วัดแสนฝาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดแสนฝาง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดแสนฝาง, วัดแสนฝัง
ที่ตั้งตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแสนฝาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 5 ไร่ 68 ตารางวาและมีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 90 ตารางวา

วัดแสนฝาง หรือ วัดแสนฝัง สร้างขึ้นในสมัยพญาแสนภู กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังราย เมื่อราว พ.ศ. 2119 ชื่อของวัด คำว่า "แสน" มาจากพระนามของพญาแสนภู ส่วนคำว่า "ฝัง" มาจากพระราชศรัทธาตามแบบบรรพกษัตริย์ ในอดีตพระเจ้าแสนภูมีพระราชประสงค์จะฝากฝังพระราชทรัพย์ของพระองค์ไว้กับพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าใกล้ ๆ แม่น้ำเล็ก[1] ห่างจากแม่น้ำระมิงค์พอประมาณ

อาคารและเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ พระเจดีย์มงคลแสนมหาชัย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์ชเวดากองของพม่า และวิหารลายคำ ซึ่งเป็นที่ประทับเก่าของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระองค์นำมาถวายวัดเมื่อ พ.ศ. 2420 โดยให้ปรับปรุงดัดแปลงสร้างเป็นวิหารปิดทองล่องชาดทั้งหลัง มีงานฉลองสมโภชวิหารเมื่อ พ.ศ. 2421 วิหารมีรูปแบบศิลปะล้านนา หลังคาเตี้ย และลาดต่ำ ประดับด้วยลวดลายไม้แกะสลัก และปูนปั้นปิดทอง หน้าบันตกแต่งด้วยไม้แกะสลักลายก้านขด และสัตว์หิมพานต์ขนาดความยาว 49 เมตร กว้าง 12 เมตร

อุโบสถสร้างโดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตัวอาคารเป็นตึกสองชั้นแบบร่วมสมัย ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา ชายคาประดับด้วยไม้ฉลุแบบขนมปังขิง ส่วนชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้ลวดลายวิจิตร ด้านข้างประดับรูปดาว สันหลังคาประดับรูปกินรี กุฏิ 100 ปี โยนการพิจิตร ที่หน้าต่างทำซุ้มปูนปั้นแบบตะวันตก หอไตรเก่าแก่ และหอเวรยามที่ใช้รักษาความปลอดภัยเมื่อครั้งโบราณ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดแสนฝาง พระเจดีย์ชเวดากองแห่งเมืองเชียงใหม่".
  2. "วัดแสนฝาง! สถาปัตยกรรมแบบพม่าแห่งเมืองล้านนา". เชียงใหม่นิวส์.