ข้ามไปเนื้อหา

ณ อยุธยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ณ อยุธยา เป็นสร้อยต่อท้ายนามสกุลสำหรับราชสกุล เขียนเป็นอักษรโรมันว่า "na Ayudhya"[1]

ประวัติ

[แก้]

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 โดยบัญญัติไว้ว่า ผู้ที่สืบเชื้อสายทางบิดามาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันให้ใช้นามสกุลเดียวกัน เป็นเหตุให้คนไทยมีนามสกุลใช้

เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “ประกาศเพิ่มเครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชตระกูล” ซึ่งมีความว่า มีพระราชดำริถึงนามสกุลที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ที่สืบต่อจากราชตระกูลลงมาโดยสายต่าง ๆ นั้น ต่อไปภายหน้านามสกุลเหล่านี้อาจไปปะปนกับนามสกุลสามัญ จนไม่อาจทราบได้ว่า นามสกุลใดเป็นนามสกุลสำหรับราชตระกูล เพราะไม่มีเครื่องหมายเป็นที่สังเกต และเนื่องจากมีพระราชดำริที่จะดำรงนามสกุลสำหรับราชตระกูลให้ยืนยงอยู่ชั่วกัลปาวสาน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า บรรดานามสกุลซึ่งได้ทรงขนานพระราชทานแก่ผู้สืบสายราชตระกูลนั้น ให้มีคำว่า “ณ กรุงเทพ” เพิ่มท้ายนามสกุลนั้น[2] และห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มิได้สืบสายราชตระกูลใช้คำ “ณ กรุงเทพ” เป็นนามสกุลหรือต่อท้ายนามสกุลของตน แม้แต่ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตพิเศษให้ใช้นามสกุลสำหรับราชตระกูลได้ จะเติมคำ “ณ กรุงเทพ” ลงด้วยไม่ได้

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริพิจารณา [3] คำว่า “กรุงเทพ” นั้น เป็นคำที่ใช้นำหน้านามมหานครซึ่งเป็นราชธานี เช่น ใช้ว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา” เป็นนามของพระนครศรีอยุธยาเมื่อครั้งเป็นราชธานี และใช้คำว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์” เป็นนามของพระมหานครราชธานีในปัจจุบัน ดังนั้น คำว่า “กรุงเทพ” จึงมีความหมายถึงราชธานี 2 แห่ง โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นแห่งใด และเนื่องจากมีพระราชดำริว่า พระบรมราชวงศ์นี้เดิมเป็นสกุลอันมหาศาลที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ “ประกาศแก้เครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชสกุล” ความว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้สืบสายแต่ราชสกุลใช้คำว่า “ณ กรุงเทพ” ต่อท้ายนามสกุลนั้น เป็น “ณ อยุธยา” ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2468 ซึ่งตรงกับวันมหาจักรี[4] [5]

ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า "ในขณะนั้นการออกพระนามหม่อมเจ้าโดยใช้พระนามของพระบิดาต่อท้ายเพื่อให้ทราบว่าเป็นหม่อมเจ้าในกรมใดหรือพระองค์ใด นั้น เมื่อได้มีการพระราชทานนามสกุลสำหรับเจ้าต่างกรมและพระองค์เจ้าแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้นามสกุลต่อนามหม่อมเจ้าแทนการใช้นามกรมเช่นแต่ก่อน แต่หม่อมเจ้าซึ่งทรงสถาปนาให้มีพระเกียรติยศเป็นพระองค์เจ้าไม่ต้องใช้นามสกุลต่อท้ายพระนาม"

ลักษณะการใช้

[แก้]
  • ผู้ที่มีสกุลยศตั้งแต่พระองค์เจ้าขึ้นไปไม่ต้องใช้นามสกุลต่อท้ายพระนาม
  • ผู้ที่มีสกุลยศหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ และหม่อมหลวงใช้นามสกุลต่อท้ายนาม โดยมิต้องมีสร้อย "ณ อยุธยา"
  • ผู้ที่สืบสายจากราชสกุลที่มิได้มีสกุลยศเป็นหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์​ และหม่อมหลวง​ ให้ใช้สร้อย "ณ อยุธยา" ต่อท้ายนามสกุล
  • สตรีสามัญชนซึ่งสมรสกับผู้ที่สืบสายจากราชสกุลทั้งที่มีสกุลยศและไม่มีสกุลยศ ต้องใช้สร้อย "ณ อยุธยา" ต่อท้ายนามสกุลด้วย (กรณีที่เป็นภรรยาของเจ้าฟ้า,พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า จะมีคำนำหน้าว่าหม่อมด้วย)
  • การใช้สร้อย "ณ อยุธยา" ต่อท้ายนามสกุลนั้น ใช้สำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายจากราชสกุลฝ่ายบุรุษเท่านั้น ส่วนทายาทของสายราชสกุลที่เป็นสตรีนำนามราชสกุลของตนมาใช้ได้ แต่จะใช้สร้อย "ณ อยุธยา" ไม่ได้

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศพระราชทานนามสกุลสำหรับสืบเชื้อพระวงศ์พระบรมราชวงศ์ชั้น 5. เล่มที่ 46, หน้าที่ 21, วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2472
  2. "รู้ไปโม้ด" นสพ.ข่าวสดรายวัน ฉบับวันที่ 12-13 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5766-5767
  3. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศแก้เครื่องหมายนามสกุลสำหรับราชสกุล. เล่มที่ 41, หน้าที่ 4619, วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2467
  4. การใช้สร้อย "ณ อยุธยา" ต่อท้ายนามสกุลสำหรับราชสกุล จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ 4 ฉบับที่ 33 กุมภาพันธ์ 2537
  5. จารุณี ฐานรตาภรณ์. "นามสกุลพระราชทานของข้าราชการตุลาการและบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ตอน 3)" ศาลยุติธรรมปริทัศน์. (3) : 14 - 15.