ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จันทโรจวงศ์)

เจ้าพระยาสุรินทราชา นามเดิมจันทร์ ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชขนานนามว่า อุปราชจันทร์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ต้นสกุล จันทโรจวงศ์ เป็นข้าหลวงสำเร็จราชการหัวเมือง ฝั่งตะวันตก ระหว่าง พ.ศ. 2329-2350 [1]

เจ้าพระยาสุรินทราชาเป็นบุตรเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ [2] ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐครั้งกรุงศรีอยุธยา มารดาเป็นพี่มารดาเจ้าขรัวเงิน[3] พระชนกสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทำราชการในกรุงเก่า เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวรมหาดเล็ก (ในหนังสือปฐมวงศ์ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4 เรียกว่านายฤทธิ์)ได้ภรรยาเป็นหลานหลวงนายสิทธิ์ ที่ตั้งตัวเป็นเจ้านครศรีธรรมราช เมื่อกรุงเก่าเสีย บ้านเมืองอยู่ในสภาพจลาจล หลวงนายฤทธิ์ หลานเขยผู้เป็นบุตรเสนาบดีผู้ใหญ่ เข้าใจในขนบธรรมเนียมราชประเพณีดี[4] เจ้านครจึงตั้งให้เป็นอุปราชเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีตีได้เมืองนครศรีธรรมราช จับได้ทั้งเจ้านครฯ และอุปราช เอาตัวเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี อุปราชจันทร์ได้เป็นที่พระยาอินทรอัครราช ถึงรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์ ได้เป็นที่พระยาราชวังเมืองในกรมช้าง แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุรินทราชานราบดีศรีสุริยศักดิ์ ตำแหน่งสมุหคชบาลซ้าย แล้วโปรดให้ออกไปอยู่เมืองถลาง กำกับหัวเมืองภูเก็ต ทำนองอย่างสมุหเทศาภิบาลทุกวันนี้ ได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาสุรินทราชาฯ มีจดหมายเหตุปรากฏว่า เมื่อเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) [5] ถึงอสัญกรรม ในรัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้เจ้าพระพระยาสุรินทราชา เข้ามาเป็นที่พระสมุหพระกลาโหม [6] กราบทูลขอตัวว่าแก่ชราแล้ว จึงรับราชกาลหัวเมืองอยู่จนอสัญกรรม

ชีวิตด้านครอบครัว

[แก้]

เจ้าพระยาสุรินทราชา มีบุตรหลายคน ที่ทราบชื่อ จุ้ย ได้เป็นพระยาพัทลุง คน 1 ชื่อฤกษ์ หรือ เริก อยู่เมืองถลาง ได้แต่งพงศาวดารเมืองถลาง คน 1 ชื่อ อิน คน 1 ซึ่งเป็นบิดาพระยาวรวุฒิวัย น้อยฯ เป็นบิดาพระยาอภัยบริรักษ์ เนตร หลวงศรีวรวัตร พิณ และแข คุณหญิงเพชราภิบาล ภรรยาพระยาหนองจิก พ่วง ณ สงขลา ชั้นลูกพระยาวรวุฒิวัยจึงได้พระราชทานนามสกุลว่า จันทโรจวงศ์ อยู่บัดนี้

  • 1.ทัด
  • 2.พระยาวรนารถสัมพันธพงศ์(พิม)
  • 3.พระยาพัทลุง(จุ้ย)[7] [8] [9]
  • 4.อิน เป็นบิดาพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร), หลวงศรีวรวัฒน์ (พิณ) และ คุณหญิงเพ็ชราภิบาล (แข) ภริยาพระยาหนองจิก (พ่วง ณ สงขลา)
  • 5.เยา
  • 6.เจ้าจอมมารดาอำพัน พระราชสันตติวงศ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[10]
  • 7.พระยาถลาง(ฤกษ์) ได้แต่งพงศาวดารเมืองถลาง[11]

ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ

[แก้]

บรรดาศักดิ์และราชทินนาม ที่ได้รับพระราชทาน ในสมัยโบราณ [12]

  • หลวงฤทธิ์นายเวรมหาดเล็ก
  • อุปราชเมืองนครศรีธรรมราช
  • พระยาอินทรอัครราช
  • พระยาราชวังเมืองในกรมช้าง
  • พระยาสุรินทราชานราบดีศรีสุริยศักดิ์ ตำแหน่งสมุหคชบาลซ้าย
  • ผู้สำเร็จราชการ หัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตก 8 เมือง
  • เจ้าพระยาสุรินทราชาอธิบดีศรีพิชัยสงครามรามภักดีพิริยพาหะ ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองทั้ง 8 เมือง

นามสกุล จันทโรจวงศ์

[แก้]

เป็นนามสกุลที่พระราชทานให้แก่ พระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร)เจ้าเมืองพัทลุง [13] [14] [15] และหลวงศรีวรรัตร (พิณ)ครั้งยังเป็นหลวงจักรานุชิต ตามประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 17 วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2457 ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 31 หน้า 593 สำหรับผู้ที่สืบสายโลหิตโดยตรงจากเจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์)[16] [17] [18] [19]

จวนเจ้าเมืองพัทลุง [20] เดิมเป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง เรียกว่า วังพัทลุง แยกเป็น วังเก่าและวังใหม่ [21] ปัจจุบันทายาทได้มอบให้เป็นสมบัติของชาติ ดูแลอนุรักษ์โดยกรมศิลปากร โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวประจำเมืองพัทลุง ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเที่ยววังเก่าเจ้าเมืองพัทลุง สำหรับศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และ ศิลปวัฒนธรรม สมัยต้นกรุงรัตโกสินทร์ เปิดทุกวัน เว้นวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น.[22] [23] ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวังเก่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 และวังใหม่ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2526

เขียนแบบอักษรโรมัน

[แก้]

เขียนสะกดคำ ตามที่ได้ขอพระราชทานในราชกิจจานุเบกษา ว่า Chandrochavansa ปัจจุบันลูกหลานผู้สืบสกุลนิยมเขียนเป็น Chantharojwong แทน และส่วนน้อยจะเขียนว่า Chantarojwong

บรรพบุรุษ สกุลจันทโรจวงศ์ และผู้ที่สืบมาจากสายโลหิตเดียวกันในสกุลอื่น

[แก้]

เจ้าพระยาสุรินทราชา(จันทร์ จันทโรจวงศ์)ผู้เป็นต้นสกุลจันทโรจวงศ์ มีสายโลหิตสัมพันธ์กับผู้เป็นต้นสกุลอื่นๆ ที่สืบมาจากบรรพบุรุษเดียวกันคือ - พราหมณ์ ศิริวัฒนะ [24] [25] โดยมีสกุลต่างๆดังนี้ สกุล ทองอิน, อินทรพล, ราชสกุล นรินทรกุล, สกุล สิงหเสนีย์, สกุล ชัชกุล, สกุล ภูมิรัตน์, สกุล สุจริตกุล, สกุล บุรณศิริ, สกุล ศิริวัฒนกุล, สกุล โรจนกุล [26]

ลำดับผู้สืบสายโลหิตโดยตรง จาก เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นสกุล จันทโรจวงศ์

[แก้]

นับตั้งแต่เริ่มต้นสกุลถึงปัจจุบัน มีผู้สืบสกุลจาก เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์ จันทโรจวงศ์)แยกไปแต่ละสาย โดยนับจากเจ้าพระยาสุรินทราชา ต้นสกุล จันทโรจวงศ์เป็นชั้นที่ 1 บุตรธิดาของเจ้าพระยาสุรินทราชา เป็นชั้นที่ 2 [27] และเมื่อนับลำดับชั้นไปเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน มีผู้สืบสกุลลงไปถึงชั้นที่ 10 การสืบสกุลยึดถือตามหลักการสืบสกุลโดยทั่วไปตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 กล่าวคือ บุตรชายเป็นฝ่ายสืบสกุล ในขณะที่ฝ่ายหญิง เมื่อไปแต่งงานกับสกุลอื่น บุตรธิดาที่เกิดขึ้นจะไปใช้นามสกุลฝ่ายสามีผู้เป็นบิดา [28] เมื่อนับรวมลูกหลานผู้สืบสกุลทั้งหมดจึงมีอยู่เป็นจำนวนมาก จัดแยกไปแต่ละสายต่าง ๆ คือ สายหลวงเทพภักดี (นัน จันทโรจวงศ์), สายพระยาอภัยบริรักษ์ (เนตร จันทโรจวงศ์), สายหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) และสายนายนิเวศ

อ้างอิง

[แก้]
  1. บทบาทของเจ้าพระยาสุรินทราชา(จันทร์ จันทโรจวงศ์)ข้าหลวงสำเร็จราชการหัวเมือง ฝั่งตะวันตก ระหว่าง พ.ศ. 2329-2350 วิไล พงศ์ภัทรกิจ [ลิงก์เสีย]
  2. นวะมะรัตน, ปวัตร์ (2020-10-15). "เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ ผู้พิทักษ์บัลลังก์บ้านพลูหลวง คนโปรดผู้นำ-ผิดก็ไม่โดนลงโทษ". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. "คลองบางกอกใหญ่ จุลลดา ภักดีภูมินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-14. สืบค้นเมื่อ 2010-06-12.
  4. "ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์จักรี และวงศ์เมืองนครศรีธรรมราช นัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยา หลานปู่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-30. สืบค้นเมื่อ 2010-05-30.
  5. "เจ้าพระยามหาเสนา ปลี ทำเนียบเสนาบดี กระทรวงกลาโหม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-20.
  6. "เจ้าพระยาสุรินทรราชา ( จันทร์ จันทโรจวงศ์ )". phuketcity.info.
  7. พระยาพัทลุง (จุ้ย)[ลิงก์เสีย]
  8. จังหวัดพัทลุง-บุคคลสำคัญของท้องถิ่น [ลิงก์เสีย]
  9. "พระยาทุกขราษฎร์ จุลลดา ภักดีภูมินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-11-19. สืบค้นเมื่อ 2010-06-20.
  10. พระราชโอรส พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัว โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์[ลิงก์เสีย]
  11. พระยาณรงค์เรืองฤทธิ์ประสิทธิสงคราม ( เริก จันทโรจวงศ์ )สมบูรณ์ แก่นตะเคียน[ลิงก์เสีย]
  12. "ยศ บรรดาศักดิ์ และราชทินนาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-16. สืบค้นเมื่อ 2010-10-06.
  13. วังเจ้าเมืองพัทลุง สำนักศิลปากรที่ 14[ลิงก์เสีย]
  14. สนุกท่องเที่ยว ทริปเด็ดห้ามพลาด-วังเจ้าเมืองพัทลุง
  15. "มนต์ขลังแห่ง...วังเจ้าเมืองพัทลุง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-14. สืบค้นเมื่อ 2010-06-20.
  16. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 17 (ลำดับที่ 1365 ถึงลำดับที่ 1432)
  17. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตอน...หักคีมพม่าและเสือพบสิงห์ พลเรือเอก วสินธิ์ สาริกะภูติ
  18. "นามสกุลพระราชทานเรียงลำดับตามอักษร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-05. สืบค้นเมื่อ 2010-06-08.
  19. เจ้าพระยาสุรินทราชา(จันทร์ จันทโรจวงศ์)โดย สมบูรณ์ แก่นตะเคียน[ลิงก์เสีย]
  20. ประวัติศาสตร์จังหวัดพัทลุง [ลิงก์เสีย]
  21. วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ วังพัทลุง[ลิงก์เสีย]
  22. "วังเจ้าเมืองพัทลุง (วังเก่า-วังใหม่) อ.เมือง จ.พัทลุง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-07. สืบค้นเมื่อ 2010-06-20.
  23. "พัทลุง...เมืองหนังโนราห์ที่น่าเยือน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 2010-10-11.
  24. "ศาสนาพราหมณ์ฮินดูในดินแดนสุวรรณภูมิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-19. สืบค้นเมื่อ 2010-06-09.
  25. "เจ้าพระยาบดินทรเดชา คลังปัญญาไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-17. สืบค้นเมื่อ 2010-06-09.
  26. โบสถ์พราหมณ์เทวสถานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดย รณธรรม ธาราพันธุ์[ลิงก์เสีย]
  27. หนังสือหายาก "ลำดับผู้สืบสายโลหิตโดยตรง จาก เจ้าพระยาสุรินทราชา (จันทร์) ต้นสกุล จันทโรจวงศ์" พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอำมาตย์เอก ขุนอรรถวิบูลย์ (อัด จันทโรจวงศ์) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ วันพุธที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2528 [ลิงก์เสีย]
  28. "นามสกุล นงเยาว์ กาญจนจารี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-11. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.