การนับรวมทุกกลุ่มคน
การนับรวมทุกกลุ่มคน (Inclusiveness or Inclusion) หมายถึง การเปิดช่องทางให้ปัจเจกบุคคลและกลุ่มทุกกลุ่มเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพลเมือง มีความเท่าเทียมกันทางสังคมในด้านสิทธิเสรีภาพ มีโอกาสและความเสมอภาคในกระบวนการอภิปรายถกเถียงและการตัดสินใจในทางการเมือง โดยการนับประชาชนทุกคนในสังคมให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอหน้ากัน ทุกคนสามารถเข้าถึงอำนาจตามกฎหมายในการมีส่วนร่วมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง อย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพลเมืองจึงเป็นการรวมประชาชนทุกฝั่งฝ่ายเข้าเป็นสังคมเดียว ความหมายดังกล่าวจึงตรงข้ามกับความเหนือกว่าเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะบุคคล (exclusiveness) ซึ่งหมายถึงการให้สิทธิพิเศษแก่คนบางกลุ่ม จนกลายเป็นอภิสิทธิชนในสังคม[1]
อรรถาธิบาย
[แก้]การครอบคลุมทุกกลุ่มคน พลเมือง (citizen) และ ความเป็นพลเมือง (citizenship) ที่ปัจเจกบุคคลได้รับจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในศตวรรษที่ 18 เป็นหัวใจสำคัญของระเบียบและอัตลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งในด้านของการร่างและกำหนดเนื้อหารัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการถูกบังคับใช้อย่างทั่วไปเสมอหน้ากัน โดยคุณลักษณะสำคัญของความเป็นพลเมืองสมัยใหม่ (modern citizenship) คือ ความเท่าเทียมกัน (equality) โดยความเท่าเทียมกันนี้ยังสามารถถกเถียงได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความเป็นสากล (universal) คือ ความเป็นมนุษยชาติที่เท่าเทียมกัน กับความเป็นเฉพาะ (particular) ของแต่ละประเทศชาติที่จะกำหนดให้พลเมืองเท่าเทียมกัน ซึ่งในด้านของกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญได้กลายเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างชุมชนในจิตนาการ (imagined community) ให้กับประชาชนในชาติว่ามีความเท่าเทียมกันเสมอหน้าต่อกฎหมายสูงสุด ตราบเท่าที่ยังเป็นสมาชิกในชุมชนการเมืองนั้น ๆ นอกจากนี้ความเท่าเทียมดังกล่าวจึงมีความใกล้ชิดกับระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ให้สิทธิประชาชนในการเข้าแข่งขันกันอย่างเสรีในกลไกตลาด (Rosenfeld, 2010: 211-223)[2] บุคคลที่มีสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดทั้งในด้านของสิทธิ (rights) และ การให้สิทธิ (entitlements) ทำให้พลเมืองมีความใกล้ชิดและต้องเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับอำนาจรัฐเสมอ ไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้ง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออก การควบคุมการออกฎหมาย ไปจนถึงการรับผลประโยชน์บางประการที่รัฐจัดหามาให้ ด้วยเหตุนี้ เสรีภาพในการแสดงออกของพลเมืองจึงต้องเป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศเพื่อคุ้มครองความเป็นพลเมืองให้กับประชาชน
ฐานทางความคิดของการครอบคลุมทุกกลุ่มคนในระบบการเมือง มีที่มาจากการพัฒนาสังคมสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernization) และกระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) ที่พยายามวางมาตรฐานของชีวิตทางสังคมการเมืองให้กลายเป็นแบบแผนเดียว จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดการกับความแตกต่างทางสังคม ทั้งในเรื่องชาติกำเนิด ชาติพันธุ์ สีผิว เพศ และอัตลักษณ์เฉพาะบางอย่าง ที่อาจทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวถูกผลักออกจากการรับรองให้มีสิทธิเสรีภาพ หลักการความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพลเมืองจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อวางหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนในสังคมจะต้องถูกรับรองและสามารถใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้อย่างเสมอหน้ากัน เช่น สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง อย่างสิทธิในการเลือกตั้งและ เสรีภาพในการแสดงออก เป็นต้น
การครอบคลุมทุกกลุ่มคนในระบบการเมือง มีความสัมพันธ์กับประชาธิปไตย (democracy) และสังคมที่เป็นประชาธิปไตย (democratic society) อย่างยิ่ง โดยงานของ Dahl (1989: 221)[3] ได้กล่าวถึงส่วนประกอบของประชาธิปไตยไว้ 7 ประการคือ
- ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง (elected officials)
- การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม (free and fair election)
- การเลือกตั้งที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิลงคะแนน (inclusive election)
- สิทธิในการเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง (the right to run for office)
- เสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression)
- การรับรู้ข้อมูลทางเลือก (alternative information)
- ความเป็นอิสระของการรวมกลุ่ม (associational autonomy)
ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย
[แก้]สำหรับการนิยามหลักการครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมไทย ปรากฏตัวอย่างเช่นในบทความของ สามชาย ศรีสันต์ (2555)[4] ได้แปลคำว่า social inclusion ว่า การนับรวมทางสังคม หมายถึง การที่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนด้อยโอกาส กลุ่มคนชายขอบ และคนจน ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและไม่เคยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย จะต้องถูกนับรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีสิทธิเสรีภาพและได้รับผลประโยชน์จากสังคมอย่างเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีบทความวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า (2553: 11)[5] ได้กล่าวถึง social inclusion ว่าคือการยอมรับเป็นสมาชิกในสังคมของบุคคลทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งหมายถึง การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสังคม บริการที่รัฐจัดหา และการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน เข้าใจในสิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม การถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันต่าง ๆ ทั้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย และที่เกิดจากค่านิยม บรรทัดฐาน และวัฒนธรรมร่วมของชุมชนจนกลายเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน เช่น มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สิทธิเด็กและสตรี การได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมตามสิทธิ เป็นต้น
ในทางปฏิบัติ เนื่องจากคำว่า inclusiveness หรือ social inclusion ยังไม่มีคำเฉพาะในการเรียกใช้ แต่จะถูกใช้ผ่านคำว่าความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การนับรวมประชาชนทุกคน การให้โอกาสประชาชนทุกคน และการให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอหน้ากัน ตัวอย่างเช่น สิทธิชุมชนท้องถิ่น (community rights) ในการจัดการปกครอง การจัดการทรัพยากรท้องถิ่น และการดูแลวัฒนธรรมประเพณีพื้นฐานของตนให้สามารถดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไปสู่โลกาภิวัตน์
ดังนั้น แม้คำว่าการนับรวมทุกกลุ่มคน (inclusiveness) จะยังไม่มีคำศัพท์เฉพาะที่เป็นภาษาไทยอย่างชัดเจน แต่ในด้านการทำความเข้าใจความหมายถือว่าทั้งในความหมายระดับสากลและความหมายของสังคมไทยมีความแตกต่างกันไม่มากนัก หรือกล่าวได้ว่ามีจุดร่วมเหมือนกันคือการนับรวมประชาชนทุกคนให้มีความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะพลเมืองอย่างเท่าเทียมกัน และสามารถมีสิทธิเสรีภาพเสมอหน้ากัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Young, Iris Marion (2002). Inclusion and Democracy. Oxford : Oxford University Press.
- ↑ Rosenfeld, Michel (2010). The Identity of the Constitutional Subject: Selfhood, Citizenship, Culture, and Community. London: Routledge.
- ↑ Dahl, Robert (1989). Democracy and Its Critics. New Haven: Yale University Press.
- ↑ สามชาย ศรีสันต์ (2555). “1 ปีการทำงานของรัฐบาล ถึงเวลาที่ต้องดำเนินนโยบายการนับรวมทางสังคม (social inclusion)”. เข้าถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2555 ใน http://prachatai.com/journal/2012/08/42291.
- ↑ สถาบันพระปกเกล้า (2553). เอกสารประกอบการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 12 ประจำปี 2553 เล่ม 1. “คุณภาพสังคมกับคุณภาพประชาธิปไตยไทย” (Social Quality and Quality of Thai Democracy). กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.