ดิกนีตี้ รีเทิร์นส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดิกนีตี้ รีเทิร์นส์
ประเภทเสื้อผ้า
อุตสาหกรรมเสื้อผ้า และกระเป๋า
ก่อตั้ง27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
ผู้ก่อตั้งกลุ่มโซลิดาริตี้
สำนักงานใหญ่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
บุคลากรหลัก
บุษบา มีชัย
มานพ แก้วผกา
กาญจนา วงพันธุ์
จารุวรรณ พลอินทร์
ทิพวรรณ ควรสุข
สุวิชา เจริญศรี
ทิพวัลย์ ไชยเลิศ
กันทนา บัวสอน
เครือวัลย์ เวียงนนท์
อำพร ทุเรียน
ไพวัน พลเรียง
อำไพ เผ่ากัณหา
มงคลธรรม ไชยโชติ
ผลิตภัณฑ์ธุรกิจค้าปลีก-ส่ง เสื้อผ้า และ กระเป๋า
เว็บไซต์www.dignityreturns.com

ดิกนีตี้ รีเทิร์นส์ (อังกฤษ: Dignity Returns) คือเครื่องหมายการค้าของโรงงานโซลิดารีตี้ กรุ๊ป (อังกฤษ: Solidarity Group) เป็นโรงงาน "ของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน" ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ประวัติ[แก้]

เวิร์คช็อปกับทาริงปาดี 2551

กลุ่มโซลิดาริตี้ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนงานบริษัท เบด แอนด์ บาธ ซึ่งถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามสิทธิแรงงาน ทำให้คนงานลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เป็นเวลาสามเดือนกว่าจึงมีข้อสรุปและยุติการชุมนุมลงได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันจัดตั้งโรงงานของคนงานขึ้น ชื่อว่าโรงงานกลุ่มโซลืดาริตี้ ภายใต้คำขวัญที่ว่า "โรงงานของคนงาน โดยคนงาน เพื่อคนงาน"[1][2][3]

ประวัติ[แก้]

ตุลาคม พ.ศ. 2545 - มกราคม พ.ศ. 2546 รวมเวลา 3 เดือน 10 วัน ที่คนงานบริษัทเบท แอนด์ บาธ กว่า 350 คน ซึ่งถูกนายจ้างลอยแพด้วยการปิดโรงงาน โดยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยคนงานกว่า 800 คน ก่อนหนีออกนอกประเทศไทย ได้รวมตัวกันชุมนุมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายของพวกเขา

ระหว่างนั้น คนงานที่ร่วมชุมนุมได้พยายามช่วยกันหารายได้มาเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งด้วยการนำดอกไม้ไปขายตามที่ประชุมต่างๆ รับจ้างเขียนป้ายผ้าให้กับงานสัมมนา และที่สำคัญคือ พวกเขาได้ตั้งโรงงานขนาดเล็กที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน โดยนำเครื่องจักรเย็บผ้า 7 ตัว มาตัดเย็บเสื้อผ้าฝ้ายและกระเป๋าสะพายจำหน่ายให้แก่คนทั่วไป โดยทำการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกซื้อผ้า ออกแบบ ตัดเย็บ และถักลวดลายด้วยไหม อีกทั้งยังมีการสกรีนเสื้อยืดเป็นข้อความ "ดิกนีตี้ อิส น็อท ฟอร์ เซล - ศักดิ์ศรีไม่ได้มีไว้ขาย" (dignity is not for sale) และรูปภาพการเดินขบวนของคนงาน ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ผลิตในนาม "เมด อิน ดิกนีตี้" (made in dignity) ซึ่งเป็นยี่ห้อที่พวกเขาตั้งขึ้นเอง

การชุมนุมครั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2546 การต่อสู้อันยาวนานดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต้องแก้ไขระเบียบข้อบังคับที่สำคัญ โดยได้ขยายการจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (เดิมจ่ายเพียง 30 เท่า) ในกรณีค่าจ้างค้างจ่าย รวมทั้งในกรณีค่าชดเชยสำหรับคนงานที่มีอายุเกิน 60 ปี (เดิมจ่ายเพียง 30 เท่า ไม่ว่าจะทำงานมากี่ปีก็ตาม) ทำให้อดีตคนงานของบริษัทเบด แอนดฺ บาธ ได้รับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง คนละประมาณ 14,800 บาท นอกจากนี้ยังได้รับเงินจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอีกคนละ 2,000 บาท

โรงงานในฝัน[แก้]

หลังการชุมนุม คนงานที่ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งได้แยกย้ายไปหางานทำในโรงงานใหม่ ในขณะเดียวกัน บาดแผลที่ได้รับจาก บริษัท เบด แอนด์ บาธ ได้ทำให้อดีตคนงานหลายคนรู้สึกเข็ดหลาบเกินกว่าที่จะกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิมได้ กอปรกับความเบื่อหน่ายชีวิตในเมืองใหญ่ จนทำให้อดีตคนงานหลายคนตัดสินใจกลับคืนสู่ภูมิลำเนาในต่างจังหวัด

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง อดีตคนงาน บริษัทเบด แอนด์ บาธ จำนวน 40 คน ได้ร่วมกันก่อตั้ง "กลุ่มโซลิดารีตี้" (Solidarity Group) โรงงานเล็กๆ ของพวกเขาขึ้น โดยร่วมกันกู้เงินจากธนาคารออมสินจำนวน 700,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งจากเพื่อนพ้องคนรู้จักรวมทั้งองกรณ์ที่สนับสนุน มาเป็นเงินลงทุนตั้งโรงงาน เป้าหมายคือผลิตสินค้าภายใต้ยี่ห้อ "ดิกนีตี้ รีเทิร์นส์" (Dignity Returns) ซึ่งเป็นยี่ห้อของกลุ่มเอง โดยเปิดตัวโรงงานเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546

กลุ่มโซลิดาริตี้และโรงงานของพวกเขา เกิดจากประสบการณ์ของคนงานที่ถูกนายจ้างและระบบอุตสาหกรรม-ทุนนิยมกดขี่ขูดรีด จนหวาดผวาที่จะกลับไปมีชีวิตและสภาพการทำงานเช่นนั้นอีก ที่สำคัญก็คือโรงงานเล็กๆ แห่งนี้เกิดจากความใฝ่ฝันของพวกเขา ซึ่งอยากจะเห็นโรงงานที่เป็นของคนงานเอง ปราศจากการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ และการบังคับขู่เข็ญจากนายทุน พวกเขาฝันเอาไว้ว่า วันหนึ่งโรงงานแห่งนี้จะมีความมั่นคง และมีรายได้ดีพอจะนำไปตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหา รวมทั้งสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

"...ผมเข้าใจว่ามันยาก แต่ก็จะทำอย่างตั้งใจ ให้มันเป็นจริงขึ้นมาให้ได้ เราจะพิสูจน์ตัวเอง..." (วิเศษ สารมะโน, สมาชิก "กลุ่มโซลิดาริตี้")

เนื่องจากโรงงานยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงทำให้โรงงานกลุ่มโซลิดาริตี้มีงานเข้ามาไม่มาก แม้ว่าพวกเขาจะพยายามประสานงานกับองค์กรและสหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อรับตัดเสื้อ ป้ายผ้า ผ้าคาดหัว กระเป๋า ฯลฯ ในงานรณรงค์และงานสัมมนาต่างๆ แต่รายได้จากงานเหล่านี้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายของโรงงาน เช่น ค่าเช่าตึก ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมทั้งภาระหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคาร ซึ่งต้องผ่อนส่งเดือนละหลายหมื่นบาท

ปัญหาสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ความเป็นโรงงานเล็กๆ ทุนสำรองมีไม่มาก ทำให้ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบคราวละมากๆ เพื่อให้ราคาผลิตภัณฑ์ถูกลง ซึ่งทำให้กลุ่มโซลิดาริตี้และดิกนีตี้ รีเทิร์นส์ยังไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับโรงงานใหญ่ๆ ได้ ปัจจุบัน กลุ่มโซลิดาริตี้จึงยังต้องรับงานตัดเย็บ รีด และบรรจุเสื้อผ้าจากโรงงานอื่น ซึ่งบางครั้งก็เป็นงานที่ส่งต่อกันมาหลายทอด และแน่นอนว่าค่าจ้างย่อมถูกหัก-ถูกลดลงตามจำนวนครั้งที่ส่งทอดงาน

"...เสื้อผ้าที่เรารับจากโรงงานอื่นมาทำ รับต่อกันมาหลายทอด ตัวหนึ่งทำ 20-30 ขั้นตอน แต่เราได้ค่าแรงตัวละ 16 บาท ซึ่งมันน้อยมาก ถ้าเรารับเองทำเอง ไม่ต้องผ่านใคร ชีวิตความเป็นอยู่ของเราน่าจะดีกว่านี้..." (สุนี นามโส, สมาชิก"กลุ่มโซลิดาริตี้")

โรงงานดิกนีตี้ รีเทิร์นส์

"...บางครั้งคนภายนอกก็บอกว่า เรายังต้องทำงานหนักไม่ต่างจากที่โรงงานเดิม แต่เรารู้ว่ามันต่าง เพราะที่นี่ไม่มีใครบังคับ ไม่มีนายจ้างคอยเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีใครคอยขู่ตะคอกด่า และที่สำคัญที่สุดมันเป็นโรงงานของพวกเราเอง..."[4] (มานพ แก้วผกา, สมาชิก"กลุ่มโซลิดาริตี้")

จากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 - ถึงปัจจุบัน เส้นทางยาวไกลและยากลำบาก ที่สำคัญคือปัญหาจากภาระส่วนตัวรุมเร้า ทำให้สมาชิกหลายคนจำใจต้องแยกทางออกไป ปัจจุบัน สมาชิกกลุ่มโซลิดาริตี้จึงเหลือสมาชิกเพียงแค่ 16 คน

รางวัลของการทุ่มเททำงานหนักและอดออม ก็คือภาระหนี้ธนาคารรวมทั้งดอกเบี้ย เป็นเงิน 875,280 บาท ได้ถูกปลดเปลื้องลงหมดสิ้นแล้วด้วยฝีมือแรงงาน และกำลังใจของพวกเขาเอง และหนี้อีกส่วนซึ่งก้อนเล็กกว่าก็กำลังถูกปลดเปลื้องให้หมดภายในเร็ววัน

นอกเหนือจากการทุ่มเททำงานหนัก และเข้าร่วมกิจกรรมของขบวนการแรงงานทุกครั้งที่มีโอกาสแล้ว ภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มคือการพยายามฟัฒนาฝีมือ แม้ว่าแต่ละคนจะเป็นอดีตผู้ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์เนมชื่อดังก้องโลก ซึ่งหมายความว่ากลุ่มโซลิดาริตี้ไม่เป็นรองใคร แต่พวกเขาไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งด้วยการค้นคว้าและเข้าร่วมการฝึกอบรมต่างๆ อุปสรรคสำคัญของพวกเขาในวันนี้คือโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ ไปทั่วโลกก็เท่านั้นเอง

โครงการความร่วมมือระหว่างโรงงานของคนงานในอาร์เจนตินา และคนงานกลุ่มโซลิดาริตี้ในประเทศไทย[แก้]

ประวัติ[แก้]

La Alamada

ในวันที่ 12 มีนาคม 2009 ตัวแทนจากลา อลาเมดา (อังกฤษ: La Alameda) โรงงานของคนงานในประเทศอาร์เจนตินา[5][6] กิจการที่คนงานกอบกู้[7]เพราะรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา[8][9][10][11] ลา อลาเมดาได้พบกับสมาชิกของสหกรณ์ดิกนิตี้ รีเทิร์นส์ที่กรุงเทพมหานคร หลังจากที่มีการอภิปรายถึงวัตถุประสงค์ของโรงงานที่ยึดมั่นมาตลอดและปัญหาอื่นๆ สมาชิกทั้งสองฝ่ายตัดสินใจร่วมกันผลิตและประชาสัมพันธ์สินค้าปลอดการใช้แรงงานอย่างกดขี่ เพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตเครื่องแต่งกายที่มีความก้าวหน้าผ่านการบริหาร จัดการโดยแรงงานเอง รวมทั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับการการใช้แรงงานอย่าง ป็นธรรม โดยการขยายเครือข่ายสื่อและความร่วมมือกันของผู้เคลื่อนไหว สหกรณ์ทั้งสองแห่งร่วมมือกันเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับการบริโภคที่ปลอดภัยและมี จิตสำนึก ขณะที่พูดถึงการกดขี่แรงงานที่เฉพาะเจาะจงไปที่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม การผลิตสิ่งทอทั่วโลก ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกดขี่ทางเพศ การอพยพ และการใช้แรงงานอย่างผิดกฎหมายในอาร์เจนตินา ประเทศไทย และทั่วทั้งบริเวณตอนใต้ของโลก[12]

วัตถุประสงค์[แก้]

รูปแบบของโครงการโน เชนส์ คือ จัดให้มีการประกวดออกแบบเสื้อยืด 4 ครั้งต่อปี ซึ่งรับความร่วมมือกันโดยตรงของศิลปิน นักออกแบบ และผู้สะสมผลงานศิลปะ กับคณะทำงานของลา อลาเมดา และ ดิกนิตี้ รีเทิร์นส์[13] การคัดเลือกครั้งแรกจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 แรงผลักดันที่เกิดจากความร่วมมือกันผลิตสินค้านี้ซึ่งได้รับการปรับเปลี่ยน ให้ใหม่อยู่เสมอด้วยความร่วมมือของศิลปิน และพันธกิจที่สหกรณ์ทั้งสองแห่งยึดมั่นมาโดยตลอด จะทำให้โน เชนส์สามารถเป็นเวทีที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก เชื่อมโยงศิลปิน ผู้บริโภค และผู้สนับสนุนไว้ด้วยเป้าหมายที่สำคัญนี้ ขณะที่รักษาแรงผลักดันนี้ไว้ให้มั่นคงตลอดระยะเวลาการทำโครงการ ทั้งลา อลาเมดา และดิกนิตี้ รีเทิร์นส์ จะยังคงเปิดกว้างในแง่ของการร่วมมือกับโรงงานอันมีผู้ใช้แรงงาน เป็นเจ้าของที่อยากจะร่วมผลิตสินค้าภายใต้ตราสัญลักษณ์ โน เชนส์[14][15]

อ้างอิง[แก้]

  1. ศักดิ์ศรีของเรา...โรงงานของเรา[ลิงก์เสีย] กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 มกราคม 2552 01:00
  2. WORLD SOCIAL FORUM: Thai Factory Makes Worker-friendly Capitalism By Marwaan Macan-Markar BANGKOK, Jan 13 (IPS)
  3. Dignity Return - a 'sweat-free' garment operation in Thailand. January 1, 2004
  4. Dignity Returns – a workers’ brand is possible! Economic Literacy and Budget Accountability for Governance (ELBAG)
  5. ARGENTINA: Slave Labour Alive and Well By Marcela Valente เก็บถาวร 2007-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนARGENTINA: Slave Labour Alive and Well by Marcela Valente. Dec 1, 2005 (IPS)
  6. ARGENTINA: LABOUR-ARGENTINA: Bolivian Community Divided Over Sweatshops เก็บถาวร 2010-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนInter Press Service IPS NEWS By Marcela Valente BUENOS AIRES, Apr 6, 2006 (IPS)
  7. การสวนกระแสตรรกะทุนนิยม: กิจการที่คนงานกอบกู้ในอาร์เจนตินาปรากฏการณ์ใหม่ที่ลูกจ้างยึดสถานประกอบการมาบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภัควดี วีระภาสพงษ์ : แปล นักวิชาการอิสระ โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน
  8. กมล กมลตระกูล, อย่าร้องไห้ตามอาร์เจนตินา, มติชน, กรุงเทพ, 2549, ISBN 974-323-827-1
  9. อาร์เจนตินาที่ลุกเป็นไฟ เก็บถาวร 2009-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนอาร์เจนตินาที่ลุกเป็นไฟ (สุรพล ธรรมร่มดี, กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2545)
  10. วิกฤติเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา
  11. Argentine economic crisis (1999–2002)
  12. No Chains, a collaborative project undertaken by the two worker cooperatives “20th of December” (La Alameda) in Argentina and “Dignity Returns” in Thailand, 2 กุมภาพันธ์ 2552 11:00
  13. Fine Art Magazine - No Chains: Call for Artists : ไร้โซ่ตรวน รับสมัครศิลปิน[ลิงก์เสีย]
  14. CALL FOR ARTISTS, No Chains Project CALL FOR ARTISTS, No Chains Project
  15. Fashioning an Ethical Industry - A labour behind the label project [ลิงก์เสีย]Fashioning an Ethical Industry - A labour behind the label project

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]