จุดผ่านแดนถาวรบ้านห้วยโก๋น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จุดผ่านแดนถาวรบ้านห้วยโก๋น
ด่านพรมแดนบ้านห้วยโก๋น มองผ่านจากด่านไปยังฝั่งลาว
แผนที่
พื้นที่พรมแดนไทย (ซ้ายล่าง) และลาว (ขวาบน)
ที่ตั้ง
ประเทศ ไทย,  ลาว
ที่ตั้ง
พิกัด19°35′47″N 101°05′11″E / 19.5963°N 101.0864°E / 19.5963; 101.0864
รายละเอียด
เปิดทำการพ.ศ. 2537
ดำเนินการโดย • กรมศุลกากร
 • สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
เป็นขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น
ประเภทจุดผ่านแดนถาวร

จุดผ่านแดนถาวรบ้านห้วยโก๋น หรือ ด่านพรมแดนห้วยโก๋น–น้ำเงิน เป็นจุดผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ห่างจากตัวจังหวัดน่านประมาณ 140 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101

ประวัติ[แก้]

ด่านถาวรบ้านห้วยโก๋น แรกเริ่มจัดตั้งเป็นจุดผ่านแดนถาวรตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2537[1] โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 ซึ่งในขณะนั้นด่านห้วยโก๋น ประเทศไทยมีฐานะเป็นด่านสากล แต่ด่านเมืองเงิน แขวงไชยบุรี เป็นด่านในระดับท้องถิ่น จึงมีปัญหาในการเข้าออกผ่านแดนของชาวต่างชาติ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านได้ทำการก่อสร้างอาคารร้านค้า ถนน ตลาดการค้าชายแดนไทย–ลาว และซุ้มประตูด้วยงบประมาณ 28 ล้านบาทเศษ บนพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 19 ไร่ และในปีงบประมาณ 2550 องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านได้จัดสรรงบประมาณจากจังหวัดน่าน ก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการเพิ่มเติมอีกประมาณ 10 ล้านบาท โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล และเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้รับการยกระดับเป็นด่านสากลห้วยโก๋น-น้ำเงิน จนถึงปัจจุบัน

เวลาเปิดทำการ[แก้]

เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00–20.00 น.[2] นอกจากนี้ในทุกวันเสาร์เวลา 08.00–12.00 น. จะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประชาชนชาวไทยกับประชาชนชาวลาว

การเดินทาง[แก้]

ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร จากตัวจังหวัดน่าน นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปยังเมืองสำคัญทางภาคเหนือของประเทศลาวได้ เช่น เมืองไชยบุรี แขวงไชยบุรี ตามทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง ระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร และเมืองไซ แขวงอุดมไซ ตามทางหลวงหมายเลข 2W ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร

ข้อมูลพื้นฐานและการพัฒนา[แก้]

สินค้าที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนจากประเทศประเทศลาว ที่สำคัญได้แก่ สินค้าด้านการเกษตร ข้าว พืชผัก หอม กระเทียม และของป่า ส่วนสินค้าจากประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ สิ่งของเครื่องใช้ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง

เนื่องจากด่านสากลห้วยโก๋น-น้ำเงินมีความสำคัญในส่วนของการเป็นประตูการค้าและการทำธุรกิจที่สำคัญในการค้าขาย การแลกเปลี่ยนสินค้า การท่องเที่ยว และการติดต่อประสานงานระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงได้มีโครงการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมจากเมืองเงิน แขวงไชยบุรี ถึงเมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ระยะทาง 53 กิโลเมตร งบประมาณ 840 ล้านบาท โดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2553 จากความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย นอกจากด่านถาวรห้วยโก๋น-น้ำเงินแล้ว ช่องภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นด่านถาวรนับเป็นด่านที่ 2 ที่ไทยยกระดับขึ้นที่ติดต่อกับแขวงไชยบุรี ประเทศลาว

อ้างอิง[แก้]