ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ?)
ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?  
ผู้ประพันธ์สุภา ศิริมานนท์
ชื่อเรื่องต้นฉบับพระเจ้าตากสินองค์จริงไม่ได้ถูกประหาร
ประเทศไทย
ภาษาไทย
ชุดสมุดข่อย
ฉบับที่
4
หัวเรื่องประวัติศาสตร์
พิมพ์นิยาย
สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ร่วมด้วยช่วยกัน
วันที่พิมพ์พ.ศ. 2496
ชนิดสื่อปกแข็งและปกอ่อน
หน้า192 หน้า
ISBN974-9785-25-8
OCLC9786165260329
รวบรวมพงศาวดาร

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่แต่งโดย สุภา ศิริมานนท์ ใช้นามปากกา ษี บ้านกุ่ม เมื่อ พ.ศ. 2496 ระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 60 วัน เนื่องจากเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีกบฏสันติภาพ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 แต่งแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2496 [1] แต่ไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์ตลอดชีวิตของผู้เขียน ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก มีวิทยา ว่องสกุล เป็นบรรณาธิการ จากการผลักดันของ จินดา ศิริมานนท์ ภริยาของผู้เขียน หลังจากสุภาเสียชีวิตไปแล้ว 16 ปี

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? แต่งขึ้นโดยอ้างอิงเอกสารสมุดข่อยที่ตกทอดในตระกูลสุนทรโรหิต และสืบทอดมาถึงหลวงสุภาเทพ (โต สุนทรโรหิต) บิดาของจินดา ศิริมานนท์ [2] ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ที่บันทึกในพระราชพงศาวดาร แต่สอดคล้องกับเรื่องเล่าในท้องถิ่นแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มิได้ถูกสำเร็จโทษและเสด็จสวรรคต โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แต่ได้เสด็จลงเรือสำเภาไปประทับที่วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช[3] เรื่องราวในหนังสือ บางส่วนอ้างอิงถึงเรื่องสั้น "ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน" ของ หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2480

เรื่องย่อ[แก้]

นวนิยายกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนแรม 9 ค่ำ เดือน 5 ปีขาล จุลศักราช 1144 ตรงกับวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงถูกพระยาสรรค์ก่อการกบฏ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2324 และทรงถูกบังคับให้ออกผนวช และคุมพระองค์ไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงได้รับความช่วยเหลือจากภิกษุลึกลับ 5 รูป และทรงประทับเรือพาย พร้อมด้วยฝีพาย 4 คน ออกมาจากกรุงธนบุรี เพื่อไปประทับเรือใบของ "คุณพัด" (เจ้าพระยาพัฒน์ ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช) ผู้เป็นสามีของคุณนวล พี่สาวของคุณเล็กและคุณฉิม พระชายาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่จอดรออยู่ที่ตำบลปากลัด (อำเภอพระประแดง) เมืองสมุทรปราการ เพื่อทรงหลบหนีไปเมืองนครศรีธรรมราช

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบในเวลาต่อมาว่า ภิกษุทั้ง 5 นั้น แท้ที่จริงเป็นพระสหายเก่าตั้งแต่ครั้งอุปสมบทที่วัดโกษาวาส เมื่อ พ.ศ. 2297 ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อว่า "สิงห์ขาม" (แกละดำ) "ปางทราย" (แกละขาว) "สีเหล็ก" (เอกจิโตภิกขุ) "หินขาบ" (แกละแดง) และคนสุดท้ายคือ "หลวงอาสาศึก" (บุญคง) ซึ่งไม่ได้เดินทางกลับมาด้วย หลวงอาสาศึกซึ่งมีรูปพรรณคล้ายคลึงกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เสียสละปลอมตัวเป็นพระองค์อยู่ในที่คุมขัง และยอมถูกสำเร็จโทษแทนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

แผนการช่วยเหลือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อยู่ในการรับรู้ของหลวงสรวิชิต (เจ้าพระยาพระคลัง (หน)) ซึ่งวางแผนจะตลบหลัง โดยส่งทหารมอญรับจ้างพายเรือติดตาม เพื่อหวังรุมลอบปลงพระชนม์ รวมทั้งส่งทหารมอญส่วนหนึ่งลอบโจมตีเรือใบของคุณพัด แต่คุณพัด กับสิงห์ขามซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม รู้เท่าทันแผนการ วางแผนต่อสู้ และฆ่าทหารรับจ้างเหล่านั้นตายทั้งหมด

นวนิยายจบลงที่ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นเรือใบของคุณพัด และทรงร่ำลาผู้ช่วยเหลือทั้งสี่คน

อ้างอิง[แก้]

  1. ศิริพร ยอดกมลศาสตร์, ความเป็นมาแห่งต้นฉบับ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?", คำนิยมในการตีพิมพ์ ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2545
  2. พิทยา ว่องกุล, ความเป็นมาแห่งต้นฉบับ "ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?", บทนำในการตีพิมพ์ ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข? ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2545
  3. ทศยศ กระหม่อมแก้ว. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคตที่เมืองนคร. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, พ.ศ. 2550. 176 หน้า. ISBN 978-974-7303-62-9

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]