ตราประทับพระราชลัญจกรของจักรพรรดิจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตราประทับพระราชลัญจกรของจักรพรรดิจีน เป็นเครื่องที่แสดงถึงความมีอำนาจสูงที่สุดของแผ่นดินแผ่นดินจีนในประวัติศาสตร์[1]

ประวัติ[แก้]

ราชลัญจกรถือเป็นเครื่องหมายแสดงอำนาจอย่างหนึ่งในสังคมจีนที่มีมาช้านาน สันนิษฐานว่ามีพัฒนาการมาจากการแกะสลักตัวหนังสือบนกระดองเต๋าและกระดูกสัตว์ในสมัยราชวงศ์ซาง (ประมาณ 4,500 ปีก่อน) จากหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดค้นพบ มีการใช้ตราประทับมาไม่น้อยกว่าสมัยจ้านกว๋อ (ปลายราชวงศ์โจวประมาณ 2,500 ปีก่อน)[2] กล่าวกันว่าเมื่อฉินฉื่อหฺวังตี้ปราบแคว้นจ้าวสำเร็จก็ได้หยกเหอสื่อปี้ในตำนานมาไว้ในครอบครอง และหลังจากปราบแคว้นทั้งหกจนสำเร็จก็ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิจีน จึงให้หลี่ซือ ขุนนางคนสนิทนำหยกเหอสือปี้ไปแกะเป็นราชลัญจกรรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาว 4 นิ้ว โดยมีข้อความเป็นอักษรจีน 8 ตัวว่า 受命于天,即寿永昌 แปลเป็นไทยได้ว่า รับโองการสวรรค์ ทรงพระเจริญนิรันดร[3]

ทั้งนี้ชาวจีนในสัมยโบราณและสมัยปัจจุบันต่างก็เรียกตราประทับว่า อิ้น (印; สำเนียงจีนกลาง) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้[4]

  1. ซี่ (玺) หลังจากฉินสื่อหวงตี้ปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้ จึงมีราชโองการให้ใช้คำว่า ซี่ เรียกแทนตราประทับสำหรับโอรสสวรรค์ (ฮ่องเต้) ส่วนขุนนางและประชาชนทั่วไปให้เรียกว่า อิ้น
  2. เป่า (宝) เนื่องจากคำว่า ซี่ เมื่อออกเสียงจะคล้ายกับคำว่าว่า สื่อ (死) ที่มีความหมายว่าตาย ต่อมาจึงเลี่ยงไปใช้คำว่า เป่า ที่หมายความว่าของมีค่า ของวิเศษ หรือแก้วแทน
  3. จาง (章) ในสมัยฮั่นใช้คำว่า จาง เรียกแทนตราประทับของแม่ทัพ
  4. จี้ (记) มีความหายถึงการรู้จักการจดจำ เริ่มใช้ในสมัยถังและซ่ง
  5. กวนฝาง (关防) ในสมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู่ มีการกำหนดให้เอกสารราชการประทับตรา กวนฝาง นี้ทุกครั้งเพื่อป้องกันข้าราชการนัดแนะหรือนำไปพิมพ์ด้วยตัวเอง ต่อมาแม้จะมีการเลิกวิธีการดังกล่าวแต่ก็ยังมีการใช้คำ ๆ นี้เรื่อยมา[5]

ในสมัยโบราณตราประทับจะทำจากหยกหรือหินที่มีค่า ชาวบ้านสามัญชนจึงมีไว้ในครอบครองได้ยาก ส่วนในสมัยถังเริ่มมีการทำตราประทับที่จากโลหะเช่นทอง เงิน สำริด และตราประทับที่ทำจากกระเบื้องเริ่มมีทำขึ้นในราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง

โดยทั่วไปตราประทับจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังที่นักวิชาการเรียกว่า ตัวผู้หรือตัวเมีย หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า อินหยาง หรือ หยินหยาง โดยที่ตราประทับ หยาง (阳印) คือตัวหนังสือเป็นสีแดง ส่วนพื้นจะปล่อยเว้นว่างไว้ ส่วนตราประทับ อิน (阴印) คือตราประทับที่พื้นเป็นสีแดง ส่วนที่เป็นตัวหนังสือจะเว้นว่างไว้ และด้วยเหตุที่ตราประทับอินจะมีสีแดงมากจึงมีอีกชื่อว่า จูอิ้น (朱印) หรือ ตราประทับชาด ซึ่งตราประทับในสมัยโบราณที่พบโดยมากจะเป็นตราประทับอิน ส่วนตราประทับในชั้นหลังจะเป็นตราประทับหยางเสียเป็นส่วนใหญ่

ราชลัญจกรที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่ไม่ได้อยู่ในการดูแลของรัฐบาลจีนนั้นคือราชลัญจกรจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งถูกซื้อไปโดยชาวจีนผู้หนึ่ง โดยราชลัญจกรดังกล่าวเป็นราชลัญจกรในสมัยราชวงศ์ชิง[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. อินเจียง :ลัญจกรวิทยาจีน (๑)
  2. "ความรู้เรื่องตราประทับจีนเบื้องต้น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-12. สืบค้นเมื่อ 2016-11-11.
  3. ตราหยก พระราชลัญจกร
  4. ตราประทับจีนโบราณ
  5. ตราประทับจีน
  6. "ตราประทับหยกขาว แกะสลักรูปมังกร ของจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1795) แห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1911)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-09. สืบค้นเมื่อ 2016-11-11.