ข้าวไรซ์เบอร์รี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รวงข้าวไรซ์เบอร์รี่

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (อังกฤษ: Riceberry) ชื่อวิทยาศาสตร์: Oryza sativa เป็นข้าวที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวจ้าวหอมนิล และข้าวขาวดอกมะลิ มีลักษณะเป็นข้าวจ้าวสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ผิวมันวาว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีรสชาติหวาน

ประวัติ[แก้]

การคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (พันธุ์พ่อ) กับ ข้าวขาวดอกมะลิ 105(ข้าวหอมมะลิ) จากสถาบันวิจัยข้าว (พันธุ์แม่) โดยเริ่มผสมพันธุ์เมื่อปี พ.ศ. 2545 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว[1] มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ. นครปฐม เมื่อได้ลูกผสม F1 ปล่อยให้มีการผสมตัวเอง แล้วเก็บเมล็ด F2 มาปลูกต่อซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10,000 ต้น ทำการคัดเลือกต้น F2 จากการสังเกตลักษณะทรงต้นที่ให้ผลผลิตดี, การติดเมล็ดดี, รูปร่างเมล็ดเรียวยาว จากนั้นประเมินคุณภาพเมล็ดโดยกระเทาะเมล็ดแล้วสังเกตความสม่ำเสมอ สังเกตความใส-ขุ่นของเมล็ด การแตกหักจากการสี แล้วจึงคัดเลือก F3 family เพื่อปลูกและคัดเลือกครอบครัวที่มีต้น ที่ให้ผลผลิตสูง ติดเมล็ดดี ขนาดเมล็ดใหญ่ ยาวเรียว, ไม่เป็นโรคไหม้คอรวง, เปลือกเมล็ดสะอาด, คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีเมล็ดข้าวกล้องสีม่วงเข้ม-ดำ, น้ำหนักเมล็ดต่อครอบครัวดี แล้วทำการคัดเลือกภายในครอบครัวให้ได้จำนวนประมาณ 2-5 ต้นในปี 2546 และทำเช่นนี้อีกในรุ่น F4 และ F5 ในปี 2547 จากนั้นทำการเปรียบเทียบผลผลิตในรุ่น F6 และ F7 ในปี 2548 โดยเลือกครอบครัว F6 จำนวน 96 ครอบครัว ปลูกแบบปักดำจำนวน 25 ต้น/ครอบครัว ทำเป็น 3 ซ้ำ เพื่อเปรียบเทียบผลผลิต ลักษณะที่แสดงออก, ปริมาณธาตุเหล็กและปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระชนิดต่างๆ แล้วทำการคัดเลือกต้นดีเด่นภายในครอบครัวแล้ว bulk ให้ครอบครัว F7 เพื่อปลูกเปรียบเทียบผลผลิตเป็นครั้งที่ 2 และวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ค้นพบข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการโดยรวมดีเด่น 1 สายพันธุ์ในปี พ.ศ. 2548 โดยให้ชื่อพันธุ์ว่า ไรซ์เบอร์รี่ [2]

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง จนเป็นที่มาของการค้นพบข้าวไรซ์เบอร์รี่ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547-2554 ภายใต้โครงการบูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูงที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมทำวิจัยกับสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการศึกษาเชิงโภชนาการบำบัดของผลิตภัณฑ์ข้าวโภชนาการสูงอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หลังจากได้พันธุ์ข้าวแล้ว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้สนับสนุน โครงงานวิจัย “ธัญโอสถ” ตราเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากข้าวโภชนาการสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเด่นชัดให้กับข้าวไรซ์เบอร์รี่ ด้วยการพัฒนาเครื่องหมายคุณภาพที่เริ่มตั้งแต่การผลิตข้าวเปลือกจากแปลงเกษตรกรจนถึงข้าวถุงที่จะส่งถึงมือผู้บริโภคตลอดจนคุณภาพวัตถุดิบเช่นน้ำมันรำข้าวบีบเย็น และกากรำข้าวบีบปราศจากน้ำมัน ที่เกิดจากข้าวโภชนาการสูง ต่อมาได้มี โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ภายใต้ชื่อ “ธุรกิจเชิงสังคมข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์แบบครบวงจร ระหว่างมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภา), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) [3]

Whole Grain Riceberry
Whole Grain Riceberry
คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 กรัม (3.5 ออนซ์)
พลังงาน1,631.76 กิโลจูล (390.00 กิโลแคลอรี)
80 g
น้ำตาล0 g
ใยอาหาร4 g
4 g
อิ่มตัว0 g
8 g
วิตามิน
วิตามินเอ
(1%)
63 μg
โฟเลต (บี9)
(12%)
48 μg
วิตามินอี
(5%)
0.68 มก.
แร่ธาตุ
เหล็ก
(14%)
1.8 มก.
โซเดียม
(3%)
50 มก.
สังกะสี
(34%)
3.2 มก.
ประมาณร้อยละคร่าว ๆ โดยใช้การแนะนำของสหรัฐสำหรับผู้ใหญ่

ลักษณะประจำพันธุ์[แก้]

ความสูง 105-110 ซ.ม.
ความยาวของเมล็ด 7.2
สัดส่วนความยาว/ความกว้าง เรียว (>3.0)
สีของรำข้าว ม่วงเข้ม
% การขัดสี 50
ผลผลิต (กก./ไร่) 700-800
อายุเก็บเกี่ยว 130
Amylose content (%) 15.6
อุณภูมิแป้งสุก(องศาเซลเซียส) < 70

คุณค่าทางโภชนาการในข้าวไรซ์เบอร์รี่[แก้]

คุณค่าทางโภชนาการ ในรำข้าวไรซ์เบอร์รี่มีแอนโทไซยานิน(Anthocyanin) ในระดับความเข้มข้น 15.7 มก./100กรัม รำข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีค่า ORAC ถึง 400 Trolox eq./g งานวิจัยล่าสุดพบว่าในรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสารออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง Lupeol และสารอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการสกัด นับเป็นครั้งแรกที่มีรายงานการค้นพบ Lupeol ในข้าว ในส่วนของน้ำมันรำข้าวบีบเย็น เมื่อเทียบกับน้ำมันงาแบบหีบเย็น มี beta-carotene อยู่ถึง 23 µg/g[4] และ lutein 14-15µg/g (ไม่มีในน้ำมันงา) พร้อมทั้ง gamma-oryzanol 135 µg/g โดยมีค่า ORAC อยู่ที่ 215 µmol Trolox/g จากการทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดจากรำข้าวไรซ์เบอร์รี่ ในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด คือเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Caco-2) เซลล์มะเร็งเต้านม (MCF-7) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (HL-60) พบว่า สารสกัด ทั้งชนิดไม่สกัดน้ำมันออก (DCM fraction) และชนิดที่สกัดน้ำมันออกไปบ้าง (MeOH fraction) ให้ผลยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 3 ชนิดได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะสารสกัดจาก DCM fraction ให้ผลที่ดีกว่าสารสกัดจาก MeOH fraction และเซลล์มะเร็งในเม็ดเลือดขาว มีความไวต่อการถูกชักนำให้เกิดการตาย ภายหลังการได้รับสารสกัดได้เร็วที่สุด ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รำข้าวไรซ์เบอร์รี่เป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง[5][6][7]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว https://dna.kps.ku.ac.th/index.php/research-develop/rice-breeding-lab/riceberry-variety
  2. อภิชาติ วรรณวิจิตร, พรรัตน์สินชัยพานิช, สุกัญญา วงศ์พรชัย, รัชนี คงคาฉุยฉาย, ประไพศรี ศิริจักรวาล, ศรีวัฒนา ทรงจิตสมบูรณ์ และวิจิตราเลิศกมลกาญจน์. รายงานการวิจัย โครงการบูรณาการ เทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูง ปีงบประมาณ 2551. สำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  3. ชเนษฎ์ ม้าลำพอง,อาณัติ สุขีวงศ์, ศิริพัฒน์ เรืองพยัคฆ์, ดนุพล เจกบุตร, สุริยะ ผึ้งบำรุง, ผดุงเกียรติ อุ่นสุวรรณ, มหาราช คุณาวุฒินันท์, สุมน ห้อยมาลา และ อภิชาติ วรรณวิจิตร“ธัญโอสถ” ตราเครื่องหมายมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์จากข้าวโภชนาการสูง. ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีงบประมาณ 2553. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
  4. รัชนี คงคาฉุยฉายและคณะ. 2553. รายงานการวิจัย โครงการบูรณาการเทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูง: โครงการวิจัยย่อยที่ 4: การศึกษาคุณค่าทางโภชนาการเบื้องต้น และการประเมินความเป็นประโยชน์ของธาตุเหล็กจากข้าวในระดับเซลล์. สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ.
  5. Leardkamolkarn V, Thongthep W, Suttiarporn P, Kongkachuichai R, Wongpornchai S, Vanavichit A. 2011. Chemopreventive properties of the bran extracted from a newly-developed Thai rice: The Riceberry. Food Chem. 125 (3): 978-985.
  6. Prangthip, P., Surasiang, R., Charoensiri, R., Leardkamolkarn, V., Komindr, S., Yamborisut, U., Vanavichit, A., Kongkachuichai, R. 2013. Amelioration of hyperglycemia, hyperlipidemia, oxidative stress and inflammation in steptozotocin-induced diabetic rats fed a high fat diet by riceberry supplement .Journal of Functional Foods. 5 (1):195-203.
  7. Kongkachuichai, R., Prangthip, P., Surasiang, R., Posuwan, J., Charoensiri, R., Kettawan, A., Vanavichit, A. 2013. Effect of Riceberry oil (deep purple oil; Oryza sativa Indica) supplementation on hyperglycemia and change in lipid profile in Streptozotocin (STZ)-induced diabetic rats fed a high fat diet. International Food Research Journal. 20 (2):873-882.