ผู้ใช้:Miwako Sato/กระบะทราย
นี่คือหน้าทดลองเขียนของ Miwako Sato หน้าทดลองเขียนเป็นหน้าย่อยของหน้าผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้มีไว้ทดลองเขียนหรือไว้พัฒนาหน้าต่าง ๆ แต่นี่ไม่ใช่หน้าบทความสารานุกรม ทดลองเขียนได้ที่นี่ หน้าทดลองเขียนอื่น ๆ: หน้าทดลองเขียนหลัก |
ผู้เกี่ยวข้อง
[แก้]คดีนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และเกี่ยวพันกับพระประยูรญาติและขุนนางของพระองค์ ดังนี้
พระประยูรญาติ
[แก้]- พระราชอนุชา
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ จำเลยในคดี
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้พิพากษาคดี
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ผู้พิพากษาคดี
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง ผู้พิพากษาคดี
- พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
- พระราชโอรส
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ภายหลังขึ้นทรงราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) พระองค์ยังทรงบันทึกคดีนี้ไว้ในเอกสารที่เรียก ประวัติต้นรัชกาลที่ 6[1]
- พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม โจทก์ในคดี
- พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
ขุนนาง
[แก้]- เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
- ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยา
- เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล
- ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม
ภูมิหลัง
[แก้]จุดเริ่มต้นของคดีนี้ คือ การวิวาทกันระหว่างกรมหมื่นนราธิปฯ กับหม่อมที่ชื่อว่า "พักตร์" (บ้างเขียน "ภักตร์" หรือ "พัก") กรมหมื่นนราธิปฯ นั้นทรงมีโรงละครชื่อ "ปรีดาลัย" อยู่ในวังวรวรรณ และทรงเลี้ยงพักตร์ เด็กหญิงวัย อายุ 13 ปี ไว้เป็นนางละคร[2] เมื่อพักตร์โตขึ้น กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงจับพักตร์ทำเป็นภริยา จึงเรียกขานกันว่า "หม่อมพักตร์" หรือ "หม่อมละคร"[3][4] แต่พักตร์ไม่สมัครใจจะเป็นภริยาของพระองค์ จึงถูกพระองค์ตบตี[2][5] พักตร์ทนไม่ไหว หนีออกจากวังวรวรรณในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452[5] โดยหนีไปอยู่ที่ฝั่งธนบุรี กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงนำกำลังออกไล่ล่าติดตามกลับมา โดยทรงเที่ยวบุกค้นบ้านเรือนราษฎร ราษฎรจึงเข้าชื่อถวายฎีการ้องเรียนต่อรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 5 ทรงเรียกกรมหมื่นนราธิปฯ มาตักเตือนว่า "อย่าให้กระทำการเอะอะเช่นนั้นอีก"[1][6] รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนไว้ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่า การถวายฎีกาของราษฎรนั้น มีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นผู้สนับสนุน[1]
อย่างไรก็ดี พักตร์ไม่ประสงค์กลับไปวังวรวรรณ และได้เข้าพึ่งพิงผู้มีบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และท่านผู้หญิงเปลี่ยน ให้ช่วยคุ้มครองจากอำนาจของกรมหมื่นนราธิปฯ[2] ที่สุดแล้ว อำแดงพุด มารดาของพักตร์ พาพักตร์เข้าร้องทุกข์ยังโรงพักพลตระเวนที่วัดบุปผาราม ฝั่งธนบุรี ขอให้คุ้มครองบุตรสาวระหว่างที่ฟ้องร้องกรมหมื่นนราธิปฯ เป็นคดีในศาล โรงพักจึงรายงานเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล และเจ้าพระยายมราชสั่งให้อารักขาพักตร์ไว้ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง[2]
วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 กรมหมื่นนราธิปฯ เสด็จไปหาเจ้าพระยายมราชที่กระทรวงนครบาลเพื่อขอพบพักตร์ที่โรงพัก เจ้าพระยายมราชทูลปฏิเสธ และทูลว่า ตนต้องวางตัวเป็นกลาง ส่วนที่อารักขาพักตร์ไว้ ก็อารักขาในฐานะหม่อมของพระองค์[2] ต่อมาเจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุญาตกรมหมื่นนราธิปฯ ว่า เพราะยังอยู่ในโทสะด้วยกันทั้งสองฝ่าย พบกันก็มีแต่จะวิวาทกัน จะเป็นที่เสื่อมเสีย ผู้คนจะครหาเกรียวกราวมากขึ้น[2]
ครั้นวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2452 เจ้าพระยายมราชไปโรงพักพลตระเวนวัดบุปผาราม แจ้งพักตร์ต่อหน้ามารดาและป้าของพักตร์ว่า พลตระเวนมีอำนาจอารักขาได้ 7–15 วันเท่านั้น และแนะนำให้พักตร์คืนดีกับกรมหมื่นนราธิปฯ โดยรับรองว่า จะทูลขอกรมหมื่นนราธิปฯ มิให้ทรงลงโทษ แต่พักตร์ยืนยันจะดำเนินคดีต่อกรมหมื่นนราธิปฯ จนถึงที่สุด เจ้าพระยายมราชจึงแนะนำให้พักตร์ไปอยู่ในความคุ้มครองแห่งวังรพีพัฒน์ของกรมหมื่นราชบุรีฯ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หรือวังวรดิศของกรมหลวงดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กรมหลวงดำรงฯ ทรงเห็นว่า ไปอยู่วังรพีพัฒน์จะเหมาะกว่า เพราะกรมหมื่นราชบุรีฯ ทรงรับผิดชอบงานยุติธรรม พักตร์จึงอยู่ในอารักขาของวังรพีพัฒน์นับแต่นั้น[2]
รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนไว้ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ถึงการรับตัวพักตร์ไปอยู่วังรพีพัฒน์ว่า
"ในเวลานั้น เปนเวลาที่เจ้าฝรั่ง (ดยู๊ก โยฮันน์ อัลเบร็คต์ แห่งเม็คเคล็นเบอร์ก เชวริน) จะเข้ามาอยู่แล้ว เกรงว่า จะเกิดฟ้องร้องกันขึ้นเปนการเอิกเกริกขายหน้า จึ่งได้ปรึกษากันในระหว่างกรมดำรง กรมราชบุรี และเจ้าพระยายมราชว่า จะควรจัดอย่างไร เจ้าพระยายมราชว่า ครั้นตัวจะรับไปไว้ในบ้านเอง ก็มีลูกหนุ่ม ๆ จะเปนที่ติฉินนินทาได้ จึ่งได้ตกลงพร้อมกันให้กรมราชบุรีรับตัวไป พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบ และทรงพระราชดำริห์เห็นชอบด้วย ฝ่ายกรมราชบุรีได้ทรงเลี้ยงดูพักตร์อย่างดี ประทานเงินเดือนถึงเดือนละ 30 บาท"[1]
รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนอีกว่า ในภายหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงรู้สึกผิดที่เห็นชอบกับการให้พักตร์ไปอยู่วังรพีพัฒน์ "เพราะกรมราชบุรีเปนผู้ที่เคยมีมลทินอยู่ในเรื่องผู้หญิง แต่ก็หาได้ทรงทักท้วงไปไม่"[1]
เมื่อไปอยู่วังรพีพัฒน์แล้ว พักตร์ไม่ถูกรังควานจากกรมหมื่นนราธิปฯ อีก จนเดือนมีนาคม พ.ศ. 2453 พักตร์จึงทูลขอออกจากวังรพีพัฒน์ไปอยู่ที่อื่น[2]
พญาระกา
[แก้]หลังเหตุการณ์นั้น กรมหมื่นนราธิปฯ ทรงแต่งบทละครชื่อ ปักษีปกรณัม เรื่องพญาระกา โดยทรงดัดแปลงจากเรื่อง แชนเทอเคลียร์ (Chantecler; บางแห่งเขียน ชองติแคล หรือ ซองตะแคลร์) ของเอดมันด์ รอสแตนด์ (Edmond Rostand) ซึ่งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ดิอิลลัสเตรเต็ดลอนดอนนิวส์ (The Illustrated London News) ฉบับวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453)[7][6]
บทละครดังกล่าวแบ่งเป็น 4 องก์ ชื่อ "พิศมาตุคาม" "สงครามนกเค้าแมว" "แกล้วเกินกล้า" และ "พิพากษาสมสมัคร" ตามลำดับ[6] เนื้อเรื่องโดยรวมว่าด้วยนางไก่ญี่ปุ่นตัวหนึ่งเป็นเมียน้อยของหัวหน้าไก่ชื่อ "พญาระกา" นางไก่นั้นมักมากในกาม เที่ยวสมสู่กับไก่ชนหนุ่ม ๆ พญาระการู้เข้าก็โกรธ ขับไก่ชนและนางไก่ออกจากฝูง นางไก่หนีไปอยู่กับนกกระทุงแก่ตัวหนึ่ง เมียนกกระทุงเกิดหึงหวงขึ้น นางไก่จึงต้องระเห็จไปอยู่กับเหยี่ยว แล้วเหยี่ยวก็ส่งนางไก่ไปอยู่กับนกเค้าแมว และนางไก่ก็ได้สมสู่กับนกเค้าแมว ต่อมา นกเค้าแมวต้องการโค่นอำนาจพญาระกา จึงยกพลมารบ แต่พญาระกาชนะ เพราะมีฤทธิ์ขันเรียกดวงตะวันได้ เนื้อหาดำเนินไปด้วยการชิงรักหักสวาทอีกมากมายซึ่งยุติด้วยการเชิญพญาแร้งมาพิพากษา[6][8]
เมื่อทรงนิพนธ์บทละครเสร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2453 แล้ว กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ตั้งพระทัยจะนำละครเรื่องนี้ขึ้นแสดงหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ 5 ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2453 และจะพิมพ์บทละครเผยแพร่ต่อไป[2] แต่นิยะดา เหล่าสุนทร ตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นไปได้ของข้อมูลที่ว่า จะมีการแสดงละครนี้ถวายรัชกาลที่ 5 เพราะเนื้อเรื่องว่าด้วยการประพฤติผิดและมัวเมาในกามอย่างชัดเจน[6]
ต่อมา กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงให้พระธิดาองค์หนึ่งของพระองค์นำบทละครขึ้นถวายรัชกาลที่ 5 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน[2] และได้ทรงว่าจ้างโรงพิมพ์พิมพ์บทละครเสร็จแล้ว 500 เล่ม แต่ยังมิได้แจกจ่ายแก่ผู้ใด[3] รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรแล้วไม่รับสั่งประการใด[2] ขณะเดียวกัน กรมหมื่นชุมพรฯ ก็ได้ทรงเห็นบทละคร และทรงรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล จึงทรงให้กรมหลวงประจักษ์ฯ อ่าน และกรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงนำไปถวายกรมหมื่นราชบุรีฯ ต่อ[2] กรมหมื่นราชบุรีฯ ทรงได้รับบทละครในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2453[9]
การลาออก
[แก้]กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงอ่านบทละครแล้วพิโรธยิ่งนัก เพราะทรงเห็นว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแต่งบทละครด่าพระองค์ในเรื่องที่ทรงรับดูแลพักตร์ โดยมีพระดำริว่า "เห็นได้ว่า กรมนราธิปได้แต่งขึ้นโดยมีใจพยาบาท เห็นเปนโอกาสก็จะด่าให้เต็มที่เท่านั้น"[1] นอกจากนี้ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ยังน้อยพระทัยที่ทราบว่า รัชกาลที่ 5 ผู้เป็นพระบิดา ได้ทอดพระเนตรบทละครแล้วไม่จัดการประการใด[6][9] รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนไว้ให้ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ว่า กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ "เกิดโทมนัสและแค้นอย่างมาก โดยเข้าพระทัยว่า ทูลกระหม่อมไม่ทรงพระเมตตาพระองค์ท่านเสียแล้ว จึ่งจะทรงยอมให้กรมนราธิปเล่นลครด่าได้เช่นนั้น เขาเล่าว่า กรมราชบุรีทรงกรรแสงและเดิรไปมามิได้บรรทมตลอดคืนวันที่ 30 พฤษภาคม"[1]
วันรุ่งขึ้น วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์จึงทรงเรียกประชุมข้าราชการที่กระทรวงยุติธรรม และทรงประกาศว่า จากนี้จะไม่ได้เห็นพระองค์อีก ให้ถือเสมือนว่า พระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว[9] จากนั้น ทรงร่างประกาศภาษาอังกฤษ ตั้งพระทัยจะอ่านในศาลยุติธรรม เนื้อหาว่า "คดีนี้เป็นเรื่องหมิ่นประมาท แต่งด้วยความคิดอันเลวทรามของผู้ซึ่งเป็นเจ้าในพระราชวงศ์" และทรงต่อว่าเจ้าพระองค์นั้นที่อาศัยเอกสิทธิ์ในการไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายมาท้าทายกฎหมายอย่างเปิดเผยและไม่ต้องมีโทษ[9]
อย่างไรก็ดี กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์มิได้ทรงอ่านประกาศตามที่ตั้งพระทัยไว้ เพราะพระยาอรรถการประสิทธิ์ นักกฎหมายที่ทรงนับถือ ทูลคัดค้านไว้ก่อน[9]
วันที่ 31 นั้นเอง กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเขียนหนังสือถึงกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมว่า "วันที่ 31 เดือนพฤษภาคม เปนวันโชคร้ายของพระราชา เสียลูกคนหนึ่ง เหมือนตายเสียแล้ว จะไม่ได้เห็นอีก ให้คอยฟัง คงจะทราบกับแซ่"[10]
วันต่อมา วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2453 กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงเรียกเจ้าพระยายมราชมา และประทานบทละครที่เปฺ็นปัญหานั้นให้พร้อมลายพระหัตถ์ฉบับหนึ่ง แล้วตรัสให้เจ้าพระยมราชไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ตามที่เห็นสมควร จากนั้น กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงลงเรือรถยนต์ออกจากกรุงเทพฯ ไปประทับอยู่ที่คลองรังสิต[10] รัชกาลที่ 5 ทรงอนุมัติให้กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ออกจากหน้าที่ไปตามพระทัย โดยทรงระบุเหตุผลที่ว่า กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ประชวร "โรคสมอง"[6]
วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2453 ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม 28 คนถวายฎีกาต่อรัชกาลที่ 5 ว่า มีเหตุร้ายในกระทรวงถึงขั้นที่กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีของกระทรวง ต้องลาออก พวกตนเห็นว่า จะทำราชการให้เรียบร้อยต่อไปไม่ได้ จึงขอบังคมลาออกตามไปด้วย[10] ผู้ลาออกในครั้งนั้นรวมถึงพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ขุนหลวงพระยาไกรสี และหลวงประดิษฐ์พิจารณาการ[2] รัชกาลที่ 5 ทรงทราบแล้วพิโรธยิ่งนัก ตรัสเรียกข้าราชการทั้ง 28 คนว่า "พวก 28 มงกุฎ"[2] และรับสั่งว่า
"ไม่มีแบบแผนอะไรเลยที่จะทำเช่นนี้ ทั้งในเมืองไทยเมืองฝรั่ง จะหาอะไรที่จะแก้แทนคนพวกนี้ไม่ได้จนนิดเดียว เปนอย่างอัปรีย์ที่สุดที่แล้วหาอะไรเปรียบไม่ได้ เอาการส่วนตัวมายกเปนเหตุที่จะงดไม่ทำการตามน่าที่ราชการ นับว่า ปราศจากความคิด ปราศจากความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดินและต่อแผ่นดิน ถือนายมากกว่าเจ้า"[11]
นอกจากนี้ รับสั่งให้นำจดหมายลาออกของบุคคลดังกล่าวไปติดไว้ที่ปลายแท่นบรรทม เพื่อจะได้ทรงเหยียดพระบาทใส่ในยามบรรทม[3] อย่างไรก็ดี มิได้ทรงอนุมัติให้ 28 คนนี้ลาออก โดยทรงกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลสมควร จะทำให้ราชการระส่ำระสาย ให้ทำหน้าไปที่ตามเดิม อย่าให้ขาดราชการได้[12]
คดีหมิ่นประมาท
[แก้]ค่ำวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2453 นั้นเอง รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกกรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ เสนาบดีกระทรวงวัง กรมหลวงเทววงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ และกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งอัมพรสถาน แล้วตรัสว่า คดีที่กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์กล่าวหาว่า กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแต่งบทละครหมิ่นประมาทนั้น ต้องพิจารณาให้ได้ความจริง จึงให้เสนาบดีทั้งสามเป็นผู้พิพากษาชำระความให้เด็ดขาด โดยเรียกว่า "ศาลรับสั่ง"[13]
ผลสืบเนื่อง
[แก้]หลังเหตุการณ์นี้แล้ว พักตร์ได้หายสาบสูญไป ไม่มีข่าวคราวใด ๆ อีก[6] เช่นเดียวกับขุนหลวงพระยาไกรสี หนึ่งในผู้ลาออก ก็ได้หายตัวไป และภายหลังพบว่า ศพถูกซ่อนไว้ในป่าช้าวัดกัลยาณมิตร[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม, 2564: ออนไลน์.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 โรม บุนนาค, 2559: ออนไลน์.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562: ออนไลน์.
- ↑ ศาลรับสั่ง, 2453: 3.
- ↑ 5.0 5.1 กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2547: 305.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 นิยะดา เหล่าสุนทร, 2564: ออนไลน์.
- ↑ ศาลรับสั่ง, 2453: 2.
- ↑ กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2547: 305–306.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2547: 306.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2547: 307.
- ↑ กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2547: 303.
- ↑ กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2547: 308.
- ↑ ศาลรับสั่ง, 2453: 1.
บรรณานุกรม
[แก้]- กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม (2564-12-05). "รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ถึงคดีพิพาทที่บั่นทอนพระชนมายุ 'ทูลกระหม่อม' รัชกาลที่ 5". ศิลปวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. สืบค้นเมื่อ 2565-03-17.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - กิตติศักดิ์ ปรกติ (2547-06). "คดีพญาระกา เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องหลักการ?". วารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 34 (2): 302–325.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|year=
(help) - คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2562-08-23). "สรุปสาระสำคัญจากโครงการงานวิชาการรำลึก TU Law Conference ศาสตราจารย์พิเศษมารุต บุนนาค ครั้งที่ 1 เสวนาหัวข้อ '110 ปี คดีพญาระกา'". คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 2556-03-17.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - นิยะดา เหล่าสุนทร (2564-09-20). "วิเคราะห์คดีบทละคร 'พญาระกา' หม่อมของพระเจ้าอาหนีมาวังพระเจ้าหลานจึงเป็นเรื่อง". ศิลปวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: มติชน. สืบค้นเมื่อ 2565-03-17.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - โรม บุนนาค (2559-02-19). "'คดีพญาระกา' ตามรักตามแค้นสะท้านเมือง ขบวนยุติธรรมเป็นอัมพาต บั่นทอนพระชนม์ชีพ ร. 5". ผู้จัดการออนไลน์. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ. สืบค้นเมื่อ 2565-03-17.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ศาลรับสั่ง. "คำพิพากษาคดีพญาระกา" (2453-06-08) [เอกสารอัดสำเนา]. คอลเล็กชันของห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ (1114592709). กรุงเทพฯ: ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์, คณะนิติศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.