กาย ฟอกส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก กาย ฟอคส์)

กาย ฟอกส์
กาย ฟอกส์
ภาพวาดกาย ฟอกส์ของจอร์จ ครุกแชงก์ ตีพิมพ์ในนวนิยายปี 1840 โดยวิลเลียม แฮร์ริสัน เอนส์เวิร์ธ
เกิด13 เมษายน ค.ศ. 1570 (สันนิษฐาน)
ยอร์ก ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต31 มกราคม ค.ศ. 1606
เวสต์มินสเตอร์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สาเหตุเสียชีวิตคอหัก
สัญชาติอังกฤษ
ชื่ออื่นกวีโด ฟอกส์, จอห์น จอห์นสัน
การศึกษาโรงเรียนเซนต์ปีเตอร์ ยอร์ก
อาชีพทหาร; อัลเฟเรซ
ปีปฏิบัติงานค.ศ. 1591–1603
มีชื่อเสียงจากกบฏผู้มีส่วนในแผนดินปืน
ถูกกล่าวหากบฏต่อแผ่นดิน
รับโทษแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่
บุพการีเอดเวิร์ด ฟอกส์, อีดิธ (สกุลเดิม เบลกหรือแจ็กสัน)

กาย ฟอกส์ (อังกฤษ: Guy Fawkes; 13 เมษายน ค.ศ. 1570 – 31 มกราคม ค.ศ. 1606) ที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า กวีโด ฟอกส์ (อิตาลี: Guido Fawkes) อันเป็นชื่อที่เขาใช้ขณะสู้รบให้กับสเปนในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ เป็นสมาชิกกลุ่มคาทอลิกอังกฤษแขวงผู้วางแผนแผนดินปืน (Gunpowder Plot) ที่ล้มเหลวในปี ค.ศ. 1605

ฟอกส์เกิดและได้รับการศึกษาในยอร์ก บิดาเขาเสียชีวิตเมื่อฟอกส์อายุได้แปดขวบ จากนั้น มารดาเขาสมรสกับผู้นับถือคาทอลิกที่ไม่เข้าร่วมกิจการของศาสนจักรแห่งอังกฤษ (recusant) ภายหลังฟอกส์เปลี่ยนมานับถือคาทอลิกและเดินทางไปแผ่นดินใหญ่ยุโรป ที่ซึ่งเขาสู้รบในสงครามแปดสิบปี โดยอยู่ฝ่ายสเปนคาทอลิก และสู้รบกับนักปฏิรูปดัตช์โปรเตสแตนต์ เขาเดินทางไปสเปนเพื่อแสวงการสนับสนุนกบฏคาทอลิกในอังกฤษ แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังเขาพบทอมัส วินเทอร์ (Thomas Wintour) ซึ่งเดินทางกลับอังกฤษพร้อมกับเขาด้วย

วินเทอร์แนะนำฟอกส์ให้รู้จักรอเบิร์ต เคตส์บี (Robert Catesby) ผู้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 และฟื้นฟูพระมหากษัตริย์คาทอลิกสู่ราชบัลลังก์ กลุ่มผู้วางแผนเช่าห้องใต้ดินใต้สภาขุนนาง และฟอกส์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบระเบิดดินปืนที่พวกเขาเก็บสะสมไว้ที่นั่น ทางการค้นพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ในช่วงเช้ามืดวันที่ 5 พฤศจิกายนหลังได้รับการแจ้งเตือนจากจดหมายนิรนาม และพบฟอกส์กำลังเฝ้าระเบิดอยู่ เขาถูกสอบสวนและทรมานอยู่สองสามวันจนยอมเปิดเผยข้อมูลในที่สุด ก่อนการประหารชีวิตในวันที่ 31 มกราคม ฟอกส์กระโดดจากตะแลงแกงที่เขากำลังจะถูกแขวนคอ และคอหัก จึงไม่ได้รับความทรมานจากการถูกตัดและคว้านอวัยวะที่ตามมา

ชื่อของฟอกส์กลายเป็นคำพ้องกับแผนระเบิดดินปืน มีการเฉลิมฉลองความล้มเหลวของแผนดังกล่าวในอังกฤษตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ตามประเพณีมีการเผาหุ่นจำลองของเขาบนกองไฟ ซึ่งมักร่วมด้วยการแสดงดอกไม้ไฟ

ชีวิตช่วงต้น[แก้]

วัยเด็ก[แก้]

กาย ฟอกส์เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1570 ในย่านสโตนเกตของเมืองยอร์ก เขาเป็นบุตรคนที่สองจากสี่คนของเอดเวิร์ด ฟอกส์ ผู้แทนในคดี (proctor) และทนายความของศาลคันซิสทอรี (consistory court) หรือศาลสงฆ์ประเภทหนึ่งในยอร์ก[a] และภรรยา อีดิธ[b] บิดามารดาของกายเป็นสมาชิกคริสตจักรแห่งอังกฤษเช่นเดียวกับปู่ย่า ย่าเขาซึ่งมีชื่อเมื่อเกิดว่า เอลเลน แฮร์ริงตัน เป็นธิดาพ่อค้าคนสำคัญที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองยอร์กในปี ค.ศ. 1536[4] ทว่า ครอบครัวของมารดาเป็นคาทอลิกที่ไม่เข้าร่วมกิจการของคริสตจักรแห่งอังกฤษ (recusant) และลูกพี่ลูกน้อง ริชาร์ด คาวลิง บวชเป็นบาทหลวงคณะเยสุอิต[5] กายเป็นชื่อที่พบน้อยในประเทศอังกฤษ แต่อาจได้รับความนิยมในยอร์กเพราะเป็นชื่อของผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นคือ เซอร์กาย แฟร์แฟกซ์แห่งสตีตัน[6]

ไม่มีใครทราบวันเกิดของฟอกส์ แต่เขาผ่านพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนในโบสถ์เซนต์ไมเคิลเลเบลฟรีย์ (St. Michael le Belfrey) ในวันที่ 16 เมษายน ตามจารีตประเพณีมีการเว้นช่วงระหว่างการเกิดกับพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชนสามวัน จึงเป็นไปได้ว่าเขาเกิดวันที่ 13 เมษายน[5] ในปี ค.ศ. 1568 อีดิธให้กำเนิดธิดาคนหนึ่งชื่อแอนน์ แต่ทารกเสียชีวิตเมื่ออายุได้ราวเจ็ดสัปดาห์คือในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เธอคลอดบุตรอีกสองคนหลังจากกาย ได้แก่ แอนน์ (เกิดปี ค.ศ. 1572) และเอลิซาเบธ (เกิดปี ค.ศ. 1575) ทั้งคู่สมรสในปี ค.ศ. 1599 และ ค.ศ. 1594 ตามลำดับ[6][7]

ในปี ค.ศ. 1579 เมื่อกายอายุได้แปดขวบ บิดาเขาเสียชีวิต อีกหลายปีให้หลังมารดาสมรสใหม่กับเดนิส เบย์นบริดจ์ (Denis Baynbridge) ผู้นับถือคาทอลิกชาวบ้านสกอตตัน เขตแฮร์โรเกต ฟอกส์อาจเปลี่ยนมานับถือคาทอลิกตามความนิยมเรคิวซันซีของตระกูลเบย์นบริดจ์ และตามสายคาทอลิกของตระกูลพุลลีน (Pulleyn) และเพอร์ซีแห่งบ้านสกอตตัน[8] รวมทั้งจากสมัยที่เขาเรียนที่โรงเรียนเซนต์ปีเตอส์ในเมืองยอร์ก ผู้ว่าการโรงเรียนนี้รับโทษจำคุก 20 ปีฐานเรคิวซันซี ส่วนครูใหญ่ จอห์น พุลลีน มาจากตระกูลนักเรคิวซันซีที่สำคัญ คือ ตระกูลพุลลีนแห่งบ้านบลับเบอร์เฮาซิส (Blubberhouses) ในหนังสือ เดอะพุลลีนส์ออฟยอร์กเชอร์ (The Pulleynes of Yorkshire) งานปี ค.ศ. 1915 ผู้ประพันธ์ แคเธอริน พุลลีน เสนอว่า การศึกษาคาทอลิกของฟอกส์มาจากญาติฝั่งแฮร์ริงตันของเขา ซึ่งทราบกันว่าให้ที่ซ่อนเร้นแก่นักบวชผู้กระทำความผิด นักบวชหนึ่งในนั้นภายหลังเดินทางกับฟอกส์ไปฟลานเดอส์ในปี ค.ศ. 1592–1593 ด้วย[9] ศิษย์ของฟอกส์มีจอห์น ไรต์ และน้องชาย คริสโตเฟอร์ (ต่อมาทั้งคู่เข้าร่วมกับฟอกส์ในแผนดินปืน) และออสวัลด์ เทซิมอนด์ (Oswald Tesimond), เอดเวิร์ด โอลด์คอร์น (Edward Oldcorne) และรอเบิร์ต มิดเดิลตัน ซึ่งได้บวชเป็นบาทหลวง (มิดเดิลตันถูกประหารชีวิตในปี ค.ศ. 1601)[10]

หลังออกจากโรงเรียน ฟอกส์เข้ารับใช้แอนโทนี บราวน์ ไวเคานต์มอนทากิวที่ 1 (Anthony Browne, 1st Viscount Montagu) เขาไม่ชอบฟอกส์และปลดเขาในไม่ช้า ต่อมา แอนโทนี-มารีอา บราวน์ ไวเคานต์มอนทากิวที่ 2 (Anthony-Maria Browne, 2nd Viscount Montagu) ซึ่งสืบยศจากปู่ด้วยวัย 18 ปี จ้างเขาใหม่[11] มีอย่างน้อยหนึ่งแหล่งอ้างว่า ฟอกส์แต่งงานและมีบุตร แต่ไม่มีบันทึกร่วมสมัยเท่าที่ทราบยืนยันข้อมูลนี้[12][c]

อาชีพทหาร[แก้]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1591 ฟอกส์ขายที่ดินกรรมสิทธิ์ในคลิฟตันที่ตกทอดมาจากบิดา[d] เขาเดินทางไปยังยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่อสู้รบในสงครามแปดสิบปีร่วมกับสเปนคาทอลิกซึ่งต่อต้านสาธารณรัฐดัตช์ (และฝรั่งเศสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1595 จนมีการทำสนธิสัญญาแวร์แว็งในปี ค.ศ. 1598) แม้อังกฤษมิได้เข้าร่วมในปฏิบัติการภาคพื้นดินต่อสเปนในเวลานั้น แต่ทั้งสองประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม และเหตุการณ์อาร์มาดาสเปน ค.ศ. 1588 เพิ่งผ่านไปได้ห้าปี เขาเข้าร่วมกับเซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ ชาวอังกฤษคาทอลิกและผู้บังคับบัญชาผ่านศึกในวัยห้าสิบกลาง ๆ ผู้สร้างกองทัพในไอร์แลนด์เพื่อต่อสู้ในกองทหารของเลสเตอร์ที่ส่งไปปฏิบัติการนอกประเทศในเนเธอร์แลนด์ สแตนลีย์เคยได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แต่หลังจากที่เขายอมสละเมืองเดเฟินเตอร์ให้สเปนในปี ค.ศ. 1587 เขาและทหารส่วนใหญ่ก็เปลี่ยนฝ่ายไปรับใช้สเปน ฟอกส์กลายเป็นอัลเฟเรซ (alférez) หรือนายทหารผู้น้อย ซึ่งสู้รบอย่างดีในการล้อมเมืองกาแลในปี ค.ศ. 1596 และเมื่อถึงปี ค.ศ. 1603 ก็ได้รับการเสนอเลื่อนยศเป็นร้อยเอก[3] ในปีนั้น เขาเดินทางไปสเปนเพื่อแสวงหาการสนับสนุนแก่กบฏคาทอลิกในอังกฤษ ในโอกาสนั้นเขาได้ใช้ชื่อตัวว่า "กวีโด" (Guido) ซึ่งเป็นชื่อเขาในภาษาอิตาลี และบรรยายพระเจ้าเจมส์ที่ 1 ในบันทึกของเขาว่าเป็น "คนนอกศาสนา" ผู้ทรงเจตนา "ขับทั้งนิกายสันตะปาปาออกจากอังกฤษ" เขาประณามสกอตแลนด์และผู้ที่พระมหากษัตริย์โปรดในบรรดาอภิชนชาวสกอต โดยเขียนว่า "การปรองดองสองชาติดังที่เป็นนี้จะเป็นไปได้ไม่นานนัก"[13] แม้เขาได้รับการต้อนรับอย่างสุภาพ แต่ราชสำนักของพระเจ้าเฟลีเปที่ 3 ไม่เต็มใจเสนอความช่วยเหลือใด ๆ แก่เขา[14]

แผนดินปืน[แก้]

ภาพพิมพ์ลายแกะเอกรงค์ชายแปดคนในชุดสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทั้งหมดมีเครา และดูกำลังอภิปรายกันอยู่
ภาพพิมพ์ลายแกะร่วมสมัยผู้คบคิดแปดจากสิบสามคน โดยกริสไปน์ ฟัน เดอปัสเซอ ฟอกส์เป็นคนที่สามจากขวามือ

ในปี ค.ศ. 1604 ฟอกส์เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคาทอลิกอังกฤษขนาดเล็กซึ่งนำโดยรอเบิร์ต เคตส์บี เคตส์บีวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 1 ซึ่งทรงถือโปรเตสแตนต์ แล้วยกพระธิดา คือ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งอยู่ในลำดับสามของลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ ขึ้นครองราชย์แทน[15][16] ออสวัลด์ เทซิมอนด์ นักบวชคณะเยสุอิตและอดีตเพื่อนสมัยเรียน อธิบายฟอกส์ว่า "น่าเข้าหาและมีท่าทีร่าเริง ไม่เห็นด้วยกับการทะเลาะและความขัดแย้ง ... ซื่อสัตย์ต่อเพื่อน ๆ ของเขา" เทซิมอนด์ยังอ้างว่าฟอกส์เป็น "ชายผู้มีทักษะสูงในกิจการสงคราม" และอ้างว่า การผสมระหว่างความศรัทธาในศาสนากับความเป็นมืออาชีพนี้เองที่ทำให้ผู้คบคิดคนอื่น ๆ รักใคร่เขา[3] ผู้ประพันธ์ แอนโทเนีย เฟรเซอร์ (Antonia Fraser) บรรยายฟอกส์ว่าเป็น "ชายกำยำ ร่างสูง มีผมสีน้ำตาลแดงหนา หนวดเฟิ้มตามประเพณีสมัยนั้น และเคราน้ำตาลแดงดก" และเป็น "คนเน้นลงมือ ... มีความสามารถในการถกเถียงอย่างปัญญาชนเช่นเดียวกับที่มีความอดทนทางกายสูง ซึ่งค่อนข้างน่าประหลาดใจสำหรับศัตรูของเขา"[5]

ห้าผู้คบคิดหลักประชุมกันครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1604 ที่โรงเตี๊ยมชื่อ ดั๊กแอนด์เดรก ในเขตสแตรนด์ (Strand district) ที่ทันสมัยของกรุงลอนดอน[e] เคตส์บีได้เสนอในการประชุมกับทอมัส วินเทอร์ และจอห์น ไรต์ ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และรัฐบาลของพระองค์โดยระเบิด "ทำเนียบรัฐสภาด้วยดินปืน" วินเทอร์ซึ่งตอนแรกคัดค้านแผนนี้ถูกเคตส์บีเกลี้ยกล่อมให้เดินทางไปยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่อแสวงความช่วยเหลือ วินเทอร์เข้าพบกับผู้บัญชาการกองทัพแห่งกัสติยา (สเปน), ฮิว โอเวน (Hugh Owen) สายลับชาวเวลส์ที่ถูกเนรเทศ[18] และเซอร์วิลเลียม สแตนลีย์ ซึ่งบอกว่าเคตส์บีจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสเปน อย่างไรก็ตาม โอเวนได้แนะนำวินเทอร์ให้รู้จักฟอกส์ซึ่งในขณะนั้นอยู่นอกประเทศอังกฤษมาหลายปี ฉะนั้นจึงแทบไม่เป็นที่รู้จักในประเทศ วินเทอร์และฟอกส์มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งคู่เป็นนักรบและมีประสบการณ์ตรงจากการที่ชาวสเปนไม่เต็มใจช่วยเหลือ วินเทอร์บอกฟอกส์ถึงแผน "ทำการบางอย่างในอังกฤษหากสันติภาพกับสเปนไม่เอื้อต่อพวกเรา" (doe some whatt in Ingland if the pece with Spaine healped us nott)[3] และฉะนั้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1604 ทั้งสองจึงกลับประเทศอังกฤษ[17] ข่าวของวินเทอร์ไม่ทำให้เคตส์บีประหลาดใจ เพราะแม้มีเสียงทางบวกจากทางการสเปน แต่เขาก็กลัวอยู่ว่า "การกระทำนั้นจะไม่ตรงคำตอบ" (the deeds would nott answere)[f]

ทอมัส เพอร์ซี (Thomas Percy) ผู้คบคิดคนหนึ่ง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1604 ทำให้สามารถเข้าถึงบ้านหลังหนึ่งในกรุงลอนดอนซึ่งเป็นของจอห์น วินเนียร์ด (John Whynniard) ผู้ดูแลเสื้อผ้าของพระมหากษัตริย์ ฟอกส์รับตำแหน่งรักษาการ และเริ่มใช้นามแฝงว่าจอห์น จอห์นสัน คนรับใช้ของเพอร์ซี[20] บันทึกการฟ้องคดีอาญาร่วมสมัย (มาจากคำสารภาพของทอมัส วินเทอร์)[21] อ้างว่า กลุ่มผู้คบคิดพยายามขุดอุโมงค์จากใต้บ้านวินเนียร์ดไปยังรัฐสภา แต่รัฐบาลอาจสร้างเรื่องนี้ขึ้นมาเอง เพราะการฟ้องคดีอาญานี้ไม่มีหลักฐานว่ามีอุโมงค์ดังกล่าวอยู่ และไม่พบร่องรอยอุโมงค์ที่ว่า ตัวฟอกส์เองไม่ยอมรับว่ามีแผนการดังกล่าวกระทั่งการสอบสวนครั้งที่ห้า แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอุโมงค์อยู่ตรงจุดไหน[22] อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้เป็นความจริง เมื่อถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1604 ผู้คบคิดก็กำลังง่วนขุดอุโมงค์จากบ้านเช่าไปยังสภาขุนนาง พวกเขาหยุดเมื่อได้ยินเสียงจากข้างบนระหว่างการขุดอุโมงค์ ฟอกส์ถูกส่งไปสืบและกลับมาพร้อมข่าวว่า ไม่ไกลนักภรรยาม่ายของผู้เช่ากำลังเก็บกวาดห้องใต้ดินซึ่งอยู่ใต้สภาขุนนางพอดี[3][23]

ผู้คบคิดขอเช่าห้องใต้ดินนั้นซึ่งเป็นของจอห์น วินเนียร์ดเช่นกัน ห้องนั้นไม่ได้ใช้และโสโครก จึงถือเป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเก็บซ่อนดินปืนที่ผู้คบคิดวางแผนสะสมไว้ ตามที่ฟอกส์เปิดเผย ตอนแรกมีการนำดินปืนมา 20 ถัง และอีก 16 ถังในวันที่ 20 กรกฎาคม[24] ทว่า โรคระบาดที่คุกคามอยู่เนือง ๆ ทำให้การเปิดประชุมรัฐสภาเลื่อนไปเป็นวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน[25]

โพ้นทะเล[แก้]

ในความพยายามให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนจากต่างประเทศ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1605 ฟอกส์เดินทางข้ามทะเลและแจ้งแผนของผู้คบคิดแก่ฮิว โอเวน[26] ณ ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างการเดินทางนี้ ชื่อของเขาก็เข้าไปอยู่ในแฟ้มของรอเบิร์ต เซซิล เอิร์ลที่ 1 แห่งซอลส์บรี (Robert Cecil, 1st Earl of Salisbury) ซึ่งมีเครือข่ายสายลับอยู่ทั่วทวีปยุโรป สายลับคนหนึ่ง ร้อยเอก วิลเลียม เทอร์เนอร์ อาจเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลที่เขาให้แก่ซอลส์บรีโดยปกติจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่ารายงานการรุกรานที่มีรูปแบบคลุมเครือ และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับแผนดินปืนเลย แต่ในวันที่ 21 เมษายน เขาก็เล่าว่าเทซิมอนด์จะนำฟอกส์กลับไปยังประเทศอังกฤษด้วยวิธีการใด ฟอกส์เป็นทหารรับจ้างชาวเฟลมิช (Flemish) ที่เป็นที่รู้จักกันดี และจะถูกแนะนำตัวต่อ "นายเคตส์บี" และ "บรรดามิตรผู้มีเกียรติของขุนนางและคนอื่น ๆ ที่จะเตรียมอาวุธและม้าไว้ให้พร้อม"[27] อย่างไรก็ตาม รายงานของเทอร์เนอร์ไม่ได้กล่าวถึงจอห์น จอห์นสัน (นามแฝงของฟอกส์ในประเทศอังกฤษ) และข่าวนี้ไม่ไปถึงเซซิลจนกระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวลาหลังแผนถูกเปิดโปงแล้ว[3][28]

ไม่แน่ชัดว่าฟอกส์กลับประเทศอังกฤษเมื่อใด แต่เขากลับถึงลอนดอนเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 1605 เมื่อเขาและวินเทอร์พบว่าดินปืนที่สะสมไว้ในห้องใต้ดินเสื่อมไปแล้ว มีการนำดินปืนเข้ามาในห้องเพิ่มเติม ร่วมกับไม้ฟืนเพื่ออำพราง[29] มีการกำหนดบทบาทสุดท้ายของฟอกส์ในแผนนี้ระหว่างการประชุมหลายครั้งในเดือนตุลาคม เขาจะเป็นผู้จุดชนวนแล้วหลบหนีข้ามแม่น้ำเทมส์ ในเวลาเดียวกันนั้น การก่อการกำเริบในมิดแลนส์จะช่วยให้มีการคุมตัวเจ้าหญิงเอลิซาเบธ การปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์จะไม่เป็นที่ยอมรับ ฉะนั้น ฟอกส์จะมุ่งหน้าไปยังยุโรปแผ่นดินใหญ่เพื่ออธิบายให้ประเทศมหาอำนาจคาทอลิกเข้าใจถึงภารกิจศักดิ์สิทธิ์ในการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์และฆ่าข้าราชบริพาร[30]

การตรวจพบ[แก้]

In a stone-walled room, several armed men physically restrain another man, who is drawing his sword.
Discovery of the Gunpowder Plot (ประมาณปี ค.ศ. 1823) โดยเฮนรี เพอร์โรเนต บริกส์

ผู้คบคิดจำนวนหนึ่งเป็นห่วงผู้นับถือคาทอลิกที่จะปรากฏตัวที่รัฐสภาระหว่างการเปิดสมัยประชุม[31] ในเย็นวันที่ 26 ตุลาคม ลอร์ดมอนทีเกิล (Lord Monteagle) ได้รับจดหมายนิรนามเตือนให้เขาอยู่ห่าง ๆ และ "กลับคฤหาสน์ชนบทของท่านไปเสีย ณ ที่นั้นท่านจะปลอดภัย เพราะ ... พวกเขาจะโดนระเบิดอย่างร้ายแรงในรัฐสภาแห่งนี้" (retyre youre self into yowre contee whence yow maye expect the event in safti for ... they shall receyve a terrible blowe this parleament)[32] แม้ว่ากลุ่มผู้คบคิดจะทราบเรื่องจดหมายอย่างรวดเร็ว (เพราะคนรับใช้คนหนึ่งของมอนทีเกิลเป็นผู้แจ้ง) แต่พวกเขาก็ตัดสินใจดำเนินแผนการต่อไป เพราะเห็นว่า "ทุกคนเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่าเป็นข่าวลวง"[33] ฟอกส์ตรวจห้องใต้ดินเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม และรายงานว่าไม่มีสิ่งใดถูกรบกวน ทว่ามอนทีเกิลรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลจึงแสดงจดหมายฉบับนั้นต่อพระเจ้าเจมส์ พระองค์มีพระราชดำรัสสั่งให้เซอร์ทอมัส นิเวต (Thomas Knyvet) ค้นห้องใต้ดินใต้รัฐสภา ซึ่งเขาดำเนินการในช่วงกลางดึกของเช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน ฟอกส์เข้าประจำตำแหน่งสายเมื่อคืนก่อน[34] มีไม้ขีดไฟเผาไหม้ช้าและนาฬิกาข้อมือที่เพอร์ซีให้เขาไว้ติดตัว "เพราะเขาควรรู้ว่าเวลาผ่านไปอย่างไร" (becaus he should knowe howe the time went away)[3] เขาถูกพบขณะกำลังออกจากห้องใต้ดินหลังเที่ยงคืนไม่นาน และถูกจับกุม พบถังดินปืนใต้กองไม้ฟืนและถ่านหินในห้องนั้น[35]

การทรมาน[แก้]

ฟอกส์บอกว่าตัวเองชื่อจอห์น จอห์นสัน และตอนแรกถูกข้าราชบริพารห้องประทับส่วนพระมหากษัตริย์ (Privy chamber) สอบสวน ซึ่งเขายังขัดขืนอยู่[36] เมื่อมีขุนนางคนหนึ่งถามว่าเขากำลังทำอะไรถึงมีดินปืนในครอบครองมากขนาดนั้น ฟอกส์ตอบว่าเจตนาของเขาคือ "เพื่อระเบิดพวกมึงขอทานสกอตกลับภูเขาบ้านเกิดของมึงไงล่ะ"[37] เขาระบุตนว่าเป็นคนคาทอลิกวัย 36 ปีจากเนเธอร์เดล (Netherdale) ในยอร์กเชอร์ และบอกว่าบิดาชื่อทอมัส ส่วนมารดาชื่ออีดิธ แจ็กสัน เมื่อผู้สอบสวนสังเกตเห็นบาดแผลบนร่างกาย เขาก็อธิบายว่าเป็นผลมาจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ฟอกส์ยอมรับว่าเขาเจตนาระเบิดสภาขุนนางและแสดงความเสียใจที่แผนล้มเหลว กิริยาอาการเด็ดเดี่ยวของเขาทำให้พระเจ้าเจมส์ทรงชื่นชม พระองค์ทรงบรรยายว่าฟอกส์มี "ความแน่วแน่อย่างโรมัน"[38]

แม้พระเจ้าเจมส์จะทรงชื่นชม แต่ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ก็มีพระราชดำรัสสั่งทรมาน "จอห์น จอห์นสัน" ให้แฉชื่อผู้ร่วมคบคิด[39] พระองค์มีพระราชดำรัสสั่งให้ทรมานแต่น้อยก่อน คือหมายถึงใช้กุญแจมือ แต่ให้รุนแรงขึ้นถ้าจำเป็น โดยมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องทรมานดึงแขนขา (rack)[36][40] ฟอกส์ถูกย้ายมายังหอคอยลอนดอน พระเจ้าเจมส์ทรงร่างรายการคำถามต่าง ๆ ที่จะถาม "จอห์นสัน" เช่น "เกี่ยวกับสิ่งที่เขาเป็น เพราะฉันยังไม่เคยได้ยินว่ามีผู้ใดรู้จักเขา", "เขาเรียนพูดภาษาฝรั่งเศสเมื่อใดและที่ใด", "ถ้าเขาเป็นพวกนิยมโป๊ปแล้วใครเป็นผู้สั่งสอนเขา"[41] ห้องที่ฟอกส์ถูกสอบสวนต่อมาเรียก ห้องกาย ฟอกส์[42]

Two signatures
ลายมือชื่อ "กวีโด" ของฟอกส์ ลงไม่นานหลังการทรมาน เป็นเพียงรอยหวัด ๆ ชัดเจนเมื่อเทียบกับกรณีหลัง

เซอร์วิลเลียม เวด (William Wade) รองผู้บัญชาการหอคอยลอนดอน (Lieutenant of the Tower) เป็นผู้ควบคุมการทรมานและได้คำสารภาพของฟอกส์[36] เขาค้นตัวฟอกส์และพบจดหมายจ่าหน้าถึงกาย ฟอกส์ เวดประหลาดใจที่ "จอห์นสัน" ยังนิ่งเงียบ ไม่เปิดเผยแผนหรือผู้ริเริ่มแผนเลย[43] ในคืนวันที่ 6 พฤศจิกายน เขาพูดกับเวดซึ่งรายงานต่อซอลส์บรีว่า "เขา [จอห์นสัน] บอกพวกเราว่า ตั้งแต่เขาเริ่มดำเนินการนี้ เขาก็สวดภาวนาต่อพระเป็นเจ้าทุกวันว่าเขาจะกระทำการเช่นนั้นเพื่อความก้าวหน้าของคาทอลิกและเพื่อคุ้มครองวิญญาณของเขาเอง" เวดเล่าว่า ฟอกส์ยังพักผ่อนได้ตลอดคืนแม้จะถูกเตือนว่าเขาจะถูกสอบสวนจนกว่า "ข้าพเจ้าจะได้ความลับจากก้นบึ้งของความคิดเขาและผู้สมคบทั้งหมดของเขา"[44] ความอดทนต่อการถูกทรมานของฟอกส์สิ้นสุดลงในวันรุ่งขึ้น[45]

ผู้สังเกตการณ์ เซอร์เอดเวิร์ด โฮบี (Edward Hoby) ตั้งข้อสังเกตว่า "ตั้งแต่จอห์นสันอยู่ในหอคอย เขาก็เริ่มพูดภาษาอังกฤษ" (Since Johnson's being in the Tower, he beginneth to speak English) ฟอกส์เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเขาในวันที่ 7 พฤศจิกายน และบอกผู้สอบสวนเขาว่ามีห้าคนเกี่ยวข้องในแผนปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ เขาเริ่มเผยชื่อในวันที่ 8 พฤศจิกายน และบอกว่าพวกเขาตั้งใจยกเจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองบัลลังก์อย่างไร คำสารภาพที่สามของเขาในวันที่ 9 พฤศจิกายน พาดพิงฟรานซิส เทรชัม หลังเหตุการณ์แผนรีดอลฟี (Ridolfi plot) ในปี ค.ศ. 1571 นักโทษถูกบังคับให้บอกเขียนคำสารภาพของเขาเองก่อนคัดลอกและลงลายมือชื่อ หากยังสามารถเขียนได้[46] แม้ไม่ชัดเจนว่าเขาตกอยู่ใต้ความกลัวเครื่องทรมานดึงแขนขาหรือไม่ แต่ลายมือชื่อของฟอกส์ซึ่งไม่ดีไปกว่าการเขียนหวัด ๆ นัก ก็เป็นหลักฐานถึงความทุกข์ทรมานที่เขาต้องเจอในกำมือของผู้สอบสวน[47]

การพิจารณาคดีในศาลและการประหารชีวิต[แก้]

การพิจารณาคดีผู้ก่อการแปดคนในศาลเริ่มเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1606 ฟอกส์ลงเรือลำเดียวกับผู้ร่วมคบคิดเจ็ดคนจากหอคอยไปยังเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์[g] พวกเขาถูกคุมตัวในห้องดาวก่อนถูกนำไปยังเวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ ที่นั่น พวกเขาถูกแสดงบนตะแลงแกงที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ พระมหากษัตริย์และพระญาติใกล้ชิดทอดพระเนตรอย่างลับ ๆ อยู่ท่ามกลางบรรดาผู้ชมระหว่างที่กรรมการที่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง (Lords Commissioners) อ่านรายการข้อกล่าวหา ฟอกส์ถูกขานนามว่า กวีโด ฟอกส์ "หรือเรียกอีกอย่างว่า กวีโด จอห์นสัน" เขาให้การปฏิเสธ แม้จะเห็นได้ว่าเขายอมรับว่ากระทำความผิดตั้งแต่ตอนที่ถูกจับแล้ว[49]

Etching
ภาพพิมพ์กัดกรดปี 1606 โดยกลาส ยันส์โซน ฟิสเซอร์ พรรณนาการประหารชีวิตฟอกส์

ผลแทบไม่ต้องสงสัย คณะลูกขุนวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดมีความผิด และประธานศาลสูงสุด (Lord Chief Justice) เซอร์จอห์น พอพัม (John Popham) ประกาศให้พวกเขามีความผิดฐานกบฏต่อแผ่นดิน[50] อัยการสูงสุด เซอร์เอดเวิร์ด คุก กล่าวต่อศาลว่า ผู้ถูกพิพากษาลงโทษจะถูกม้าลากถอยหลังจนตาย โดยปล่อยศีรษะเรียดพื้น พวกเขาจะถูก "ประหารชีวิตครึ่งทางระหว่างสวรรค์กับโลกเพราะไม่คู่ควรแก่ทั้งสอง" อวัยวะเพศจะถูกตัดและเผาซึ่งหน้า และลำไส้และหัวใจจะถูกนำออก แล้วพวกเขาจะถูกตัดศีรษะ และชิ้นส่วนร่างกายที่ถูกตัดออกจะถูกปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้เป็น "เหยื่อแก่นกในอากาศ"[51] มีการอ่านออกเสียงคำให้การของฟอกส์และเทรชัมเกี่ยวกับกบฏสเปน ตลอดจนคำสารภาพที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับแผนดินปืน หลักฐานชิ้นสุดท้ายที่นำมาอ่านคือบทสนทนาระหว่างฟอกส์กับวินเทอร์ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกคุมตัวไว้ในห้องขังติดกัน ดูเหมือนว่าทั้งสองคิดว่าตนกำลังคุยกันส่วนตัว แต่บทสนทนาของพวกเขาถูกสายลับรัฐบาลดักได้ เมื่อเหล่านักโทษได้รับอนุญาตให้พูด ฟอกส์ก็อธิบายว่าเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาเพราะไม่รู้คำฟ้องคดีในบางด้าน[52]

ในวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1606 ฟอกส์และอีกสามคน ได้แก่ ทอมัส วินเทอร์, แอมโบรส รุกวุด และรอเบิร์ต เคย์ส (Robert Keyes) ถูกลากบนเลื่อนสานจากหอคอยไปยังลานพระราชวังเดิมที่เวสต์มินสเตอร์ ตรงข้ามกับอาคารที่พวกเขาพยายามทำลาย[53] ผู้ร่วมคบคิดของเขาถูกแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่ ฟอกส์เป็นคนสุดท้ายที่ยืนบนตะแลงแกง เขาทูลขออภัยโทษจากพระมหากษัตริย์และรัฐ ขณะที่ยังคง "ทำเครื่องหมายกางเขนและพิธีกรรมไร้สาระ" ฟอกส์เริ่มปีนบันไดสู่บ่วงอย่างอ่อนแรงจากการถูกทรมานโดยมีเพชฌฆาตแขวนคอคอยพยุง แต่ไม่ว่าจะมาจากการกระโดดลงมาตายหรือจากการปีนสูงเกินไปเพื่อให้เชือกจัดไม่ถูกต้อง เขาก็สามารถเลี่ยงความเจ็บปวดจากการประหารขั้นตอนหลังไปได้เพราะคอหักเสียชีวิตทันที[36][54][55] กระนั้น ร่างไร้วิญญาณของเขาก็ถูกผ่าสี่[56] แล้วตามจารีตประเพณี[57] ชิ้นส่วนร่างของเขาถูกส่งกระจายไปยัง "มุมทั้งสี่ของราชอาณาจักร" เพื่อนำไปประจานเป็นการเตือนแก่ผู้ที่คิดจะทรยศต่อไป[58]

มรดก[แก้]

Sketch of a group of children escorting an effigy
Procession of a Guy (1864)

วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605 ชาวกรุงลอนดอนได้รับการเชิญชวนให้เฉลิมฉลองการที่พระมหากษัตริย์ทรงรอดการลอบปลงพระชนม์ได้ด้วยการจุดกองไฟ "โดยให้ 'หลักฐานของความสุขสันต์นี้เป็นไปโดยระวังไม่ให้มีอันตรายหรือความวุ่นวายใด ๆ' อยู่เสมอ"[3] มีพระราชบัญญัติกำหนดให้วันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันขอบคุณสำหรับ "วันแคล้วคลาดสุขสันต์" และมีผลใช้บังคับจนถึงปี 1859[59] แม้ว่าฟอกส์เป็นเพียงหนึ่งในผู้ก่อการสิบสามคน แต่ปัจจุบันเขาเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับแผนดังกล่าวมากที่สุด[60]

ในบริเตน วันที่ 5 พฤศจิกายนมีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น คืนกาย ฟอกส์, วันกาย ฟอกส์, คืนแห่งแผน (Plot Night)[61] และคืนแห่งกองไฟ ซึ่งชื่อสุดท้ายนี้สามารถย้อนความเป็นมาไปได้ถึงการเฉลิมฉลองดั้งเดิมในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1605[62] มีการจุดกองไฟร่วมกับดอกไม้ไฟตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1650 เป็นต้นมา และการเผาหุ่นจำลอง (ปกติจะเป็นพระสันตะปาปา) ก็กลายเป็นธรรมเนียมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1673 เมื่อทายาทโดยสันนิษฐาน เจมส์ ดุ๊กแห่งยอร์ก แพร่การเข้ารีตเป็นคาทอลิกของเขา[3] หุ่นจำลองของบุคคลสำคัญคนอื่น ๆ ที่กลายเป็นเป้าความโกรธเกรี้ยวของสาธารณชน (เช่น พอล ครูเกอร์, มาร์กาเรต แทตเชอร์) ก็ถูกนำไปเผาเช่นกัน[63] แต่หุ่นจำลองสมัยใหม่ส่วนมากเป็นหุ่นฟอกส์[59] ปกติเด็ก ๆ สร้างหุ่น "กาย" จากเสื้อผ้า หนังสือพิมพ์เก่า และหน้ากาก[59] ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 คำว่า "กาย" (guy) ถูกนำมาใช้หมายถึงบุคคลที่แต่งตัวแปลก แต่ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน คำนี้สูญความหมายเชิงดูหมิ่นไปและใช้เรียกชายใดก็ได้[59][64]

กาย ฟอกส์ หรือ กบฏดินปืน (Guy Fawkes; or, The Gunpowder Treason) นิยายวีรคติเชิงประวัติศาสตร์ในปี ค.ศ. 1841 ของวิลเลียม แฮร์ริสัน เอนส์เวิร์ธ พรรณนาฟอกส์โดยรวมในมุมมองเห็นอกเห็นใจ[65] และเปลี่ยนภาพของฟอกส์ในความรับรู้ของสาธารณะเป็น "ตัวละครบันเทิงคดีที่พอยอมรับได้" ต่อมาฟอกส์ปรากฏเป็น "พระเอกบู๊โดยพื้นฐาน" ในหนังสือเด็กและนวนิยายสิบสตางค์ เช่น วันวานในวัยเด็กของกาย ฟอกส์ หรือ กลุ่มผู้คบคิดแห่งลอนดอนเก่า (The Boyhood Days of Guy Fawkes; or, The Conspirators of Old London) ซึ่งตีพิมพ์ในราวปี ค.ศ. 1905[66] นักประวัติศาสตร์ลูอิส คอลล์ สังเกตว่า ปัจจุบันฟอกส์เป็น "บุคคลสัญลักษณ์สำคัญในวัฒนธรรมการเมืองสมัยใหม่" เขาเขียนว่า ภาพใบหน้าของฟอกส์กลายเป็น "เครื่องมือที่มีศักยะทรงพลังสำหรับการแสดงออกถึงแนวคิดอนาธิปไตยหลังสมัยใหม่" ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยยกตัวอย่างหน้ากากที่วีสวมในชุดหนังสือการ์ตูน วีฟอร์เวนเดตตา (V for Vendetta) ซึ่งต่อสู้กับรัฐฟาสซิสต์อังกฤษในบันเทิงคดี[67]

บางครั้งกาย ฟอกส์ ได้รับสดุดีว่าเป็น "คนสุดท้ายที่เข้ารัฐสภาด้วยเจตนาซื่อสัตย์"[68]

อ้างอิง[แก้]

หมายเหตุ
  1. แหล่งหนึ่งว่า เขาอาจเป็นนายทะเบียนศาลคดีภาษีอากรของอัครมุขนายก[1]
  2. ชื่อสกุลก่อนสมรสของมารดาฟอกส์ระบุเป็นอีดิธ เบลก[2] หรืออีดิธ แจ็กสัน[3]
  3. ตามดัชนีพงศาวลีวิทยาระหว่างประเทศที่รวบรวมโดยศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย (LDS Church) ฟอกส์สมรสกับมารีอา พุลลีน (เกิด 1569) ในสกอตตันในปี 1590 และมีบุตรคนหนึ่งชื่อทอมัส เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1591[9] ทว่า ข้อมูลนี้ปรากฏว่ามาจากแหล่งทุติยภูมิและมิได้มาจากระเบียนของเขตการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง[12]
  4. แม้พจนานุกรมชีวประวัติแห่งชาติออกซฟอร์ดอ้างว่าเป็นปี 1592 แต่แหล่งทางเลือกจำนวนมากระบุปี 1591 Peter Beal, A Dictionary of English Manuscript Terminology, 1450 to 2000 รวมหนังสือสำคัญขายที่ดินกรรมสิทธิ์ที่ทำขึ้นเป็นคู่ฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 1591 (pp. 198–199)
  5. ที่ประชุมด้วยคือผู้สมคบ จอห์น ไรต์, ทอมัส เพอร์ซี และทอมัส วินเทอร์ (ซึ่งเขารู้จักแล้ว)[17]
  6. พระเจ้าเฟลีเปที่ 3 ทรงตกลงสันติภาพกับประเทศอังกฤษในเดือนสิงหาคม 1604[19]
  7. ทอมัส เบตส์ (Thomas Bates) คนที่แปด ถือว่าด้อยกว่าโดยสถานภาพของเขา และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเกตเฮาส์แทน[48]
เชิงอรรถ
  1. Haynes 2005, pp. 28–29
  2. Guy Fawkes, The Gunpowder Plot Society, สืบค้นเมื่อ 19 May 2010
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 Nicholls, Mark (2004), "Fawkes, Guy (bap. 1570, d. 1606)", Oxford Dictionary of National Biography (online ed.), Oxford University Press, doi:10.1093/ref:odnb/9230, สืบค้นเมื่อ 6 May 2010 (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
  4. "Fawkes, Guy" in The Dictionary of National Biography, Leslie Stephen, ed., Oxford University Press, London (1921–1922).
  5. 5.0 5.1 5.2 Fraser 2005, p. 84
  6. 6.0 6.1 Sharpe 2005, p. 48
  7. Fraser 2005, p. 86 (note)
  8. Sharpe 2005, p. 49
  9. 9.0 9.1 Herber, David (April 1998), "The Marriage of Guy Fawkes and Maria Pulleyn", The Gunpowder Plot Society Newsletter, The Gunpowder Plot Society, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-17, สืบค้นเมื่อ 16 February 2010
  10. Fraser 2005, pp. 84–85
  11. Fraser 2005, pp. 85–86
  12. 12.0 12.1 Fraser 2005, p. 86
  13. Fraser 2005, p. 89
  14. Fraser 2005, pp. 87–90
  15. Northcote Parkinson 1976, p. 46
  16. Fraser 2005, pp. 140–142
  17. 17.0 17.1 Fraser 2005, pp. 117–119
  18. Fraser 2005, p. 87
  19. Nicholls, Mark (2004), "Catesby, Robert (b. in or after 1572, d. 1605)", Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, doi:10.1093/ref:odnb/4883, สืบค้นเมื่อ 12 May 2010 (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
  20. Fraser 2005, pp. 122–123
  21. Nicholls, Mark (2004), "Winter, Thomas (c. 1571–1606)", Oxford Dictionary of National Biography, Oxford University Press, doi:10.1093/ref:odnb/29767, สืบค้นเมื่อ 16 November 2009 (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)
  22. Fraser 2005, pp. 133–134
  23. Haynes 2005, pp. 55–59
  24. Fraser 2005, pp. 146–147
  25. Fraser 2005, pp. 159–162
  26. Bengsten 2005, p. 50
  27. Fraser 2005, p. 150
  28. Fraser 2005, pp. 148–150
  29. Fraser 2005, p. 170
  30. Fraser 2005, pp. 178–179
  31. Northcote Parkinson 1976, pp. 62–63
  32. Northcote Parkinson 1976, pp. 68–69
  33. Northcote Parkinson 1976, p. 72
  34. Fraser 2005, p. 189
  35. Northcote Parkinson 1976, p. 73
  36. 36.0 36.1 36.2 36.3 Northcote Parkinson 1976, pp. 91–92
  37. Cobbett 1857, p. 229.
  38. Fraser 2005, pp. 208–209
  39. Fraser 2005, p. 211
  40. Fraser 2005, p. 215
  41. Fraser 2005, p. 212
  42. Younghusband 2008, p. 46
  43. Bengsten 2005, p. 58
  44. Bengsten 2005, p. 59
  45. Fraser 2005, pp. 216–217
  46. Bengsten 2005, p. 60
  47. Fraser 2005, pp. 215–216, 228–229
  48. Fraser 2005, p. 263
  49. Fraser 2005, pp. 263–266
  50. Fraser 2005, p. 273
  51. Fraser 2005, pp. 266–269
  52. Fraser 2005, pp. 269–271
  53. Haynes 2005, pp. 115–116
  54. Fraser 2005, pp. 283
  55. Sharpe 2005, pp. 76–77
  56. Allen 1973, p. 37
  57. Thompson 2008, p. 102
  58. Guy Fawkes, York Museums Trust, สืบค้นเมื่อ 16 May 2010
  59. 59.0 59.1 59.2 59.3 House of Commons Information Office (September 2006), The Gunpowder Plot (PDF), parliament.uk at web.archive.org, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-02-15, สืบค้นเมื่อ 15 February 2011{{citation}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  60. Fraser 2005, p. 349
  61. Fox & Woolf 2002, p. 269
  62. Fraser 2005, pp. 351–352
  63. Fraser 2005, p. 356
  64. Merriam-Webster (1991), The Merriam-Webster new book of word histories, Merriam-Webster, p. 208, ISBN 0-87779-603-3, entry "guy"
  65. Harrison Ainsworth, William (1841), Guy Fawkes; or, The Gunpowder Treason, Nottingham Society
  66. Sharpe 2005, p. 128
  67. Call, Lewis (July 2008), "A is for Anarchy, V is for Vendetta: Images of Guy Fawkes and the Creation of Postmodern Anarchism", Anarchist Studies, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-02, สืบค้นเมื่อ 10 November 2008  – โดยทาง HighBeam Research (ต้องรับบริการ)
  68. Sharpe 2005, p. 6
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Guy Fawkes