การปะทุแบบพลิเนียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนภาพการปะทุแบบพลิเนียน
(1) เถ้าปะทุ
(2) ปล่องหินหนืด
(3) เถ้าตก
(4) ชั้นทับถมของหินหลอมและเถ้า
(5) ชั้นหิน
(6) โพรงหินหนืด

การปะทุแบบพลิเนียน (อังกฤษ: Plinian eruption) คือ รูปแบบการปะทุของภูเขาไฟที่มีต้นแบบจากการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสเมื่อปี ค.ศ. 79 ซึ่งทำลายเมืองปอมเปอีและเฮอร์คิวเลเนียมของจักรวรรดิโรมัน คำว่าพลิเนียนถูกตั้งตามชื่อพลินีผู้เยาว์ ผู้บรรยายลักษณะการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสไว้ในจดหมายฉบับหนึ่ง และผู้ซึ่งลุงของเขา พลินีผู้อาวุโส เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้[1]

การปะทุแบบพลิเนียนมีลักษณะเด่น ได้แก่ การเกิดลำก๊าซและเถ้าภูเขาไฟตั้งสูงขึ้นไปในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นที่สองของโลก การขับหินพัมมิสออกจากปากปล่องในปริมาณมาก และการปะทุเป่าก๊าซออกมาอย่างต่อเนื่องและรุนแรง

เมื่อเทียบระดับความรุนแรงตามดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟ (Volcanic Explosivity Index; VEI) การปะทุแบบพลิเนียนจะมีค่าดัชนีอยู่ระหว่าง 4-6 นอกจากนี้ยังมีการกำหนดการปะทุแบบ "ซับพลิเนียน" (sub-Plinian) มีระดับความรุนแรง 3 หรือ 4 และแบบ "อัลตราพลิเนียน" (ultra-Plinian) มีระดับความรุนแรง 6-8

การปะทุแบบสั้นอาจจบได้ภายในวันเดียว การปะทุแบบยาวอาจดำเนินตั้งแต่หลายวันจนถึงหลายเดือน ซึ่งการปะทุแบบยาวจะเริ่มต้นด้วยการก่อตัวของเมฆเถ้าภูเขาไฟและบางครั้งก็เกิดการไหลไพโรคลาสติก หินหนืด (แมกมา) อาจถูกพ่นออกมาจากโพรงหินหนืดใต้ภูเขาไฟจนหมด ทำให้ยอดภูเขาไฟยุบตัวลงเกิดเป็นแอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด (caldera) ส่วนเถ้าละเอียดอาจตกลงมาทับถมกันเป็นบริเวณกว้าง และบ่อยครั้งที่การปะทุแบบพลิเนียนทำให้เกิดเสียงดังมาก เช่นจากการปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซียเมื่อปี ค.ศ. 1883

การพรรณนาโดยพลินีผู้เยาว์[แก้]

ต้นสนหิน เป็นต้นไม้ที่พลินีผู้เยาว์ใช้เปรียบเทียบลักษณะของการปะทุ

พลินีผู้เยาว์ได้พรรณนาเหตุการณ์ขณะที่เขาและลุงสังเกตการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสครั้งแรกจากที่พักในเมืองมีเซนุม (Misenum) มีข้อความดังนี้[2]

วันที่ 24 สิงหาคม ราวบ่ายโมง แม่ของข้าพเจ้าปรารถนาให้ลุงสังเกตเมฆกลุ่มหนึ่งที่ปรากฏขึ้นด้วยรูปร่างและขนาดอันผิดปรกติมาก ลุงเพิ่งออกไปที่แดดได้ครั้งหนึ่ง หลังจากอาบน้ำเย็น ทานอาหารกลางวันเบา ๆ แล้วกลับไปอ่านหนังสือ – ลุงลุกขึ้นทันทีแล้วเดินไปยังที่สูง ที่ซึ่งเขาอาจสังเกตปรากฏการณ์อันผิดแปลกนี้ได้ชัดเจนขึ้น เมฆก้อนหนึ่ง จากภูเขาใดไม่แน่ชัดด้วยระยะห่างนี้ (ซึ่งทราบภายหลังว่ามาจากภูเขาไฟวิสุเวียส) กำลังมุ่งขึ้นข้างบน เมฆมีรูปร่างอย่างต้นสน ซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถบรรยายรูปร่างของเมฆได้ชัดเจนไปกว่านี้ มันพุ่งขึ้นสูงมาก มีลำต้นที่ยาวมาก และแผ่ออกตรงยอดในลักษณะอย่างกิ่งก้าน ชั่วขณะหนึ่ง ข้าพเจ้านึก อาจเกิดลมกระโชกแรงอย่างทันทีแล้วผลักเมฆก้อนนั้นด้วยแรงเพิ่มขึ้นไปในทิศข้างบน หรือเมฆอาจถูกกดกลับอีกครั้งโดยน้ำหนักของตัวเอง เมฆขยายตัวในแบบที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้นี้ บางครั้งมันก็สว่าง บางครั้งก็มืดและเป็นลายจุด เหมือนมันถูกชุบด้วยดินและถ่าน ไม่มากก็น้อย ดูเหมือนว่าปรากฏการณ์นี้จะผิดปรกติเป็นพิเศษสำหรับชายผู้ใฝ่รู้และชอบค้นคว้าอย่างลุง และคุ้มค่าที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนยิ่งขึ้น

พลินีผู้เยาว์, หนังสือจดหมายเล่มที่หก ฉบับที่ 16, เขียนถึงตากิตุส

พลินีผู้อาวุโสได้ออกเดินทางช่วยผู้ประสบภัยในพื้นที่อันตรายตามชายฝั่งอ่าวเนเปิลส์ และได้ล่องเรือแกลลีย์ (เรือแจวโรมัน) ข้ามอ่าวไปยังเมืองสตาเบีย (Stabiae, อยู่ใกล้กับเมืองกัสเตลลัมมาเร ดี สตาเบียในปัจจุบัน) พลินีผู้เยาว์ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของลุงของเขาว่า เขาอาจฟุบลงไปและเสียชีวิตจากการหายใจเอาก๊าซพิษที่ถูกขับออกมาจากภูเขาไฟเข้าไป ในวันที่ 26 สิงหาคม หลังจากที่เถ้าปะทุสลายตัว ร่างของพลินีผู้อาวุโสถูกพบฝังอยู่ใต้เถ้าภูเขาไฟโดยไม่ปรากฏบาดแผลใด ๆ ยืนยันว่าเกิดจากอาการขาดอากาศหายใจหรือถูกพิษ

ตัวอย่าง[แก้]

ภาพวาดโดยจอร์จ จูเลียส พาวเล็ท สโครบ นักธรณีวิทยาอังกฤษ (ค.ศ. 1822) แสดงการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสเมื่อ ค.ศ. 79
การปะทุของภูเขาไฟซารืยเชฟในรัสเซีย เมื่อ ค.ศ. 2009 ถ่ายจากสถานีอวกาศนานาชาติ

การปะทุแบบอัลตราพลิเนียน[แก้]

การปะทุแบบอัลตราพลิเนียน (อังกฤษ: ultra-Plinian) มีค่าความรุนแรงของการปะทุตามดัชนีการระเบิดของภูเขาไฟ (VEI) ตั้งแต่ 6 ถึง 8 นอกจากนี้ยังนิยามให้เถ้าปะทุมีความสูงตั้งแต่ 25 กิโลเมตรขึ้นไป และมีปริมาตรของมวลสารปะทุตั้งแต่ 10 ถึง 1,000 ลูกบาศก์กิโลเมตร ตัวอย่างการปะทุที่จัดอยู่ในประเภทการปะทุแบบอัลตราพลิเนียนนี้ ได้แก่ ทะเลสาบโตบา (ปะทุเมื่อราว 74,000 ปีก่อน มีค่า VEI 8) ภูเขาไฟตัมโบรา (ค.ศ. 1815 มีค่า VEI 7) ภูเขาไฟกรากะตัว (ค.ศ. 1883 มีค่า VEI 6) การปะทุอะกะโฮยะ (ราว 6,500 ปีก่อน มีค่า VEI 7) ซึ่งปัจจุบันคือแอ่งภูเขาไฟคิคะอิ และภูเขาไฟปินาตูโบซึ่งปะทุเมื่อ ค.ศ. 1991 มีค่า VEI 6[4][5]

อ้างอิง[แก้]

  1. Plinian (การปะทุแบบพลิเนียน) ความหมายโดย USGS, สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2560.
  2. Pliny's Letters. pp. 473–481.
  3. Enlightenment activities for improvement on disasters from Tarumae Volcano, Japan, Cities on Volcanoes 4, 23–27 January 2006
  4. "How Volcanoes Work: Variability of Eruptions". San Diego State University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-13. สืบค้นเมื่อ 2017-08-23.
  5. Maeno F, Taniguchi H. (2005). Eruptive History of Satsuma Iwo-jima Island, Kikai Caldera, after a 6.5ka caldera-forming eruption. Bulletin of the Volcanological Society of Japan. 50(2):71–85. ISSN 0453-4360.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อความต้นฉบับในภาษาละตินของจดหมาย 2 ฉบับ (ฉบับที่ 16 และ 20) ที่พลินีผู้เยาว์เขียนเกี่ยวกับการปะทุของภูเขาไฟ เมื่อ ค.ศ. 79 (เยอรมัน)