ป้ายทะเบียนรถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ป้ายทะเบียนรถ (อังกฤษ: vehicle registration plate) เป็นแผ่นป้ายทำจากโลหะหรือพลาสติก มีทะเบียนรถ เพื่อใช้ในการระบุรถยนต์หรือยานพาหนะทางบกประเภทอื่น ๆ

ป้ายทะเบียนรถในแต่ละประเทศ[แก้]

สหรัฐอเมริกา[แก้]

ป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันทำจากอะลูมิเนียม มีขนาด 12 x 6 นิ้ว ในสหรัฐอเมริกาแต่ละรัฐจะกำหนดสีและเลขทะเบียนโดยหน่วยงานของแต่ละรัฐ 30รัฐจากทั้งหมด 50รัฐ บังคับให้รถทุกคันมีป้ายทะเบียนทั้งด้านหน้าและด้านหลังของรถยนต์ จำนวนตัว6-7ตัวอักษร ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งตัวเลขและตัวอักษรได้ทุกตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละรัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งทวีปอเมริกาเหนือ ยกเว้นแซงปีแยร์และมีเกอลงซึ่งเป็นดินแดนของประเทศฝรั่งเศส [1]

สหราชอาณาจักร[แก้]

ประเทศจีน[แก้]

ประเทศญี่ปุ่น[แก้]

ประเทศไทย[แก้]

ป้ายทะเบียนรถยนต์ในประเทศไทย

ป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลในประเทศไทย ปัจจุบันทำจากอะลูมิเนียม มีขนาด 13.5 x 6 นิ้ว พื้นป้ายมีลักษณะสะท้อนแสง ตัวอักษรและตัวเลขจะถูกปั๊มนูนออกจากผิวหน้าของป้ายทะเบียน ทำให้ด้านหลังของป้ายนั้นบุ๋มเว้าลงไปตามหมายเลขทะเบียนด้วยเช่นกัน ประเภทของป้ายทะเบียนนั้นสามารถใช้จำแนกประเภทการใช้งานรถได้ ดังนี้

  1. ป้ายขาวอักษรดำ คือ ป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง
  2. ป้ายขาวอักษรฟ้า คือ ป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง
  3. ป้ายขาวอักษรเขียว คือ ป้ายทะเบียนรถกระบะ
  4. ป้ายขาวอักษรแดง คือ ป้ายทะเบียนรถสามล้อ
  5. ป้ายเหลืองอักษรแดง คือ ป้ายรถรับจ้างระหว่างจังหวัด
  6. ป้ายเหลืองอักษรดำ คือ ป้ายรถรับจ้าง
  7. ป้ายเหลืองอักษรฟ้า คือ ป้ายรถกระป๊อ
  8. ป้ายเหลืองอักษรเขียว คือ ป้ายรถตุ๊กตุ๊ก
  9. ป้ายเขียวอักษรขาว คือ ป้ายทะเบียนรถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร และรถยนต์บริการให้เช่า
  10. ป้ายแสดอักษรดำ คือ ป้ายทะเบียนรถพ่วง รถบดถนน รถแทรกเตอร์ และรถใช้งานเกษตรกรรม
  11. ป้ายขาวอักษรดำ หมวดอักษร TC กรุงเทพมหานคร คือ ป้ายทะเบียนรถทดสอบก่อนผลิต เริ่มมีใช้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560[2][3] (ป้ายทะเบียนรถยนต์ของไทยนั้นโดยปกติตัวอักษรจะเป็นอักษรไทย)
  12. ป้ายขาวอักษรดำ หมวดอักษร QC กรุงเทพมหานคร คือ ป้ายทะเบียนรถทดสอบคุณภาพ เริ่มมีใช้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560[2][3]
  13. ป้ายทะเบียนที่บริเวณชื่อจังหวัดเป็นคำว่า THAILAND ตัวพิมพ์ใหญ่ ตามด้วยเลขรหัสจังหวัดสองหลัก และหมวดอักษรของทะเบียนเป็นอักษรอังกฤษ และ/หรือ ตัวเลข หมายถึงแผ่นป้ายทะเบียนรถที่กรมการขนส่งทางบกออกให้เป็นการชั่วคราวเพื่อนำรถออกไปใช้นอกราชอาณาจักร

สำหรับป้ายทะเบียนรถอีกประเภทหนึ่งคือ ป้ายทะเบียนกราฟิก ซึ่งมีขึ้นภายหลังป้ายทะเบียนแบบปกติ ป้ายทะเบียนนี้จะมีพื้นหลังเป็นรูปภาพ สำหรับเลขทะเบียนรถที่มีลักษณะพิเศษ (เลขสวย) เช่น ฌร 9999 ซึ่งเลขทะเบียนเหล่านี้จะถูกเปิดประมูลโดยกรมการขนส่งทางบก ป้ายทะเบียนชนิดนี้จะมีภาพพื้นหลังป้ายที่สื่อถึงจังหวัดนั้นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร จะมีรูปวัดพระแก้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานพระราม 8 เป็นพื้นหลัง เป็นต้น ทะเบียนนี้คือทะเบียนประมูลในช่วงแรกมีการเปิดประมูลป้ายทะเบียนกราฟิกเฉพาะที่เป็นทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง เท่านั้น [4] แต่ต่อมาได้เปิดประมูลป้ายทะเบียนเลขสวยของรถตู้และรถกระบะเพิ่มด้วย แต่ป้ายทะเบียนประมูลของรถตู้และรถกระบะจะเป็นภาพพื้นหลังป้ายที่เหมือนกันหมดทั้งประเทศ โดยมีโทนสีเช่นเดียวกับสีและตัวอักษรของทะเบียนปกติ คือขาวฟ้าและขาวเขียวตามลำดับ ไม่ได้ใช้ภาพพื้นหลังป้ายตามแบบของจังหวัดต่างๆแต่อย่างใด ซึ่งทะเบียนรถลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549

เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 ได้เริ่มมีการประมูลป้ายรถตู้ พื้นขาว อักษรฟ้า หมวด ฮล เฉพาะจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในครั้งนั้นได้เงินไปจำนวน 25,273,969.- บาท[5]

ป้ายทะเบียนรถเกิดขึ้นพร้อมกับกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ รัตนโกสินทร์ศก 128 (พ.ศ. 2452) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อต้องการควบคุมรถและทราบว่าใครเป็นเจ้าของรถ และเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี

ถึงแม้ว่าจะมีป้ายทะเบียนรถเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ตามหลักฐานได้มีการออกกฎหมายของกระทรวงครั้งแรกเริ่มมีป้ายทะเบียนรถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยรูปแบบเป็นแบบ กท.เรียงดิ่ง มีหมวดตัวอักษรและตัวเลขอยู่ในแผ่นป้ายขนาดมาตรฐานกว้าง 11 ซม. ยาว 39 ซม. พื้นหลังเป็นสีดำ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 มีการเปลี่ยนจากรูปแบบ กท. เรียง ดิ่งเป็นแบบเรียงตามแนวนอน มีการเปลี่ยนขนาดแผ่นป้าย เป็นกว้าง 15 ซม. ยาว 30 ซม. และพื้นหลังเป็นสีขาว ลักษณะของป้ายทะเบียนดังกล่าว จะมีการพิมพ์หมวดทะเบียนและหมายเลข 4 ตัว เป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ไว้ที่ด้านบนกึ่งกลางป้าย ด้านล่างจะเป็นชื่อจังหวัดพิมพ์เป็นตัวอักษรขนาดเล็ก เช่น 1ก-9999 กรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2532 กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเปลี่ยนจาก ตราโล่ เป็นตัวย่อ ขส อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน และได้มีการเปลี่ยนงานรับผิดชอบดูแลป้ายทะเบียนรถจาก กระทรวงมหาดไทยมาเป็นกระทรวงคมนาคม ซึ่งรูปแบบทะเบียนรถยังคงเหมือนเดิมทุกประการ โดยเริ่มใช้ตัวย่อ ขส ครั้งแรกในหมวดทะเบียน 6ช-XXXX กรุงเทพมหานคร

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2540 โดยมีการเพิ่มตัวอักษรเป็น 2 ตัว เช่น กก 9999 รวมทั้งเปลี่ยนขนาดแผ่นป้ายให้ยาวขึ้น จากขนาดยาว 30 ซม. เป็นยาว 34 ซม. เนื่องจากมีการเพิ่มตัวอักษรขึ้นมาอีก 1 ตัว ซึ่งรถยนต์ที่ออกใหม่และจดทะเบียนนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป เมื่อถอดป้ายแดงออกจะได้ป้ายทะเบียนเป็นรูปแบบใหม่นี้ ซึ่งป้ายทะเบียนรูปแบบใหม่หมวดแรกที่รถจดทะเบียนใหม่ในเขตกรุงเทพมหานครจะได้ในขณะนั้นคือ พพ XXXX กรุงเทพมหานคร ส่วนรถที่จดทะเบียนก่อนหน้านี้ และได้ป้ายทะเบียนรถเป็นแบบเก่า สามารถจดทะเบียนเป็นตัวอักษร 2 ตัวได้โดยที่เลข 4 ตัวยังคงเหมือนเดิม ซึ่งจะได้หมวดอักษรแตกต่างกันไป เช่น ทะเบียน 3ฐ-5639 กรุงเทพมหานคร ถ้าจดทะเบียนใหม่จะได้ป้ายทะเบียนเป็น ธบ 5639 กรุงเทพมหานคร และใช้รูปแบบนี้เรื่อยมาจนถึงหมวดสุดท้ายคือหมวด ฆฮ XXXX กรุงเทพมหานคร กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยได้มีการเพิ่มตัวเลขด้านหน้าตัวอักษร 2 ตัว ตั้งแต่ 1 ถึง 9 ต่อ 1 หมวดตัวอักษรตัวหน้า เช่น เริ่มตั้งแต่ 1กก XXXX กรุงเทพมหานคร จนถึง 1กฮ XXXX กรุงเทพมหานคร และวนกลับมาเริ่มใหม่ที่ 2กก XXXX กรุงเทพมหานคร รูปแบบใหม่นี้เริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งหมวดแรกของป้ายทะเบียนรูปแบบใหม่คือ 1กก XXXX กรุงเทพมหานคร และยังคงใช้รูปแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ประเทศลาว[แก้]

ป้ายทะเบียนรถยนต์ในประเทศลาว

  1. ป้ายทะเบียนสีเหลืองอักษรดำ คือ ป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่จดทะเบียนในนามบุคคล
  2. ป้ายทะเบียนสีเหลืองอักษรเทา คือ เป็นรถชาวต่างชาติที่มีใบพำนักถาวร
  3. ป้ายทะเบียนสีขาวอักษรฟ้า คือ ป้ายรถที่จดทะเบียนในนามบริษัท หรือไฟแนนซ์ ที่ยังผ่อนชำระไม่หมด
  4. ป้ายทะเบียนสีขาวอักษรดำ คือ เป็นรถชาวต่างชาติที่ไม่มีใบพำนักถาวร
  5. ป้ายทะเบียนสีขาวอักษรฟ้า ไม่มีแขวงระบุ มีขีดคั่น คือ เป็นรถคนลาวยังไม่เสียภาษี
  6. ป้ายทะเบียนสีขาวอักษรฟ้า สท-และตัวเลข คือ เป็นรถของสถานทูตซึ่งได้รับสิทธิคุ้มครอง (Immunity) ตามสนธิสัญญากรุงเวียนนา
  7. ป้ายทะเบียนสีน้ำเงินอักษรขาว คือ ป้ายรถเจ้าหน้าที่พลเรือน
  8. ป้ายทะเบียนสีแดงอักษรขาว คือ ป้ายรถยนต์ของกระทรวงป้องกันความสงบ(ตำรวจ) และกระทรวงป้องกันประเทศ(ทหาร)

ประเทศเวียดนาม[แก้]

ประเทศพม่า[แก้]

ประเทศกัมพูชา[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://www.madehow.com/Volume-5/License-Plate.html
  2. 2.0 2.1 ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อ งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต การอนุญาต และระยะเวลาในการใช้รถ และเครื่องหมายแสดงการใช้รถที่ใช้เพื่อการทดสอบ พ.ศ. ๒๕๖๐
  3. 3.0 3.1 ข่าวเดลินิวส์ 9 สิงหาคม 2560 - "ขนส่ง"แจงอย่าตกใจป้าย"TC" รถทดสอบ-ถูกกฎหมาย
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-26. สืบค้นเมื่อ 2012-09-25.
  5. http://www.tabienrod.com/?cat=8


แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]