บรรทัดฐาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การจับมือกันหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันเป็นตัวอย่างหนึ่งของบรรทัดฐานในสังคมตะวันตก

บรรทัดฐาน ปทัสถาน หรือ ปทัฏฐาน (อังกฤษ: norm) ในทางสังคมวิทยาหมายถึง พฤติกรรมและบทบาทภายในสังคมหรือกลุ่ม คำนี้มีการจำกัดความว่าเป็น "กฎซึ่งกลุ่มใช้สำหรับแยกแยะค่านิยม ทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม กฎดังกล่าวอาจบอกอย่างชัดเจนหรือเป็นนัยก็ได้ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมอาจได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การกีดกันออกไปจากกลุ่ม"[1] นอกจากนี้ยังมีการอธิบายว่าเป็น "กฎธรรมเนียมของพฤติกรรมที่ประสานปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น"[2]

บรรทัดฐานทางสังคมบ่งชี้ถึงแนวทางสังคมยอมรับในการกระทำ การแต่งกาย การพูดจาหรือรูปลักษณ์ภายนอก บรรทัดฐานนี้มีความแตกต่างกันมากและมีวิวัฒนาการไม่เฉพาะแต่ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความแตกต่างของวัย ชนชั้นทางสังคมและกลุ่มทางสังคมด้วย บรรทัดฐานของกลุ่มหนึ่งอาจไม่ได้รับการยอมรับในอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ การปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมนำมาซึ่งการได้รับความยอมรับและความเป็นที่นิยมภายในกลุ่ม การเพิกเฉยต่อบรรทัดฐานของสังคมอาจทำให้ผู้หนึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ไม่ได้รับความยอมรับ หรืออาจถึงขั้นขับออกจากกลุ่มเลยก็เป็นได้ บรรทัดฐานทางสังคมมักเป็นตัวภาษาหรือการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูดระหว่างบุคคลในสังคมทั่วไป

การทราบว่าสิ่งใดควรพูด หรือควรใช้คำใดโดยเฉพาะเป็นพิเศษ ควรพูดคุยถึงหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ควรใส่เสื้อผ้าแบบใด และเมื่อใดที่ไม่ควร ความรู้ดังกล่าวเป็นบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการการแสดงออก[3] ซึ่งเป็นระเบียบสำหรับปัจเจกชนในการแสดงพฤติกรรมโดยไม่ใช้คำพูด

ภาพรวม[แก้]

บรรทัดฐานทางสังคมสามารถถูกมองว่าเป็นข้อความที่กำหนดพฤติกรรมและการกระทำเป็นการควบคุมทางสังคมอย่างไม่เป็นทางการ บรรทัดฐานนี้มักขึ้นอยู่กับบางระดับของการได้รับความยินยอมและดำรงอยู่โดยการบังคับทางสังคม ระเบียบของบรรทัดฐานมีอยู่สามรูปแบบดังนี้:

  • มุ่งให้ความสนใจการกระทำของอีโก้ส่วนบุคคลของผู้ใดผู้หนึ่ง
  • มุ่งให้ความสนใจปฏิกิริยาของอีโก้ต่อการกระทำอีกวิธีการหนึ่ง
  • การเจรจาระหว่างอีโก้และอีกการกระทำหนึ่ง

บรรทัดฐานเป็นกฎควบคุมพฤติกรรม มีทั้งแบบเป็นทางการและแบบไม่เป็นทางการ แต่บรรทัดฐานแบบไม่เป็นทางการจะพบว่ามีความเข้มแข็งกว่าแบบแรก บรรทัดฐานแบบไม่เป็นทางการสามารถแบ่งออกได้เป็นสองแบบ:

  • วิถีประชา กฎและบรรทัดฐานอย่างไม่เป็นทางการ การละเมิดวิถีประชาไม่ค่อยมีผลเท่าใดนัก แต่ทุกคนในกลุ่มถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตาม วิถีประชาเป็นประเภทหนึ่งของนิสัยการปรับตัวและการยินยอม ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกตำหนิหรือได้รับการเตือน
  • จารีต กฎอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษอย่างรุนแรงและถูกกีดกันจากสังคมหรือศาสนานั้น ๆ

นอกจากนี้ยังมี กฎหมาย ซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางสังคมแบบเป็นทางการ[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]

  1. Social Norms
  2. "Steven N. Durlauf and Lawrence E. Blume (Eds), 'Social Norms' in New Palgrave Dictionary of Economics, Second Edition, London: Macmillan, (forthcoming)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-09-27. สืบค้นเมื่อ 2010-10-23.
  3. Kamau, C. (2009) Strategising impression management in corporations: cultural knowledge as capital. In D. Harorimana (Ed) Cultural implications of knowledge sharing, management and transfer: identifying competitive advantage. Chapter 4. Information Science Reference. ISBN 978-1-60566-790-4

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]