ข้ามไปเนื้อหา

ซน เซน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ซอน เซน)
ซอน เซน
ซอน เซนในทศวรรษ 2510 สวม กรอมา
รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
15 มกราคม ค.ศ. 1976 – 7 มกราคม ค.ศ. 1979
นายกรัฐมนตรีพล พต
ถัดไปแปน โสวัณ
รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาประชาธิปไตย
ดำรงตำแหน่ง
14 เมษายน ค.ศ. 1976 – 7 มกราคม ค.ศ. 1979
นายกรัฐมนตรีพล พต
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 มิถุนายน ค.ศ. 1930(1930-06-12)
จ่าวิญ, โคชินไชนา, อินโดจีนของฝรั่งเศส
เสียชีวิต15 มิถุนายน ค.ศ. 1997(1997-06-15) (67 ปี)
อำเภออ็อนลวงแวง, จังหวัดอุดรมีชัย, ประเทศกัมพูชา
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา
คู่สมรสยุน ยัต

ซอน เซน (Son Sen; เขมร: សុន សេន) เกิดเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2473 เสียชีวิตเมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2540 เป็นนักการเมืองและทหารชาวกัมพูชาที่นิยมคอมมิวนิสต์ เขาเป็นคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาและพรรคกัมพูชาประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ. 2517 – 2535 เขาเป็นผู้ดูแลหน่วยสันติบาลของพรรคและคุกตวลแซลง เขาแต่งงานกับยุน ยัต (雲月) ผู้ซึ่งต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสารสนเทศ เขาถูกพล พตสั่งฆ่าเมื่อ พ.ศ. 2540

ชีวิตช่วงแรก

[แก้]

เซนเกิดที่จังหวัดจ่าวิญ ในเวียดนามใต้[1] เป็นชาวแขมร์กรอม[2] ที่มีเชื้อสายจีน-เวียดนาม[3] ใน พ.ศ. 2489 เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยฝึกหัดครูในพนมเปญ และได้ทุนไปเรียนต่อฝรั่งเศส และได้เข้าร่วมกลุ่มกับนักศึกษาชาวกัมพูชาที่นิยมคอมมิวนิสต์ เช่น พล พต เอียง ซารี และฮู ยวน เซนได้รับอิทธิพลจากแนวคิดแบบรุนแรงของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ต่อมาเซนถูกถอนทุนเพราะเข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองหัวรุนแรง เขาจึงต้องกลับมากัมพูชาและสอนหนังสือที่วิทยาลัยสีสุวัตถิ์ ต่อมาไปทำงานที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ เซนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเมื่อ พ.ศ. 2503 ซึ่งในขณะนั้นมีตู สามุตเป็นผู้นำ[4]

เซนมีมุมมองที่ต่อต้านระบอบสังคมของพระนโรดม สีหนุ ทำให้เขาต้องออกจากงานใน พ.ศ. 2505 เพราะเผยแพร่ความคิดต่อต้านพระนโรดม สีหนุในหมู่นักเรียน เขาจึงไปสอนที่จังหวัดตาแก้ว ใน พ.ศ. 2506 ซึ่งเป็นปีที่พล พตเข้ามาครอบงำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาได้ทั้งหมด กลุ่มฝ่ายซ้ายส่วนใหญ่ออกจากพนมเปญไปสู่ชนบท เซนได้ออกจากเมืองเช่นกันใน พ.ศ. 2507 เซนเข้าร่วมกับกลุ่มของพรรคคอมมิวนิสต์ที่จังหวัดรัตนคีรี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวเขมรบน[5] ใน พ.ศ. 2511 เขาได้จัดให้มีการลุกฮือขึ้นทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศในเขตจังหวัดกำปอต ตาแก้วและจังหวัดกำปงสปือ[6]

หัวหน้ากองทหารเขมรแดง

[แก้]

หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2513 และการก่อตั้งสาธารณรัฐเขมรโดยมีลน นลเป็นผู้นำ พระนโรดม สีหนุเข้าร่วมกับเขมรแดงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ปักกิ่ง กองกำลังของเขมรแดงได้ขยายตัวมากขึ้นเพราะอาศัยชื่อของพระนโรดม สีหนุ เซนเป็นผู้รับผิดชอบกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนกัมพูชาทางตะวันออกเฉียงเหนือ[7] ต่อมาใน พ.ศ. 2515 เซนได้เป็นผู้นำกองทัพของเขมรแดง

กัมพูชาประชาธิปไตย

[แก้]

หลังจากที่เขมรแดงยึดพนมเปญได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2518 เซนได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแลหน่วยสันติบาลซึ่งเป็นตำรวจลับและเป็นผู้ดูแลคุกตวลแซลง เขาจึงเกี่ยวข้องกับการสังหารผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะศัตรูของรัฐบาล ร่วมมือกับกัง เก็ก เอียวที่เป็นผู้ควบคุมคุกตวลแซลง เซนนั้นมีแนวคิดต่อต้านเวียดนามอย่างรุนแรง นอกจากนั้น ภายในพรรคยังระแวงเกี่ยวกับความปลอดภัยสูง จึงมีการใช้ชื่อปลอมหรือหมายเลขในเอกสารภายใน เซนมักใช้ชื่อปลอมว่าเขียว และใช้หมายเลขว่า “พี่ชาย 89”

เซนยังมีหน้าที่ในการดูแลกองทัพแห่งชาติหรือกองทัพปฏิวัติกัมพูชาตั้งแต่ พ.ศ. 2520 – 2521 เขาได้เพิ่มความตึงเครียดทางทหารต่อเวียดนามตลอดแนวชายแดน รวมทั้งการกวาดล้างครั้งใหญ่ในเขตตะวันออกเพราะเขาเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับเวียดนาม เมื่อเกิดสงครามกับเวียดนามและสถานการ์ของกัมพูชาประชาธิปไตยแย่ลง บทบาทของเซนเริ่มลดลงและเกือบจะเป็นเหยื่อของหน่วยสันติบาลเสียเอง หากไม่เป็นเพราะเวียดนามเป็นฝ่ายชนะไปเสียก่อน

ผู้บังคับบัญชากองทัพกัมพูชาประชาธิปไตย

[แก้]

หลังจากที่มีการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาใน พ.ศ. 2522 เซนได้กลับมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพเขมรแดงอีกครั้งเพื่อสู้รบกับกองทัพเวียดนามในสงครามกัมพูชา–เวียดนาม โดยมีฐานที่มั่นที่เทือกเขาบรรทัด ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 พล พตได้ประกาศวางมือ ซอน เซนขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพกัมพูชาประชาธิปไตย ในช่วงนี้ เซนได้ติดต่อกับผู้นำกลุ่มอื่น ๆ ในแนวร่วมเขมรสามฝ่าย คือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมรที่นำโดยสัก สุตสคานและกองทัพเจ้าสีหนุที่เป็นกองกำลังติดอาวุธของฟุนซินเปก นำโดยพระนโรดม รณฤทธิ์ ซึ่งเขมรแดงเป็นกองกำลังที่ใหญ่ที่สุด

พ.ศ. 2534 – เสียชีวิต

[แก้]

หลังการลงนามในข้อตกลงสันติภาพปารีสในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 เซนและเขียว สัมพันได้เดินทางมายังพนมเปญเพื่อเจรจากับอันแทคและรัฐบาลที่พนมเปญ เซนได้เป็นสมาชิกสภาสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาที่จัดตั้งขึ้นเพื่อรับประกันความเป็นเอกราชจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งที่จัดโดยอันแทค อย่างไรก็ตาม เซนถูกปลดออกจากอำนาจในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยตา ม็อกและเขมรแดงยุติการเจรจาและไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง ตั้งแต่พ.ศ. 2535 – 2540 บทบาทของซอน เซนในเขมรแดงลดลง

เซนถูกฆ่าเมื่อ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2540 พร้อมกับสมาชิกในครอบครัวอีก 13 คนทั้งผู้หญิงและเด็ก โดยพล พตเป็นผู้สั่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เขาพยายามต่อสู้เพื่อรื้อฟื้นอำนาจในการควบคุมเขมรแดงจากตา ม็อก[8] พล พตเชื่อว่าเซนลอบเจรจากับฝ่ายรัฐบาลผ่านทางฮุน เซน พล พตจึงสั่งให้นำเซนและครอบครัวไปยิงทิ้งแล้วใช้รถบรรทุกวิ่งทับ[9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kiernan, B. (2004), p.29
  2. Béréziat (2009), p. 102 Son Sen est d'origine khmère krom (et non sino- khmère comme on l'a écrit). H est né en 1926 ou 1930 à Huong Hoa, dans la province de Tra Vinh (Sud- Vietnam), le même canton d'où est originaire Ieng Sary....
  3. Bora, Touch. Jurisdictional and Definitional Issues เก็บถาวร 2018-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Khmer Institute, retrieved 2007-11-19
  4. Kiernan, p.184
  5. Kiernan, p.212
  6. Kiernan, p.269
  7. Kiernan, p.308
  8. * Chandler, D. (1999). Brother Number One. A Political Biography of Pol Pot, Westview Press, Boulder, CA, p. 180
  9. Khmer Rouge Said to Execute A Top Aide on Pol Pot's Order, New York Times, 14-06-97