จำกัด พลางกูร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จำกัด พลางกูร
พันตรี จำกัด พลางกูร เลขาธิการขบวนการเสรีไทยสายในประเทศ
เกิด30 ตุลาคม พ.ศ. 2457
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต7 ตุลาคม พ.ศ. 2486 (28 ปี)
ฉงชิ่ง ประเทศจีน
สัญชาติไทย
อาชีพนักการเมือง นักการทูต ทหารบก
คู่สมรสฉลบชลัยย์ พลางกูร

พันตรี จำกัด พลางกูร (30 ตุลาคม พ.ศ. 2457 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2486) สมาชิกและเลขาธิการเสรีไทยสายในประเทศ และ ผู้แทนขบวนการเสรีไทยผู้มีอำนาจเต็มเดินทางไปแจ้งข่าวและเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองฉงชิ่ง ประเทศจีน ระหว่างปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ซึ่งเป็นวันที่ จำกัด พลางกูร เสียชีวิตที่เมืองฉงชิ่ง

ประวัติ[แก้]

จำกัด พลางกูร เกิดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2457 จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตสุดของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร พ.ศ. 2426 - พ.ศ. 2497) และคุณหญิงเหรียญ สกุลเดิม นิโครธานนท์ มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 9 คนได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. กำแหง แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิตร (หริณสุต) ดร. บรรเจิด นางลำเพา (สุทธเสถียร) พลตรีเกรียงเดช รองศาสตราจารย์สลวย (กรุแก้ว) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ กัมปนาท และนางเสาวรส (ทองปาน)

จำกัดใช้ชีวิตสมรส ชื่อนางฉลบชลัยย์ พลางกูร (นามสกุลเดิม มหานีรานนท์)

ทั้งปู่และบิดาของจำกัดจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ บิดารับราชการเป็นครูและดำรงตำแหน่งเจ้ากรมแต่งตำราและเจ้ากรมสามัญศึกษา เมื่อเยาว์วัย จำกัดศึกษาที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนเทพศิรินทร์และเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2474 เข้าเรียนที่โรงเรียน Bromsgrove School เมือง Worcestershire และเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเมื่อ พ.ศ. 2478 ศึกษาวิชาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ เรียนจบได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม (B.A. Hons.) และเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (เท่ากับ พ.ศ. 2482 อันเนื่องจากปีใหม่เริ่มนับวันที่ 1 เดือนเมษายน)

วีรกรรมในขบวนการเสรีไทย[แก้]

จำกัด พลางกูร เป็นปัญญาชนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อต้านญี่ปุ่น จึงได้รับความไว้วางใจจากนายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ให้เดินทางไปในประเทศจีน เพื่อประกาศท่าทีของประเทศไทยต่อจีนว่า การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น เป็นโมฆะ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และขอทราบท่าทีของจีนรวมถึงชาติสัมพันธมิตรอื่น ๆ จำกัดได้เดินทางเข้าประเทศจีนพร้อมกับ นายไพศาล ตระกูลลี้ ล่ามภาษาจีน ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2486 ได้มีจดหมายถึงประเทศไทยว่า เดินทางถึงคุนหมิงโดยปลอดภัยแล้ว แต่ต่อมาก็ขาดการติดต่อไป ซึ่งจำกัดได้เข้าพบกับจอมพลเจียงไคเช็ค ผู้นำจีนในขณะนั้น ซึ่งจอมพลเจียงไคเช็คได้สัญญาว่าเมื่อสงครามสงบ รัฐบาลจีนจะประกันเอกราชให้กับประเทศไทย

ชีวิตในจุงกิงและมรณกรรม[แก้]

จำกัด พลางกูร ขณะอยู่ที่ฉงชิ่ง (ในขณะนั้นเรียกว่า "จุงกิง") ซึ่งสรุปภารกิจได้ 4 ประการ ได้แก่ 1. เสนอแผนการของขบวนการเสรีไทยอย่างเป็นทางการต่ออังกฤษ และได้รับคำตอบจากอังกฤษในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2486 2. การพบกับจอมพลเจียงไคเช็คนั้น ทำให้ทราบถึงท่าทีของจีนที่มีต่อไทย 3. การพบกันระหว่างจำกัด กับ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ ได้รับทราบถึงท่าทีของอังกฤษที่มีต่อเสรีไทยในประเทศ 4. การมาถึงของนายสงวน ตุลารักษ์ เพื่อสานงานต่อจากจำกัด

ระหว่างที่จำกัดพำนักอยู่ฉงชิ่งนั้น ได้เขียนบันทึกส่วนตัวเป็นจำนวนกว่า 900 หน้า ที่บันทึกเรื่องราวของตัวเองในปี พ.ศ. 2486 โดยทางการจีนอนุญาตให้จำกัดจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นที่นั่น แต่จำกัดได้ไตร่ตรองแล้วเกรงว่าจะทำให้ชาติอื่น ๆ ที่สนับสนุนเสรีไทยแคลงใจ จึงไม่ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น

จำกัด พลางกูร ถึงแก่กรรมในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2486 ซึ่งแพทย์ชาวแคนาดาลงความเห็นว่าเป็นมะเร็งตับและกระเพาะอาหาร แต่ก็ยังมีข้อกังขาจากเจ้าหน้าที่สืบราชการลับของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาว่า อาจถูกวางยาพิษโดยทางการจีนเอง แต่ทาง ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของจำกัด พลางกูร มีความเห็นส่วนตัวว่าน่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายญี่ปุ่นมากกว่า เนื่องจากผู้ดูแลจำกัดคนหนึ่งในปีถัดมา ถูกจับได้ว่าเป็นสายลับให้ฝ่ายญี่ปุ่น[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. หน้า 4 วาไรตี้, จำกัด พลางกูร กุญแจสำคัญ 'ขบวนการเสรีไทย'. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,366: พฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2556 แรม 14 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง
  • ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ศ.ดร., เพื่อชาติ เพื่อ humanity: ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ กรุงเทพฯ, 2549