กุเดทามะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุเดทามะ
ตัวละครใน อนิเมะโทรทัศน์กุเดทามะ
สินค้าของกุเดทามะ
ปรากฏครั้งแรกพ.ศ. 2556
สร้างโดยAmy
ให้เสียงโดยจุงโกะ ทาเกอูจิ (ญี่ปุ่น)
ชุนซูเกะ ทาเกอูจิ[1] (ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์)
คมสรร รัตนากรบดี (พากย์ไทยของซีรีส์เน็ตฟลิกซ์)[2]
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
นามแฝงไข่ขี้เกียจ
เผ่าพันธุ์ไข่
เพศไข่
สัญชาติญี่ปุ่น

กุเดทามะ (ญี่ปุ่น: ぐでたまโรมาจิGudetamaทับศัพท์: กูเดตามะ) เป็นตัวละครการ์ตูนในปี พ.ศ. 2556 สร้างโดยบริษัทซานริโอ ประเทศญี่ปุ่น[3][4] ตัวละครเป็นมานุษยรูปนิยมของไข่แดงผู้มีอุปนิสัยหลักคือขี้เกียจและเศร้าสร้อย[5][6] ชื่อ "กุเดทามะ" มาจากคำภาษาญี่ปุ่น "กูเดกูเดะ" (ぐでぐで, gudegude) ที่มีความหมายว่า "ขี้เกียจ" และ "ทามาโงะ" (たまご, tamago) ที่มีความหมายว่า "ไข่"[7] กุเดทามะสร้างสรรค์โดย Amy นักออกแบบของซานริโอ ซึ่งมีชื่อจริงว่า เอมิ นางาชิมะ (永嶋 瑛美, Nagashima Emi)[8][9]

เดิมกลุ่มเป้าหมายเจาะตลาดวัยก่อนวัยรุ่น วัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องความรู้สึกของกุเดทามะเกี่ยวกับความยากลำบากในการเอาตัวรอดในสังคมยุคปัจจุบัน[6] ด้วยเหตุนี้กลุ่มเป้าหมายจึงขยายไปถึงคนรุ่นมิลเลนเนียลด้วย[10] ในปี พ.ศ. 2562 กุเดทามะเป็นตัวละครที่ทำกำไรมากที่สุดเป็นอันดับสามของซานริโอ[11] กุเดทามะปรากฏในซีรีส์แอนิเมชันช่วงเช้าทางช่องทีบีเอสของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2563 และปรากฏในซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565[12][13] มีการสร้างวิดีโอเกมและหนังสือการ์ตูนที่อิงจากตัวละครกุเดทามะ เครื่องบินและรถไฟได้รับการตกแต่งในธีมกุเดทามะ และร้านอาหารก็มีบริการเมนูไข่ในธีมกุเดทามะ ตัวละครยังได้ปรากฏบนสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เครื่องแต่งกาย เครื่องเขียน และของเล่น

การสร้างสรรค์และประวัติ[แก้]

กุเดทามะถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. 2556 โดย Amy หรือเอมิ นางาชิมะ (永嶋 瑛美, Nagashima Emi) นักออกแบบอายุ 26 ปี (ในเวลานั้น) ของซานริโอ[8][9] การสร้างสรรค์กุเดทามะได้แรงบันดาลใจจากจากไข่ที่ Amy เตรียมจะใช้ทำอาหารเย็นหลังการทำงานตลอดทั้งวัน Amy เห็นว่าไข่แดงดูน่ารักเพราะท่าทางขี้เซาของมัน[7] และรู้สึกว่าไข่แดงดูเหมือนคนรุ่นเยาว์ในยุคนี้ที่รู้สึกว่าชีวิตน่าเบื่อหน่าย เธอจึงออกแบบตัวละครไข่และสร้างบุคลิกให้ดึงดูดคนยุคมิลเลนเนียล[9]

ในปี พ.ศ. 2556 กุเดทามะเข้าร่วมในการแข่งขันเกี่ยวกับอาหารที่จัดขึ้นโดยซานริโอ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบและทดสอบตัวละครใหม่[14] กุเดทามะได้อันดับสองในการแข่งขัน โดยผู้ชนะเลิศคือเนื้อปลาแซลมอนผู้ร่าเริงชื่อคิริมิจัง[15] แม้ว่าในตอนแรกกุเดทามะจะได้รับความนิยมน้อยกว่าคิริมิจัง แต่ภายหลังก็มีแฟน ๆ เพิ่มขึ้นและขึ้นมามีมูลค่าทางการตลาดสูงกว่าตัวละครปลาแซลมอน

ชื่อ "กุเดทามะ" มีที่มาจากคำสองคำ คำแรกคือเสียงสือความว่า "กูเดกูเดะ" (ぐでぐで, gudegude) ซึ่งใช้สื่อถึงความรู้สึกเกียจคร้านและขาดพลังงาน คำที่สองคือคำภาษาญี่ปุ่น "ทามาโงะ" (たまご, tamago) ที่มีความหมายว่า "ไข่"[7] ดังนั้นชื่อ "กุเดทามะ" จึงแปลได้ว่า "ไข่ขี้เกียจ"

ซีรีส์แอนิเมชันกุเดทามะเปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 ในรายการโทรทัศน์จของช่องทีบีเอสทีวีชื่อ อาซะจัง! (あさチャン!) ช่วงข่าวครอบครัวยามเช้า[16] แต่ละตอนของซีรีส์กุเดทามะ มีความยาวเพียงประมาณหนึ่งนาที และในปี พ.ศ. 2560 ซีรีส์กุเดทามะมีจำนวนตอนเกือบ 1,000 ตอน[17]

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 บัญชีทวิตเตอร์ของกุเดทามะอย่างเป็นทางการโดยซานริโอมีผู้ติดตาม 1.029 ล้านคน ถือเป็นตัวละครที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในบรรดาตัวละครซานริโอทั้งหมด.[18][19] ในปี พ.ศ. 2562 กุเดทามะเป็นตัวละครที่ทำกำไรได้มากที่สุดเป็นอันดับสามของซานริโอ รองจากเฮลโลคิตตีและมายเมโลดี้[11]

ตัวละคร[แก้]

กุเดทามะเป็นไข่แดงของไข่ดิบที่มีสีเหลืองเข้ม มีหัวแต่ไม่มีคอ ลำตัวมีแขนขาแต่ไม่มีนิ้วมือหรือนิ้วเท้า ดวงตาถูกวาดเหมือนวงรีสองวง ท่าทางเฉื่อยชา มีปากมีลิ้นแต่ไม่มีฟันที่ชัดเจน อาหารโปรดคือโชยุและเป็นหนึ่งในไม่กี่อย่างที่ช่วยกระตุ้นกุเดทามะได้[20] มักเป็นปรากฏในท่านอนบนไข่ขาวที่ใช้ต่างเตียง และใช้เบคอนต่างผ้าห่ม นอกจากนี้ยังมีภาพอื่น ๆ อีกมากมายเกี่ยวกับกุเดทามะที่สอดคล้องกับวิธีการปรุงไข่แบบต่าง ๆ[21] ตัวละครปรากฏเช่นไข่ที่ยังไม่ได้ปอกเปลือก ไข่คน ไข่ดาว ไข่ต้ม ไข่สไลซ์ แซนวิชสลัดไข่ ไข่เบเนดิกต์ คัสตาร์ด มายองเนส ไข่เยี่ยวม้า และขนมอบที่ทำจากไข่

วัฒนธรรม[แก้]

คอสเพลย์ของกุเดทามะในงานคอมิกาเซะเอกซ์โปในปี พ.ศ. 2558

ปัจจัยด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกระแสความนิยมของกุเดทามะสามารถสรุปได้เป็น 2 ประเภท คือวัฒนธรรมคิโมะ-คาวาอี และวัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่น วัฒนธรรมทั้งสองนี้สามารถอธิบายถึงแนวโน้มที่ไม่หยุดยั้งของกุเดทามะและเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความนิยมได้[10]

คิโมะ-คาวาอี[แก้]

กุเดทามะแตกต่างจากตัวละครที่น่ารักและมองโลกในแง่ดีอื่น ๆ ในวัฒนธรรมคาวาอีของญี่ปุ่น เนื่องจากกุเดทามะมีแง่มุมที่แย่จึงถูกจัดให้อยู่ในประเภทคิโมะ-คาวาอี (ซึ่งแปลว่า "น่ารักน่าขยะแขยง" หรือ "น่ารักน่าขนลุก")[22] ความคิโมะ-คาวาอีของกุเดทามะแสดงออกผ่านความหดหู่ใจซึ่งทำให้มันบ่นเกี่ยวกับชีวิตที่ลำบากของมันอยู่ตลอดเวลา[23]

การที่กุเดทามะพูดค้านสิ่งต่าง ๆ ต่อหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตทำให้กุเดทามะกลายเป็นที่นิยมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในหมู่ชาวญี่ปุ่นที่น่าจะอดทนและขยันหมั่นเพียร มีผู้ให้ความเห็นว่าความนิยมของกุเดทามะสามารถตีความได้ว่าเป็นสัญญาณของความไม่สนใจต่องานของคนยุคมิลเลนเนียล และยังอาจจะถึงบ่งบอกถึงอาการของภาวะซึมเศร้า[24][10] นักแปลชื่อ แมตต์ อัลต์แสดงความคิดเห็นว่า "มาสคอตเช่นกุเดทามะเป็นวิธีที่เหมาะในการแสดงตัวตนมากกว่าแค่พูดหรือพิมพ์แสดงอารมณ์ออกมา"[6]

วัฒนธรรมอาหาร[แก้]

วัฒนธรรมประชานิยมของญี่ปุ่นก่อนหน้านี้มีตัวละครที่เกี่ยวกับอาหาร เช่น อันปังแมน ซูเปอร์ฮีโร่ถั่วแดง กับซีรีส์แอนิเมชันที่มีตัวละครต่าง ๆ ที่ทำจากไข่[23]

โดยทั่วไปแล้ว ไข่ในประเทศญี่ปุ่นมีเสียงสะท้อนทางสังคมที่หลากหลาย เอมิ นางาชิมะ ผู้ออกแบบกุเดทามะ กล่าวว่าต้นกำเนิดของตัวละครนี้มาจากอาหารเช้าของพนักงานชาวญี่ปุ่นคือ ทามาโงกาเกโงฮัง (ไข่ดิบราดบนข้าวขาว) เป็นที่ถกเถียงกันว่าไข่มีศักยภาพเชิงสัญลักษณ์และเชิงเปรียบเทียบมากมายในแง่ของพนักงานยุคมิลเลนเนียล จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ตัวละครไข่ กุเดทามะเป็นเพียงไข่แดง ไม่ใช่ไข่ทั้งฟอง บ่งบอกถึงลักษณะการจ้างงานแบบเลือกสรรและการประเมินค่าแบบทุนนิยม ซึ่งเรียกร้องสิ่งที่ดีที่สุดจากผู้คนและทิ้งส่วนที่เหลือไป คนในสังคมปัจจุบันถูกประเมินค่าด้วยสิ่งที่พวกเขาสามารถอุทิศตนให้สังคมได้เฉกเช่นไข่ ดังนั้นกุเดทามะจึงแฝงเสียงสะท้อนทางสังคมและได้รับความนิยมอย่างสูง[23]

สื่อ[แก้]

ซีรีส์โทรทัศน์[แก้]

ซีรีส์แอนิเมชันขนาดสั้นของกุเดทามะออกอากาศทางช่องทีบีเอส (Tokyo Broadcasting System) ของญี่ปุ่นระหว่างปี พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2563[12][13] ออกอากาศทุกวันโดยเป็นส่วนหนึ่งของรายการข่าวครอบครัวยามเช้า อาซะจัง! (あさチャン!, Asa Chan!, แปลว่า "โอกาสยามเช้า!")[16] แต่ละตอนยังมีเกมที่ชื่อว่า "Gudetama Chance!" ซึ่งให้ผู้ชมใช้รีโมตคอนโทรลเพื่อชิงรางวัล แต่ละตอนและส่วนเกมจะใช้เวลาเพียงหนึ่งนาทีเท่านั้น[12] ในปี พ.ศ. 2562 มีมากกว่า 1,200 ตอน[25]

ซีรีส์เป็นเรื่องราวของกุเดทามะและตัวละครมนุษย์ที่ปรากฏซ้ำ หนึ่งในตัวละครดังกล่าวคือ คุณนิเซทามะ (ニセたまさん, Nisetamasan, แปลว่า "ไข่ปลอม") ชายหนุ่มที่สวมชุดสีเหลืองคล้ายกับชุดเซ็นไตแต่เปิดใบหน้า คล้ายกับกุเดทามะที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์ ช่วงสั้น ๆ ของซีรีส์จบลงด้วยเพลงประจำตัวของกุเดทามะและการเต้นรำสไตล์ร่วมสมัยที่แสดงโดยคุณนิเซทามะ

ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์[แก้]

กุเดทามะ ไข่ขี้เกียจผจญภัย
ぐでたま ~母をたずねてどんくらい~
(Gudetama: Haha o Tazunete Don Kurai)
ชื่อภาษาอังกฤษGudetama: An Eggcellent Adventure
แนวสุขนาฏกรรม, ผจญภัย
สร้างโดยซานริโอ
โอเอ็นเอ
กำกับโดยโมโตนาริ ซากากิบาระ
เขียนบทโดยโยอิจิ คาโต
ดนตรีโดยโคจิ เอ็นโด
สตูดิโอโอแอลเอ็ม
ฉาย13 ธันวาคม พ.ศ. 2565
ตอน10

ซีรีส์โทรทัศน์ผ่านสัญญาณต่อเนื่องไลฟ์แอ็กชันผสมคอมพิวเตอร์แอนิเมชัน ชื่อเรื่องว่า กุเดทามะ ไข่ขี้เกียจผจญภัย (ญี่ปุ่น: ぐでたま ~母をたずねてどんくらい~โรมาจิGudetama: Haha o Tazunete Don Kurai) ผลิตโดยสตูดิโอโอแอลเอ็ม กำกับโดยโมโตนาริ ซากากิบาระ กำกับโดยโยอิจิ คาโต และแต่งดนตรีประกอบโดยโคจิ เอ็นโด ปล่อยฉายทั่วโลกทางเน็ตฟลิกซ์ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีทั้งหมด 10 ตอนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของกุเดทามะและตัวละครลูกไก่ชื่อชากิปิโยะในการเดินทางข้ามประเทศญี่ปุ่นเพื่อตามหาแม่[13][26] ชุนซูเกะ ทาเกอูจิรับหน้าให้เสียงพากย์ตัวละครไข่ที่แตกต่างกัน 24 ตัวละครในซีรีส์รวมถึงกุเดทามะ ส่วนชากิปิโยะให้เสียงพากย์โดยเซรัง ฟูกูชิมะ เพลงประกอบซีรีส์ร้องโดยยูโกะ ฮาระจากวง Southern All Stars[26] ในรูปแบบพากย์ไทย ตัวละครไข่ต่าง ๆ รวมถึงกุเดทามะให้เสียงพากย์โดยคมสรร รัตนากรบดี ชากิปิโยะให้เสียงพากย์โดยสิษฐารัตน์ ปี่ทอง[2]

รายชื่อตอน[แก้]

ตอนที่ ชื่อตอน
1"ขี้เกียจ..."
2"น่าเวียนหัว"
3"ประเทศนี้ให้ดีสุดได้แค่นี้เหรอ"
4"อาาาา"
5"หน้าเน่าแล้ว นิสัยก็ยังเน่าอีก"
6"มาสคอตสุดฮิป"
7"มีไข่กี่ฟองในออมเล็ตจานนั้น"
8"ยอมแพ้แล้ว"
9"แม่น้องอยู่ไหน"
10"เหนื่อยจัง..."

ดนตรี[แก้]

วงอัลเตอร์เนทีฟร็อก They Might Be Giants สร้างสรรค์เพลงที่ชื่อว่า "Gudetama's Busy Days".

วิดีโอเกม[แก้]

มีวิดีโอเกมญี่ปุ่นสองเกมเกี่ยวกับกุเดทามะบนเครื่องเล่นนินเท็นโด 3ดีเอส วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2559 และทามากตจิในธีมกุเดทามะในปี พ.ศ. 2560[27]

Gudetama Tap! เป็นเกมมือถือที่เปิดตัวในปี พ.ศ. 2562 เป็นเกมเล่นฆ่าเวลาหรือเกมสะสม[28] เกมนี้เล่นง่ายแต่ใช้เวลารอนาน เกมนี้เกี่ยวกับการใช้สูตรอาหารต่าง ๆ ปรุงกุเดทามะประเภทต่าง ๆ เป็นหลัก สูตรอาหารที่ต้องใช้เวลารอนานหลายชั่วโมงสามารถปรุงกุเดทามะที่หายากได้ และผู้เล่นมีเป้าหมายที่จะรวบรวมกุเดทามะทุกชนิดเท่าที่จะทำได้[29]

กุเดทามะโชว์

กิจกรรมธีม[แก้]

ในปี พ.ศ. 2562 เซ็นโตซาซึ่งเป็นเกาะนอกชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ของสิงคโปร์ ได้รับตุ๊กตากุเดทามะเป่าลมมากกว่า 800 ตัว ซึ่งใช้ในการเฉลิมฉลอง Sentosa Funset ประจำปี[30]

ผลิตภัณฑ์[แก้]

เดิมกุเดทามะมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ชมวัยก่อนวัยรุ่น แต่ภายหลังได้ขยายตลาดไปถึงคนรุ่นมิลเลนเนียลด้วย มีการส่งออกในหลายประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ ภายในสองปีหลังการเปิดตัวกุเดทามะ ซานริโกได้ส่งออกสินค้าในธีมกุเดทามะในประเทศญี่ปุ่นเกือบ 2,000 ชนิด ตั้งแต่ดินสอไปถึงกระเป๋าเดินทาง[18][31]

กุเดทามะแอร์บัส A321-200

เครื่องบิน[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2559 EVA Air ได้เปิดตัวเครื่องบินธีมของซานริโอใหม่ในธีมกุเดทามะ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A321-200 ที่จุผู้โดยสารได้ 184 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นชั้นธุรกิจ 8 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 176 ที่นั่ง บินระหว่างไต้หวันและโตเกียว หมอนและเก้าอี้วาดเป็นรูปกุเดทามะพร้อมแว่นกันแดดในมือ แสดงถึงบรรยากาศยามว่างของการเดินทาง[32]

เครื่องสำอาง[แก้]

ในปี พ.ศ. 2559 แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีชื่อ Holika Holika สร้างสรรค์ชุดเครื่องสำอางในธีมกุเดทามะ มีสินค้าทั้งหมด 11 รายการในชุด ซึ่งมีหน้าของกุเดทามะอยู่บนผลิตภัณฑ์[33] กุเดทามะและตัวละครของซานริโออื่น ๆ ยังได้ปรากฏบนผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของ Creme Shop

ร้านอาหาร[แก้]

อาหารจาก VILLAGE VANGUARD DINER x Gudetama OKAWARI

มีร้านอาหารธีมกุเดทามะในประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และในกรุงลอนดอน ร้านอาหารตกแต่งด้วยภาพกุเดทามะ บริการเมนูไข่ต่าง ๆ ที่มีใบหน้าของกุเดทามะให้กับลูกค้า ในปี พ.ศ. 2557 Village Vanguard Diner Lumine Machida ได้เปิดคาเฟ่ธีมกุเดทามะในเวลาจำกัด โดยบริการเค้ก เบอร์เกอร์ พุดดิ้ง และอื่น ๆ ตามธีม[34][35]

ในปี พ.ศ. 2559 โชริวราเม็งได้สร้างรายการอาหารพิเศษจำกัดจำนวนที่ปรุงขึ้นเพื่อให้ดูเหมือนตัวละครจากซีรีส์กุเดทามะ ใบหน้าของกุเดทามะถูกวาดบนขนมปังเบอร์เกอร์และอาหารส่วนใหญ่มีไข่เป็นส่วนประกอบ[36]

เครื่องแต่งกาย[แก้]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 แบรนด์ Stayreal ของไต้หวันร่วมกับกุเดทามะ และออกรายการเสื้อยืด หมวกแก๊ป ถ้วย หน้ากาก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในจำนวนจำกัด[37]

ในเดือนเมษายน พง.ศ. 2562 Stayreal ร่วมงานกับกุเดทามะเป็นครั้งที่สอง โดยเพิ่มแบรนด์ผู้หญิง Rockcoco ความร่วมมือเน้นที่หัวข้อ “Lazy is the new busy” (ความขี้เกียจคือความวุ่นใหม่)[38]

รถไฟขนาดเล็กธีมกุเดทามะในซีรีส์เซบุ 30000

ยูนิโคล่ร่วมกับซานริโอออกสินค้าอย่างเสื้อยืดกุเดทามะ[39]

Anwar Carrots ออกสินค้าจากความร่วมมือของกุเดทามะ เช่น กระเป๋าคาดเอว หมวก และเสื้อเชิ้ต[40]

รถไฟ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2561 รถไฟเซบุสร้างรถไฟในธีมกุเดทามะ[41] รถไฟขบวนนี้แล่นไปตามสายเซบุชินจูกุและสายเซบุไฮจิมะตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน จากนั้นจึงแล่นไปตามสายเซบุอิเกบูกูโระจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 รถไฟทั้งขบวนทาสีเหลือง โดยมีใบหน้าของกุเดทามะด้านหน้าและด้านหลัง ภายในรถไฟมีการติดตั้งกุเดทามะขนาดใหญ่ที่ด้านข้างของที่นั่งและเหนือชั้นวาง[42]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Gudetama: An Eggcellent Adventure Series' Video Reveals Cast". Anime News Network (ภาษาอังกฤษ). 2022-11-02. สืบค้นเมื่อ 9 November 2022.
  2. 2.0 2.1 "โฉมหน้าผู้ให้เสียงพากย์ไทย "Gudetama : An Eggcellent Adventure"". คนรักหนังพากย์ไทย. December 14, 2022. สืบค้นเมื่อ December 23, 2022.
  3. "ぐでたま|サンリオ". sanrio.co.jp. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-09.
  4. "Signing into eresources, The University of Sydney Library". login.ezproxy1.library.usyd.edu.au. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  5. "Sanrio Friend of the Month: Gudetama". sanrio.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-03.
  6. 6.0 6.1 6.2 "One of Japan's most popular mascots is an egg with crippling depression". Public Radio International (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  7. 7.0 7.1 7.2 Hongo, Jun; Steger, Isabella (2016-01-02). "If Hello Kitty's Too Cheery, This Yolk May Go Over Easier for You". Wall Street Journal (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). ISSN 0099-9660. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  8. 8.0 8.1 "Marketing Melancholy: Sanrio's Newest Character is a Sad EggEye on Design | Eye on Design". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-26.
  9. 9.0 9.1 9.2 "卒業生インタビュー". 女子美術大学 【好き】は【力】 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2019-06-04.
  10. 10.0 10.1 10.2 Bonnah, Theodore (2018-03-06). "Kimo-kawaii Catharsis: millennials, depression and the empty healing of Sanrio's Gudetama". Japan Forum. 31 (2): 187–210. doi:10.1080/09555803.2018.1441170. ISSN 0955-5803. S2CID 148924770.
  11. 11.0 11.1 MONEY PLUS編集部 (2019-01-26). "フォロワー100万超、「ぐでたま」生んだサンリオの育成". MONEYPLUS (ภาษาญี่ปุ่น). Money Forward. สืบค้นเมื่อ 2019-01-26.
  12. 12.0 12.1 12.2 "Sanrio's Gudetama TV Anime Shorts to Premiere on Monday". Anime News Network (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-06-05.
  13. 13.0 13.1 13.2 Hodgkins, Crystalyn (September 25, 2022). "Gudetama: An Eggcellent Adventure Series' 1st Trailer Reveals December 13 Premiere". Anime News Network. สืบค้นเมื่อ September 25, 2022.
  14. Abad-Santos, Alex (2017-04-03). "How Gudetama, a lazy egg yolk with a butt, became an unstoppable cultural phenomenon". Vox. สืบค้นเมื่อ 2019-04-14.
  15. "食べキャラ総選挙 ~食うか食われるか真剣勝負!~". 2015-09-26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-26. สืบค้นเมื่อ 2019-05-29.
  16. 16.0 16.1 TBS. "あさチャン!|TBSテレビ". TBSテレビ (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  17. Machado, Leonor Sá (2018-10-17). "6 Interesting Facts About Gudetama, the Lazy Egg". Macau Lifestyle (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  18. 18.0 18.1 "10 Weird Facts About The Egg With The Butt: Gudetama". TheGamer (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  19. "ぐでたま【公式】". Twitter. สืบค้นเมื่อ 3 December 2022.
  20. "Introducing GUDETAMA'S GUIDE TO LIFE". Sanrio (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 14 December 2022.
  21. "ぐでたま | キャラクター | サンリオ". www.sanrio.co.jp. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  22. B, Rachel (2013-06-18). "Kimokawaii: Both Cute and Gross at the same time". Tofugu (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-06-05.
  23. 23.0 23.1 23.2 Bonnah, Theodore (2019-04-03). "Kimo-kawaii Catharsis: millennials, depression and the empty healing of Sanrio's Gudetama". Japan Forum. 31 (2): 187–210. doi:10.1080/09555803.2018.1441170. ISSN 0955-5803. S2CID 148924770.
  24. "Why the Lazy Egg, Gudetama, Is the Internet's Greatest Star". First We Feast (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-11. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  25. "ファン待望!全部で1200話以上あるサンリオ人気キャラ「ぐでたま」のアニメ・アーカイブをYouTube GUDETAMA/ぐでたまチャンネルにて公式配信開始!". japan.cnet.com (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 21 December 2022.
  26. 26.0 26.1 "Gudetama: An Eggcellent Adventure Series' Clip Shows Gudetama Running for Office". Anime News Network (ภาษาอังกฤษ). 2022-12-13. สืบค้นเมื่อ 14 December 2022.
  27. "Game Franchises - Gudetama - GameFAQs". gamefaqs.gamespot.com. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022.
  28. Pollack, Hilary; Studarus, Laura (2018-05-30). "The New Gudetama Game Made Me Realise that the Lazy Egg Is a True Millennial Icon". Vice (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-06-05.
  29. Studarus), 劳拉·斯图达拉丝(Laura. "这款手游让我意识到懒蛋蛋才是这一代人的代表 | 异视异色|VICE中国|全球青年文化之声:世界在下沉,我们在狂欢". www.vice.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-12. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  30. Lim, Sean (2019-03-15). "It's cuteness overload: There are over 880 Gudetama inflatables at Sentosa now – and it won't cost a cent to see them". Business Insider Singapore (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-05. สืบค้นเมื่อ 2019-06-05.
  31. "ぐでたま【公式】". Twitter. สืบค้นเมื่อ 3 December 2022.
  32. "Relaxed Sanrio character brightens new plane from nose to tail". Tourism News | eTN.travel (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2016-12-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-11. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.
  33. "[MAKE UP] Holika Holika x Gudetama Collection!". UnitedKpop (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2016-09-27. สืบค้นเมื่อ 2019-05-12.[ลิงก์เสีย]
  34. "Gudetama the lazy egg now being served as actual dish, looks absolutely adorable!". RocketNews24. 15 October 2014. สืบค้นเมื่อ 2015-09-29.
  35. "最大5時間待ちの「ぐでたま」コラボカフェ第2段が1月26日(月)~ ヴィレッジヴァンガード ダイナー町田ルミネ店にオープン". valuepress (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2019-05-29.
  36. "Shoryu Ramen x Gudetama | Eat and Drink". London On The Inside (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2018-09-25. สืบค้นเมื่อ 2019-05-29.
  37. "STAYREAL聯手療癒天王「蛋黃哥」紓壓登場!蛋黃哥LAZY能量大爆發!" (ภาษาจีน). Stayreal. 2016-03-01. สืบค้นเมื่อ 2022-12-26.
  38. "「蛋黃哥懶懶Party」ROCKCOCO X GUDETAMA與元氣女神大元 懶萌魅力即將引爆!" (ภาษาจีน). Neofashiongo. สืบค้นเมื่อ 2022-12-26.
  39. "LOOK: Uniqlo's Gudetama collection is simply too cute". Rappler. สืบค้นเมื่อ 2022-12-26.
  40. "Street Signs: Getting Fresh With Anwar Carrots". WWD. สืบค้นเมื่อ 2022-12-26.
  41. "スマイルトレイン10th×ぐでたま5th記念キャンペーン‐西武鉄道". スマイルトレイン10th×ぐでたま5th記念キャンペーン‐西武鉄道. สืบค้นเมื่อ 2019-06-05.
  42. "Ride with Gudetama, Japan's famous lazy egg, in Tokyo". Ikidane Nippon. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-05. สืบค้นเมื่อ 2019-06-05.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]