กรมทหารรักษาวัง
กรมทหารรักษาวัง วปร. | |
---|---|
ประจำการ | 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 (113 ปี) |
ประเทศ | ![]() |
ขึ้นต่อ | กระทรวงวัง |
รูปแบบ | กำลังกึ่งทหาร |
บทบาท | ถวายความปลอดภัยแด่องค์พระมหากษัตริย์ |
กองบัญชาการ | พระบรมมหาราชวังและพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สีหน่วย | สีบานเย็น |
ผู้บังคับบัญชา | |
ผู้บังคับการพิเศษ | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ผู้บังคับการ | พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) |
จเรทหาร | พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) |
เครื่องหมายสังกัด | |
ตราหน้าหมวกอุศเรน | ![]() |
กรมทหารรักษาวัง วปร. หรือนามอย่างเป็นทางการว่า กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกองกำลังกึ่งทหารส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยเป็นการส่วนพระองค์ จึงทำให้กรมทหารแทนทหารจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า การทหารวังนั้น "มิใช่หน้าที่ของทหาร" แต่เป็นของกรมวังนอก[1]
กรมทหารรักษาวัง อยู่ในสังกัดกระทรวงวัง โดยมีสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับการ ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ และมีเจ้าหน้าที่เป็นพลเรือน โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นงบประมาณสำหรับบริหารกิจการภายในกรมทหารรักษาวัง และมีศาลทหารรักษาวังสำหรับพิจารณาคดีโดยเฉพาะ ทำให้สายการบังคับบัญชาของกรมทหารรักษาวังแยกออกจากกระทรวงกลาโหม[2]
ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลดความสำคัญของกรมทหารรักษาวังลงด้วยการลดทอนอัตรากำลังพลของกรมทหารรักษาวัง และเมื่อปี พ.ศ. 2478 คณะราษฎรยุบเลิกกรมทหารรักษาวังไปสังกัดหน่วยทหารของกองทัพบก กระทรวงกลาโหมแทน และเมื่อปี พ.ศ. 2488 ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ 1
ภูมิหลัง
[แก้]ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2454 ได้เกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ทหารจำนวนหนึ่งได้ก่อกบฏ แม้ว่าการก่อกบฏในครั้งนี้จะไม่สำเร็จ แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ของพระองค์ เพราะเป็นครั้งแรกของสถาบันกษัตริย์ถูกท้าทายพระราชอำนาจ
โดยเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยารามราฆพ เรื่องการก่อตั้งกรมทหารรักษาวัง วปร. แทนทหารของกองทัพบก ความว่า
"เมื่อวันที่ 6 เมษายน ฉันได้พูดจาตกลงกับเสนาบดีกระลาโหมว่า กรมวังนอก ซึ่งมีน่าที่รักษายามตามประตูพระบรมมหาราชวังและวังสวนดุสิต จะได้จัดวางระเบียบใหม่ คือจะได้จัดให้เป็นทหาร จึงขอให้เสนาบดีกระลาโหมเลือกหานายทหารมาเป็นผู้บังคับบัญชา และคนที่เกณฑ์ก็ให้ใช้เกณฑ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร กรมวังนอก ตามที่เป็นอยู่ก่อนนั้น สามัญชนเรียกกันว่า ทหารชาววัง [...] การรักษาพาใจไม่สู้เรียบร้อย และตามประตูมียามทหารบกวางซ้อนอยู่ด้วยทุกแห่ง ส่วนที่จะระเบียบใหม่นั้น กรมทหารที่ตั้งขึ้นใหม่เรียกว่า กรมทหารรักษาวัง เป็นทหารบกจริง ๆ แต่สังกัดขึ้นกระทรวงวัง นับว่าเป็นที่เรียบร้อยดี และถอนทหารบกที่เคยวางยามตามประตูวังออกได้..."
— พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงให้เห็นว่าไม่แน่พระราชหฤทัยต่อความจงรักภักดีของทหารในกองทัพบก ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ จัดตั้ง "กรมทหารรักษาวัง"[3] ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยเป็นการส่วนพระองค์แทนทหารจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และด้วยความมุ่งหวังส่วนพระองค์ว่ากรมทหารรักษาวังนี้จะเป็นความมั่นคงต่อพระราชบัลลังก์ในพระองค์[4]
เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามกรมทหารรักษาวังว่า กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[5]
โครงสร้าง
[แก้]
กรมทหารรักษาวัง วปร. มีรูปแบบการจัดกำลังแบบทหารราบในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยแบ่งออกเป็น 3 กองพัน คือ
- กองพันที่ 1 กรมทหารรักษาวัง วปร. ประจำการอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง
- กองพันที่ 2 กรมทหารรักษาวัง วปร. ประจำการอยู่ที่พระราชวังดุสิต
- กองพันที่ 3 กรมทหารรักษาวัง วปร. ประจำการอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช; ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2458 ซึ่งรวมพื้นที่มณฑลนครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และเพชรบูรณ์ กองพันยุบเลิกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2468[6]
มีสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับการ ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ โดยใช้เงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินงบประมาณสำหรับบริหารกิจการภายในกรมทหารรักษาวัง และมีศาลทหารรักษาวังสำหรับพิจารณาคดีโดยเฉพาะ ทำให้สายการบังคับบัญชาแยกออกจากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม
ในส่วนของกำลังพลนั้นโอนจากข้าราชบริพารที่อยู่ในสังกัดกรมวังนอก รวมถึงทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งทางกรมทหารรักษาวัง วปร. ได้ขอให้โอนย้ายมาสังกัดกรมทหารรักษาวัง วปร. นอกจากนี้แล้วยังมีข้าราชการในพระราชสำนัก รวมทั้งมหาดเล็กสมัครเข้าเป็นทหารรักษาวัง
ทหารรักษาวัง วปร. แต่งกายด้วยหมวกอุศเรนที่มีตราพระครุฑพ่าห์โลหะสีทองติดทับบนดอกไม้แพรจีบสีบานเย็น ประดับพู่สีขาว สวมเสื้อราชประแตน กางเกงสีขาบแถบสีบานเย็น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์คือกองทัพส่วนพระองค์ใช่หรือไม่?
- ↑ หลังเหตุการณ์ ร.ศ.130 รัชกาลที่ 6 ทรงตั้ง “กรมทหารรักษาวัง” เพราะทรงไม่วางพระทัยกองทัพ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศตั้งกรมวังนอกเป็นกรมทหารรักษาวัง. 2454.
- ↑ เทพ บุญตานนท์. "กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" : พลเรือนในเครื่องแบบทหาร, ศิลปวัฒนธรรม. 2559.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศพระราชทานนามกรมทหารรักษาวัง. 2456.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศยุบเลิกกองพันที่สามกรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจังหวัดนครศรีธรรมราช. 2468.