที่เคยเป็นหลักและยึดถือไว้ ทำให้นักวิชาการกลายเป็นนักปฏิรูป ที่ไม่เพียงใช้หลักความจริงในการศึกษาแต่กลับใช้อารมณ์และความเพ้อฝันเป็นหลัก ว่าองค์การที่คิดไว้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริงโดยไม่คำนึงถึงหลักความจริงในขณะนั้น นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปมีความรู้มากขึ้นและเห็นว่าการศึกษาที่ใช้วิธีเก่าๆเป็นวิธีที่ล้าสมัยและไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป อีกทั้งการศึกษาส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญในเรื่องแบบมากกว่าเนื้อหาไม่มีการเปิดกว้างและศึกษาเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆทำให้วงการศึกษามีลักษณะที่แคบและไม่ทันสมัย การพัฒนาศึกษาแนวคิดทฤษฎีมีอุปสรรคขาดความเชื่อมั่นและถือว่าระยะที่สามเป็นยุคเสื่อมของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็ว่าได้

ระยะที่สี่ ระยะหลังสงครามโลกจนถึงปัจจุบัน การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ นักวิชาการหันมาสนใจในศึกษาในเรื่องการเมืองจึงทำให้การศึกษากำลังและอิทธิพลต่างได้ศึกษารวมไปด้วย การศึกษาเทคนิคและพฤติกรรมของแต่ละรัฐ ตลอดจนการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐที่เป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่สองที่มีการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้ในการทำสงครามในขณะนั้น รวมไปถึงการเกิดสงครามเย็นระหว่างโลกตะวันตกและรัสเซีย ทำให้นักวิชาการมุ่งความสนใจมาที่การศึกษา ศิลปะของสงครามมากขึ้น ในการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศในระยะที่สามที่นักวิชาการส่วนใหญ่เน้นศึกษาไปที่แบบและเนื้อหาเพียงเท่านั้นจึงได้ปรับการศึกษาใหม่ที่มุ่งเน้นไปในเรื่องของการเมือง และยังมีการค้นคว้าการแสวงหาอำนาจและความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ระหว่างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง การพัฒนาการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มีการใช้หลักและวิธีการในสาขาวิชาต่างๆมาใช้เป็นแบบในการศึกษา โดยนักวิชาการจะเลือกหลักและวิธีจากสาขานั้นๆมาปรับใช้ให้เข้ากับการศึกษาวิจัยให้เหมาะสมกับการศึกษานั้นๆ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่มีขอบเขตกว้างและซับซ้อนดังนั้นนักวิชาการจึงอาศัยการผสมผสานความรู้ในหลายๆสาขาวิชาเพื่อให้สามารถเข้าใจและลำดับเหตุการณ์ได้ถูกต้อง ในปัจจุบันการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุ่งวิจัยและใช้หลักสถิติเข้ามาเพื่อเก็บข้อมูลและทดสอบซึ่งการใช้วิธีนี้ทำให้การศึกษาสามมารถเพิ่มทฤษฎีใหม่ๆและการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและข้อมูลคลาดเคลื่อนน้อยลง การศึกษาเปิดกว้างและมีการใช้หลักของวิชาต่างๆมาเป็นแบบในการศึกษาอีกด้วย การศึกษาที่มีความสนใจเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้มีข้อมูลในการศึกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไป หนังสือที่เกิดจากการศึกษาก็จะเพื่อมากขึ้นทำให้การศึกษาในยุคต่อไปเป็นไปด้วยความสะดวกรวมไปถึงการผสมผสานการศึกษากับเทคโนโลยีสมัยใหม่จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น[4]


ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ[แก้]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐ มีลักษณะคล้ายเหรียญสองด้าน

ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีรูปแบบเป็นทางการ คือ การเจริญสัมพันธ์หรือเป็นสมาชิกในองค์กรต่างๆโดยรัฐหรือบุคคลภายในองค์กรของรัฐที่เป็นผู้ได้รับมอบอำนาจในการกระทำ เช่น การประชุมสุดยอดผู้นำ การเจรจาระหว่างรัฐ ส่วนลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีรูปแบบไม่เป็นทางการ คือ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากบุคคลภายนอกองค์กรของรัฐและเอกชน ส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำที่มุ่งเน้นไปทางด้านการบ่อนทำลายหรือขบวนการก่อการร้าย[5]

ความสัมพันธ์ในลักษณะที่เกิดจากความร่วมมือหรือขัดแย้ง ลักษณะความสัมพันธ์ที่เกิดจากการร่วมมือ เช่นการเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศในการทำสงคราม การเจริญความสัมพันธ์ทางด้านการทูต ลักษณะความสัมพันธ์ที่เกิดจากการขัดแย้ง การต่อต้านทางศาสนา การก่อการร้ายระดับโลก เช่น องค์การอัลเคดา ขบวนการปลดพยัคทมิฬ

ความสัมพันธ์ในลักษณะเข้มข้นรุนแรงหรือห่างเหิน จากลักษณะความสัมพันธ์ในรูปแบบของความร่วมมือหรือขัดแย้งดังที่ได้กล่าวมานั้น อาจมีลักษณะที่เข้มข้น เช่น การร่วมมือในการเป็นสมาชิกทางการค้า การทำลายความมั่นคงของอีกรัฐหนึ่ง การกีดกันทางการค้า หรือรูปแบบการห่างเหิน เช่น การเจริญสัมพันธ์ทางการทูตที่พอเป็นพิธี การเผยแพร่วัฒนธรรมของอีกประเทศหนึ่งเพียงเล็กน้อย ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงเสมือนกับเหรียญสองด้านดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นและเห็นได้ชัดว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีทั้งด้านลบและด้านบวก[6]


แนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน[แก้]

การกระทำของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านจุดที่เป็นปัจจัยการเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบในด้านสำคัญๆที่เกิดจากพฤติกรรมความสัมพันธ์ที่แต่ละรัฐสร้างขึ้นเป็นไปได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม พฤติกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นต่างมีพื้นฐานมาจากสำนักคิด(school of thoughts) ในแต่ละยุคจะมีทฤษฎี ลัทธิที่เกิดขึ้นและมีอิทธิพลกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ลัทธิและแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อแนวโน้มต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีดังนี้

ลัทธิสัจนิยม เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางด้านอำนาจเป็นแนวคิดที่เน้นในเรื่องของ รัฐ และระบบของรัฐ กลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาโดยเฉพาะประเทศแองโกล-อเมริกัน ที่มองว่ารัฐและระบบของรัฐเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดของการเมืองโลก การที่ลัทธิสัจนิยมให้ความสนใจในเรื่องรัฐเป็นหลัก คือการปกครองรัฐทุกรัฐจะมีความต้องการที่จะให้รัฐของตนอยู่รอดจากการกดดันจากรัฐอื่นๆที่มีสถานะเป็นศัตรูที่ แย่งชิงอำนาจ เพื่อรักษาประโยชน์และป้องกันสิทธิให้รัฐของตน อำนาจ ในความหมายของลัทธิสัจนิยม คือ ความต้องการที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นในการกระทำทางการเมือง การที่จะมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงการกระทำหรือการได้มาซึ่งผลประโยชน์ของรัฐอื่น และการป้องกันตนเองจากการโดนเปลี่ยนแปลงการกระทำป้องกันสิทธิจากรัฐที่มีอำนาจมากกว่า ดังนั้น การที่รัฐจะมีบทบาทในการเมืองโลก รัฐจะเปรียบเสมือนเกราะป้องกันการกดดันจากภายนอกและตัวรัฐเอง[7]

แนวคิดว่าด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ในแนวคิดการพึ่งพาอาศัยกันจะมีจุดประสงค์ให้สร้างความสัมพันธ์ที่เป็นพันธมิตรและร่วมกันสร้างความมั่นคง มุ่งไปที่การสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจเพราะในปัจจุบันมีการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรที่จะสร้างความมั่นคงและรักษาความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ[8]

แนวคิดสันตินิยม เป็นแนวคิดที่ขัดค้านการเกิดสงครามหรือความขัดแย้งทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในตำราคำสอนของขงจื๊อและเล่าจื๊อ มีการนำแนวคิดสันตินิยมไปเป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงขณะทำสงคราม ในศตวรรษที่19 และ 20 การใช้แนวคิดสันตินิยมมีความนิยมมากในการใช้เป็นหลักในการเกณฑ์ทหารเข้ากองทัพในกองกำลังขนาดเล็ก เมื่อมีการตั้งกองทัพที่ใหญ่ขึ้นการใช้หลักการสันตินิยมจึงต้องกระทำอย่างรอบคอบและรัดกุมมากขึ้นเพื่อความมั่นคงในประเทศ ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันคือการใช้แนวคิดเพื่อนการเจราจาต่อรองในทางการเมือง[9]

จากแนวคิดข้างต้นสามารถบ่งบอกถึงแนวโน้มที่เป็นผลมาจากการกระทำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

  • ระบบที่เศรษฐกิจ การค้า ข่าวสาร และการเงินระหว่างประเทศเป็นสังคนไร้พรมแดน การเกิดสังคมไร้พรมแดนนี้จะเห็นได้ชัดในทศวรรษ 1980 ได้รับอิทธิพลมาจากการปฏิวัติคอมพิวเตอร์และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ผลจากการปฏิวัติ ทำให้การสื่อสารการเข้าถึงเหตุการณ์ทั้งในประเทศและนอกประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงทุกพื้นที่ในภูมิภาค ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของเงินตราและทุนมีการส่งผ่านหรือแลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยผ่านสังคมไร้พรมแดนที่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน การดำเนินการเศรษฐกิจการค้าและการเงินระหว่างประเทศจึงดำเนินไปอย่างไร้การควบคุมของรัฐ เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้รัฐจึงมีการปรับตัวให้ทันสถานการณ์ บ้างก็ปรับตัวเองให้กลายมาเป็นผู้นำ บ้างก็ป้องกันการเป็นผู้นำของตน ในขณะที่บางประเทศทำได้แค่เพียงป้องกันผลประโยชน์ของตนและความอยู่รอดจากประเทศมหาอำนาจ[10]
  • อิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติ รัฐ คือตัวแสดงหลักในระบบระหว่างประเทศมีการทำกิจกรรมในด้านการร่วมมือแต่ละพื้นที่ ที่เป็นทั้งระดับประเทศ ระดับโลกหรือระดับภูมิภาคทั้งองค์การ สถาบันและการร่วมมือทางการค้า แต่ในปัจจุบันบรรษัทข้ามชาติกำลังมีบทบาทอย่างมากในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสิ่งงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต นักวิชาการได้สังเกตว่าการเข้ามามีบทบาทของบรรษัทข้ามชาติเป็นตัวท้าทายอำนาจของรัฐแต่ประโยชน์เด่นชัดของบรรษัทข้ามชาตินี้ คือ ความเจริญทางอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี มีผลทำให้ค่าครองชีพของประชาชนยกระดับขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการที่บรรษัทข้ามชาติมีเครือข่ายทั่วพื้นที่ และมีเงินทุนมหาศาลในมือ การจะดำเนินการทางเศรษฐกิจจึงไม่เป็นอุปสรรคบรรษัทข้ามชาติสามารถย้ายประเทศในการสร้างเครือข่ายได้ทุกเมื่อ นั่นก็คือหากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศนั้นๆบรรษัทข้ามชาติก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างอิสสระจึงเป็นปัญหาของรัฐในการรักษาทรัพยากรในรัฐของตนไม่ให้เป็นของบรรษัทข้ามชาติ[11]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศิโรตม์ ภาคสุวรรณ. (ม.ป.ป.). (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ). หน้า.8
  2. จุฑาทิพ คล้ายทับทิม. (2553). (หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ). หน้า.2
  3. จุฬาทิพ คล้ายทับทิม. (2553). (หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ). หน้า.5-6
  4. ศิโรตม์ ภาคสุวรรณ. (ม.ป.ป.). (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องต้น). หน้า.12-19
  5. วราภรณ์ จุลปานนท์. (2551). (ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ). หน้า.28
  6. จุฑาทิพ คล้ายทับทิม. (2553). (หลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ). หน้า.5
  7. สมพงศ์ ชูมาก. (2552). (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน ทศวรรษ 1990 สู่ทศวรรษแรกแห่งศตวรรษที่21). หน้า30-32
  8. สมพงศ์ ชูมาก. (2552). (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน ทศวรรษ 1990 สู่ทศวรรษแรกแห่งศตวรรษที่21). หน้า58-59
  9. สมพงศ์ ชูมาก. (2552). (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน ทศวรรษ 1990 สู่ทศวรรษแรกแห่งศตวรรษที่21). หน้า60-61
  10. สมพงศ์ ชูมาก. (2544). (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน). หน้า339
  11. สมพงศ์ ชูมาก. (2544). (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน). หน้า340