จิ้นเหวินกง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิ้นเหวินกง
晉文公
จิ้นกง
จิ้นเหวินกงฟื้นฟูฐานะของตน ภาพวาดโดย หลี่ถัง, ค.ศ. 1140
เจ้าผู้ปกครองรัฐจิ้น
ครองราชย์636–628 ก่อน ค.ศ.
ก่อนหน้าจิ้นฮว่ายกง
ถัดไปจิ้นเซียงกง
ประสูติ697 ก่อน ค.ศ.
สวรรคต628 ก่อน ค.ศ. (อายุ 68–69 ปี)
คู่อภิเษกนางจีกุ้ย (季隗)
นางฉีเจียง (齊姜)
นางฮวายอิง (懷嬴)
พระราชบุตรป๋อเถียว (伯鯈)
ชูลิ่ว (叔劉)
จิ้นเซียงกง
กงจื่อยง (公子雍)
กงจื่อเล่อ (公子樂)
จิ้นเฉิงกง
พระนามเต็ม
นามสกุลบรรพชน: จี
ชื่อตัว: ฉงเอ่อร์
พระราชบิดาจิ้นเสี้ยนกง
พระราชมารดานางหูจี
จิ้นเหวินกง
อักษรจีนตัวเต็ม
อักษรจีนตัวย่อ
ความหมายตามตัวอักษรจิ้นกงผู้มีอารยะ
ฉงเอ่อร์
ภาษาจีน

จิ้นเหวินกง (จีนตัวย่อ: 晋文公; จีนตัวเต็ม: 晉文公; พินอิน: Jin Wén Gōng; เวด-ไจลส์: Chin Wen Kung, 697–628 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นเจ้าผู้ปกครองรัฐชั้นกงแห่งรัฐจิ้นในยุควสันตสารท ครองตำแหน่งระหว่าง 636 – 628 ปีก่อน ค.ศ. จิ้นกงผู้นี้มีชื่อเสียงจากการต้องร่อนเร่พเนจรเพื่อลี้ภัยทางการเมืองเป็นเวลานานนับสิบปีกว่าจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองรัฐจิ้น และต่อมาได้เป็น 1 ในห้าอธิราชแห่งราชวงศ์โจวตะวันออก เพราะเป็นผู้ปรีชาสามารถสูงยิ่ง สามารถขยายดินแดนของรัฐจิ้นออกไปได้อย่างกว้างขวาง และทำให้รัฐจิ้นที่เป็นรัฐเล็ก ๆ อ่อนแอสามารถขึ้นมาเทียบชั้นรัฐใหญ่อย่างรัฐฉู่และรัฐฉีได้สำเร็จ

ชื่อ[แก้]

"จิ้นเหวินกง" (ฮกเกี้ยน: จิ้นบุนก๋ง) เป็นชื่อหลังการแก่อสัญกรรมที่ตั้งขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของการบูชาบรรพบุรุษ มีความหมายตามตัวอักษรว่า "จิ้นกงผู้มีอารยะ" ชื่อตัวของจิ้นเหวินกงคือ ฉงเอ่อร์ (ฮกเกี้ยน: ต๋งนี) มีความหมายว่า "ผู้มีหูสองข้าง" นามสกุลบรรพชน (แซ่) ของเขาคือ "จี" เนื่องจากต้นตระกูลของเขานั้นเป็นผู้สืบเชื้อสายจากเจ้านายในราชวงศ์โจว

ประวัติ[แก้]

ปฐมวัย[แก้]

กงจื่อฉงเอ่อร์เป็นบุตรของจิ้นเสี้ยนกง เกิดเมื่อ 697 ปีก่อน ค.ศ. เอกสารจว่อจ้วน ได้บันทึกไว้ว่า "ซี่โครงของเขานั้นติดเป็นพืดเป็นแผ่นเดียวกัน" เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงความแข็งแกร่งทางกายและภาวะผู้นำ พี่น้องร่วมบิดาของเขาคือ กงจื่อเชินเชิง กงจื่ออี๋อู๋ และกงจื่อซีฉี แม้กงจื่อเชินเชิงผู้เป็นพี่ชายคนโตของเขาจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นไท่จื่อ (บุตรผู้เป็นทายาทสืบทอดตำแหน่ง) ก็ตาม แต่ในบั้นปลายนั้น จิ้นเซียนกงหลงใหลในตัวของนางหลีจีผู้เป็นอนุภรรยา ซึ่งต้องการให้กงจื่อซีฉีบุตรของตนได้เป็นไท่จื่อแทน ดังนั้นนางหลีจีจึงวางแผนทำลายชื่อเสียงของไท่จื่อเฉินเฉิง ยุแหย่จิ้นเสี้ยนกงมิให้เกิดความไว้ใจในตัวไท่จื่อ ซึ่งเรื่องนี้ได้บีบคั้นให้ไท่จื่อเชินเชิงต้องกระทำอัตนิวิบาตกรรมในที่สุดเมื่อ 656 ปีก่อน ค.ศ.

ร่อนเร่พเนจร[แก้]

เจี้ย จื่อทุย เชือดเนื้อตนเองต้มน้ำแกงให้กงจื่อฉงเอ่อร์รับประทานประทังความหิวระหว่างเผชิญความยากลำบากในการพเนจรลี้ภัยทางการเมือง (ภาพจากภาพพิมพ์ประกอบวรรณกรรมเลียดก๊ก ฉบับภาษาจีน)

เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่สงครามกลางเมืองในรัฐจิ้นอันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เหตุความไม่สงบหลีจี" ซึ่งจิ้นเสี้ยนกงได้รบกับบรรดาบุตรของตนเองหลายครั้ง จนพวกเขาเหล่านั้นต้องหนีไปจากรัฐจิ้น กงจื่อฉงเอ่อร์ได้หนีไปทางทิศเหนือพร้อมด้วยบรรดาผู้จงรักภักดีที่ยังติดตามไปรับใช้ด้วยหลายคน ซึ่งรวมถึงจ้าว ชุ่ย, หู เหยี่ยน, เว่ย โจว (魏犨), เจีย ถวอ (賈佗), เซียน เจิ้น (先軫), และเจี้ย จื่อทุย ลุถึง 651 ปีก่อน ค.ศ. การถึงแก่อสัญกรรมของจิ้นเสี้ยนกงได้นำไปสู่วิกฤตการณ์การสืบทอดอำนาจในรัฐจิ้น กงจื่อฉงเอ่อร์ได้รับคำเชิญให้กลับไปยังรัฐจิ้นและขึ้นเป็นจิ้นกง แต่เขาปฏิเสธคำเชิญดังกล่าว บัลลังก์ตำแหน่งจิ้นกงจึงได้แก่พี่น้องร่วมบิดา คือ กงจื่ออี๋อู่ ซึ่งต่อมามีชื่อเรียกว่า จิ้นฮุ่ยกง

ใน 644 ปีก่อน ค.ศ. กงจื่อฉงเอ่อร์ได้หนีไปยังรัฐฉี เนื่องจากจิ้นฮุ่ยกงได้ส่งคนมาลอบสังหารเขาแต่ล้มเหลว และพำนักอยู่ที่นั้นจนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์การสืบทอดอำนาจในรัฐฉีขึ้นเมื่อ 639 ปีก่อน ค.ศ. เขาจึงต้องพเนจรไปยังรัฐต่างๆ ตั้งแต่รัฐเฉา รัฐซ่ง รัฐเจิ้ง รัฐฉู่ กระทั่งไปสิ้นสุดการเดินทางอยู่ที่รัฐฉิน ตลอดระยะเวลา 19 ปี ที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองอยู่เช่นนี้ กงจื่อฉงเออร์ได้ตัวผู้ติดตามที่มากความสามารถและมีสง่าราศีมารับใช้มากมาย ครั้งหนึ่งสตรีจากฝ่ายในของต่างแคว้นได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเขาไว้ว่า "เมื่อข้ามองดูผู้ติดตามกงจื่อแห่งจิ้นแล้ว ทุกคนแลดูคู่ควรแก่ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีทั้งนั้น"

ถึง 636 ปีก่อน ค.ศ. หลังจากจิ้นฮุ่ยกงถึงแก่อสัญกรรม ฉินมู่กงได้ส่งกองทัพคุ้มกันกงจื่อฉงเอ่อร์ให้เดินทางกลับไปยังรัฐจิ้น ผลักดันให้กงจื่อฉงเอ่อร์ได้ครองตำแหน่งจิ้นกงแบบเต็มตัว

ขึ้นเป็นจิ้นกง[แก้]

เมื่อได้ปกครองรัฐจิ้นแล้ว จิ้นเหวินกงได้ดำเนินปฏิรูปการทหารและองค์กรฝ่ายพลเรือนของรัฐเป็นการใหญ่ โดยอาศัยประสบการณ์ที่ได้เห็นมาจากรัฐต่างๆ ที่ตนได้เดินทางไปลี้ภัย ส่วนหนึ่งก็เพื่ออุดช่องว่างในระบบบริหารที่เกิดขึ้นจากการกวาดล้างในช่วงเปลี่ยนขั้วทางการเมืองภายในรัฐจิ้นหลายๆ ครั้งในระยะก่อนหน้า การดำเนินการดังกล่าวได้รวมถึงการจัดรูปแบบกองทัพออกเป็นสามหน่วย ประกอบด้วยกองทัพบน กองทัพกลาง และกองทัพล่าง แต่ละหน่วยจัดสายการบังคับบัญชาโดยมีตัวแม่ทัพและรองแม่ทัพเป็นผู้บัญชาการไว้ชัดเจน การปรับปรุงรัฐจิ้นดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยเหล่าบุคคลชั้นนำที่สวามิภักดิ์กับจิ้นเหวินกงในช่วงที่ต้องลี้ภัยไปยังรัฐต่างๆ ซึ่งคนเหล่านี้ต่างได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งราชการทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนระดับสูง

อาศัยกองทัพดังกล่าวพร้อมด้วยเกียรติภูมิอันสูงส่งของตัวจิ้นเหวินกงเอง ทำให้เขาสามารถผนวกรัฐข้างเคียงจำนวนมากมายให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐจิ้น และยังได้รัฐอื่นๆ มาเป็นรัฐบริวารอีกจำนวนไม่น้อย รัฐเหล่านี้รวมถึงรัฐเฉา ซึ่งจิ้นเหวินกงได้ส่งกองทัพไปปราบปรามเพื่อเป็นการตอบแทนที่รัฐดังกล่าวดูถูกเหยียดหยามและและไม่ให้เกียรติตนเองในช่วงที่ต้องพเนจรลี้ภัยการเมือง ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้วางจุดยืนทางการเมืองของตนเองสนับสนุนราชสำนักโจวตะวันออกและพระเจ้าโจวเซียงหวาง โดยในช่วง 635 ปีก่อน ค.ศ. พระเจ้าโจวเซียงหวางได้ถูกพระราชอนุชาของพระองค์เองชิงราชสมบัติและขับไล่ไปจากราชสำนัก จิ้นเหวินกงได้เป็นแกนนำกองทัพพันธมิตรรัฐสามนตราชต่างๆ ปราบกบฏและอัญเชิญพระเจ้าโจวเซียงหวางกลับสู่ราชบัลลังก์โจวอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน จิ้นเหวินกงก็ได้ยับยั้งการขยายอำนาจของรัฐฉู่ขึ้นสู่ทิศเหนือ โดยความขัดแย้งของรัฐจิ้นและรัฐฉู่นั้นมักปรากฎขึ้นในกลุ่มรัฐเล็กๆ ซึ่งอยู่ระหว่างเขตแดนของทั้งสองรัฐ และมักจะแปรพักตร์เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามสถานการณ์เพื่อเอาตัวรอด ในช่วง 633 ปีก่อน ค.ศ. รัฐฉู่ได้รุกรานรัฐซ่งซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐจิ้น จิ้นเหวินกงได้นำกองทัพพันธมิตรของตนออกรบ ซึ่งมีกองทัพของรัฐฉิน รัฐฉี และรัฐซ่งรวมอยู่ด้วย และได้ชัยชนะเหนือทัพฉู่อย่างเด็ดขาดในสมรภูมิเฉิงผูเมื่อ 632 ปีก่อน ค.ศ. ผลการรบครั้งได้ตรึงมิให้รัฐฉู่กรีฑาทัพขึ้นทิศเหนือนานหลายสิบปี ทั้งยังช่วยกำหนดสถานะของจิ้นเหวินกงไว้อย่างมั่นคง โดยในปีถัดมา เขาได้เชิญบรรดาผู้นำรัฐสามนตราชต่างๆ มาร่วมประชุมระหว่างแคว้นที่ตำบลเจี้ยนถู่ และมีการมอบตำแหน่งเจ้าอธิราชแก่จิ้นเหวินกงอย่างเป็นทางการ

จิ้นเหวินกงถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ 628 ปีก่อน ค.ศ. จิ้นเซียงกงผู้เป็นบุตรได้ขึ้นสืบทอดตำแหน่งจิ้นกงแทนที่ มรดกจากความเป็นรัฐอธิราชที่จิ้นเหวินกงสร้างไว้ยังผลให้รัฐจิ้นเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ถึงเกือบหนึ่งศตวรรษ

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ[แก้]

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bardeen, Tara (2016), "Qing Ming Festival", Holidays, Denver: Rice Paper Kite.
  • Chapman, Ian (2014), "Festival and Ritual Calendar: Selections from Record of the Year and Seasons of Jing-Chu", Early Medieval China: A Sourcebook, New York: Columbia University Press, pp. 468–493, ISBN 978-0-231-15987-6.
  • Confucius (1872), Legge, James (บ.ก.), The Ch'un Ts'ew, with the Tso Chuen, Pt. I, The Chinese Classics, Vol. V, Hong Kong: Lane, Crawford, & Co.
  • Han Fei (1959), Liao Wên-kuei (บ.ก.), The Complete Works of Han Fei Tzŭ with Collected Commentaries, Oriental Series, Nos. XXV & XXVI, London: Arthur Probsthain.
  • Holzman, Donald (June 1986), "The Cold Food Festival in Early Medieval China", Harvard Journal of Asiatic Studies, vol. 46, Cambridge: Harvard University Press, pp. 51–79, doi:10.2307/2719075, JSTOR 2719075.
  • Huan Tan (1975), Pokora, T. (บ.ก.), Hsin-lun and Other Writings, Michigan Papers in Chinese Studies, No. 20, Ann Arbor: University of Michigan Press.
  • Huang, Julie Shiu-lan; และคณะ (2016), Along the River during the Qingming Festival, Cosmos Classics, ISBN 9789869212564.
  • Lan Peijin; และคณะ (1996), "Carrying His Mother into the Mountain[s]", Long Corridor Paintings at [the] Summer Palace, Beijing: Foreign Languages Press, p. 115.
  • Lü Buwei & al. (2000), Knoblock, John; และคณะ (บ.ก.), The Annals, Stanford: Stanford University Press, ISBN 978-0-8047-3354-0.
  • Ning Yan (30 Dec 2007), "Mount Mianshan", CRI English, Beijing: China Radio International, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-17, สืบค้นเมื่อ 2023-09-08.
  • Qu Yuan & al. (1959), Hawkes, David (บ.ก.), Ch'u Tz'u: The Songs of the South, Oxford: Clarendon Press, ISBN 9780141971261, reprinted by Penguin Classics, 1985.
  • Qu Yuan & al. (2017), Sukhu, Gopal (บ.ก.), The Songs of Chu, New York: Columbia University Press, ISBN 9780231166065.
  • Sima Qian & al. (2006), Nienhauser, William H. Jr.; และคณะ (บ.ก.), The Grand Scribe's Records, Vol. V: The Hereditary Houses of Pre-Han China, Pt. 1, Bloomington: Indiana University Press, ISBN 9780253340252.
  • Zhuang Zhou (1891), "The Writings of Kwang Tse, Pt. 2", ใน Legge, James; และคณะ (บ.ก.), The Texts of Taoism, Pt. II, The Sacred Books of China, Vol. VI, The Sacred Books of the East, Vol. XL, Oxford: Oxford University Press.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]