ฉีหฺวันกง
ฉีหวนกง Duke Huan of Qi 斉桓公 | |
---|---|
![]() | |
ฉีหวนกงและกวนต๋ง | |
ฉีกง (斉公) | |
ดำรงตำแหน่ง 685 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 643 ปีก่อนคริสต์ศักราช | |
หัวหน้ารัฐบาล | กวนต๋ง สิบผอง เปาซกแหย |
ก่อนหน้า | ก๋งจูหยี ก๋งจูบอดี |
ถัดไป | ก๋งจูบอคุย เจ๋เฮาก๋ง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 718 ปีก่อนคริสต์ศักราช |
เสียชีวิต | 8 ตุลาคม 643 ก่อนปีคริสต์ศักราช |
บิดา | เจ๋ฮูก๋ง (斉釐公) |
คู่สมรส | นางองกี (王姫) นางฮอกี (徐姫) นางชัวกี (蔡姫) นางเตียวฮวยกี นางเซียวฮวยกี (少衛姫) นางเตงกี (鄭姫) นางกัวเอ๋ง (葛嬴) นางเจงกี (密姫) นางซองฮัวสี (宋華子) |
ญาติ | ก๋งจูหยี (斉襄公) ก๋งจูกิว (公子糾) นางบุนเกียง (文姜) |
บุตร | ก๋งจูบอคุย เจ๋ฮุยก๋ง เจ๋เฮาก๋ง เจ๋เจี๋ยวก๋ง เจ๋อีก๋ง |
ฉีหวนกง (ฉบับไทยเป็น เจ๋ฮวนก๋ง) มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคชุนชิวของจีน มีนามเดิมชื่อ เสียวไป่ (小白 ฉบับไทยเป็น เสียวแปะ) ต่อมาได้เป็นผู้ปกครองรัฐฉี และได้บริหารและดูแลบ้านเมืองร่วมกับกวนต๋ง จนทำให้รัฐฉีเป็นรัฐที่มีพลังอำนาจมากที่สุดในตอนนั้น
ในช่วงต้น[แก้]
เขาเป็นบุตรของเจ๋ฮูก๋ง (ฉบับจีนเป็น ฉีซีกง) และได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับเปาซกแหย เมื่อทั้งก๋งจูหยี (ฉบับจีนเป็น ฉีเซียงกง) ผู้เป็นพี่ชายคนโต และ ก๋งจูบอดี (ฉบับจีนเป็น กงซุนอู๋จื่อ) ได้ถูกลอบสังหารเสียชีวิตทั้งสองคน ทำให้เขาต้องทำศึกชิงบัลลังก์กับก๋งจูกิว (ฉบับจีนเป็น กงจื๋อจิ่ว) ซึ่งเป็นพี่ชายคนรอง ในการนั้น เขาถูกกวนต๋งลอบยิงธนูใส่ แต่โชคดีที่ลูกธนูไปถูกหัวเข็มขัด เขาจึงรอดตายมาได้และได้รับชัยชนะเหนือก๋งจูกิว ก๋งจูกิวกับกวนต๋งต้องหนีไปพึ่งพิงฬ่อจงก๋ง (ฉบับจีนเป็น หลู่จวงกง) เมื่อเขาได้เป็นผู้นำแล้ว ก็ส่งจดหมายให้ฬ่อจงก๋งส่งศีรษะของก๋งจูกิวกับกวนต๋ง ฝ่ายฬ่อจงก๋งก็สั่งประหารก๋งจูกิว แต่ให้จับเป็นกวนต๋ง เนื่องด้วยเห็นว่ากวนต๋งมีสติปัญญาที่หลักแหลม
หลังการมอบรางวัลแก่เหล่าทหารที่ช่วยทำศึกชนะก๋งจูกิว ก็คิดใคร่จะแต่งตั้งเปาซกแหยเป็นสมุหนายก แต่เปาซกแหยได้เสนอให้มอบตำแหน่งแก่กวนต๋งและแนะนำให้ละทิ้งความแค้นส่วนตัวกับกวนต๋งเสีย เจ๋ฮวนก๋งจึงยอมทำตามคำแนะนำของเปาซกแหยและเรียกตัวกวนต๋งมาปรึกษาเรื่องราชการบ้านเมือง กวนต๋งก็ได้ชี้แจงแนวคิดในการครองบ้านเมืองรวมถึงหลักคุณธรรมนิยมให้แก่เจ๋ฮวนก๋ง เจ๋ฮวนก๋งก็ยินดีรับฟังและแต่งตั้งให้กวนต๋งเป็นสมุหนายก[1]
การเรืองอำนาจและเสียชีวิต[แก้]
ด้วยความช่วยเหลือของกวนต๋ง ทำให้เจ๋ฮวนก๋งกลายเป็นผู้มีอำนาจทั้งในและนอกราชสำนัก รวมถึงมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ด้วย โดยในช่วง 664 ปีก่อนคริสต์ศักราช เจ๋ฮวนก๋งได้นำกองทัพไปช่วยเหลือเอียนจงก๋ง (ฉบับจีนเป็น เยี่ยนจวงกง) จากการโจมตีของชนเผ่าซานหยง (ฉบับไทยเป็น เมืองปักหยง)[2] และส่งทหารไปช่วยโอยบุนก๋ง (ฉบับจีนเป็น เว่ยเหวินกง) จากการรุกรานของชนเผ่าเป่ยตี้ (ฉบับไทยเป็น เมืองเต๊ก)
ต่อมา ได้ทำสงครามกับเมืองฌ้ออยู่ประมาณหนึ่ง ก็พากันเลิกทัพกลับ[3] ครั้นถึงปลายรัชสมัยของพระเจ้าจิวอุยอ๋อง เจ๋ฮวนก๋งได้ทำตามคำแนะนำของสิบผอง ด้วยการสนับสนุนองค์ไทจิวเต้เป็นรัชทายาท เมื่อไทจิวเต้ได้ครองราชย์ต่อจากพระบิดาแล้ว ก็ทำการนำของเซ่นไหว้ไปเคารพแด่จิวบุนอ๋องและจิวบูอ๋องตามธรรมเนียม พร้อมทั้งประทานรางวัลมากมายให้เจ๋ฮวนก๋ง
ในช่วงท้ายของชีวิต เจ๋ฮวนก๋งได้ปรึกษากับกวนต๋งเรื่องการแต่งตั้งทายาท กวนต๋งจึงเสนอชื่อก๋งจูเจียว ซึ่งเป็นลูกชายคนที่สาม เจ๋ฮวนก๋งก็เห็นด้วย จึงให้ก๋งจูเจียวไปศึกษาเล่าเรียนกับซองเซียงก๋ง[4] ในช่วง 645 ปีก่อนคริสต์ศักราช กวนต๋งได้เสียชีวิต แต่ก่อนตาย กวนต๋งได้สั่งเสียต่อเจ๋ฮวนก๋งว่า "อันตัวเอ็ดแหย (易牙) ซูเตียว (豎刁) และ ไคหอง (開方) ทั้งสามคนนี้จะเป็นผู้ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับแคว้นของเราในวันหน้า ขอท่านได้โปรดอย่าเรียกใช้พวกนั้นเลย จงขับไล่ให้ออกไปเสีย" ตอนกวนต๋งเสียชีวิต อายุประมาณได้ 75 ปี[5]
หลังการเสียชีวิตของกวนต๋ง เจ๋ฮวนก๋งก็ทำตามคำสั่งเสียได้พักหนึ่ง ก็ละเลยคำสั่งเสียนี้ทิ้ง เปาซกแหยพยายามว่ากล่าวตักเตือน แต่เจ๋ฮวนก๋งปฏิเสธ เปาซกแหยก็ตรอมใจจนป่วยตาย หลังการตายของเปาซกแหย สามขุนนางอย่าง เอ็ดแหย ซูเตียว ไคหอง ก็ทำการบริหารบ้านเมืองตามอำเภอใจ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เมื่อเจ๋ฮวนก๋งป่วยหนักใกล้ตายนั้น สามขุนนางได้สั่งให้ก่อฉาบปูนเป็นกำแพงปิดบังตำหนักของเจ๋ฮวนก๋ง เจ๋ฮวนก๋งซึ่งชราอยู่แล้ว ไม่ได้รับสารอาหารมากพอ ก็เสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 72 ปี[6]
หลังการเสียชีวิตของเจ๋ฮวนก๋ง บรรดาลูกชายก็ทำสงครามเพื่อหวังครอบครองรัฐฉี สุดท้ายก๋งจูเจียวได้รับชัยชนะ และขึ้นปกครองรัฐฉีในนาม เจ๋เฮาก๋ง[7] ถึงกระนั้นเจ๋เฮาก๋งไม่อาจทำให้รัฐฉีกลับมารุ่งเรืองได้ดังเก่า เป็นผลจากสงครามกลางเมือง ทำให้จิ้นบุนก๋ง ขึ้นมามีอำนาจแทน
อ้างอิง[แก้]
- ↑ เลียดก๊ก ๑๖[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
- ↑ เลียดก๊ก ๒๑[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
- ↑ เลียดก๊ก ๒๓[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
- ↑ เลียดก๊ก ๒๔[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
- ↑ เลียดก๊ก ๒๙[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
- ↑ เลียดก๊ก ๓๒[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]
- ↑ เลียดก๊ก ๓๓[ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]