แผนลับแหกคุกนรก

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แผนลับแหกคุกนรก
สร้างโดยพอล เชอริง
แสดงนำ
ประเทศแหล่งกำเนิดสหรัฐอเมริกา
ภาษาต้นฉบับอังกฤษ
สเปน
อาหรับ
จำนวนฤดูกาล5
จำนวนตอน90
การผลิต
ผู้อำนวยการผลิตมาร์ตี อะเดลสไตน์
นีล เอช. มอริตซ์
ดอว์น พาเราซ์
เบร็ตต์ แร็ตเนอร์
พอล เชอริง
แม็ตต์ โอล์มสเตด
ไมเคิล พาโวน
เควิน ฮุกส์ (2006-2009)
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง :
แซก เอสต์ริน
นิก ซานโทรา
ไมเคิล ดับเบิลยู. วัตคินส์
ผู้อำนวยการสร้างแกร์รี เอ. บราวน์
ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ :
เอลเลน มารี บลัม
คารีน อัชเชอร์
สถานที่ถ่ายทำชิคาโก้, อิลลินอยส์
จูเลียต, อิลลินอยส์
ดัลลาส, เท็กซัส
ลอสแอนเจลิส, แคลิฟอร์เนีย
ความยาวตอนเฉลี่ย 42 นาที
ออกอากาศ
เครือข่ายฟ็อกซ์
ออกอากาศ29 สิงหาคม ค.ศ. 2005 –
15 พฤษภาคม ค.ศ. 2009

แผนลับแหกคุกนรก (อังกฤษ: Prison Break) เป็นละครชุดแนวแอ็กชั่น- ดรามา ทางโทรทัศน์ ออกอากาศครั้งแรกทางช่องฟ็อกซ์ เมื่อ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2005 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพี่น้องสองคน พี่ชายได้รับการตัดสินว่าเป็นอาชญากร แต่เขาไม่ได้ทำ ส่วนอีกคนเป็นอัจฉริยะ เป็นคนคิดแผนอันซับซ้อนที่จะทำให้เขาหนีออกจากคุกได้ ซีรีส์นี้สร้างสรรค์โดยพอล เชอริง สร้างโดยอะเดลสไตน์-พาเราส์ โปรดักชัน ในความร่วมมือของออริจินัล เทเลวิชัน และ ทเวนตี้ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ เทเลวิชัน และผู้อำนวยการสร้างทีมปัจจบันคือ เชอริง, แมตต์ โอล์มสเตด, เควิน ฮุกส์, มาร์ตี อะเดลสไตน์, ดอว์น พาเราซ์ โอล์มสไตด, นีล เอช. มอริตซ์ และเบร็ตต์ แรตเนอร์[1] ดนตรีประพันธ์โดย รามิน ดจาวาดิ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอมมีไพรม์ไทม์ในปี 2006 ด้วย[2]

หลังจากจบฤดูกาลที่ 3 ต่อมาในฤดูกาลที่ 4 มีเนื้อเรื่อง 22 ตอน ออกอากาศปฐมทัศน์โดยเป็น 2 ตอนต่อเนื่องกันเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2008 ในอเมริกาเหนือ และ 2 กันยายน ค.ศ. 2008 ในสหราชอาณาจักร ก่อนที่ในฤดูกาลที่ 5 จะออกอากาศในเดือน เมษายน ค.ศ. 2017 มีทั้งหมด 9 ตอน โดย แผนลับแหกคุกนรก มีเนื้อเรื่องที่มีโครงสร้างสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเหมือนที่คุ้นเคยในฤดูกาลแรก ใน 3 ฤดูกาลแรกของซีรีส์นี้ถ่ายทำนอกฮอลลีวูด โดยในฤดูกาลแรกถ่ายทำรอบ ๆ เมืองชิคาโก และถ่ายทำในคุกโจเลียต ต่อมาในฤดูกาลที่ 2 และ 3 ถ่ายทำในเมืองเล็ก ๆ ในดัลลาส โดยบางส่วนของฤดูกาลที่ 3 ถ่ายทำในปานามาซิตีประเทศปานามา​ ในฤดูกาลที่ 4 ถ่ายทำในลอสแอนเจลิส ส่วนฤดูกาลที่ 5 ถ่ายทำที่นครแวนคูเวอร์ประเทศแคนาดา​และที่เมืองราบัต​และกาซาบล็องกาในประเทศโมร็อกโก

งานสร้าง[แก้]

แนวความคิด[แก้]

แนวความคิดเริ่มแรกของ แผนลับแหกคุกนรก คือมีคนที่ได้วางแผนอย่างรอบคอบให้ตัวเองได้เข้าคุกเพื่อช่วยใครบางคน (ในที่นี้หมายถึง พี่ชาย) ให้หนีออกจากคุก เป็นแนวความคิดจากผู้สร้าง ดอว์น พาเราส์ ที่แนะนำให้พอล เชอริง โดยดอว์นต้องการสร้างซีรีส์แอ็กชันสักเรื่อง ถึงแม้ว่าเชอริงจะคิดว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่เขาก็งงว่าจะมีใครจะทำเหตุการณ์เช่นนี้หรือไม่ หรือเขาจะพัฒนาให้เป็นรายการที่ใช้จริงในโทรทัศน์ได้ เขานึกเรื่องออกในเรื่องที่พี่ชายถูกป้ายสีความผิด และเริ่มที่จะเขียนพล็อตเรื่องคร่าว ๆ และออกแบบตัวละคร จนในปี 2003 เขาได้นำเสนอความคิดนี้ให้กับสถานีฟ็อกซ์ แต่ฟ็อกซ์ปฏิเสธไปเนื่องจากกังวลเรื่องเนื้อหาที่อาจยืดเยื้อของซีรีส์นี้ เขาได้นำแนวความคิดนี้ไปเสนอกับช่องอื่น ซึ่งก็ได้รับการปฏิเสธเช่นกัน ที่เห็นว่ามันเหมาะสำหรับสร้างเป็นภาพยนตร์มากกว่ารายการซีรีส์ทางโทรทัศน์[3] แผนลับแหกคุกนรก ได้รับการพิจารณาในเวลาต่อมาในความเป็นไปได้ที่จะสร้างมินิซีรีส์ 14 ตอน และได้รับความสนใจจากสตีเวน สปีลเบิร์กก่อนที่เขาจะออกไปพัฒนาและสร้างใน War of the Worlds

มินิซีรีส์ไม่ได้สร้างจริง อันเป็นผลมาจากการได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับรายการซีรีส์ไพรม์ไทม์อย่าง อสุรกายดงดิบ และ 24 ฟ็อกซ์จึงเปลี่ยนใจสร้างในปี 2004[4] ตอนแรกที่ชื่อ "The pilot" เริ่มถ่ายทำหลังจากที่เชอริงเขียนบทเสร็จ หลังจากนั้น 5 เดือน รายการนี้จึงได้รับการประชาสัมพันธ์[5]

สถานที่ถ่ายทำ[แก้]

คุกจูเลียตในอิลลินอยส์ สถานที่ถ่ายทำในฤดูกาลแรก

สถานที่หลักในการถ่ายทำในฤดูกาลที่ 1 ของ แผนลับแหกคุกนรก คือในเมืองและรอบเมืองชิคาโก[6][7] และใช้คุกจูเลียตซึ่งปิดตัวตั้งแต่ปี 2002 โดยเริ่มถ่ายทำในปี 2005 โดยเนรมิตให้เป็นคุกฟ็อกซ์ริเวอร์สเตตในซีรีส์เรื่องนี้ ฉากห้องขังของลินคอล์น, สถานพยาบาล และสนามในคุกล้วนแต่ถ่ายทำที่คุกจูเลียต[8] ห้องขังของลินคอล์นเป็นห้องเดียวกับที่จอห์น เวย์น กาซี ฆาตกรต่อเนื่องชื่อดังถูกกักขังในห้องนี้ ในการถ่ายทำส่วนใหญ่ ทีมงานสร้างปฏิเสธที่จะเข้าห้องนี้ เพราะคิดว่ามันทำให้พวกเขาหลอน[6] อีกฉากคืออาคารในคุก รวมถึงที่รวมห้องขังของนักโทษทั่วไปที่มี 3 ชั้น (ซึ่งในคุกจริงมีเพียง 2 ชั้น) และมีห้องขังที่ใหญ่กว่าของจริงเพื่อที่นักแสดงและกล้องสามารถทำงานได้สะดวก[8] ฉากภายนอกคุกถ่ายทำรอบ ๆ เมืองชิคาโก, วูดสต็อก และ จูเลียตในอิลลินอยส์ ส่วนที่อื่นเช่น สนามบินนานาชาติโอ'แฮร์ในชิคาโกและโตรอนโต ออนทาริโอในแคนาดา โดย แผนลับแหกคุกนรก ใช้เงินต่อตอนที่ 2 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับถ่ายในอิลลินอยส์ ซึ่งมีรายจ่ายรวม 24 ล้านเหรียญในปี 2005[6]

ในฤดูกาลที่ 2 เริ่มถ่ายทำเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2006 ในดัลลัส เท็กซัส เนื่องจากเท็กซัสมีความใกล้เคียงสถานที่ในชนบทและในเมือง[9] สถานที่สามารถเดินทางภายใน 30 นาทีในดัลลัส คือที่ลิตเติลเอล์ม, ดีคาเทอร์ และ มิเนอรอลเวลส์[10] สถานที่เหล่านี้ใช้แสดงเป็นเมืองหลาย ๆ แห่งในอเมริกา[11] มีการใช้เงินมากกว่าตามคาดไว้ 50 ล้านเหรียญในดัลลัส[12] ใน 3 ตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 2 ถ่ายทำที่เพนซาโคลา ฟลอริดา โดยแสดงเป็นฉากในประเทศปานามา[13] แต่ละตอนใช้เวลา 8 วันในการถ่ายทำและใช้เงิน 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐในการใช้จ่ายต่อตอนในท้องที่นั้น[14]

ในฤดูกาลที่ 3 ถ่ายทำในเท็กซัส มีงบประมาณ 3 ล้านเหรียญต่อตอน[15] ฉากถ่ายทำข้างนอกหลายฉากที่ลินคอล์นและเกร็ตเชนต่อรองการหลบหนีจากคุกปานามา ถ่ายทำที่ Casco Viejo ในปานามาซิตี

ในฤดูกาลที่ 4 ถ่ายทำในลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย

ดนตรี[แก้]

เพลงธีมประกอบซีรีส์ แผนลับแหกคุกนรก ในแต่ละตอนประพันธ์โดย รามิน ดจาวาดิ เพลงสกอร์ใน 2 ฤดูกาลแรกบรรจุอยู่ในอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ชุด Prison Break: Original Television Soundtrack ออกวางขายเมื่อ 28 สิงหาคม ค.ศ. 2007[16] ดจาวาดิและเฟอร์รี คอร์สเตน โปรดิวซ์เพลงเวอร์ชันรีมิกซ์ของเพลงธีม ที่ชื่อ "Prison Break Theme (Ferry Corsten Breakout Mix)" ตัดออกเป็นซิงเกิล ออกวางขายโดยฟ็อกซ์มิวสิก ในปี 2006

ในยุโรป เพลงของแร็ปเปอร์ ฟาฟ ลาราจ ชื่อเพลง "Pas le temps" ใช้ในสถานีโทรทัศน์ช่อง เอ็ม 6 ในฝรั่งเศสแทนเพลงธีมดั้งเดิม ซึ่งเป็นการสร้างการประชาสัมพันธ์และช่วยทำให้เข้ากับท้องถิ่นอีกด้วย[17] เช่นเดียวกันกับในเยอรมนีและเบลเยียม มีเพลง "Ich glaub' an Dich (Prison Break Anthem)" (โดย Azad and Adel Tawil) และ "Over the Rainbow" (โดย Leki) ตามลำดับ

นักแสดง[แก้]

ทีมงานซีรีส์ แผนลับแหกคุกนรก; อเมารี โนลาสโก, โรเบิร์ต เน็ปเปอร์, เวด วิลเลียมส์, ซาราห์ เวย์น แคลลียส์, เวนท์เวิร์ท มิลเลอร์ ร่วมกับผู้อำนวยการสร้าง แม็ตต์ โอล์มสเตด

แผนลับแหกคุกนรก มีตัวละครรวมอยู่มากมายหลายตัวละครสำคัญมากกว่า 10 ในแต่ละฤดูกาลยังมีแขกรับเชิญอีก ในฤดูกาลแรกตัวละครจะปรากฏตัวในคุกฟ็อกซ์ริเวอร์สเตตและในชิคาโกเป็นหลัก ในฤดูกาลที่ 2 ตัวละครส่วนใหญ่ต่อเนื่องมาจากฤดูกาลที่ 1 และเพิ่มนักสืบเอฟบีไอ ที่ตามหา 8 นักโทษที่หนีออกจากฟ็อกซ์ริเวอร์ไป ในฤดูกาลที่ 3 มีตัวละครใหม่อีก 4 คน โดย 2 คนเป็นนักโทษจาก Penitenciaría Federal de Sona หรือคุกสหพันธ์โซนา) สิ่งที่เปลี่ยนเพราะเกิดจากตัวละครที่ตายไป พอล เชอริง ผู้สร้าง อธิบายว่าการตายของตัวละครสำคัญ "ทำให้คนดูรู้สึกหวาดกลัวกับตัวเอก" และ "ยังช่วยให้เราสามารถลดเรื่องราวลงได้"[18] ตัวเอก 2 คนของซีรีส์ ลินคอล์น เบอร์โรว์ส และ ไมเคิล สโคฟิลด์ เป็น 2 ตัวละครที่ปรากฏในทุกฤดูกาล

  • โดมินิก เพอร์เซลล์ (อังกฤษ: Dominic Purcell) แสดงเป็น ลินคอล์น เบอร์โรวส์ (อังกฤษ: Lincoln Burrows) : ลินคอล์นถูกปรักปรำในคดีฆาตกรรมเทเรนซ์ สเตดแมน น้องชายของรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เพอร์เซลล์ได้เข้าไปทดสอบบทก่อนที่จะเริ่มในส่วนโปรดักชัน 3 วัน และเป็นนักแสดงคนสุดท้ายที่จะได้รับบทสำคัญนี้[19] เขาเข้ามาทดสอบบทขณะที่รับบทเป็น ทอมมี ราเว็ตโตใน North Shore หลังจากที่ได้ร่วมงานกับจอห์น โด เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับช่องฟ็อกซ์ หลังจากนั้นเขาก็ได้สคริปต์บทนักบินใน แผนลับแหกคุกนรก[3] ในตอนแรก เชอริงคิดว่าเพอร์เซลล์ดู "หวานไป" หลังจากออดิชันแล้วเขาก็เปลี่ยนทรงผมและทำสีผิวสีแทน อย่างไรก็ตามเพอร์เซลล์ได้รับบทบาทนี้และไปถ่ายทำวันแรกโดยโกนผมทิ้ง ซึ่งทำให้เชอริงดูประหลาดใจกับภาพที่เขาคิดไว้ในหัวกับ 2 นักแสดงนำ[20]
  • เวนท์เวิร์ท มิลเลอร์ (อังกฤษ: Wentworth Miller) แสดงเป็น ไมเคิล สกอฟิลด์ (อังกฤษ: Michael Scofield) : ไมเคิลเป็นน้องชายของลินคอล์นและทำงานเป็นวิศวกรโครงสร้างก่อนที่จะเข้ามาช่วยเหลือพี่ชายของเขา ไมเคิลได้วางแผนการอันซับซ้อนช่วยพี่ชายออกจากคุก ในบทสัมภาษณ์พอล เชอริงเขาพูดว่านักแสดงหลายคนที่มาทดสอบบทนี้ "จะแสดงดูลึกลับ ซึ่งเขาว่ามันดูน่าเบื่อและผิด"[20] ก่อนที่จะเริ่มภาคการผลิต มิลเลอร์เข้ามาทดสอบบทและประทับใจเชอริงในการแสดง เขาได้รับเลือกในวันต่อมา[19]
  • โรบิน ทันนีย์ (อังกฤษ: Robin Tunney) แสดงเป็น เวโรนิกา โดโนแวน (อังกฤษ: Veronica Donovan) : เวโลนิกาเป็นเพื่อนในวัยเด็กของไมเคิลและลินคอล์น ตัดสินใจที่จะรื้อฟื้นคดีของลินคอล์นใหม่ตามคำขอร้องของไมเคิล เธอกลายมาเป็นทนายของลินคอล์นและเป็นตัวละครหลักในฤดูกาลแรก
  • มาร์ชาลล์ ออลแมน (อังกฤษ: Marshall Allman) แสดงเป็น แอล. เจ. เบอร์โรวส์ (อังกฤษ: L. J. Burrows) : แอล. เจ. เป็นลูกชายของลินคอล์น เบอร์โรวส์ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินความตายของพ่อเขา เขาอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องซ่อนตัว และเป็นเป้าหมายของคนที่ต้องการให้ลินคอล์นตาย
  • อเมารี โนลาสโก (อังกฤษ: Amaury Nolasco) แสดงเป็น เฟอร์นานโด ซุเครอ (อังกฤษ: Fernando Sucre) : ซูเครเป็นเพื่อนร่วมห้องในคุกฟ็อกซ์ริเวอร์เสตต ได้พัฒนาเป็นเพื่อนของไมเคิล และได้เป็นกลุ่มเดียวกันกับไมเคิลและลินคอล์น ตัวละครนี้มีความต้องการที่จะกลับไปคืนดีกับแฟนสาวของเขา หลังจากที่ได้รับบททดลอง โนลาสโกคิดว่า "เป็นบทที่ล้มเหลวที่คนดูไม่ได้ต้องการ" หลังจากที่เริ่มในภาคผลิต เขายอมรับว่าเขาไม่ชอบอ่านบท โนลาสโกก็ประหลาดใจว่ามันทำให้เขาพลิกบทไปมา หลังจากออดิชันครั้งสุดท้าย โนลาสโกก็รู้สึกตื่นเต้นที่พอล เชอริงบอกกับเขาว่าเขาเป็นตัวเลือกที่เขาชื่นชอบ ซึ่งต่อมาเขาก็ได้รับบทนี้[21]
  • โรเบิร์ต เน็ปเปอร์ (อังกฤษ: Robert Knepper) แสดงเป็น ธีโอดอร์ "ที-แบก" แบกเวลล์ (อังกฤษ: Theodore "T-Bag" Bagwell) : ที-แบกปรากฏตัวในทั้ง 5 ฤดูกาล ที่มีบุคลิกเจ้าเล่ห์ ดูรุนแรง อารมณ์แปรปรวน ถูกดูถูกจากคนรอบข้างเขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วยคดีฆ่าข่มขืน
  • ปีเตอร์ สตอร์แมร์ (อังกฤษ: Peter Stormare) แสดงเป็น จอห์น อบรุซซิ (อังกฤษ: John Abruzzi) : เป็นผู้นำแก๊งค์มาเฟียในชิคาโก ที่เข้ามาเป็นผู้นำในคุกฟ็อกริเวอร์สเตด เขาเตรียมเครื่องบินไว้สำหรับการหนีออกจากคุกตามแผนของไมเคิล แลกเปลี่ยนกับที่สถานที่ของพยานในคดีของเขา
  • ร็อกมอนด์ ดันบาร์ (อังกฤษ: Rockmond Dunbar) แสดงเป็น เบนจามิน ไมลส์ "ซี-โน้ต" แฟรงกลิน (อังกฤษ: Benjamin Miles "C-Note" Franklin) : เกิดในครอบครัวอันเลวร้าย ซี-โน้ตเข้าไปอยู่ในคุกฟอกซ์ริเวอร์และเมื่อรู้ความลับจากไมเคิลว่าจะแหกคุกออกไป เขาจึงขู่ว่าจะเปิดโปงความลับ เขามีบทบาทสำคัญในฤดูกาลที่ 1 และ 2
  • เวด วิลเลียมส์ (อังกฤษ: Wade Williams) แสดงเป็น แบรด เบลลิก (อังกฤษ: Brad Bellick) : เขาปรากฏตัวในทั้ง 4 ฤดูกาล เบลลิกเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ฟอกซ์ริเวอร์ หลังจากที่ได้อ่านบท วิลเลียมส์ไม่ต้องการที่จะพรรณาถึงบทเบลลิกเพราะตัวละครเลวร้าย ที่เขารู้สึกไม่ชอบเพราะด้วยความที่เขามีลูกสาววัย 4 ขวบ อย่างไรก็ตามผู้จัดการของเขาก็ได้ชักชวนให้มาออดิชัน และเขาก็ได้รับบทบาทเป็นเบลลิก[21]
  • ซาราห์ เวย์น แคลลียส์ (อังกฤษ: Sarah Wayne Callies) แสดงเป็น ซารา แทนเครดิ (อังกฤษ: Sara Tancredi) : :ซาราเป็นหมอที่ทำงานอยู่ในคุกฟ็อกซ์ริเวอร์และเป็นลูกสาวของผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ ที่มีจุดเชื่อมโยงกับโครงเรื่องที่นำลินคอล์นสู่คุกฟ็อกซ์ริเวอร์ เธอหลงชอบไมเคิล เธอช่วยเหลือนักโทษออกจากคุกและได้มีส่วนในการหนีหลังจากนั้นเธอก็ท้องกับสโคฟิลด์ แคลลียส์เป็นนักแสดงหญิงคนแรกที่ผู้สร้างเห็นในการทดสอบบทสำหรับบท ซารา แทนเครดิ นี้[19] และก็เป็นคนแรกที่ได้รับบทสำคัญนี้[22]
  • พอล อเดลสไตน์ (อังกฤษ: Paul Adelstein) แสดงเป็น พอล เคลเลอร์แมน (อังกฤษ: Paul Kellerman) : เคลเลอร์แมนเป็นนักสืบลับของซีเครตเซอร์วิต ทำงานให้กับรองประธานาธิบดีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผนโยนความผิดให้ลินคอล์นที่วางไว้จะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ท้ายสุดท้ายจากบทผู้ร้ายทำให้พลิกมาเป็นพวกของไมเคิลและลินคอล์น บทนี้เป็นบทสำคัญในฤดูกาลแรกและฤดูกาลที่ 2
  • วิลเลียม ฟิชต์เนอร์ (อังกฤษ: William Fichtner) แสดงเป็น อเล็กซานเดอร์ มาโฮน (อังกฤษ: Alexander Mahone) : เป็นนักสืบเอฟบีไอในฤดูกาลที่ 2 มาโฮนได้รับคำมอบหมายให้มาหาผู้หลบหนี ซึ่งต้องชิงไหวชิงพริบกับไมเคิล ภูมิหลังของเขาไม่ได้ถูกเปิดเผย
  • โรเบิร์ต วิสดอม (อังกฤษ: Robert Wisdom) แสดงเป็น เลเชโร (อังกฤษ: Lechero) : เป็นตัวละครสำคัญในฤดูกาลที่ 3 เขาเป็นนักโทษจากโซนาและเป็นคนพ่อค้ายาคนสำคัญของปานามา
  • คริส แวนซ์ (อังกฤษ: Chris Vance) แสดงเป็น เจมส์ วิสท์เลอร์ (อังกฤษ: James Whistler) : วิสท์เลอร์ถูกคุมขังในคุกโซนาจากคดีฆาตกรรมลูกชายของนายกเทศมนตรีปานามาซิตี้และปรากฏตัวเป็นตัวละครสำคัญในฤดูกาลที่ 3
  • โจดิ ลิน โอ'คีฟ (อังกฤษ: Jodi Lyn O'Keefe) แสดงเป็น เกร็ตเชน มอร์แกน (อังกฤษ: Gretchen Morgan) : ในชื่อ ซูซาน บี. แอนโธนี เขาเป็นพนักงานบริษัทที่ทำงานให้ความสะดวกในการหลบหนีของเจมส์ วิสเซิล
  • ดาเนย์ การ์เซีย (อังกฤษ: Danay Garcia) แสดงเป็น โซเฟีย ลูโก (อังกฤษ: Sofia Lugo) : โซเฟียปรากฏในฤดูกาลที่ 3 ในฐานะแฟนสาวของวิสเซิล
  • ไมเคิล ราพาพอร์ต (อังกฤษ: Michael Rapaport) แสดงเป็น โดนัลด์ เซลฟ์ (อังกฤษ: Donald Self) : เซลฟ์เป็นนักสืบพิเศษอยู่ในโฮมแลนด์เซคิวริตี
  • เลนส์ การ์ริสัน (อังกฤษ: Lane garrison) แสดงเป็น เดวิด "ทวีเนอร์" อโพลสกี้ (อังกฤษ: David "Tweener" Apolski) นักโทษในคดีปล้นทรัพย์เป็นหนึ่งในกลุ่มฟ็อกริเวอร์ 8 (กลุ่มผู้หลบหนีของสโคฟิลด์) มีบทบาทในฤดูกาลที่ 1 กับฤดูกาลที่ 2 แต่สุดท้ายถูกมาโฮนฆ่าทิ้งริมทางขณะถูกควบคุมตัวกลับฟ็อกซ์ริเวอร์

สรุปเนื้อเรื่อง[แก้]

ฤดูกาลที่ 1 มีอยู่ 22 ตอน เริ่มออกอากาศตั้งแต่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2005 ถึง 15 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ทางช่องฟ็อกซ์ในสหรัฐอเมริกา ลินคอล์น เบอร์โรวส์ (โดมินิก เพอร์เซลล์) ได้รับโทษฐานฆาตกรรมเทอร์เรนส์ สเตดแมน (เจฟฟ์ เพอร์รี) น้องชายของรองประธานาธิบดี ด้วยหลักฐานอันหนาแน่นทำให้เขาถูกตัดสินว่าผิดจริง ลินคอล์นถูกตัดสินประหารชีวิต และถูกส่งไปกักกันตัวที่คุกฟ็อกซ์ริเวอร์สเตตเพื่อรอรับโทษ น้องชายของลินคอล์นผู้เฉลียวฉลาดเป็นวิศวกรโครงสร้างชื่อ ไมเคิล สโคฟิลด์ (เวนท์เวิร์ท มิลเลอร์) ได้พยายามจะวางแผนช่วยพี่ชายของเขาหนีออกจากคุก เขาทำการปล้นธนาคารเพื่อให้ได้จำคุกที่คุกฟอกซ์ริเวอร์ที่เดียวกับพี่ชาย เขาได้ทำงานแข่งกับเวลาอีกทั้งอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเขาร่วมมือกับนักโทษภายในคุกเพื่อจะเอาพี่ชายของเขาออกมา ส่วนเพื่อนในวัยเด็กของพวกเขา เวโรนิกา โดโนแวน (โรบิน ทันนีย์) ที่เริ่มจากการสืบสวนการวางแผนลับที่นำไปสู่การเข้าตารางของลินคอล์น อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ถูกตามล่า ขัดขวางจากกลุ่มนักสืบที่เป็นหน่วยของเดอะคอมปานี โดยเดอะคอมปานีทำหน้าที่วางแผนในเหตุการณ์ของลินคอล์น ทั้ง 2 พี่น้องรวมถึงเพื่อนร่วมแก๊งค์อีก 6 ที่ประกอบด้วย ซูเคร (อเมารี โนลาสโก), ที-แบ็ก (โรเบิร์ต เน็ปเปอร์), ซี-โน้ต (ร็อกมอนด์ ดันบาร์), ทวีเนอร์ (เลน การ์ริสัน), อบรุซซิ (ปีเตอร์ สตอร์แมร์) และเฮย์ไวร์ (ซิลาส ไวร์ มิตเชลล์) ที่เป็นนักโทษแหกคุกในฤดูกาลแรก

ภาพประชาสัมพันธ์ในฤดูกาลที่ 2

ฤดูกาลที่ 2 มีอยู่ 22 ตอน เริ่มออกอากาศตั้งแต่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2006 ถึง 2 เมษายน ค.ศ. 2007 ทางช่องฟ็อกซ์ในสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นด้วย 8 ชั่วโมงหลังจากการหลบหนีออกจากคุก โดยมีเนื้อหาเน้นไปที่ผู้หลบหนี โดยพอล เชอริงอธิบายถึงฤดูกาลที่ 2 ว่าเหมือน "ภาพยนตร์เรื่อง The Fugitive คูณแปด" และตอนช่วงครึ่งท้ายเหมือนในภาพยนตร์เรื่อง The Great Escape[12] ผู้หลบหนีได้แยกย้ายกันในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยมีเจ้าหน้าที่ไล่ล่าพวกเขาอยู่ พวกเขาแต่ละคนก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไป แบรด เบลลิก (เวด วิลเลียมส์) ถูกไล่ออกจากคุกที่ที่เขาทำงานเป็นผู้คุมอยู่ในฤดูกาลที่ 1 และไล่ติดตามเพื่อเงินรางวัลนำจับ มีผู้หลบหนีได้รวมตัวกันเพื่อที่จะเอาเงินก้อนใหญ่ที่ถูกฝังเมื่อนานมาแล้วจากคำบอกเล่าของคนในคุก (ดีบี คูเปอร์) ที-แบ็ก เอาเงินและหลบหนีมาได้ ส่วน 2 พี่น้อง ในช่วงหลังจะไล่ล่าตามเขา ทั้งคู่ก็ต้องการเงินเพื่อหลบหนีออกนอกประเทศ และสโคฟิลด์รู้สึกผิดที่เป็นเหตุของฆาตกรคนนี้ที่ลอยนวลอยู่

เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ อเล็กซานเดอร์ มาโฮน (วิลเลียม ฟิชต์เนอร์) ได้รับหน้าที่ให้ติดตามผู้หลบหนีทั้ง 8 คน แต่เขาเองก็ได้ทำงานให้กับเดอะคอมปานี กลุ่มที่ต้องการหมายหัวคนทั้ง 8 โดยเฉพาะลินคอล์น ที่ต้องการให้เขาตาย ผู้หลบหนีหลายคนถูกฆ่าตายและถูกจับ แต่สองพี่น้องหนีไปปานามาได้ ในตอนสุดท้าย อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ทำงานให้กับเดอะคอมปานีในความควบคุมของประธานาธิบดี ได้ทำให้ลินคอล์นพ้นความผิด ขณะที่ไมเคิล ที-แบ็ก และมาโฮนถูกจับโดยสถานกักกันปานามา และเป็นนักโทษที่คุกโซนา หรือ Penitenciaría Federal de Sona ที่พวกเขาพบกับเบลลิกที่ถูกจับกุมก่อนหน้านี้

ฤดูกาลที่ 3 มีอยู่ 13 ตอน หลังจากที่ตัดออกจาก 12 ตอนเนื่องจากการประท้วงของสมาคมไรเตอร์ไกด์ เริ่มออกอากาศตั้งแต่ 17 กันยายน ค.ศ. 2007 ถึง 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 ทางช่องฟ็อกซ์ในสหรัฐอเมริกา ในฤดูกาลนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องเมื่อไมเคิลถูกจองจำในคุกโซนาและลินคอล์นอยู่ภายนอก คุกโซนาควบคุมโดยผู้คุมขังและผู้คุมควบคุมจากภายนอกหลังจากที่มีการก่อจลาจลในคุกก่อนหน้านี้ เบอร์โรวส์ได้รับการติดต่อจากเดอะคอมปานีที่ได้ทำการลักพาตัวแอลเจ (มาร์แชลล์ ออลแมน) และซารา แทนเครดิ (ซาราห์ เวย์น คาลลียส์) ผู้หญิงที่ไมเคิลหลงรัก และไมเคิล สโคฟิลด์ได้รับคำมอบหมายให้หาวิธีแหกคุกให้เจมส์ วิสเซิล (คริส แวนซ์) ออกจากคุกโซนา ในครั้งนี้ไมเคิลและวิสเซิลหาวิธีและร่วมมือการหนีออกจากคุก โดยไมเคิลและวิสเซิลได้มีข้อตกลงต่อรองกับคนในเดอะคอมปานี เกร็ตเชน มอร์แกน (โจดิ ลิน โอ'คีฟ) โดยซูเครได้รับงานที่คุกเพื่อช่วยเหลือแผนการในการลักลอบหนีจากคุก

เมื่อทีมไมเคิลพลาดในการหลบหนีจากคุกครั้งแรกในวันเส้นตาย ลินคอล์นพยายามหักหลัง แต่มอร์แกนได้ตัดหัวซาราและส่งหัวมาให้ลินคอล์นเพื่อเป็นการเตือน ในปลายฤดูกาล ที้งคู่ได้หลบหนีออกจากคุกได้ไปพร้อมกับมาโฮน แต่ได้ทิ้งที-แบ็ก และเบลลิก และซูเครได้ถูกจับพิรุจโดยยามในคุกได้ว่าพยายามให้พวกเขาหลบหนีออกจากคุกโซนาไปได้ แอลเจได้ถูกแลกตัวประกันกับวิสเซิลและไมเคิล และไมเคิลก็มีความแค้นต่อเกร็ตเชนสำหรับการตายของซารา

ฤดูกาลที่ 4: ไมเคิลต้องการล้างแค้นให้การตายของซารา แต่ก็พบว่าเธอยังคงมีชีวิตอยู่และหัวที่ส่งไปให้ลินคอล์นครั้งนั้นเป็นของคนอื่น ไมเคิลก็รู้ความจริงเกี่ยวกับวิสเซิล ว่าเขาทำงานลับให้กับเดอะคอมปานีร่วมกับมาโฮน ในขณะเดียวกับเบลลิก ที-แบ็ก และซูเครก็หลบหนีออกมาจากคุกโซนาได้ โดนัลด์ เซลฟ์ (ไมเคิล ราพาพอร์ต) นักสืบพิเศษได้ร่วมทีมกับไมเคิล และลินคอล์น เช่นเดียวกับซูเคร, เบลลิก และมาโฮน เพื่อนำพาไปสู่เดอะคอมปานี เป็นการแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของพวกเขา ส่วนซาราก็เข้ามาร่วมวง เธอหนีจากเกร็ตเชนมาได้ และโรแลนด์ (เจมส์ ฮิโรยูกิ) แฮกเกอร์ที่ได้รับคำมอบหมายให้ช่วยเหลือพวกเขาหลังจากที่ถูกจับไป พวกเขาพยายามเอาข้อมูลจากเดอะคอมปานี (สกิลลา) ที่สามารถจะทำลายเดอะคอมปานีได้ ในระหว่างนั้น ไวแอต (เครส วิลเลียมส์) นักสืบจากเดอะคอมปานี พยายามที่จะตามรอยไมเคิล ลินคอล์น เมื่อพวกเขาขโมยสกิลลา ได้ เซลฟ์ทรยศพวกเขาและพยายามจะขายสกิลลา แต่ผิดพลาด ก่อนจะถึงช่วงหยุดกลางฤดูกาลแรก พบว่าแม่ของไมเคิลและลินคอล์นยังคงมีชีวิตอยู่และครอบครองสกิลลาด้วย

ในส่วนที่ 2 ของฤดูกาล เริ่มออกฉายวันที่ 17 เมษายน กับตอนที่ชื่อ "SOB" แม่ของไมเคิลที่ชื่อคริสตินนา บอกพวกเขาว่าลินคอล์นไม่ใช่พี่ชายของไมเคิล เธอจัดฉากลินคอล์นและไมเคิล ให้ดูเหมือนพวกเขาสังหารลูกชายของประธานาธิบดีของอินเดีย เพื่อให้เกิดเรื่องการเมืองที่จะเกิดสงครามระหว่างจีนและอินเดียตามมา ซึ่งเธอจะได้ผลประโยชน์จากการขายเทคโนโลยีอาวุธจากสกิลลาจากทั้งสองฝั่ง ตอนจบของตอน "Cowboys and Indians" ไมเคิลได้สกิลลามาครอบครอง แต่ลินคอล์นถูกจับตัวไปโดยพรรคพวกของคริสตินา และซาราก็ถูกนายพลนำตัวไป ไมเคิลจึงต้องเลือกการแลกเปลี่ยนสกิลลาระหว่างชีวิตของซาราและลินคอล์น ในสองตอนสุดท้าย ไมเคิลจัดการช่วยเหลือซาราจากเดอะคอมปานีได้ และยังช่วยเหลือลินคอล์นได้ โดยพวกเขาพยายามหาหนทางหนีและได้รับความช่วยเหลือจาก อดีตเอเยนต์ลับ พอล เคลเลอร์แมนและเพื่อนเก่าได้ เพื่อที่นำสกิลลาไปยัง ยูเอ็น พวกเขาทั้งหมดพ้นผิด ยกเว้นที-แบก ที่กลุ่มลงมติว่าจะส่งเขากลับไปคุกฟ็อกซ์ริเวอร์ ส่วนนายพลแครนตซ์ ถูกส่งไปนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า ซีรีส์นี้จบลงโดยเป็นเรื่องอีก 4 ปีข้างหน้า ที่มีการมารวมตัวกันอีกเพื่อนรำลึกถึงวันเสียชีวิตของไมเคิล โดยเนื้อเรื่องการเสียชีวิตของไมเคิล อยู่ในตอน "Prison Break: The Final Break" ที่ไมเคิลเสียสละชีวิตเพื่อให้ซาราหนีพ้นออกจากคุกไปได้

การตอบรับ[แก้]

ความนิยมและคำวิจารณ์[แก้]

อันดับความนิยมในแต่ละฤดูกาล วัดจากผู้ดูเฉลี่ยต่อตอนโดยการสำรวจของนีลเซ็นมีเดียรีเสิร์ช (Nielsen Media Research) การบันทึกเริ่มจากปลายเดือนกันยายน (เป็นการเริ่มต้นฤดูกาลของรายการโทรทัศน์) และสิ้นสุดปลายเดือนพฤษภาคม

ฤดูกาล ระยะการออกอากาศ ช่วงเวลา อันดับ ผู้ชม (ล้าน)
1 2005–2006 วันจันทร์ 21.00 น. เวลาฝั่งตะวันออก
(20.00 น. เวลาฝั่งตะวันออกกลางฤดู)
#55 12.1[23]
2 2006–2007 วันจันทร์ 20.00 น. เวลาฝั่งตะวันออก #51 10.1[24]
3 2007–2008 วันจันทร์ 20.00 น. เวลาฝั่งตะวันออก #73 8.2[25]
4 2008–2009 วันจันทร์ 21.00 น. เวลาฝั่งตะวันออก #68 6.1[26]
ภาพในการประชาสัมพันธ์ในฤดูกาลแรก ถ่ายทำที่คุกโจเลียต

ช่องฟ็อกซ์ได้โฆษณา แผนลับแหกคุกนรก อย่างครึกโครมโดยออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งมียอดผู้ชมประมาณ 10.5 ล้านคน ฟ็อกซ์ไม่ได้ประสบความสำเร็จในช่วงฤดูร้อนวันจันทร์ตั้งแต่ออกฉาย Melrose Place และ Ally McBeal ตั้งแต่กันยายน ค.ศ. 1998 โดยตอนแรกออกฉายความยาว 2 ชั่วโมง 2 ตอน[27] การปฐมทัศน์ครั้งนั้นถือเป็นอันดับ 7 ของรายการที่มีผู้ชมมากที่สุดในสัปดาห์นั้นจากข้อมูลของนีลเซ็นรีเสิร์ช[28] และเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มผู้ชม 18-49 และ 18-34 ปี[29] และการเปิดตัวที่ดียังส่งผลให้กับคำวิจารณ์ที่ดี เดอะนิวยอร์กไทมส์ เขียนไว้ว่า "น่าทึ่งกว่าซีรีส์ใหม่ ๆ และมีความสร้างสรรค์มากที่สุดรายการหนึ่ง" และยังชื่นชมความสามารถในการผลิตว่า "เป็นเรื่องเร้าใจที่น่าติดตาม" และ "เป็นของจริง"[30] เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี เขียนไว้ว่า เป็นโชว์ใหม่ที่ดีที่สุดในปี 2005[31] อีกฟากหนึ่ง เดอะวอชิงตันโพสต์ วิจารณ์ว่า "มืดทึม" และ "การแสดงไม่เป็นธรรมชาติ"[32] รายการดึงดูดผู้ชมได้ราว 10 ล้านคนต่อสัปดาห์ และเป็นผู้นำรายการโทรทัศน์ในฤดูใบไม้ร่วงในสหรัฐอเมริกาปี 2005[33] เดิมทีตั้งใจไว้ว่าจะฉาย 13 ตอนแต่ก็ขยายออกไปอีก 9 ตอนเนื่องจากได้รับความนิยมอย่างสูง[4]

ในฤดูกาลที่ 2 แผนลับแหกคุกนรก ตอนปฐมทัศน์มีผู้ชมเฉลี่ย 9.4 ล้านคน[34] โดยกลุ่มผู้ชม วัยรุ่น-ผู้ใหญ่ ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มอายุ 18–49 ปีเมื่อเทียบกับฤดูกาลแรก แต่จำนวนผู้ชมจากครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 3.6% ไปเป็น 3.9% ในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย[35] คำวิจารณ์จาก ยูเอสเอทูเดย์ เขียนไว้ว่า "ความโง่เง่าไร้สาระท่วมมาจากรายการนี้" และประณามผู้เขียนบทว่า "ขี้เกียจอย่างเหลือเชื่อ" ที่ใช้ความต่อเนื่องของรอยสัก ในทุกจุดประสงค์ของเนื้อเรื่อง[36] ในทางตรงกันข้าม ดีทรอยต์ฟรีเพรสส์ เขียนไว้ว่า "เป็นความบันเทิงที่เยี่ยม" เนื่องจาก "ความหลากหลายของตัวละครในคุก" และ "ความฉลาดหลักแหลมในการเล่าเรื่องของผู้สร้าง พอล ที. เชอริง และทีมงาน[37]" ในฤดูกาลที่ 2 มีผู้ชมมากที่สุดในการฉายครั้งแรกกับตอน "Chicago" ที่มีผู้ชม 10.1 ล้านคน[38] แต่ตอนสุดท้ายกลับมียอดผู้ชมต่ำที่สุดของซีรีส์นี้คือที่ 8.01 ล้านคน[39]

ในฤดูกาลที่ 3 ตอนปฐมทัศน์มีผู้ชมเฉลี่ย 7.51 ล้านคน[40] ขณะที่ตอนพิเศษ 2 ชั่วโมงในฤดูกาลที่ 4 มีคนดูน้อยกว่าที่ 6.5 ล้านคน ในกลุ่มผู้ชม 18-49 ปี

การจัดแบ่งประเภท[แก้]

เนื่องจากโครงเรื่องและฉาก กลุ่มผู้ชม แผนลับแหกคุกนรก จึงมีอายุ 18-34 ปี เนื้อหาของรายการที่มีเนื้อหาของผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรง ภาษาหยาบคาย เพศสัมพันธ์และการใช้ยาเสพติด Parents Television Council (PTC) หรือสภาโทรทัศน์ผู้ปกครอง ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เล็งเห็นว่าในช่วงเวลาที่ แผนลับแหกคุกนรก ออกอากาศ ในเวลา 2 ทุ่ม (ET) ในบางฉากต้องขึ้นคำเตือนกำกับ[41] และได้มีการจัดเรตติ้งที่ TV-14 ทั้งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ส่วนการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ในประเทศอื่น ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จัดในประเภท M, ในชิลีจัดในประเภท A+18, ในฮ่องกงที่ PG, ในมาเลเซียที่ 18PL,ในเนเธอร์แลนด์ที่ 12, ในแอฟริกาใต้ที่ PG13V, ในสหราชอาณาจักรที่ 15 สำหรับการออกดีวีดี และในไอร์แลนด์ที่เรตติ้ง PS ส่วนในฝรั่งเศส Conseil Supérieur de l'Audiovisuel (CSA) ที่ดูแลอยู่ออกมาบอกว่าบางตอนมีเนื้อหาที่รุนแรงมากเกินไป โดยบางตอนที่มีเนื้อหารุนแรงจะถูกย้ายจากเวลาไพรม์ไทม์ไปหลังจากนั้น แต่เพื่อให้อยู่ในช่วงเวลาเดิม ทางสถานีโทรทัศน์ในฝรั่งเศส ช่อง M6 ได้เซ็นเซอร์ฉากรุนแรงในฤดูกาลที่ 2 และขึ้นคำเตือนทุกครั้งที่ออกฉายตอนในเวลาไพรม์ไทม์

ในกรีซ ฤดูกาลแรกขึ้นว่า "จำเป็นต้องมีผู้ปกครองแนะนำ" ขณะที่ในฤดูกาลที่ 2 ขึ้นว่า "ผู้ปกครองควรแนะนำ"

รางวัล[แก้]

หลังจากความสำเร็จในการออกอากาศใน 13 ตอนแรก แผนลับแหกคุกนรก ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแรกจาก พีเพิลส์ชอยซ์อวอร์ด สาขารายการใหม่ทางโทรทัศน์ยอดนิยมประเภทดราม่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อในสาขาเดียวกันนี้อย่าง Commander in Chief และ Criminal Minds แผนลับแหกคุกนรก ได้รับรางวัลในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 และถือเป็นรางวัลเดียวที่ได้รับของซีรีส์เรื่องนี้ ต่อมาในเดือนเดียวกันก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 63 ในสาขา ซีรีส์โทรทัศน์ประเภทดราม่ายอดเยี่ยม และสาขานักแสดงชายซีรีส์โทรทัศน์ประเภทดราม่ายอดเยี่ยม กับการแสดงของเวนท์เวิร์ท มิลเลอร์ นอกจากนี้เขายังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขานักแสดงยอดเยี่ยมในการแสดงของเขาในฤดูกาลแรกจาก แซทเทิร์นอวอร์ดส 2005 สาขานักแสดงยอดเยี่ยมทางโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขารายการซีรีส์ทางโทรทัศน์ยอดเยี่ยม

ทางด้านเทคนิคการทำงานก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง เอดดีอวอร์ด 2006 ในสาขารายการซีรีส์ตัดต่อยอดเยี่ยมในรายการโทรทัศน์เพื่อการค้า (มาร์ก เฮล์ฟริชในตอนแรก) และในชิงรางวัลเอมมีไพรม์ไทม์ 2006 ในสาขาเพลงธีม (รามิน ดจาวาดิ) ต่อมาเดือนธันวาคม 2006 โรเบิร์ต เน็ปเปอร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแซทเทลไลต์ 2006 สาขา นักแสดงสมทบชายในซีรีส์ มินิซีรีส์ หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ยอดเยี่ยม

การละเมิดลิขสิทธิ์[แก้]

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2006 มีรายงานข่าวว่า โดนัลด์และโรเบิร์ต ฮิวจ์สได้ยื่นฟ้องต่อสถานีฟ็อกซ์และผู้อำนวยการสร้างรายการและผู้สร้าง พอล เชอริง ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ที่พวกเขาอ้างว่าในปี 2001 พวกเขาส่งต้นฉบับให้กับทางฟ็อกซ์เกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่มาจากประสบการณ์จริงของเขาในการแหกคุกที่ค่ายกักกันเยาวชน โดยในช่วงทศวรรษ 1960 โดนัลด์ ฮิวจ์สวางแผนช่วยพี่ชายโทษประหาร โรเบิร์ต ฮิวจ์ส ที่บริสุทธิ์[42][43]

ซีรีส์ต่อยอด[แก้]

ในเดือนตุลาคม 2007 มีการรายงานว่าจะสร้างตอนแยกออกมาของ แผนลับแหกคุกนรก โดยมีชื่อชั่วคราวว่า "Prison Break: Cherry Hill" ซีรีส์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับแม่บ้านชนชั้นกลางที่ชื่อ มอลลี และเรื่องราวในคุกหญิง[44] ในเดือนกรกฎาคม 2008 มีการพูดว่าความคิดที่จะแนะนำตัวละครหลักของซีรีส์ก่อนที่การต่อยอดจะหยุดไป แต่ก็เกิดแนวคิดซีรีส์ใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้แบรนด์ของ แผนลับแหกคุกนรก คล้ายกับ CSI: Miami และ CSI: New York[45]

การออกฉายและจัดจำหน่าย[แก้]

แผนลับแหกคุกนรก‎ ออกอากาศในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งได้ให้พากย์เป็นภาษาต่าง ๆ หลายภาษา

ทางโทรทัศน์[แก้]

อเมริกาเหนือ[แก้]

ในแคนาดาออกฉายในเวลาเดียวกับในสหรัฐอเมริกาผ่านเครือข่าวโกลบอลทีวี แผนลับแหกคุกนรก ถือเป็นรายการใหม่ประเภทซีรีส์รายการเดียวที่ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของรายการโทรทัศน์ของปี 2005/2006 ในแคนาดา มีผู้ชมเฉลี่ย 876,000 คนในกลุ่มผู้ชมหลักที่อายุ 18–49 ปี และผู้ชม 1.4 ล้านคนในฤดูกาลแรก[46] และระหว่างฤดูกาลที่ 2 ราการมีผู้ชมสูงสุดในช่วงเวลานั้น ในแคนาดา

โอเชียเนีย[แก้]

จากความสำเร็จในอเมริกาเหนือ แผนลับแหกคุกนรก ออกฉายรอบปฐมทัศน์ในออสเตรเลีย สถานีช่อง 7 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 มียอดผู้ชมเฉลี่ยในตอนแรกที่ 1.94 ล้านคน และมียอดผู้ชมสูงสุด 2.09 ล้านคน[47] การโฆษณาเสร็จล่าช้าหลังการฉาย 2 อาทิตย์ ก่อนที่จะฉายในเวลา 20.30 น. ในคืนวันพุธ ในฤดูกาลแรกมียอดผู้ชมเฉลี่ย 1.353 ล้านคน[48] ความนิยมในฤดูกาลแรกในนิวซีแลนด์ยังทำให้ได้รับรางวัลพีเพิลส์ชอยส์สาขารายการโทรทัศน์ประเภทดราม่ายอดนิยม[49]

ในฤดูกาลที่ 2 ทางช่อง 7 ในออสเตรเลียได้เร่งรีบในการประชาสัมพันธ์ ออกอากาศตอนแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2007 ที่เวลาใหม่ที่ 21.30 น. ด้วยผู้ชม 1.226 ล้านคน (47% ของทั้งหมด) [50] แต่ด้วยเรตติ้งที่ตกลงในฤดูกาลที่ 2 ทางช่อง 7 ตัดสินใจที่จะรีบออกฉายฤดูกาลที่ 3 ต่อให้ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา และก่อนที่จะออกขายดีวีดี หรืออินเทอร์เน็ต[51] แต่อย่างไรก็ตาม ยอดผู้ชมในตอนแรกของฤดูกาลที่ 3 ก็มีผู้ชมเพียง 899,000 คน อยู่อันดับที่ 18 ของยอดผู้ชมทั้งหมดในคืนนั้น[52] และคืนวันพุธก็กลายเป็นจุดอ่อนของช่อง 7 ในสัปดาห์[53] ตอนที่ 9 ถึง 13 ของฤดูกาลที่ 3 มีแผนว่าจะออกอากาศในช่วงครึ่งแรกของปี 2008 แต่งอย่างไรก็ตามเกิดความล่าช้าและออกอากาสในคืนวันพุธเวลา 21.30 น. (หรือ 22.30 น.) ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 2008[54] ส่วนการออกฉายซ้ำในออสเตรเลียยังออกฉายในช่องบอกรับสมาชิกทางช่องฟ็อกซ์ 8 และใน 2 ตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่ 3 ออกอากาศทางช่อง 7 แบบ 2 ตอนรวดที่เวลา 22.20 น. มียอดผู้ชม 0.444 ล้านคน[55]

ยุโรป[แก้]

ในสหราชอาณาจักร ฤดูกาลแรกและฤดูกาลที่ 2 ออกอากาศทางช่อง 5 ก่อนที่จะเริ่มฤดูกาลที่ 3 ช่องสกายวันได้ขอลิขสิทธิ์ออกอากาศ แผนลับแหกคุกนรก โดยจ่ายเป็นเงิน 500,000 ปอนด์ต่อตอน[56] ในไอร์แลนด์ออกอากาศทางช่อง RTÉ Two ออกอากาศหลังสหรัฐอเมริกา 1 วัน เช่นเดียวกับในสหราชอาณาจักรและสกายวัน ในฝรั่งเศสออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 2006 มีผู้ชมเฉลี่ย 5.5 ล้านคน (25.8% ของทั้งหมด) [57] ก่อนการฉายในฤดูกาลที่ 2 ได้มีการประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ท้องถิ่นทางช่อง M6 และฟ็อกซ์ โดยทีมนักแสดง เวนท์เวิร์ท มิลเลอร์, โดมินิก เพอร์เซลล์ และผู้สร้าง พอล เชอริง ที่ MIPCOM เมืองคานส์[58] ตอนสุดท้ายในฤดูกาลแรกและตอนแรกในฤดูกาลที่ 2 มีผู้ชม 7.5 ล้านคน (29.0% ของทั้งหมด) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 มียอดผู้ชมรายการมากที่สุดในปี 2006 ของฝรั่งเศส[59] ในฤดูกาลที่ 2 ออกอากาศครั้งแรกวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2007 มีผู้ชม 5.3 ล้านคน (21.3% ของทั้งหมด) [60] ในฤดูกาลที่ 3 ออกฉายครั้งแรกวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007

ในโปแลนด์ ซีรีส์ออกฉายตอนแรกเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 2007 มีผู้ชม 7 ล้านคน (38% ของทั้งหมด) ซึ่งถือว่ามียอดผู้ชมมากที่สุดในซีรีส์ต่างประเทศที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ โดยมียอดสูงสุดในสัปดาห์ในกลุ่มผู้ชม 16-49 ปี (46% ของทั้งหมด) [61]

ถึงแม้ว่า แผนลับแหกคุกนรก จะมีการประชาสัมพันธ์อย่างมากในเยอรมนีแต่ในตอนแรกมียอดผู้ชมต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2007 มีส่วนแบ่งคนดูเพียง 13.5% ของทั้งหมด ออกฉายทางช่องอาร์ทีแอลในช่วงไพรม์ไทม์ โดยมีผู้ชม 1.32 ล้านคนในกลุ่มคนดุ 14-49 ปี หลังจากนั้นได้เปลี่ยนช่วงเวลามาดึกลง ทำให้มีผู้ชมมากขึ้นเป็น 19.2%[62]

ในกรีซ แผนลับแหกคุกนรก ออกอากาศทางช่อง ANT1 ตอนแรกออกฉายเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 2008 กับสองตอนควบกับการตลาดที่ดีด้วยสัดส่วนทางตลาด 23.8% (769,000 คน) แผนลับแหกคุกนรก ประสบความสำเร็จดีกว่ารายการทีวีซีรีส์ที่มีชื่อเสียงรายการอื่นอย่าง Desperate Housewives ที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยออกอากาศทุกวันด้วยสัดส่วนแบ่งประมาณ 20% ต่อตอน ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องปกติของรายการต่างประเทศในวงการโทรทัศน์ของกรีซ ที่ในช่วงที่ผ่านมาไม่กี่ปีมีรายการซีรีส์ต่างประเทศที่ออกฉาย (อย่างเช่น Friends, Nip/Tuck, Lost และ Yabanci Damat) ในวันที่ 2 ของการออกฉายมียอดสัดส่วนแบ่งถึง 26.1% (870,000 คน) โดยขึ้นเป็นอันดับ 3 ของรายการที่มีผู้ชมมากที่สุดในวันนั้นและอันดับที่ 14 ของสัปดาห์ ในตอนสุดท้ายของฤดูกาลแรกออกฉายเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 มียอดผู้ชมใกล้ 900,000 คน[63] ถือเป็นของรายการซีรีส์ต่างประเทศที่มีผู้ชมมากรายการที่ 2 ถัดจาก Yabanci Damat และในฤดูกาลที่ 2 ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2008 ด้วยสัดส่วนแบ่งทางตลาด 20.1%[63]

ในเซอร์เบีย แผนลับแหกคุกนรก ออกฉายในปี ค.ศ. 2006 ทางช่อง RTS1 หลังจากออกอากาศสองฤดูกาลแล้วเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2008 RTS ออกมาประกาศว่าจะกลับมาฉายปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 2008 และหลังจากการออกฉายซ้ำแล้วก็ฉายต่อในฤดูกาลที่ 3 และ 4 ซึ่งถือว่า RTS1 เป็นสถานีแรกในยุโรปที่ออกฉายฤดูกาลที่ 4[64]

เอเชีย[แก้]

ในฮ่องกงออกอากาศทางช่องทีวีบีเพิร์ล โดยในฤดูกาลแรกออกฉายเมื่อ 5 กันยายน ค.ศ. 2006 ถึง 21 มกราคม ค.ศ. 2007 ประสบความสำเร็จกับผู้ชมกลุ่มใหญ่ที่เคยมีมาในรายการดราม่าต่างประเทศทำลายสถิติโค่น ดิ เอกซ์-ไฟล์ส โดยตอนแรกออกฉายมีผู้ชมเฉลี่ย 260,000 คนขณะที่ในฤดูกาลแรกมีคนดูเฉลี่ย 470,000 คน (7.3%) และสูงสุดที่ 590,000 (9.1%) [65] และเนื่องจากกระแสตอบรับอันล้นหลามในฮ่องกง ทีวีบีเพิร์ลได้ซื้อลิขสิทธิ์ฤดูกาลที่ 2 และออกอากาศฉายเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2007 โดยมีผู้ชมเฉลี่ย 270,000 คน ขณะที่มีผู้ชมสูงสุดที่ 310,000 คน โดยทางทีวีบีเพิร์ลหวังไว้ว่าในฤดูกาลที่ 2 จะมีผู้ชมมากกว่าในฤดูกาลแรก[66] แต่อย่างไรก็ตามยอดผู้ชมสูงสุดในฤดูกาลที่ 2 มีเพียง 402,000 คนเท่านั้น และกลุ่มผู้ชมจำนวนมากส่วนใหญ่ชมในฤดูกาลที่ 2 ซึ่งในจีนไม่มีการนำเข้าซีรีส์และจึงดาวน์โหลดฟรี ดูทีวีออนไลน์ และตลาดมืดที่มีขายดีวีดีเถื่อนเหมือนรายการโทรทัศน์อเมริกันรายการอื่น[67]

ในฤดูกาลที่ 1 แผนลับแหกคุกนรก ออกฉายในอินเดียทางช่องสตาร์เวิลด์ในคืนวันอังคาร ฤดูร้อนในปี 2007 ถึงแม้ว่าซีรีส์จะออกฉายในอินเดียและประเทศอื่นในเอเชียในเวลาเดียวกัน สตาร์เวิลด์ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการดึงคนดูมาชมเนื่องจากตอนต่าง ๆ ทั้งฤดูกาลที่ 1 และบางตอนในฤดูกาลที่ 2 ถูกปล่อยแชร์ทางอินเทอร์เน็ต อีกเหตุผลหนึ่งในอินเดียที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะในตอนเดียวกันออกฉายซ้ำหลายครั้งยาวนานหลายอาทิตย์

ส่วนในประเทศไทยออกฉายทางช่องยูบีซีซีรีส์ช่อง 21 ออกอากาศตอนแรกวันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2006 ทุกคืนวันอาทิตย์เวลา 4 ทุ่ม[68]

แอฟริกา[แก้]

แผนลับแหกคุกนรก ออกฉายในแอฟริกาใต้ทางช่อง M-Net และ SABC 3 ซึ่งออกฉายทางช่องเคนยาเน็ตเวิร์ค ส่วนในเซเนกัล ออกฉายทางช่อง RDV ในกานาออกฉายทางทีวีแอฟริกา

การออกจำหน่ายดีวีดีและบลูเรย์[แก้]

การออกจำหน่ายดีวีดีและบลูเรย์ ออกขายหลังที่ออกอากาศในแต่ละแห่ง ในสหราชอาณาจักรจะแบ่งออกเป็นครึ่งแรกและครึ่งหลังโดยออกขายในขณะที่กำลังออกฉายอยู่

ดีวีดี ตอน จำนวนแผ่น วันออกจำหน่าย
โซน 1 โซน 2 โซน 4
ฤดูกาลที่ 1 22 6 8 สิงหาคม ค.ศ. 2006[69] 18 กันยายน ค.ศ. 2006[70] 13 กันยายน ค.ศ. 2006[71]
ฤดูกาลที่ 2 22 6 4 กันยายน ค.ศ. 2007[72] 20 สิงหาคม ค.ศ. 2007[73] 17 กันยายน ค.ศ. 2007[74]
ฤดูกาลที่ 3 13 4 12 สิงหาคม ค.ศ. 2008 19 พฤษภาคม ค.ศ. 2008[75] 3 ธันวาคม ค.ศ. 2008
ฤดูกาลที่ 4 24 6/7 2 มิถุนายน ค.ศ. 2009 6 กรกฎาคม ค.ศ. 2009[76] 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2009[77]

ในงานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค 2006 ทางทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟ๊อกซ์ โฮม เอนเตอร์เทนเมนต์ประกาศว่าจะออกวางขาย แผนลับแหกคุกนรก ในรูปแบบบลูเรย์[78] โดยออกมายืนยันวันจำหน่ายว่าวางขายวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 และถือเป็นรายการโทรทัศน์รายการแรกที่วางจำหน่ายในรูปแบบบลูเรย์ของทางฟ็อกซ์ ซึ่งบลูเรย์ประกอบด้วย 5 แผ่น และมีดีวีดีบ็อกซ์เซ็ตฉบับพิเศษ[79]

ถึงแม้ว่าในฤดูกาลที่ 2 จะยังไม่ออกขายในรูปบลูเรย์ แต่ฉบับบลูเรย์ในฤดูกาลที่ 3 ก็มีการออกจำหน่าย นอกจากนี้ยังมีดีวีดีที่ประกอบด้วยทั้ง 3 ฤดูกาลวางขายเมื่อ 19 พฤษภาคม ของโซน 2

ทางเว็บไซต์[แก้]

นอกจากการออกอากาศทางโทรทัศน์ แผนลับแหกคุกนรก ยังมีออกแพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ต จนเกือบจะจบฤดูกาลแรก ตอนต่าง ๆ มีให้ดาวน์โหลดออนไลน์ผ่านไอทูนส์สโตร์ โดยเริ่มเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2006

หลังจากฉายฤดูกาลที่ 2 ทางโทรทัศน์ ฟ็อกซ์ทำการเผยแพร่ออนไลน์ฟรีแบบสตรีมมิง ผ่านเว็บไซต์ 50 เว็บไซต์รวมทั้ง AOL, กูเกิล และยาฮู! รวมทั้งเว็บไซต์ของฟ็อกซ์เอง แต่อย่างไรก็ตามสามารถดูได้เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยใน 3 ตอนแรกของฤดูกาลที่ 2 ออกมาแบบฟรี หลังจากการออกอากาศทางโทรทัศน์ 1 สัปดาห์[80] การออกอากาศทางเว็บไซต์ได้เลื่อนออกไปหลังฉายตอนที่ 3 เนื่องจากการออกอากาศถ่ายทอดเมเจอร์ลีกเบสบอลเพลย์ออฟในเดือนตุลาคม

ยุทธวิธีได้พัฒนาโดยนิวส์คอร์โปชัน (บริษัทแม่ของฟ็อกซ์และมายสเปซ) พยายามที่จะรักษากลุ่มคนดู เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ทางฟ็อกซ์ได้ปล่อยหลายตอนที่ออกฉายไปแล้วของฤดูกาลที่ 2 ผ่านระบบสตรีมมิง โดยเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง มายสเปซ และเว็บไซต์อื่นที่สถานีเป็นเจ้าของ และตอนทั้งหมดที่เผยแพร่เป็นแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย[81] และยังสามารถชมผ่านทางเว็บฮูลู แต่สามารถชมได้เฉพาะ 5 ตอนล่าสุด

ในสื่ออื่น[แก้]

ยังมีงานสร้างลอกเลียนแบบ แผนลับแหกคุกนรก ในรูปแบบคลิปวิดีโอสั้นทางโทรศัพท์มือถือ และยังมีการออกอย่างเป็นทางการร่วมกันทั้งสิ่งพิมพ์หรือทางอินเทอร์เน็ต และยังมีการพัฒนาวิดีโอเกมอีกด้วย[82]

ยังมีตอนต่อยอดที่มีตัวละครคนละตัวกับ แผนลับแหกคุกนรก อย่าง Prison Break: Proof of Innocence ที่ผลิตออกมาทางโทรศัพท์และออกครั้งแรกให้กับลูกค้าของสปริ้นในเดือนเมษายน 2006 ทางช่อง สปรินต์ทีวี ตอนแรก Prison Break: Proof of Innocence ออกทางอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 เป็นสัญญาพิเศษระหว่างโตโยต้ามอเตอร์และนิวส์คอร์โปเรชัน เพื่อให้โตโยต้าเป็นสปอนเซอร์และได้เนื้อหานี้เป็นพิเศษอยู่ที่เดียว และได้รับการประชาสัมพันธ์เพียงแห่งเดียว

ในสื่อสิ่งพิมพ์ ได้ร่วมกับสินค้ารวมไปถึงนิตยสารและหนังสือ นิตยสารอย่างเป็นทางการพิมพ์โดยไททันพับบลิชชิง ออกวางจำหน่ายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 2006 ภายในมีบทสัมภาษณ์กับตัวละคร ทีมงาน และยังมีเนื้อเรื่องพิเศษเพิ่มเติม ส่วนที่ร่วมกับงานเขียนอย่าง Prison Break: The Classified FBI Files (ISBN 1-4165-3845-3) มีรายละเอียดตัวละครที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องในฤดูกาลที่ 2 เขียนโดยพอล รูดิติส พิมพ์โดยไซมอน แอนด์ ชัสเตอร์ ออกวางขายเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2007[83]

นอกจากนี้ยังมีรายการสดที่เกี่ยวข้องที่ชื่อว่า "Prison Break LIVE!" ผลิตโดยบริษัทเดอะซัดเดนอิมแพกต์เอนเตอร์เทนเมนต์ ที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ชมนำประสบการณ์ปฏิสัมพันธ์กันกับบรรยากาศที่เกี่ยวกับซีรีส์เรื่องนี้ อีกทั้งยังมีการทัวร์ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2006-2008[84]

บริษัทแบรชเอนเตอร์เทนเมนต์ออกมาประกาศว่าได้พัฒนาวิดีโอเกมที่นำโครงเรื่องมาจาก แผนลับแหกคุกนรก โดยอยู่ในเครื่องเล่นเพลย์สเตชัน 3 และเอกซ์บ็อกซ์ 360 มีแผนวางจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2009[82]

ยังมีตอนสั้น ๆ ที่เกิดในช่วงฤดูกาลที่ 3 ที่มีชื่อว่า "Prison Break: Visitations" ที่มี 6 ตอนสั้น ประกอบด้วยเรื่องราวของ เลเชโร, แซมมี, แม็กกราดี,ที-แบ็ก และ เบลลิก ซึ่งสร้างมาพิเศษสำหรับฟ็อกซ์ และถูกแพร่ไปทั่วเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งแทบทั้งหมดพบได้ในยูทูบ และออกฟรีทางไอทูนส์

อ้างอิง[แก้]

  1. Fox Broadcasting Company, Prison Break show info เก็บถาวร 2008-05-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Prison Break official site.
  2. Emmy nominations in all categories เก็บถาวร 2007-01-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Associated Press. July 6, 2006.
  3. 3.0 3.1 Goldman, E., "Paley Fest: Prison Break", IGN. March 13, 2007.
  4. 4.0 4.1 "Breaking Out Is Hard To Do เก็บถาวร 2020-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" Entertainment Weekly. August 26, 2005.
  5. Daswani, M., Paul Scheuring เก็บถาวร 2006-11-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, WorldScreen.com, April 2006.
  6. 6.0 6.1 6.2 Ryan, M, "Joliet prison is a 'Break'-out star เก็บถาวร 2005-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", The Chicago Tribune. August 24, 2005.
  7. "Inside Prison Break: Chain male" Sydney Morning Herald. February 1, 2006.
  8. 8.0 8.1 Set Visit: Prison Break เก็บถาวร 2006-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน IGN. March 17, 2006.
  9. Associated Press, "New 'Prison Break' to be filmed in Dallas เก็บถาวร 2007-11-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" MSN. May 15, 2006.
  10. "A major production เก็บถาวร 2006-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" Mineral Wells Index. September 14, 2006.
  11. "Getting out was the easy part: Season 2 of 'Prison Break' เก็บถาวร 2006-08-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" Chicago Tribune. August 18, 2006.
  12. 12.0 12.1 Dallas Welcomes Hit Television Series เก็บถาวร 2006-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Dallas Film Commission. May 15, 2006.
  13. Moon, T., "'Prison Break' hits beach เก็บถาวร 2007-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Pensacola News Journal.
  14. Sayres, S, "Incentives Would Draw More Film, TV Productions", FOX 4 News. February 12, 2007.
  15. Weatherford, Angela, "A little bit of Hollywood เก็บถาวร 2009-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Athens Review, December 13, 2007.
  16. Prison Break (Original Television Soundtrack), Amazon.com.
  17. "Helping TV Hits Translate Overseas เก็บถาวร 2006-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" Time October 17, 2006.
  18. Wyatt, Edward, "In 'Prison Break,' an Actor's Job Is Never Safe", The New York Times, August 20, 2006.
  19. 19.0 19.1 19.2 Prison Break DVD News, Season 2 Preview!. TV Guide. August 8, 2006.
  20. 20.0 20.1 Australian Associated Press, Prison Break success shocks creator, The Sydney Morning Herald, January 27, 2006.
  21. 21.0 21.1 Prison Break Scoop Direct from the 2007 Paley Festival, TheTVAddict.com, March 10, 2007.
  22. Prison Break Season 1 DVD commentary - Riots, Drills and the Devil (Part 1)
  23. "'Prison' Breaks 'til March; 'Reunion' Ending Early". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-12-02. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  24. Broadcast TV Ratings for Monday, February 5, 2007
  25. TV Ratings: 2007-2008 Season Top-200
  26. "Season Program Rankings (Through 12/7)". American Broadcasting Company (ABC) Medianet. December 9, 2008. สืบค้นเมื่อ December 10, 2008.
  27. "'Prison' Breaks Strong for FOX เก็บถาวร 2007-11-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" Zap2it.com. August 30, 2005.
  28. The top ten shows of the week according to Nielsen Research IMDb. Archive.
  29. "Everyone's watching Post-Katrina coverage". Variety. September 7, 2005.
  30. "Jailhouse Heroes Are Hard to Find". The New York Times. August 29, 2005.
  31. "Get Caught Up On 'Prison Break' เก็บถาวร 2007-01-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Entertainment Weekly.
  32. "'Prison Break': Sharpen Up Those Spoons". The Washington Post. August 29, 2005.
  33. "Prison Break's big debut" The Age. February 2, 2006.
  34. "Premieres, finales falter" USA Today. August 29, 2006.
  35. "Fox to Stream Prison Break, Vanished" Mediaweek.com. August 22, 2006.
  36. "What to watch Monday". USA Today. August 27, 2006.
  37. Fox tonight: Great return, so-so debut เก็บถาวร 2007-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Detroit Free Press. August 21, 2006.
  38. "'NBC, "NBC ratings results for the week of February 5–February 11", The Futon Critic. February 13, 2007.
  39. Broadcast TV Ratings for Monday, April 2, 2007, Entertainmentnow.wordpress.com. April 3, 2007.
  40. "Weekly Program Rankings (Week of 9/17)," ABC Medianet, September 25, 2007.
  41. "Worst TV Show of the Week เก็บถาวร 2016-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". Parents Television Council. September 5, 2006.
  42. "Fox Accused of Stealing Prison Break E!. October 24, 2006.
  43. "Suit Alleges `Prison Break' Idea Stolen เก็บถาวร 2007-11-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" San Francisco Chronicle. October 24, 2006.
  44. FOX Plots a 'Prison Break' Spinoff[ลิงก์เสีย]
  45. 'Prison Break' spinoff update
  46. Global Television Ratings CNW Telbec. September 18, 2006.
  47. "Prison nabs viewers" News.com.au. February 2, 2006.
  48. Seven dominates television in 2006 เก็บถาวร 2008-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Seven Network. December 4, 2006.
  49. Prison Break, TV3.
  50. "Heroes and Prison Break Deliver for Seven" World Screen February 2, 2007.
  51. Dunn, E., "Cult shows air sooner to curb downloads", The Sydney Morning Herald, June 27, 2007.
  52. Seven - Daily Ratings Report เก็บถาวร 2007-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Seven Network. September 27, 2007.
  53. Triumphs: Funny how ratings work เก็บถาวร 2008-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน SMH Online. October 26, 2007.
  54. Prison Break
  55. Knox, David, "Sneak Peek: Heroes, Prison Break" TV Tonight, August 15, 2008.
  56. Sweney, Mark, "Sky One snatches Prison Break" The Guardian, June 5, 2007.
  57. Prison Break, la série phénomène, crée l'événement sur M6 เก็บถาวร 2006-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน M6 September 1, 2006.
  58. "VOD Rollout for Prison Break in France เก็บถาวร 2008-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" World Screen October 10, 2006.
  59. 1ère chaîne avec Prison Break เก็บถาวร 2008-06-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน M6 November 9, 2006.
  60. Audience Prison break : retour gagnant pour M6 Le Blog TV News September 14, 2007.
  61. Prison Break on Polsat, WirtualneMedia. January 30, 2007.
  62. Meza, E., "'Heroes' heads to Germany", Variety, June 29, 2007.
  63. 63.0 63.1 "AGB Nielsen Media Research". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-30. สืบค้นเมื่อ 2008-10-13.
  64. ""Bekstvo iz zatvora" samo na RTS-u", rts.rs, October 2, 2008.
  65. "59萬觀眾睇《逃》結局 創英文收視紀錄", Yahoo! News. January 23, 2007.
  66. "《逃2》首播搶走31萬觀眾", Yahoo! News. March 8, 2007.
  67. "Prison Break popular in China even though it's illegal",BuddyTV. April 3, 2007.
  68. แนะนำซีรี่ชุดใหม่ทาง UBC ประจำเดือนมีนาคม 2549 กระทู้ในพันทิป
  69. "Prison Break - Season One (2005)". Amazon.com. สืบค้นเมื่อ 2007-05-25.
  70. "Prison Break - Season 1 - Complete (2006)". Amazon.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2007-07-12.
  71. Prison Break - Complete Season 1 (6 Disc Set) เก็บถาวร 2007-06-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, EzyDVD.
  72. "Prison Break DVD news: Season 2 delayed again..." TVShowsonDVD.com. 2007-05-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-20. สืบค้นเมื่อ 2007-05-25. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  73. "Prison Break - Season 2 - Complete (2007)". Amazon.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2007-07-12.
  74. Prison Break - Complete Season 2 (6 Disc Set) เก็บถาวร 2007-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, EzyDVD.
  75. Prison Break - Complete Season 3 (4 Disk Set), Amazon.co.uk.
  76. http://www.play.com/DVD/DVD/4-/9006431/Prison-Break-Season-4/Product.html
  77. "PBS04R4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-04. สืบค้นเมื่อ 2010-04-11.
  78. "CES 2007: 24, Prison Break Hit Blu-ray เก็บถาวร 2007-01-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". IGN. January 8, 2007.
  79. Lambert, David, "Prison Break - Exclusive Info for Season Sets on Blu-ray: Date, Cost, Contents, Specs เก็บถาวร 2016-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", TVShowsOnDVD.com, September 5, 2007.
  80. "Fox frees Prison Break without ads". C21Media. August 23, 2006.
  81. Fox Shows on MySpace During MLB Playoffs เก็บถาวร 2006-03-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Associated Press. October 4, 2006.
  82. 82.0 82.1 Sinclair, Brendan, "Brash plans Prison Break", GameSpot, August 15, 2008.
  83. Prison Break: The Classified FBI Files, Simon & Schuster.
  84. Prison Break LIVE! เก็บถาวร 2012-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]