อังกะลุง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อังกะลุง
อังกะลุงแปดระดับเสียง
เครื่องกระทบ
ประเภท เครื่องดนตรีประเภทกระทบ (idiophone)
Hornbostel–Sachs classification111.232
(Sets of percussion tubes)
ผู้ประดิษฐ์อินโดนีเซีย
อังกะลุงอินโดนีเซีย *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
ประเทศ อินโดนีเซีย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
สาขาธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ, ศิลปะการแสดง, แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล, ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล, งานช่างฝีมือดั้งเดิม
เกณฑ์พิจารณาR.1, R.2, R.3, R.4, R.5
อ้างอิง00393
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2553 (คณะกรรมการสมัยที่ 5)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

อังกะลุง (ซุนดา: ᮃᮀᮊᮣᮥᮀ angklung) เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่ เล่นด้วยการเขย่าให้เกิดเสียง

อังกะลุงได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่มีต้นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่เป็นจังหวัดชวาตะวันตกและจังหวัดบันเตินของประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน โดยชาวซุนดาเป็นผู้เล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้มานานหลายศตวรรษ อังกะลุงและดนตรีอังกะลุงได้กลายเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของประชาคมชาวซุนดาในชวาตะวันตกและบันเติน[1] การเล่นอังกะลุงในฐานะวงดุริยางค์ต้องอาศัยความร่วมมือและการประสานงานกัน เชื่อกันว่าจะส่งเสริมคุณค่าของการทำงานเป็นทีม การเคารพซึ่งกันและกัน และความกลมกลืนในสังคม[2]

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้รับรองอย่างเป็นทางการว่าอังกะลุงอินโดนีเซียเป็นงานชิ้นเอกของมรดกมุขปาฐะและมรดกที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และสนับสนุนให้ชาวอินโดนีเซียและรัฐบาลอินโดนีเซียสงวนรักษา ถ่ายทอด ส่งเสริมการเล่น และสนับสนุนงานช่างฝีมืออังกะลุง[2]

อังกะลุงในไทย[แก้]

หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้นำอังกะลุงเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรก เมื่อราว พ.ศ. 2451 เมื่อครั้งที่โดยเสด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงพันธุวงศ์วรเดช ขณะเสด็จพระราชดำเนินประพาสเกาะชวา

อังกะลุงชวาที่นำเข้ามาครั้งแรกเป็นอังกะลุงชนิดคู่ ไม้ไผ่ 3 กระบอก มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ยกเขย่าไม่ได้ ต้องใช้วิธีการบรรเลงแบบชวา (อินโดนีเซีย) คือมือหนึ่งถือไว้ อีกมือหนึ่งไกวให้เกิดเสียง

อังกะลุงที่นำเข้ามาสมัยนั้นมี 5 เสียง ตามระบบเสียงดนตรีของชวา ทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมดทั้งตัวอังกะลุงและราง ภายหลังได้มีการพัฒนาโดยขยายจำนวนไม้ไผ่เป็น 3 กระบอก และลดขนาดให้เล็กและเบาลงเพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง ในสมัยรัชกาลที่ 6 เชื่อกันว่า มีการพัฒนาการบรรเลงจากการไกวเป็นการเขย่าแทน นับว่าเป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน

หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้นำวงอังกะลุงจากวังบูรพาภิรมย์ไปแสดงครั้งแรกในงานทอดกฐินหลวงที่วัดราชาธิวาสในสมัยรัชกาลที่ 6

โดยทั่วไปเครื่องหนึ่งจะมีเสียงเดียว การเล่นอังกะลุงให้เป็นเพลงจึงต้องใช้อังกะลุงหลายเครื่อง โดยมักจะให้นักดนตรีถืออังกะลุงคนละ 1–2 เครื่อง เมื่อต้องการโน้ตเสียงใด นักดนตรีประจำเสียงนั้นก็จะเขย่าอังกะลุง การเล่นอังกะลุงจึงต้องอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างมาก

นอกจากอังกะลุงเครื่องละหนึ่งเสียงแล้ว ยังมีการผลิตอังกะลุงที่มีเครื่องหนึ่งมากกว่า 1 เสียงด้วย เรียกว่า อังกะลุงราว

วงอังกะลุง[แก้]

อังกะลุงอาจเล่นเป็นวงดนตรีอังกะลุงโดยเฉพาะหรือเล่นรวมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ก็ได้ มักพบในวงดนตรีของสถาบันการศึกษามากกว่าวงดนตรีอาชีพ

วงอังกะลุงวงหนึ่งจะมีอังกะลุงอย่างน้อย 7 คู่ หรือ 5 คู่ ก็ได้ตามความเหมาะสมของสถานที่และงาน โดยจะมีเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง, ฉาบเล็ก, กรับ, โหม่ง, กลองแขก นอกจากนี้มักมีเครื่องตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงาม เช่น ธงชาติ, หางนกยูง เป็นต้น มีมากในเขตนนทบุรี

อ้างอิง[แก้]

  1. Spiller, Henry (2004). Gamelan: The Traditional Sounds of Indonesia, Volume 1. ABC-CLIO. p. 140. ISBN 9781851095063. Angklung has become a veritable symbol of Sundanese culture
  2. 2.0 2.1 ""Indonesian Angklung", Inscribed in 2010 (5.COM) on the Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 10 October 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]