ข้ามไปเนื้อหา

จุนทกัมมารบุตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จุนทกัมมารบุตร
จิตรกรรมไทยรูปจุนทะกำลังถวาย "สูกรมัททวะ" แก่พระพุทธเจ้า ซึ่งในภาพตีความว่าเป็นเนื้อหมูอ่อน
จิตรกรรมไทยรูปจุนทะกำลังถวาย "สูกรมัททวะ" แก่พระพุทธเจ้า ซึ่งในภาพตีความว่าเป็นเนื้อหมูอ่อน
ข้อมูลทั่วไป
อาจารย์พระโคตมพุทธเจ้า
ฐานะเดิม
ชาวเมืองปาวา แคว้นมัลละ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

จุนทกัมมารบุตร (บาลี: Cunda Kammāraputta จุนท กมฺมารปุตฺต) หรือ จุนทะบุตรของนายช่างทอง เป็นช่างทองผู้ถวายพระกระยาหารมื้อสุดท้ายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมสวมอัมพวันของเขาที่เมืองปาวา หลังเสวยพระกระยาหารของจุนทะไปแล้ว พระพุทธเจ้ามีพระอาการประชวรบิดอย่างรุนแรง[1][2][note 1] ซึ่งอาจเกิดจากภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Clostridial necrotizing enteritis) หลังจากเสวยพระกระยาหารที่มีโปรตีนสูง[3] ถึงกระนั้นจุนทะยังเป็นที่เคารพนับถือจากพระสงฆ์นิกายเถรวาทอย่างสูง[4]

ก่อนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ตรัสบอกพระอานนท์ให้ไปเยี่ยมจุนทะเพื่อแจ้งข่าวว่า อาหารของจุนทะไม่เกี่ยวข้องกับพระอาการประชวรของพุทธองค์ จุนทะไม่ต้องตำหนิตนเองหรือสำนึกผิด ตรงกันข้าม การถวายพระกระยาหารมื้อสุดท้ายแก่พระพุทธเจ้าก็เป็นบุญเท่ากับถวายอาหารมื้อแรกเมื่อพุทธองค์ตรัสรู้ของนางสุชาดา ถือว่าได้อานิสงส์สูงยิ่งนัก[5][6]

ประวัติ

[แก้]

ขอเป็นพุทธสาวก

[แก้]

จุนทะเป็นบุตรของนายช่างทองในเมืองปาวา แคว้นมัลละ ซึ่งในขณะนั้นเมืองดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของศาสนาเชน[7] ใน จุนทสูตร พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังเมืองปาวา โดยประทับที่สวนอัมพวันหรือป่ามะม่วงของจุนทกัมมารบุตร จุนทกัมมารบุตรจึงรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เบื้องต้น จุนทกัมมารบุตรชอบใจพราหมณ์ชาวปัจฉาภูมิ ผู้ถือน้ำเต้า สวมพวงมาลัยสาหร่าย และบำเรอไฟลงน้ำเป็นวัตร ด้วยสำคัญว่าเป็นผู้ดำรงความสะอาด จากนั้นพระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความแตกต่างกันระหว่างพิธีกรรมทำให้บริสุทธิ์ของพราหมณ์เหล่านี้กับการทำให้บริสุทธิ์ในวินัยของอริยสงฆ์ จนจุนทะซึ้งในรสพระธรรม แล้วขอเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า[8] จากนั้นจุนทะได้ขอถวายภัตตาหารแก่พุทธองค์ในวันรุ่งขึ้น[9] โดยกล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์โปรดรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้เถิด พระพุทธเจ้าข้า" พระพุทธเจ้าทรงรับกิจนิมนต์โดยดุษณียภาพ[9][10]

ภัตตาหารของจุนทะ

[แก้]
จุนทสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้าย

ในอรรถกถา สุมังคลวิลาสินี ระบุว่าภัตตาหารที่จุนทะถวายแก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์องค์อื่น ๆ ประกอบด้วย เนื้อสุกรอ่อน ข้าวหุงด้วยนมโคอย่างดี และสมุนไพรชนิดหนึ่ง ส่วนใน มหาปรินิพพานสูตร ระบุว่า จุนทกัมมารบุตรตระเตรียมของฉันขบเคี้ยวอย่างประณีตและสูกรมัททวะ (sūkaramaddava) ไว้อย่างเพียงพอ โดยใช้เวลาเตรียมอาหารที่บ้านของตนเองทั้งคืน[11]

มีการตีความ "สูกรมัททวะ" ว่าเป็นอาหารชนิดใดไว้หลายทาง ดังนี้[9]

  1. เนื้อสุกรทั่วไปที่อ่อนนุ่ม (สูกรมทฺทวนฺติ สูกรสฺส มุทุสินิทฺธํ ปวตฺตมํสํ)
  2. หน่อไม้ที่สุกรแทะดุน (สูกเรหิ มทฺทิตวํสกฬีโร)
  3. เห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดในถิ่นที่สุกรแทะดุน (สูกเรหิ มทฺทิตปฺปเทเส ชาตํ อหิฉตฺตกํ)
  4. เป็นชื่อรสอาหารชนิดหนึ่ง เรียกว่า สูกรมัททวะ (สูกรมทฺทวํ นาม เอกํ รสายตนํ)

ในเอกสารนิกายเถรวาทระบุว่าพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้าคือเนื้อหมูอ่อน ขณะที่นิกายมหายานซึ่งเป็นมังสวิรัติ[12] อธิบายว่าอาจเป็นเห็ด ทรัฟเฟิล เผือก หรือพืชมีหัว[note 2] ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองที่แตกต่างกันทั้งเรื่องการกินเจและการถือศีลต่าง ๆ ของทั้งสองนิกาย

เมื่อจุนทกัมมารบุตรประเคนภัตตาหารและของขบเคี้ยวแก่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ โดยพระพุทธเจ้าตรัสเรียกจุนทะแล้วกล่าวว่า "จุนทะ ท่านจงประเคนเราด้วยสูกรมัททวะที่เตรียมไว้ ประเคนภิกษุสงฆ์ด้วยของขบฉันอย่างอื่นที่เตรียมไว้เถิด" หลังเสวยภัตตาหารไปแล้ว ทรงตรัสกับจุนทะอีกว่า "จุนทะ ท่านจงฝังสูกรมัททวะที่เหลือในหลุม เรายังไม่เห็นใครในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ที่จะบริโภคสูกรมัททวะนั้นแล้วพึงถึงการย่อยไปด้วยดี ยกเว้นตถาคต" จุนทะจึงนำสูกรมัททวะที่เหลือทิ้งลงหลุมสนองพระดำรัส[6][9] และหลังพระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารจากนายจุนทกัมมารบุตรแล้วทรงพระประชวรอย่างรุนแรง มีพระบังคนหนักเป็นพระโลหิต ทรงทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสจวนจะปรินิพพาน[10] หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ระหว่างทางทรงพักริมแม่น้ำกุกุฏาเพื่อบรรทมพักเหนื่อย ระหว่างนั้นพระพุทธเจ้ารับสั่งให้พระอานนท์มาตรัสถึงเรื่องของจุนทกัมมารบุตรไว้ว่า[9]

พระพุทธเจ้าเมื่อกำลังประทานปัจฉิมโอวาทแก่พระอรหันต์ ก่อนดับขันธปรินิพพานที่กุสินารา

"อานนท์ หากจะมีใครมากล่าวให้นายจุนทกัมมารบุตรเดือดร้อนใจว่า ท่านจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ไม่ใช่ลาภของท่าน ท่านได้ชั่วแล้ว อานนท์ เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้ว่า ท่านจุนทะ การที่พระตถาคตเสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ท่านจุนทะ ความข้อนี้ อาตมภาพได้ฟังมา ได้รับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า บิณฑบาต 2 คราว มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นอย่างมาก บิณฑบาต 2 คราว อะไรบ้าง คือ

1. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม

2. บิณฑบาตที่พระตถาคตเสวยแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

บิณฑบาต 2 คราวนี้ มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน มีผลมากกว่าและมีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตอื่นอย่างมาก นายจุนทกัมมารบุตรได้สั่งสมกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้มีอายุยืน มีผิวพรรณผ่องใส มีความสุข เกิดในสวรรค์ เจริญด้วยลาภยศ เป็นใหญ่ยิ่งแล้ว อานนท์ เธอพึงระงับความเดือดร้อนใจของนายจุนทกัมมารบุตรอย่างนี้"

ซึ่งการกระทำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อจุนทกัมมารบุตรนี้ ถูกมองว่าเป็นการปกป้องคนดีไม่ให้ถูกใส่ร้ายหรือเกิดความเสียหาย ทรงป้องกันด้วยการตรัสว่า ภัตตาหารที่เป็นเลิศของพุทธองค์มีสองครั้ง ครั้งหนึ่งเป็นภัตตาหารที่เสวยแล้วทำให้ตรัสรู้ของนางสุชาดา และครั้งสองคืออาหารก่อนดับขันธปรินิพพานของนายจุนทะ แม้ว่าหลังเสวยภัตตาหารของจุนทะแล้วมีพระอาการประชวรอย่างรุนแรงก็ตาม[10] ทั้งนี้สูกรมัททวะอาจไม่ใช่สาเหตุของการปรินิพพานโดยตรง และพระพุทธเจ้าไม่ได้ปรินิพพานด้วยปักขันทิกาพาธ หากแต่ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ[9][11]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. คำที่ใช้ระบุว่า "โลหิตปกฺขนฺทิกา" แปลว่า ถ่ายเหลวออกเป็นเลือด
  2. ในคำนำ มัชฌิมนิกายฉบับแปลภาษาเยอรมัน ของ เค. อี. นิวมันน์ (K.E. Neumann) ระบุว่า มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า สูกระ (sūkara) โดยอ้างอิงมาจากคัมภีร์ "ราชนิฆัณฏุ" ซึ่งเป็นคัมภีร์พืชสมุนไพรของอินเดีย

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุตฺตนฺตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวคฺคปาลิ ๑๐/๑๑๗/๑๔๗
  2. สุตฺตนฺตปิฏก ขุทฺทกนิกาย อุทานปาลิ ๒๕/๑๖๒-๑๖๘/๒๐๘-๒๑๕
  3. Chen, Thomas S. N.; Chen, Peter S. Y. (May 2005). "The death of Buddha: a medical enquiry". Journal of Medical Biography. 13 (2): 100–103. doi:10.1177/096777200501300208. ISSN 0967-7720. PMID 19813312.
  4. Secret Diet of Myanmar MONKS!!! Live to 100!! (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2022-04-17
  5. สุตฺตนฺตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวคฺคปาลิ ๑๐/๑๒๖/๑๕๘-๑๕๙
  6. 6.0 6.1 "มหาปรินิพพานสูตร". พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค. 5 Dec 2017. สืบค้นเมื่อ 27 Feb 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. "สามคามสูตร". พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์. 22 Dec 2017. สืบค้นเมื่อ 4 Aug 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "จุนทสูตร". พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖ อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต. 20 Dec 2017. สืบค้นเมื่อ 4 Aug 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 "จุนทสูตร ว่าด้วยนายจุนทกัมมารบุตร". พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]. สืบค้นเมื่อ 3 Aug 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 10.2 ดุสิต ปรีพูล และโสวิทย์ บำรุงภักดิ์ (เมษายน–มิถุนายน 2562). มหาปรินิพพานสูตร : พุทธจริยาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า. วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น (6:2), หน้า 86–87
  11. 11.0 11.1 เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2 May 2018). "พระพุทธเจ้ามิได้ปรินิพพานด้วยโรคอะไร ว่าด้วย'สูกรมัททวะ'". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 3 Aug 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. Buswell, Robert E. Jr.; López, Donald S. Jr. (2014). The Princeton Dictionary of Buddhism. Princeton University Press. p. 529.