เทศบาลตำบลไทรน้อย

พิกัด: 13°58′41.7″N 100°18′48.2″E / 13.978250°N 100.313389°E / 13.978250; 100.313389
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศบาลตำบลไทรน้อย
สำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย
สำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย
แผนที่
ทต.ไทรน้อยตั้งอยู่ในจังหวัดนนทบุรี
ทต.ไทรน้อย
ทต.ไทรน้อย
ที่ตั้งสำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย
พิกัด: 13°58′41.7″N 100°18′48.2″E / 13.978250°N 100.313389°E / 13.978250; 100.313389
ประเทศ ไทย
จังหวัดนนทบุรี
อำเภอไทรน้อย
จัดตั้ง • 30 สิงหาคม 2499 (สุขาภิบาลราษฎร์นิยม)
 • 25 พฤษภาคม 2542 (ทต.ไทรน้อย)
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรีสัมฤทธ์ ด้วงโสน
พื้นที่
 • ทั้งหมด2.3 ตร.กม. (0.9 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2563)
 • ทั้งหมด2,511 คน
 • ความหนาแน่น1,091.74 คน/ตร.กม. (2,827.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัส อปท.05120501
ที่อยู่
สำนักงาน
เลขที่ 10/11 หมู่ที่ 1 ถนนเทศบาล 2 ตำบลคลองขวาง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี 11150
เว็บไซต์www.sainoi.go.th
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เทศบาลตำบลไทรน้อย เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาลในเขตอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และเป็นเทศบาลตำบลหนึ่งในสิบเอ็ดแห่งของจังหวัดนนทบุรีในปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2499 ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอไทรน้อยมีสภาพชุมชนที่หนาแน่นพอสมควร ในวันที่ 30 สิงหาคม ของปีนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศจัดตั้ง สุขาภิบาลราษฎร์นิยม ขึ้นครอบคลุมพื้นที่ชุมชนในบริเวณดังกล่าวทั้งสองฝั่งคลองพระพิมล เพื่อประโยชน์ในการทะนุบำรุงท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า[1] สุขาภิบาลแห่งนี้มีพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างเขตตำบลไทรน้อยกับตำบลราษฎร์นิยมตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ทางราชการได้แยกบางหมู่บ้านของตำบลราษฎร์นิยมออกมาตั้งเป็นตำบลคลองขวาง[2] การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองในครั้งนี้ทำให้ตำบลราษฎร์นิยมเหลือพื้นที่เฉพาะทางตอนเหนือสุดของจังหวัดนนทบุรี ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ของตำบลราษฎร์นิยม (เดิม) ซึ่งมีบางส่วนอยู่ในเขตสุขาภิบาลราษฎร์นิยมด้วยนั้นกลายเป็นท้องที่ปกครองของตำบลคลองขวางที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่

จนกระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะสุขาภิบาลที่มีอยู่ทั่วประเทศในขณะนั้นเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด เนื่องจากโครงสร้างการปกครองแบบสุขาภิบาลไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและไม่เหมาะสมที่จะรองรับการกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3] อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ปีเดียวกัน (ในช่วงก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับ) กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อสุขาภิบาลราษฎร์นิยมเป็น สุขาภิบาลไทรน้อย เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อตำบลที่ตั้ง[4] (ท้องที่ตำบลราษฎร์นิยมไม่เกี่ยวข้องกับท้องที่ของสุขาภิบาลแห่งนี้แล้ว) และเมื่อพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาลมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคม ปีเดียวกัน[3] สุขาภิบาลไทรน้อยจึงได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น เทศบาลตำบลไทรน้อย

ในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556 กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลไทรน้อยเพื่อประโยชน์ในการจัดบริการสาธารณะ โดยขยายเขตด้านเหนือขึ้นไปจรดทางหลวงท้องถิ่นสายบ้านไทรน้อย-บ้านคลองนาหมอนและถนนบางกรวย-ไทรน้อย และขยายเขตด้านใต้ลงไปจรดคลองไทรน้อยพัฒนา (คลองแอน) พื้นที่ที่ขยายเพิ่มออกไปนี้ได้แก่ ท้องที่บางส่วนของหมู่ที่ 1 (บ้านคลองพระพิมลราชา) ตำบลคลองขวาง และบางส่วนของหมู่ที่ 5 (บ้านคลองพระพิมลราชา) ตำบลไทรน้อย ได้รับโอนมาจากจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองขวางและองค์การบริหารส่วนตำบลไทรน้อยตามลำดับ[5]

สภาพทางภูมิศาสตร์[แก้]

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

เทศบาลตำบลไทรน้อยตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตกของตำบลไทรน้อย มีคลองพระพิมล คลองทวีวัฒนา และคลองห้าร้อยไหลผ่าน มีพื้นที่ 2.3 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 1,437.5 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บางส่วนของหมู่ที่ 1 ตำบลคลองขวาง และบางส่วนของหมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย[6] โดยมีเขตเทศบาลติดต่อกับเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียงดังนี้[5]

ลักษณะภูมิประเทศ[แก้]

เทศบาลตำบลไทรน้อยมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ราบภาคกลางตอนล่างในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1–2 เมตร ความต่างระดับมีน้อยประมาณ 1–5 เมตร

ลักษณะภูมิอากาศ[แก้]

ลักษณะภูมิอากาศโดยทั่วไปของเทศบาลตำบลไทรน้อยคล้ายคลึงกับกรุงเทพมหานคร คือ เป็นแบบร้อนชื้นเขตมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ อุณหภูมิสูงตลอดปี มีฤดูฝนสลับฤดูแล้งชัดเจน อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม มีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาวไม่มากนัก อุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ย 32.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 24.2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์โดยเฉลี่ยร้อยละ 76.3 และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยประมาณ 1,795.5 มิลลิเมตร

สมรรถนะดิน[แก้]

สมรรถนะของดินโดยทั่วไปเป็นดินชุดบางเขน ซึ่งเป็นดินที่มีลักษณะดีมากเหมาะกับการทำนา แต่น้ำท่วมได้ง่ายและเป็นดินเหลวที่ใช้สำหรับเพาะปลูกพืชไร่ เหมาะสำหรับทำนา เพราะน้ำไหลระบายได้ช้า

แหล่งน้ำ[แก้]

คลองพระพิมล

เทศบาลตำบลไทรน้อย มีลำน้ำที่สำคัญที่ใช้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคและบริโภคและเส้นทางคมนาคม คือ

ประชากร[แก้]

เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2563 เขตเทศบาลตำบลไทรน้อยมีประชากร

  • รวม 2,511 คน
  • ชาย 1,273 คน
  • หญิง 1,238 คน

มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ประมาณ 1,091.74 คนต่อตารางกิโลเมตร

การคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต[แก้]

จากการศึกษาระบบชุมชนและความสำคัญของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยในระดับปริมณฑลของกองผังภาค พบว่าเทศบาลตำบลไทรน้อยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญในระดับอำเภอและเป็นศูนย์กลางของอำเภอและชุมชนชนบท ทำหน้าที่ให้บริการแก่ชุมชนโดยรอบ เป็นตลาดกลางสินค้าและผลผลิตทางการเกษตร ชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยมีอัตราการขยายตัวของประชากรชั้นกลาง ซึ่งมีอัตราหลักการขยายตัวของประชากรโดยเฉลี่ยร้อยละ 6.4 คน

ลักษณะของชุมชน[แก้]

ลักษณะของการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย เป็นการตั้งถิ่นฐานตามเส้นทางของการคมนาคม คือคลองพระพิมลและคลองทวีวัฒนา ในปัจจุบันการคมนาคมทางน้ำมีบทบาทลดลง และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงเริ่มขยายตัวออกไปตามเส้นทางของการคมนาคมทางบกที่สำคัญ คือ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ถนนเทศบาล 3 และถนนเทศบาล 6

เทศบาลตำบลไทรน้อยแบ่งชุมชนออกเป็น 5 ชุมชน ดังนี้

  1. ชุมชนตลาด หมู่ที่ 1 ตำบลคลองขวาง
  2. ชุมชนวัดไทรใหญ่ หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย
  3. ชุมชนซอย 6 หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย
  4. ชุมชนซอย 7 หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย
  5. ชุมชนศาลเจ้าพ่อจุ้ยไทรใหญ่ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองขวาง
  6. ชุมชนมงคลนนทเขต หมู่ที่ 5 ตำบลไทรน้อย

การคมนาคม[แก้]

การคมนาคมขนส่งที่สามารถติดต่อกับเทศบาลตำบลไทรน้อยได้สะดวก คือ การคมนาคมทางบกและการคมนาคมทางน้ำ โดยมีรายละเดียดดังนี้

  • การคมนาคมทางบก เป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในปัจจุบัน การคมนาคมระหว่างเทศบาลตำบลไทรน้อยกับจังหวัดนนทบุรี เทศบาลตำบลไทรน้อยมีระยะห่างจากอำเภอเมืองนนทบุรีประมาณ 32 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215) ถึงท่าน้ำบางศรีเมือง ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า ซึ่งมีรถโดยสารประจำทางสายไทรน้อย-บางบัวทองและสายบางบัวทอง-นนทบุรีให้บริการ ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นอกจากนี้เทศบาลตำบลไทรน้อยยังอยู่ห่างจากอำเภอเมืองนนทบุรีประมาณ 28 กิโลเมตร ถึงศาลากลางจังหวัดนนทบุรีโดยข้ามสะพานพระนั่งเกล้า ตามเส้นทางถนนสายบางกรวย-ไทรน้อยและถนนรัตนาธิเบศร์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3215 ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 302) โดยรถประจำทางสายไทรน้อย-บางบัวทองและสายบางบัวทอง-นนทบุรีเช่นเดียวกัน ในระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
  • การคมนาคมทางน้ำ เทศบาลตำบลไทรน้อยมีเส้นทางในการคมนาคมทางน้ำที่ยังสามารถใช้ติดต่อทั้งภายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง คือคลองพระพิมล ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำสายหลักที่สามารถติดต่อกับอำเภอบางบัวทองโดยเรือยนต์ มีระยะห่างจากเทศบาลตำบลไทรน้อยประมาณ 14 กิโลเมตร และสามารถติดต่อกับจังหวัดนนทบุรีโดยผ่านประตูน้ำบางบัวทอง ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอปากเกร็ด แล้วล่องตามลำน้ำไปสู่จังหวัดระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1-2 ชั่วโมง

เศรษฐกิจ[แก้]

สภาพเศรษฐกิจโดยทั่วไปในเขตของเทศบาลตำบลไทรน้อยยังคงพึ่งพาการเกษตรกรรมเป็นหลักเช่นเดียวกับอำเภอไทรน้อย ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่มมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและมีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่สมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การเกษตรกรรม ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรและใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมเกินกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด อาชีพเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การทำนา รองลงมาเป็นการทำสวนผลไม้ สวนผัก และมีการเลี้ยงสัตว์บ้างเล็กน้อย อาชีพนอกภาคเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การค้าขายและการรับจ้าง

การใช้ที่ดินในปัจจุบัน[แก้]

ลักษณะในการใช้ที่ดินของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลไทรน้อยแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้

  1. ที่พักอาศัย บริเวณที่พักอาศัยของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มและเรียงรายไปตามคลองพระพิมลและเป็นบริเวณที่พักอาศัยหนาแน่น ส่วนพื้นที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองจะมีที่พักอาศัยเบาบาง ลักษณะที่พักอาศัยในชุมชน ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น
  2. การพาณิชยกรรม ย่านการค้าหรือพาณิชยกรรมของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยส่วนใหญ่จะอยู่ปะปนกับที่พักอาศัยคือ บริเวณย่านการค้าแถวบริเวณรอบ ๆ สำนักงานเทศบาลตำบลไทรน้อย ลักษณะของการค้าและพาณิชยกรรมของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขายของชำสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ให้บริการขายในชุมชนและชนบท
  3. การอุตสาหกรรม กิจการอุตสาหกรรมที่สำคัญของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย คือ โรงงานผลิตภัณฑ์ไม้อัดเฟอร์นิเจอร์
  4. สถาบันการศึกษา สถาบันการศึกษาภายในชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีสถานศึกษา 2 แห่ง คือ
  1. สถาบันศาสนา สถาบันการศาสนาของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยมี 2 แห่ง คือ
  1. สถาบันราชการ สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ การใช้ที่ดินประเภทนี้ประกอบด้วยที่ทำการปกครองอำเภอไทรน้อย ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขไทรน้อยและสหกรณ์การเกษตรอำเภอไทรน้อย
  2. พื้นที่ว่างและเกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การเกษตรกรรมหลัก ๆ ได้แก่ การทำนา รองลงมาได้แก่ การทำสวนผลไม้และการทำสวนผัก

การค้าและการบริการ[แก้]

บริเวณย่านการค้าในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย คือบริเวณย่านการค้าของชุมชนซึ่งอยู่ใกล้กับที่ว่าการอำเภอไทรน้อย ลักษณะการค้าส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นทั้งร้านค้าและที่พักอาศัย ลักษณะของการค้าขายในเขตของชุมชน เทศบาลตำบลไทรน้อยเป็นการค้าขายสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นในชุมชนชนบท นอกจากสถิติปี พ.ศ. 2545 พบว่าร้านค้าภายในชุมชนมีทั้งหมด 29 ร้าน โดยแยกเป็นประเภทได้ดังนี้

  • ร้านค้าเครื่องชำต่าง ๆ
  • ร้านค้าเครื่องดื่มและอาหาร
  • ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า
  • ร้านเสริมสวย
  • อุตสาหกรรม

เนื่องจากในเขตชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยเป็นชุมชนเกษตรกรรม ดังนั้นกิจการอุตสาหกรรมของเทศบาลตำบลไทรน้อยจึงมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม ได้แก่ โรงสี บริษัทผลิตภัณฑ์ประเภทไม้อัดเฟอร์นิเจอร์ จำนวน 1 โรงงานภายในเขตชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย

สาธารณูปโภค[แก้]

การบริการสังคมในเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย ได้แก่ การให้บริการในด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การศึกษา การบริการสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งการให้บริการแก่สังคมในชุมชนปัจจุบันมีดังนี้

การไฟฟ้า[แก้]

การไฟฟ้าในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อยดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งให้การบริการกระแสไฟฟ้าแก่ชุมชนในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ในปัจจุบันการให้บริการไฟฟ้ามีครบทุกหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการให้บริการไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะในเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย

การประปา[แก้]

การให้บริการด้านการประปาดำเนินการโดยการประปานครหลวงซึ่งมีที่ทำการตั้งอยู่บริเวณถนนเทศบาล 1 มีความสามารถในการกักเก็บน้ำได้ 120 ลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำประปาที่บริการ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวันโดยใช้แหล่งน้ำดิบจากน้ำบาดาล จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมงโดยใช้แหล่งน้ำดิบจากบาดาล

การบริการสาธารณสุข[แก้]

การให้บริการด้านสาธารณสุขในชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีสาธารณสุขอำเภอ 1 แห่ง ขอบข่ายของการให้บริการครอบคลุมอำเภอไทรน้อยและพื้นที่ใกล้เคียง การศึกษา การให้บริการด้านการศึกษาในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีการให้บริการด้านการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษาคือโรงเรียนวัดไทรใหญ่ และระดับมัธยมศึกษาคือโรงเรียนไทรน้อย

การไปรษณีย์โทรเลข[แก้]

การบริการด้านการสื่อสารในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขระดับอำเภออยู่บริเวณถนนเทศบาล 1 ให้บริการจดหมาย โทรเลข พัสดุ ตั๋วแลกเงิน และธนาณัติ การให้บริการครอบคลุมทั้งอำเภอไทรน้อยทั้งทางบกและทางเรือ นอกจากนี้ยังมีชุมสายโทรศัพท์ไทรน้อยจำนวน 500 เลขหมาย แต่ยังไม่เปิดดำเนินการ ปัจจุบันมีโทรศัพท์สาธารณะ 6 แห่งให้บริการวิทยุสื่อสาร

การกำจัดขยะมูลฝอย[แก้]

การให้บริการในด้านการกำจัดขยะมูลฝอยในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย มีรถลากเข็นเก็บขยะ 3 คัน รถอัดขยะ 2 คัน และถังรองรับขยะมูลฝอย 150 ถัง ซึ่งวางไว้ตามจุดต่าง ๆ ในชุมชน ประมาณขยะมูลฝอยประมาณ 650 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เนื่องจากปริมาณขยะในชุมชนมีน้อย ในการกำจัดขยะมูลฝอยทางเทศบาลตำบลไทรน้อยได้นำไปทิ้งในที่ทิ้งขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี

สถานีดับเพลิง[แก้]

การให้บริการทางด้านการดับเพลิงในเขตของชุมชนเทศบาลตำบลไทรน้อย ในปัจจุบัน เทศบาลมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิง ดังนี้

  1. รถยนต์ดับเพลิง จำนวน 1 คัน
  2. รถยนต์บรรทุกเล็กสำหรับติดตั้งเครื่องดับเพลิงชนิดหาบหาม จำนวน 1 คัน
  3. รถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ จำนวน 1 คัน
  4. เครื่องหาบหาม จำนวน 1 คัน
  5. เคมีดับเพลิง จำนวน 50 ชุด

กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม[แก้]

จัดทำเทศบัญญัติสาธารณสุขเทศบาลตำบลไทรน้อย พุทธศักราช 2543

  1. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  2. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์
  3. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการแต่งผม
  4. เทศบัญญัติ เรื่อง การควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  5. เทศบัญญัติ เรื่อง ตลาด
  6. เทศบัญญัติ เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร
  7. เทศบัญญัติ เรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (พิเศษ 75 ง): 1–2. 20 กันยายน 2499.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 96 (135 ง พิเศษ): 11–14. 8 สิงหาคม 2522. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-17.
  3. 3.0 3.1 "พระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (9 ก): 1–4. 24 กุมภาพันธ์ 2542. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-17.
  4. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนชื่อ "สุขาภิบาลราษฎร์นิยม" เป็น "สุขาภิบาลไทรน้อย" อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116 (พิเศษ 33 ง): 4. 21 พฤษภาคม 2542.
  5. 5.0 5.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง เปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 130 (พิเศษ 37 ง): 24. 22 มีนาคม 2556.
  6. sainoi.go.th. ข้อมูลทั่วไป เทศบาลตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี. เก็บถาวร 2010-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]