โซนิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โซนิ
ประเภทซุป
แหล่งกำเนิดญี่ปุ่น
ส่วนผสมหลักโมจิ
กินโมจิย่างจากโซนิ
โซนิและโอเซจิ
โซนิของฮากาตะ

โซนิ (ญี่ปุ่น: 雑煮 หรือ ぞうにโรมาจิzōni) มักเติมคำสุภาพ "โอะ-" ไว้ด้านหน้าเป็น โอโซนิ เป็นซุปของญี่ปุ่นใส่โมจิ[1] อาหารชนิดนี้มีการเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับตรุษญี่ปุ่นและอาหารตามธรรมเนียมโอเซจิ การเตรียมโซนิมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละบ้านและแต่ละภูมิภาค[1]

ศัพทมูล[แก้]

โซนิ เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยใช้ตัวอักษรคันจิสองตัว อักษรตัวแรก มีความหมายว่า "สารพัด" หรือ "ผสม" อักษรตัวที่สอง แปลว่า " เคี่ยว" หรือ "ต้ม" จึงสันนิษฐานว่าคำนี้มาจากการที่โซนิประกอบด้วยอาหารสารพัด (เช่น โมจิ ผัก และ อาหารทะเล) ต้มด้วยกัน ก่อนหน้านี้ ในสังคมซามูไรจะเรียกอาหารนี้ว่า "烹雑" (โฮโซ; Hōzō) โดย เป็นคำโบราณที่แปลว่า "เคี่ยว" หรือ "ต้ม"[2]

ต้นกำเนิด[แก้]

ว่ากันว่าโซนิมีพื้นฐานมาจากอาหารในสังคมซามูไร เชื่อกันว่าเป็นอาหารที่ปรุงในสนามรบ ต้มรวมโมจิ ผัก และ อาหารแห้ง รวมถึงส่วนผสมอื่น ๆ ด้วยกัน เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าอาหารต้นตำรับนี้ซึ่งในตอนแรกมีเฉพาะในหมู่ซามูไรเท่านั้น ได้กลายเป็นอาหารหลักของคนทั่วไปในที่สุด โซนิได้รับการเสิร์ฟครั้งแรกโดยเป็นส่วนหนึ่งของอาหารค่ำแบบฟุลคอร์ส (ฮนเซ็น เรียวริ) จึงถือกันว่าเป็นอาหารที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับซามูไร

ประเพณีการรับประทานโซนิในวันปีใหม่มีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายยุคมูโรมาจิ (ค.ศ. 1336–1573) อาหารนี้ใช้ถวายแด่เทพเจ้าในพิธีวันสิ้นปี[3]

รูปแบบต่าง ๆ[แก้]

น้ำสต๊อก[แก้]

โซนิมีความหลากหลายตามภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ในหลายภูมิภาครวมถึงภูมิภาคคันโต โซนิประกอบด้วยซุปใสที่เรียกว่า ซูมาชิจิรุ ซึ่งปรุงรสด้วยดาชิ น้ำสต๊อกที่ทำจากปลาโอแถบแห้งและ/หรือสาหร่ายคมบุและซอสถั่วเหลือง ในภูมิภาคคันไซและชิโกกุตะวันออก โซนิทำจากน้ำสต๊อกของมิโซะขาว ส่วนโซนิในบางส่วนของจังหวัดฟูกูอิทำจากน้ำสต๊อกของมิโซะแดง ในภูมิภาคทตโตริ-อิซูโมะ มีการใช้ซุปถั่วแดงหลายชนิดสำหรับทำโซนิ[3][4]

โมจิ[แก้]

การเตรียมโมจิ สำหรับทำโซนินั้นแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ในภูมิภาคคันโตและภูมิภาคโทโฮคุ โมจิจะถูกหั่นเป็นสี่เหลี่ยมแล้วย่างก่อนใส่น้ำสต๊อก ในภูมิภาคคันไซและภูมิภาคชูโงกุ นิยมโมจิทรงกลมต้มสุก ในภูมิภาคคิวชู ส่วนใหญ่นิยมโมจิทรงกลม แต่การย่าง-ต้มมีความแตกต่างไปตามพื้นที่[5][4] ในบางพื้นที่ใช้เผือกหรือ เต้าหู้แทนโมจิ โซนิชนิดนี้พบได้ในบางเกาะหรือในพื้นที่ภูเขาที่ปลูกข้าวได้ไม่มากนัก

ส่วนประกอบเพิ่มเติม[แก้]

ส่วนประกอบทั่วไปที่เพิ่มในซุปทั่วไป ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อปลา ลูกชิ้น; ผักใบ เช่น โคมัตสึนะหรือผักโขม; มิตสึบะ (สมุนไพรญี่ปุ่นที่คล้ายกับพาร์สลีย์) ; คามาโบโกะ เช่น นารูโตะ และแครอทขูดเพื่อใช้แต่งสี[5] และเกล็ดของเปลือกส้มยูซุเพื่อให้มีกลิ่นหอมส้ม มักจะมีการเพิ่มอาหารพิเศษประจำภูมิภาค บางครั้งมีการโรยพริกป่นเจ็ดรส (ชิจิมิ)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "美保湾 (Miho-wan)". Dijitaru daijisen (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Shogakukan. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-25. สืบค้นเมื่อ 2012-05-20.
  2. 雑煮 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ August 8, 2013.
  3. 3.0 3.1 "Tone-gawa". Nihon Kokugo Daijiten (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Shogakukan. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-25. สืบค้นเมื่อ 2012-05-22.
  4. 4.0 4.1 日本全国お雑煮文化圏地図 [O-zōni cultural zones map throughout Japan] (ภาษาญี่ปุ่น). TripAdvisor. สืบค้นเมื่อ 2016-10-09.
  5. 5.0 5.1 "Zōni". Encyclopedia of Japan. Tokyo: Shogakukan. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-25. สืบค้นเมื่อ 2012-05-22.