จดหมายเหตุ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชั้นวางกล่องระเบียนบรรจุเอกสารจดหมายเหตุ

จดหมายเหตุ (อังกฤษ: archive) หมายถึง รายงานหรือบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น[1] ผู้บันทึกอาจเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลทั่วไปก็ได้ เพื่อบันทึกไว้สำหรับใช้อ้างอิงในอนาคต สถานที่เก็บและให้บริการเอกสารจดหมายเหตุเรียกว่าหอจดหมายเหตุ[2]

ตั้งแต่อดีต พระมหากษัตริย์ไทยโปรดเกล้าฯ ให้มีธรรมเนียมการจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยผู้มีหน้าที่จดบันทึกดังกล่าวเรียกว่าอาลักษณ์ จดหมายเหตุนี้จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในหอจดหมายเหตุหรือหอหลวง เพื่อให้เป็นประโยชน์ทางการศึกษาต่อคนรุ่นหลัง จดหมายเหตุในราชวงศ์นี้ บางทีก็เรียกพงศาวดาร เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่า และพระราชพงศาวดารเหนือ[3]ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์[4]ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จดหมายเหตุที่บันทึกโดยบุคคลในอดีตก็มีความสำคัญไม่น้อย มีทั้งการบันทึกเหตุการณ์ทั่วไป การบันทึกเรื่องราวของตนเองอย่างลักษณะอนุทิน ฯลฯ บางฉบับมีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมาก เช่น จดหมายเหตุบางกอกของแดน บีช บรัดเลย์ จดหมายเหตุลาลูแบร์ของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ.116 ของพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยศิริ) จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี จดหมายเหตุจีนว่าด้วยกรุงสยาม เป็นต้น

จดหมายเหตุในอดีตพบว่ามีการบันทึก โดยการเขียน การพิมพ์ ลงบนวัสดุต่าง ๆ ตามยุคสมัย เช่น แผ่นหิน ใบลาน กระดาษ เป็นต้น

อ้างอิง[แก้]

เชิงอรรถ
  1. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 298
  2. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 1320
  3. "ประชุมพงศาวดาร". สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 ตุลาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 3 ตุลาคม 2008.
  4. เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), บ.ก. (2531). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ (6 ed.). กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ISBN 974-7936-18-6.
บรรณานุกรม