ถนนท่าแพ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนท่าแพหน้าวัดมหาวัน

ถนนท่าแพ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ถนนต้าแป เป็นถนนในจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นจากแม่น้ำปิงบริเวณสะพานนวรัฐ ผ่านวัดอุปคุต ไปจนถึงประตูท่าแพ มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางเข้าสู่กำแพงเมืองเชียงใหม่ ในปัจจุบันยังใช้เป็นเส้นทางในการประกอบพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆ เช่น การต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองสำคัญ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น

ประวัติ[แก้]

ถนนท่าแพ พ.ศ. 2508 บริเวณประตูท่าแพ

ถนนท่าแพสร้างตามแนวแกนหลักตามความเชื่อในการสร้างเมืองของพญามังราย เมื่อ พ.ศ. 1839 เมื่อแรกสร้างเมืองมีหมู่บ้านคือ หมู่บ้านเชียงเรือก เป็นย่านการค้าถนนท่าแพ[1]

มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนไทยวนซึ่งถูกเทครัวมาจากเมืองเชียงแสน สมัยพระเจ้ากาวิละ ราว พ.ศ. 2347 คือชุมชมบ้านฮ่อม เชื่อมโยงการค้าบริเวณริมแม่น้ำปิงมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีชาวจีนและชาวตะวันตกเข้ามาอยู่อาศัยเพราะแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางสำคัญในการส่งสินค้ามายังกรุงเทพ ในยุคพัฒนาประเทศในช่วงพุทธทศวรรษ 2500 เป็นถนนศูนย์กลางเศรษฐกิจ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว[2]

อาคาร[แก้]

วัดที่เก่าแก่ที่สุดบนถนนท่าแพคือ วัดแสนฝาง แต่สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สุดบนเส้นถนนท่าแพคือ วิหารเล็กวัดบุพพาราม และยังมีวิหารหลวงวัดมหาวันที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2410

จากภาพถ่ายเก่าที่ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2420 ถ่ายโดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน ภาพแสดงให้เห็นบ้านเรือนในลักษณะ เฮือนแป คือเรือนที่สร้างในลักษณะผูกติดกันยาวคล้ายการผูกแพในน้ำ ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงหลังเดียวบนนถนนท่าแพ (ข้อมูล พ.ศ. 2544) ในช่วง พ.ศ. 2432–2433 ชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำปิงช่วงวัดเกตุ ได้ย้ายข้ามฝั่งแม่น้ำมาบริเวณถนนท่าแพ ซึ่งแต่เดิมมีชาวพม่าและชาวต่องซู่อาศัยอยู่ ได้สร้างบ้านเรือนด้วยปูนที่เรียกว่า บ้านตึก ยังมีการก่อสร้างอาคารแบบตะวันตกเนื่องจากมีชาวตะวันตกเข้ามาอยู่อาศัย เช่นมีลักษณะเป็นช่องประตูทรงโค้ง (arch) หลัง พ.ศ. 2505 ที่เริ่มใช้แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 เริ่มมีการสร้างอาคารพาณิชย์ มีความสูงอาคารแตกต่างกันไป[3]

เมื่อ พ.ศ. 2503 เทศบาลนครเชียงใหม่ได้รื้อทำลายประตูท่าแพแล้วสร้างประตูใหม่[4] ปัจจุบันบริเวณประตูท่าแพรวมถึงถนนท่าแพยังคงเป็นศูนย์รวมของธุรกิจร้านค้าด้านการท่องเที่ยว

อ้างอิง[แก้]

  1. "ย่านการค้า ถนนท่าแพ". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "ถนนท่าแพ". หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่.
  3. ปวรรธน์ ตันตยานุสรณ์. "แนวทางการออกแบบอาคารใหม่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์ : กรณีศึกษา อาคารบนถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  4. นิธิ เอียวศรีวงศ์. "ประตูท่าแพ และ ดอยสุเทพ". ศิลปวัฒนธรรม.