ผู้ใช้:Natcha Longkul/กระบะทราย
นี่คือหน้าทดลองเขียนของ Natcha Longkul หน้าทดลองเขียนเป็นหน้าย่อยของหน้าผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้มีไว้ทดลองเขียนหรือไว้พัฒนาหน้าต่าง ๆ แต่นี่ไม่ใช่หน้าบทความสารานุกรม ทดลองเขียนได้ที่นี่ หน้าทดลองเขียนอื่น ๆ: หน้าทดลองเขียนหลัก |
การบริหารงานบุคคล โดยทั่วไปยึดหลักของระบบสำคัญ 2 ระบบ คือ ระบบอุปถัมภ์และระบบคุณธรรม ระบบคุณธรรมเป็นการส่งเสริมและการว่าจ้างพนักงานที่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำงาน ซึ่งระบบทั้งสองมีหลักการและวิธีปฏิบัติต่างกันในลักษณะตรงข้ามกัน[1]
ความหมาย
[แก้]ระบบคุณธรรม (อังกฤษ : Merit system) สามารถเรียกได้หลายอย่าง เช่น ระบบคุณวุฒิ ระบบความรู้ความสามารถ ระบบความดีหรือระบบความดีความสามารถ หมายถึง “เป็นวิธีการเลือกรับบุคคลเข้าทำงาน เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามต้องการ วัดโดยใช้การสอบเพื่อประเมินความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองและความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสำคัญ”[2] ระบบคุณธรรมเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการขจัดข้อบกพร่องของระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันมาแต่เดิม
ประวัติ
[แก้]การใช้ระบบคุณธรรมในอดีตนั้นนำไปใช้เฉพาะตอนเข้าทำงาน แต่ในปัจจุบันมีการนำระบบคุณธรรมเข้าไปใช้ในทุกขั้นตอน ในตอนแรกคำว่า “ระบบคุณธรรม” หมายถึง การแต่งตั้งจากการสอบ แต่ในปัจจุบันระบบคุณธรรมที่ใช้กันโดยทั่วไปไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การคัดเลือกเข้าทำงาน และยังได้หมายถึงขั้นตอนอื่นๆ รวมทั้งทุกขั้นตอนของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เช่น ความก้าวหน้าตามระบบคุณธรรม การจ่ายค่าตอบแทนตามลักษณะงานและคุณภาพของผลงาน และการจัดสภาพแวดล้อมของการทำงานที่พึงปรารถนา ดังนั้นระบบคุณธรรมในยุคใหม่จึงหมายถึง ระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีการนำคุณธรรมมาเปรียบเทียบหรือการยึดถือความสำเร็จจากการได้รับคัดเลือกและความก้าวหน้าในการทำงานของแต่ละคน และเงื่อนไขของการได้รับรางวัลที่เป็นไปตามความสามารถและระยะเวลาของการทำงาน[3]
จากเดิมที่ประเทศต่างๆ มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับราชการตลอดจนถึงการปกครองและการบริหารงานบุคคลที่อาศัยอำนาจและหลักธรรมของผู้มีอำนาจปกครองประกอบกับจารีตประเพณีเป็นหลักเกณฑ์ในการบังคับบัญชา ซึ่งผู้มีอำนาจปกครองแต่ละคนมีธรรมประจำใจและมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้การบริหารงานบุคคลของรัฐส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของการอุปถัมภ์ การถือพรรคพวก โดยไม่คำนึงถึงความรู้และความสามารถของบุคคลอาศัยเพียงแค่เหตุผลทางการเมือง ความไว้วางใจ และความพอใจเป็นเกณฑ์ เมื่อผู้มีอำนาจปกครองยึดแนวทางปฏิบัติดังกล่าว มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการพิจารณาคุ้มครองเท่าที่ควร[4]
ประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่มีการพัฒนาระบบคุณธรรมมาเริ่มใช้ในสมัยราชวงศ์น่านเจ้าเป็นครั้งแรก นักปรัชญาที่ได้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานความคิดของระบบคุณธรรมคือ ขงจื้อ ซึ่งเป็นผู้วางหลักในการคัดเลือกข้าราชการโดยเน้นความสามารถ ซื่อสัตย์ และความเสียสละ ได้มีการจัดให้สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นประเทศแรกของโลก ส่วนในประเทศตะวันตก เช่น ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่พึ่งจะนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการบริหารงานบุคคลเมื่อประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่19 สำหรับประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาระบบคุณธรรมมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 แต่การนำระบบคุณธรรมเข้ามาใช้จริงๆเริ่มต้นในปี พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นปีที่มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นฉบับแรก ปัจจุบันระบบคุณธรรมเป็นระบบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ระบบคุณธรรมเป็นระบบที่ช่วยให้การบริหารงานบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในระบบการบริหารงานบุคคล โดยมุ่งให้ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมตามความต้องการของหน่วยงานมาปฏิบัติงานให้ได้มากที่สุด[5]
หลักการ
[แก้]แนวความคิดที่ยึดเป็นหลักเกณฑ์ในการบริหารงานบุคคลตามระบบคุณธรรมมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ[6]
- หลักความสามารถ (Competence) คือ การยึดถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลเข้าปฏิบัติงานโดยพยายามเลือกสรรให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ให้มากที่สุด เพื่อให้ได้คนที่เหมาะกับงานจริงๆ(put the man on the right job) การเลือกสรรตามหลักการนี้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด การสอบแข่งขันหรือการคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมตามเกณฑ์มากกว่าย่อมได้รับการบรรจุแต่งตั้งก่อนตามลำดับ หลักความสามารถนอกจากจะใช้เป็นหลักในการเลือกสรรบุคคลเข้าทำงานแล้ว ในการเลื่อนตำแหน่งก็ต้องยึดหลักนี้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ จะพิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน ขีดความสามารถหรือศักยภาพ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีผลการปฏิบัติงานดีเด่นย่อมได้รับการเลื่อนตำแหน่งก่อนผู้ที่มีความเหมาะสมน้อยกว่า
- หลักความเสมอภาค (Equality of opportunity) หมายถึง การเปิดโอกาสให้ผู้มีคุณสมบัติพื้นฐานมีความรู้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้มีโอกาสเท่าเทียมกัน(open to all) มีสิทธิ์ที่จะสมัครสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือกเพื่อเข้าทำงานเพราะว่าทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน และในการกำหนดเงินค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานก็ยึดหลักนี้เป็นสำคัญคือ งานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบเท่าเทียมกันหรือมีลักษณะคล้ายคลึงกันควรได้รับเงินเดือนเท่ากันและได้สัดส่วนที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับปริมาณงาน นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่ากันในระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลัง ชาติตระกูล เพศ สีผิวหรือความสัมพันธ์ด้านเครือญาติ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการบรรจุแต่งตั้ง การได้รับปูนบำเหน็จความชอบ การฝึกอบรม การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง รวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น
- หลักความมั่นคง (Security) หมายถึง หลักประกันในการปฏิบัติงานให้แก่บุคคลที่เข้ามาอยู่กับหน่วยงาน ให้มีความมั่นคงยึดถือเป็นอาชีพได้ ทั้งในเรื่องอาชีพการงาน เงินเดือน สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่นๆ โดยที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่จะมิให้ถูกกลั่นแกล้งหรือถูกออกจากงานโดยไม่มีความผิด ไม่ว่าจะโดยเหตุผลส่วนตัวหรือทางการเมือง การบริหารงานบุคคลตามหลักนี้นอกจากจะใช้หลักประกันดังกล่าวแล้วยังอาจเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เช่น การจ่ายค่าตอบแทนตามค่าของความสามารถหรือผลของงานเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสใช้ความรู้แสดงความสามารถให้เติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงานทุกคนก็จะทุ่มเททำงานให้กับหน่วยงาน และมีการจัดให้มีบำเหน็จบำนาญแก่ผู้ที่อุทิศเวลาและทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงานเป็นระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้สามารถเลี้ยงชีวิตภายหลังจากการปฏิบัติงานแล้วได้ตามสมควรแก่อัตภาพ
- หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) หลักข้อนี้มีลักษณะมุ่งเน้นเฉพาะข้าราชการมากกว่าธุรกิจในวงราชการนั้นถือว่าข้าราชการประจำต้องยึดมั่นอยู่ในความเป็นกลางทางการเมือง มิให้ถูกแทรกแซงทางการเมืองหรือถูกบังคับให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองใดๆ มุ่งที่จะให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองและปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มความสามารถและเต็มภาคภูมิ
ข้อดี
[แก้]- หน่วยงานได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน
- ทำให้หน่วยงานเกิดประสิทธิภาพและทำให้งานมีคุณภาพสู่สาธารณะชน
- ระบบคุณธรรมจะให้ความคุ้มครองแก่ข้าราชการ มีความมั่นคงในตำแหน่งและมุ่งหน้าทำงานทำให้หน่วยงานมีความก้าวหน้า
- ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ในเรื่องความเสมอภาคและความชอบธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเท่ากันได้มีโอกาสเข้ารับราชการอย่างเท่าเทียมกัน ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
- เป็นการป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ทำให้ข้าราชการเกิดความโลภ เป็นการปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตน[7][8]
ข้อเสีย
[แก้]- เกิดความล่าช้าในการรับบุคคลเข้าทำงาน ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนต่างๆที่ต้องใช้เวลานาน
- เมื่อได้รับผลตอบแทนที่ต่างกัน ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างพนักงาน
- มีค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากมีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องรับผิดชอบหลายฝ่ายและต้องใช้วัสดุจำนวนมาก
- มีระเบียบ กฎเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติมากมาย
- ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันจึงจะรักษาระบบนี้ไว้ได้[9][10]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://en.wikipedia.org/wiki/Merit_system
- ↑ Marzone Tallman.(1953).Dictionary of Civices and Government,P.165
- ↑ รศ.ดร.เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ.(2554).ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์,หน้า150
- ↑ เพ็ญศรี วายวานนท์.(2514).การบริหารงานบุคคลในประเทศไทย,หน้า99-100
- ↑ วิจิตร ศรีสอ้าน,อวยชัย ชะบา.เอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารงานบุคคล,หน้า39-40
- ↑ Joseph B. Kingbury,Personnel Administration for Thai Student,P.11
- ↑ http://mpa2011.blogspot.com/2012/05/haman-resource-management.html
- ↑ รองศาสตราจารย์เกรียงศักดิ์ เขียวยิ่ง.(2535).การบริหารรัฐกิจ แนวคิด หลักการและการปฏิบัติ,หน้า186
- ↑ http://mpa2011.blogspot.com/2012/05/haman-resource-management.html
- ↑ https://en.wikipedia.org/wiki/Merit_system