ข้ามไปเนื้อหา

เทคโนโลยีการศึกษา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทคโนโลยีการศึกษา (อังกฤษ: educational technology) หรือ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นศาสตร์ที่ประยุกต์ วิชาการต่างๆ มาจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยการนำคำ “เทคโนโลยี” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งวิธีการ ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่าเป็นศาสตร์แห่งเครื่องมือเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงวัสดุและวิธีการ เมื่อนำมาใช้ กับ “การศึกษา” จึงเป็นคำใหม่ที่มีความหมายว่า การประยุกต์เครื่องมือ วัสดุและวิธีการไปส่งเสริม ประสิทธิภาพการเรียนรู้ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมใหม่เพื่อการเรียนรู้ “สื่อสาร” เป็น กระบวนการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารจากผู้ส่งไปยังผู้รับ โดยอาศัยสื่อหรือช่องทางต่างๆ ให้เกิดความ เข้าใจและเป็นแบบปฏิสัมพันธ์

เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา เป็นศาสตร์เฉพาะ โดยมีองค์ประกอบของศาสตร์/ วิทยาการ คือ 1) ศัพท์เฉพาะศาสตร์ 2) เนื้อหาสาระ/องค์ความรู้ และ 3) การศึกษาวิจัย ซึ่งว่าด้วย การถ่ายทอดสาระระหว่างผู้รับและผู้ส่ง ซึ่งหมายถึง การประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์ และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาการศึกษา ทั้งในด้านนปริมาณและด้านนการปรับปรุง คุณภาพของการเรียนการสอน วิชาชีพเทคโนโลยีการศึกษา/เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาในประเทศไทย มีการเรียน การสอน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ซึ่งอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามที่แต่ละสถาบัน กำหนด ซึ่งไม่ว่าชื่อจะแตกต่างกันอย่างไร เนื้อหาของวิชาการ ก็เป็นเนื้อหาเดียวกัน ตามขอบข่ายและ มาตรฐานวิชาชีพ โดยมีจุดเน้นต่างกันตามสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของนโยบายเท่านั้น มาตรฐานปฏิบัติงานเทคโนโลยีการศึกษา/เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา 1) ระดับปริญญา ตรีจะเน้นการเป็นนักเทคโนโลยีปฏิบัติการ ผู้ผลิตสื่อการศึกษาและให้บริการสื่อการศึกษา 2) ระดับ ปริญญาโทจะเน้นการออกแบบ การจัดโปรแกรม และ 3) ระดับปริญญาเอกเน้นการพัฒนา [1]

ประวัติเทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทย

[แก้]

เทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ยุคแรก ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ประดิษฐ์อักษรไทย และทรงจารึกอักษรไทยไว้ในแท่งศิลาจารึก นับว่าเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาของไทย ต่อมา พระมหาธรรมราชาลิไทย ได้ทรงเป็นผู้นิพนธ์ "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ของไทย จนต่อมา พระโหราธิบดี ได้แต่งแบบเรียนเล่มแรกของไทย ชื่อว่า "จินดามณี" ถือเป็นเทคโนโลยีการศึกษาของไทย ต่อมา ศาสตราจารย์สำเภา วรางกูล เป็นผู้ริเริ่มและบุกเบิก นวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่ในประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กุมุท ผู้คิดวิธีสอนแบบเบญจขันธ์ และร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร.ชม ภูมิภาค ได้ก่อตั้งสาขาเทคโนโลยีการศึกษาขึ้นในประเทศไทย โดยให้มีการเรียนการสอนในระดับประกาศณียบัตร ขึ้นที่วิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ นักเทคโนโลยีการศึกษาได้สร้างผลงานที่สำคัญได้แก่ ระบบการเรียนการสอน ศูนย์การเรียน ระบบแผนจุฬา วิธีการหาประสิทธิภาพชุดการเรียน ชุดการสอน และก่อตั้งการเรียนการสอนโสตทัศนศึกษาขึ้นที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นผู้ริเริ่มตั้งมหาวิทยาลัยทางไกลของประเทศไทยขึ้น คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เทคโนโลยีการศึกษา

[แก้]

เทคโนโลยีการศึกษา เน้นเรื่อง วิธีการ ระบบ และเครื่องมือ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เทคโนโลยีการศึกษากับนวัตกรรมการศึกษาดูจะใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากนวัตกรรมการศึกษา เป็นการนำเอาสิ่งใหม่ ๆ มาใช้ในการศึกษา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นผลผลิตจากการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีผู้เปรียบเทียบว่า ถ้านวัตกรรมการศึกษาเป็นหน่อไม้ เทคโนโลยีการศึกษาเปรียบเหมือนกอไผ่ ซึ่งรวมทั้งลำไผ่เดี่ยวๆ และกอไผ่ การเรียนการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา ได้มีการเปิดสอนใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เทคโนโลยีการศึกษา ที่ใช้ชื่อ เทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งไม่ว่าชื่อจะแตกต่างอย่างไร เนื้อหาของวิชาการเทคโนโลยีการศึกษาก็เป็นเนื้อหาเดียวกัน

กฎหมายการศึกษา

[แก้]

คำว่า "เทคโนโลยีการศึกษา" แม้มีใช้มานานในแวดวงวิชาการศึกษา แต่คำนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อ พรบ.การศึกษา พ.ศ. 2542 กล่าวถึงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในหมวด 9 โดยมี 7 มาตรา คือ มาตรา 63 - 69 มีเนื้อหาครอบคลุมเนื้อหาการนำคลื่นความถี่วิทยุและโทรทัศน์มาใช้เพื่อการศึกษา สื่อการเรียนการสอน [2] ซึ่งแม้ว่าใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ กล่าวถึง เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพียงการนำสื่อสารมวลชนมาใช้เพื่อการศึกษา แต่ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีเพื่อการศึกษามีเพียงการนำสื่อสารมวลชนมาใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น พรบ.การศึกษาเขียนเพื่อเป็นหลักประกันหรือบังคับให้รัฐนำสื่อสารมวลชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา

การวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษา

[แก้]

ปัจจัยที่กำหนดทิศทาง

  • พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา? (ปัจจุบันฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553 แต่ไม่มีการแก้ไขในหมวด 9 จึง พ.ศ 2542)
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559)
  • กรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ.ศ. 2554-2563 ของประเทศไทย
  • แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2554 - 2569)
  • แผนแม่บทงานวิจัยในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา

แนวโน้มการวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษา[3]

  • การวิจัยโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและแหล่งความรู้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
  • การวิจัยและพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
  • การวิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการศึกษา
  • การวิจัยเพื่อสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • การออกแบบระบบการเรียนการสอน
  • การวิจัยและพัฒนาการจัดหาความรู้และสาระทางการศึกษา
  • การวิจัยและพัฒนาสื่อ
  • การวิจัยบูรณาการวิธีการสอนกับสื่อการสอนในลักษณะที่เป็นรูปแบบการสอน(Instruction Model)

วิชาชีพ

[แก้]

การเรียนการสอนสาขาเทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงปริญญาเอก ผู้ที่จบทางสาขาเทคโนโลยีการศึกษา แล้วทำงานในวิชาชีพนี้เรียกว่า นักเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งเท่าที่พบในประเทศไทยนั้น มีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีตำแหน่ง "นักเทคโนโลยีการศึกษา" ปรากฏอยู่ ส่วนตำแหน่งดั้งเดิมที่มีมานานแล้ว ได้แก่นักวิชาการโสตทัศนศึกษา พนักงานงานโสตทัศนศึกษา และ ผู้ปฏิบัติงานโสตทัศนศึกษา [4] ที่ทำหน้าที่เป็นนักเทคโนโลยีการศึกษา

อ้างอิง

[แก้]
  1. วสุภาณี เส็งศรี,"[http://www.tci-thaijo.org/index.php/edujournal_nu/article/view/9353/8464 PRACTICE OF EDUCATIONAL RESEARCH AND DEVELOPMENT ACQUISITION BY STUDENTS TEACHING STUDENTS ACTIVITY "], วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2554,
  2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ,พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 เก็บถาวร 2007-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,12 พฤศจิกายน 2550,
  3. วรัท พฤกษากุลนันท์ ,แนวโน้มการวิจัยทางเทคโนโลยีการศึกษาตามนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง ,12 พฤศจิกายน 2550,
  4. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา,เกณฑ์มาตรฐาน :: กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เก็บถาวร 2007-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2548,