ผู้ใช้:Miwako Sato/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สังคมไทยโบราณควบคุมความสัมพันธ์ทางสมรสด้วยจารีตประเพณีที่เน้นชายเป็นใหญ่ โดยบิดาเป็นหัวหน้าครอบครัว สตรีไม่มีบทบาทในครอบครัวและสังคม ส่วนมรดกตกทอดแก่บุตร ไม่มีการแบ่งสินสมรสระหว่างสามีและภริยา จารีตประเพณีนี้มีปรากฏอยู่ในจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย[1]

ต่อมาในสมัยอยุธยา ความขยายตัวของสังคมทำให้ปรากฏการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อควบคุมความสัมพันธ์ทางสมรสเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น กฎหมายลักษณะผัวเมีย กฎหมายลักษณะมูลคดีวิวาท กฎหมายลักษณะลักพา พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการผิดเมีย พ.ศ. 1905 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการแบ่งปันสินบริคณห์ระหว่างผัวเมีย พ.ศ. 1905 ซึ่งล้วนได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายฮินดูที่ใช้ระบบชายหลายเมีย[1] ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็ยังใช้กฎหมายจากสมัยอยุธยาที่ผ่านการชำระสะสางใหม่เป็นกฎหมายตราสามดวง ซึ่งมีหมวดหมู่ที่ว่าด้วยการสมรสและครอบครัวอยู่ด้วย เรียกว่า กฎหมายลักษณะผัวเมีย[2]

กฎหมายลักษณะผัวเมียนี้ใช้บังคับมาจนถึงภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เมื่อมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2478 มีผลเป็นการยกเลิกกฎหมายลักษณะผัวเมียทั้งสิ้น และเปลี่ยนไปใช้ระบบผัวเดียวเมียเดียว[2]

ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2478 นี้ ระบุไว้ในมาตรา 1445 ว่า การสมรสจะกระทำได้ระหว่างชายที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว และหญิงที่อายุ 15 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น[3] ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 บัญญัติถึงความเสมอภาคกันระหว่างชายและหญิงเป็นครั้งแรก[4][5] จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. บรรพ 5 ครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2519 โดยเปลี่ยนไประบุถึงการสมรสไว้ในมาตรา 1448 และปรับอายุให้เท่ากันระหว่างชายและหญิงว่า การสมรสจะกระทำได้ระหว่างชายและหญิงที่อายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้วเท่านั้น แต่ศาลจะอนุญาตให้สมรสก่อนนั้นก็ได้[6] มาตรา 1448 นี้เป็นบทบัญญัติที่ใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน[7]

แม้สังคมไทยจะมีวิวัฒนาการเกี่ยวกับกฎหมายการสมรสตามลำดับ แต่ตลอดมาก็รับรองเพียงการสมรสระหว่างบุคคลต่างเพศ คือ ชายและหญิง เท่านั้น[8]

ความพยายามเปลี่ยนแปลงกฎหมายการสมรสเพื่อให้ครอบคลุมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศ เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2555 เมื่อนที ธีระโรจนพงษ์ และอรรถพล จันทวี คู่รักเพศเดียวกันที่อยู่กินกันมา 19 ปี ถูกนายทะเบียนปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสด้วยเหตุผลว่า ขัดต่อ ป.พ.พ. ที่อนุญาตเพียงการสมรสระหว่างชายและหญิง จึงร้องเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาและเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่เนื่องจากมีแรงต่อต้านมาก จึงเลี่ยงไปเสนอ "ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต" แทนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเดิม[8][9] ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจัดทำเสร็จสิ้นใน พ.ศ. 2556 แต่ก็มีผู้เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้จะทำให้คู่รักเพศเดียวกันกลายเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่รับรองให้มีสิทธิและเสรีภาพเสมอคู่รักต่างเพศ เช่น ไม่รับรองสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการได้รับสวัสดิการจากรัฐ สิทธิในการใช้ชื่อสกุลของคู่รัก และสิทธิในการจัดการแทนกันในเรื่องการรักษาพยาบาลหรือเรื่องทรัพย์สิน[9] อย่างไรก็ดี รัฐประหารในปีถัดมาทำให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้เข้าสู่รัฐสภา[9][8]

ใน พ.ศ. 2557 นั้นเอง มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศได้เสนอ "ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต" เป็นร่างกฎหมายฉบับที่สองที่มุ่งรับรองการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน[10] ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญคล้ายกับฉบับก่อน แต่เปิดให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สามารถได้รับมรดกของกัน และสามารถเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของกันและกันตามกฎหมายแพ่งได้ ทั้งเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่รักต่างเพศที่ไม่ต้องการจดทะเบียนสมรส สามารถรับบุตรบุญธรรมได้[11] แต่ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ประสบความสำเร็จ[10]

ใน พ.ศ. 2562 มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศจึงหันไปอาศัยการทบทวนของฝ่ายตุลาการเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายแทน โดยร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ป.พ.พ. ที่อนุญาตเพียงการสมรสระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน[12]

ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้ และกำหนดออกคำวินิจฉัยในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2564[12] ในช่วงเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งกำหนดให้การที่หญิงทำตนเองแท้งลูกนั้นเป็นความผิดอาญา เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ[13] สาธารณชนจึงคาดหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องการสมรสไปในทำนองเดียวกัน[14][15][16] แต่เมื่อถึงกำหนดวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญก็สั่งเลื่อนออกไปก่อน[12] ครั้นวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญจึงประกาศคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่า ป.พ.พ. ที่กำหนดให้มีแต่การสมรสของชายและหญิงนั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[17] โดยให้เหตุผลว่า การสมรสใน ป.พ.พ. เป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ว่าด้วยการดำรงเผ่าพันธุ์ และสอดคล้องกับจารีตประเพณีไทยที่เชื่อถือสืบกันมาว่า การสมรสกระทำได้ระหว่างชายและหญิงเท่านั้น ขณะที่คู่สมรสเพศเดียวกันอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนในครอบครัวเฉกเช่นบุคคลต่างเพศได้ การที่ ป.พ.พ. รับรองเพียงการสมรสของบุคคลต่างเพศ จึงส่งเสริมความมั่นคงของรัฐ และเสริมสร้างความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี[14]

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้สาธารณชนไม่พอใจในทัศนคติของศาลต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ[18] มีรายงานว่า คำวินิจฉัยนี้สร้าง "ความชอกช้ำ" และ "ความผิดหวังครั้งใหญ่" ให้แก่บรรดาผู้ "ฝันอยากเห็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผลิบานในประเทศ"[15] และทำให้เกิดความเดือดดาลในสื่อสังคม ที่ซึ่งแฮชแท็ก "#ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ" ขึ้นอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว[9][19] คำวินิจฉัยดังกล่าวยังนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงบริเวณแยกราชประสงค์ และรณรงค์ให้เข้าชื่อสนับสนุน "ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม" ที่กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียมจะได้เสนอต่อรัฐสภา[9] ปรากฏว่า ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง มีผู้ลงชื่อสนับสนุนกว่า 1 แสนคน[9] นับเป็นปรากฏการณ์ที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างกระตือรือร้นต่อร่างกฎหมาย[18]

ในช่วงเดียวกัน ก็มีการเสนอร่างกฎหมายจากฝ่ายอื่น โดยใน พ.ศ. 2563 ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล เสนอ "ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ." เพื่อให้มีสิทธิสมรสถ้วนหน้า ด้วยการเปลี่ยนถ้อยคำใน ป.พ.พ. จาก "ชาย" และ "หญิง" เป็น "บุคคล" และจาก "สามี" และ "ภริยา" เป็น "คู่สมรส" นอกเหนือไปจากเรื่องอื่น ๆ[9] ในการจัดทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ร่างพระราชบัญญัตินี้มีประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นราว 54,447 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายไทย[9] นอกจากนี้ ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 รัฐบาลซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ "ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ." และ "ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต"[9]

1[แก้]

2[แก้]