นกกระทุง (สกุล)
นกกระทุง ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: โอลิโกซีน-ปัจจุบัน, 30–0Ma | |
---|---|
นกกระทุง (P. philippensis) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Pelecaniformes |
วงศ์: | Pelecanidae Rafinesque, 1815 |
สกุล: | Pelecanus Linnaeus, 1758 |
ชนิดต้นแบบ | |
Pelecanus onocrotalus Linnaeus, 1758 | |
ชนิด | |
|
สกุลนกกระทุง หรือ สกุลนกเพลิแกน (อังกฤษ: Pelican) เป็นสกุลของนกน้ำขนาดใหญ่ ในวงศ์ Pelecanidae ของอันดับนกกระทุง (Pelecaniformes)
เป็นนกที่มีลำตัวขนาดใหญ่ (125–165 เซนติเมตร) มีลักษณะเด่น คือ จะงอยปากใหญ่ ปากบนแบน ปลายจะงอยปากงอเป็นขอ ปากล่างมีถุงใต้คางแผ่จนถึงคอโดยไม่มีขนปกคลุม รูจมูกเล็กอยู่บริเวณร่องปากซึ่งยาวตลอดทางด้านข้างของจะงอยปากบน ปีกใหญ่และกว้าง ขนปลายปีกเส้นที่ 2 นับจากด้านนอกยาวที่สุด หางสั้น ปลายหางตัด ขณะบินคอจะหดสั้น ขาอ้วนและสั้น แข้งด้านข้างแบน ทางด้านหน้าปกคลุมด้วยเกล็ดแบบร่างแห มีฟังผืดนิ้วแบบตีนพัดเต็ม
เป็นนกหาปลาที่กินปลา โดยการใช้ถุงใต้คางช้อนปลาในน้ำ หรือบินลงในน้ำแล้วพุ่งจับ ทำรังเป็นกลุ่มด้วยวัสดุจากกิ่งไม้ ปกติทำรังบนพื้นดิน แต่บางครั้งก็ทำรังบนต้นไม้ วางไข่ครั้งละ 1-4 ฟอง สีเปลือกไข่เหมือนสีผงชอร์คปกคลุม ลูกนกแรกเกิดเป็นลูกอ่อนเดินไม่ได้ ไม่มีขนปกคลุม ขนมีสีชมพูโดยปกติ เป็นนกที่หากินและอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำและชายทะเล
นอกจากจะกินปลาแล้ว นกกระทุงในบางครั้งยังมีพฤติกรรมกินไข่นกหรือลูกนกตัวอื่นเป็นอาหาร ตลอดจนนกในวัยโตเต็มที่เช่น นกพิราบ เป็นอาหารได้ด้วย [1]
พบกระจายพันธุ์เกือบทั่วโลก ยกเว้นทางซีกโลกทางเหนือ, นิวซีแลนด์ และโพลีนีเซีย แบ่งออกได้แค่สกุลเดียว (บางข้อมูลแบ่งเป็น 2 สกุล[2]) 8 ชนิด ในประเทศไทยเพียงชนิดเดียว[2]
การจำแนก
[แก้]สกุล Pelecanus
- Pelecanus conspicillatus Temminck, 1824
- Pelecanus crispus Bruch, 1832
- Pelecanus erythrorhynchos Gmelin, 1789
- Pelecanus occidentalis Linnaeus, 1766
- Pelecanus onocrotalus Linnaeus, 1758
- Pelecanus philippensis Gmelin, 1789 พบในประเทศไทย
- Pelecanus rufescens Gmelin, 1789
- Pelecanus thagus Molina, 1782 [3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ท่องโลกกว้าง: World's Weirdest Animal Sr.3 - Freaky Eats". ไทยพีบีเอส. 24 March 2015. สืบค้นเมื่อ 25 March 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 2.0 2.1 วงศ์นกกระทุง (Family Pelecanidae:Pelecanus)
- ↑ จาก itis.gov (อังกฤษ)