เครื่องกระทบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เครื่องกระทบ (อังกฤษ: percussion instruments) เป็นการจัดประเภทเครื่องดนตรีสากล เครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบนั้นหมายถึง เครื่องดนตรีที่เกิดเสียงดังขึ้นจากการตี กระทบการสั่น การเขย่า หรือ การเคาะ การตีอาจใช้ไม้ตีหรือใช้สิ่งหนึ่งกระทบเข้ากับอีกสิ่งหนึ่งเพื่อทำให้เกิดเสียง เครื่องประเภทนี้มักประกอบขึ้นด้วยวัสดุของแข็งหลายชนิด เช่น โลหะ ไม้ หรือ แผ่นหนังขึงตึง เครื่องประกอบจังหวะอาจมีชื่อเรียกเป็นคำอื่น เช่น เครื่องตี เครื่องประกอบจังหวะ เป็นต้น

ประเภทของเครื่องกระทบ[แก้]

  • 1.เครื่องดนตรีมีระดับเสียงแน่นอน เครื่องดนตรีในกลุ่มนี้มีระดับเสียงสูงต่ำ เหมือนกับเครื่องดนตรีประเภทอื่นเกิดเสียงโดยการตีกระทบ ได้แก่
    • 1.1 ระฆังราว (อังกฤษ: Tubular Bells) ในภาษาอังกฤษเรียกระฆังราวว่า “Orchestral Bells” และ “Chimes” เครื่องดนตรีชนิดนี้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเลียนเสียงระฆังจริง ๆ ทำด้วยท่อโลหะแขวนเรียงตามลำดับเสียงต่ำไปยังเสียงสูงท่อโลหะที่มีขนาดสั้นจะเป็นเสียงสูงส่วนท่อยาวจะเป็นเสียงต่ำ แขวนกับ โครงโลหะในแนวดิ่ง ใช้ไม้ตีที่ปลายท่อด้านหัวจะเกิดเป็นเสียงเหมือนเสียงระฆัง
    • 1.2 มาริมบา (อังกฤษ: Marimba) เป็นระนาดของดนตรีตะวันตก ลักษณะทั่ว ๆ ไปเหมือนกับไซโลโฟน หรือไวปราโฟนเป็นระนาดไม้ขนาดใหญ่ลูกระนาดทำด้วยไม้ที่มีชื่อว่า “โรสวู้ด” ใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะติดอยู่เพื่อเป็นตัวขยายเสียง
    • 1.3 ไซโลโฟน (อังกฤษ: Xylophone) เป็นระนาดไม้ขนาดเล็กของดนตรีตะวันตก ลักษณะทั่วไปคล้ายกับมาริมบาหรือไวบราโฟน ลูกระนาดทำด้วยไม้เนื้อแข็งจัดเรียงลำดับเสียงตามบันไดเสียงโครมาติก (Chromatic) เช่นเดียวกับเปียโนหรือออร์แกน ใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะติดอยู่เพื่อเป็นตัวขยายเสียงประกอบด้วย 2 ขนาด
    • 1.4 ไวบราโฟน (อังกฤษ: Vibraphone) เป็นระนาดโลหะของดนตรีตะวันตกลักษณะทั่วไปคล้ายกับมาริมบาหรือไซโลโฟนเป็นระนาดขนาดใหญู่กระนาดทำด้วยโลหะใต้ลูกระนาดมีท่อโลหะเพื่อเป็นตัวขยายเสียง มีแกนใบพัดเล็ก ๆ ประจำอยู่แต่ละท่อใช้ระบบ มอเตอร์หมุนใบพัด ทำให้เกิดเอฟเฟค (Sound Ettect) เสียงสั่นรัวได้
  • 2.เครื่องดนตรีมีระดับเสียงไม่แน่นอน เครื่องดนตรีในกลุ่มนี้ไม่มีระดับเสียงแน่นอน หน้าที่สำคัญก็คือใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะเกิดเสียงโดยการตี สั่น เขย่า เคาะ หรือขูด ได้แก่
    • 2.1 ฉาบ (อังกฤษ: Cymbals) มีหลายลักษณะ บางชนิดใช้ตีเป็นคู่ให้เกิดเสียง ฉาบบางชนิดใช้เพียงข้างเดียว ตีด้วยไม้ตี ฉาบประเภทนี้ต้องติดตั้งบนขาตั้ง เช่นฉาบสำหรับกลองชุด ฉาบมีหลายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากก็จะทำ ให้เกิดเสียงดัง และความก้องกังวานมากขึ้นด้วย
    • 2.2 ไทรแองเกิล หรือ กิ่ง (อังกฤษ: Triangle) ทำด้วยแท่งโลหะ ดัดให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แท่งโลหะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซ.ม. เพื่อให้เสียงดังกังวานต้องแขวนไว้กับเชือกแล้วตีกระทบด้วยแท่งโลหะ ลักษณะเสียงของไทรแองเกิลจะแจ่มใสมีชีวิตชีวา
    • 2.3 ลูกซัด (อังกฤษ: Maracas) เดิมทำด้วยผลน้ำเต้าแก่จัดทำให้แห้งภายใน บรรจุด้วยเมล็ดน้ำเต้า เมล็ดถั่วต่าง ๆ ต่อด้ามไว้สำหรับถือเวลาเล่น ใช้เขย่าเพื่อให้เกิดเสียงดังซ่า ๆ
    • 2.4 กลองใหญ่ (อังกฤษ: Bass drum) มี 2 หน้าขึงด้วยหนังกลอง กลองใหญ่ที่ใช้ในวงออร์เคสตราจะมีขนาดใหญ่กว่า 32 นิ้ว ถ้าใช้ในวงโยธวาทิตจะมีขนาดตั้งแต่ 24-32
    • 2.5 กลองเล็ก (อังกฤษ: Snare drum) มี 2 หน้า ขึงด้วยหนังกลอง ลักษณะเฉพาะก็คือหน้ากลองด้านล่างขึงคาดไว้ด้วยสายสะแนร์ทำด้วยเอ็นสัตว์
    • 2.6 กลองทิมปานี (อังกฤษ: Timpani) กลองทิมปานีเป็นกลองที่มีลักษณะเหมือนกะทะหรือกาต้ม ในการบรรเลงต้องใช้อย่างน้อย 2 ใบ
    • 2.7 กลองชุด (อังกฤษ: Drum set) คือกลองที่ประกอบด้วยกลองใหญ่ กลองสแนร์ ฉาบ 1 หรือ 2 ใบ กลองทอม 2 หรือ 3 ลูก ไฮแฮท 1คู่ พร้อมทั้งยังเพิ่มเครื่องกระทบจังหวะอื่น ๆ ประกอบเข้า ด้วยกันเป็นพิเศษอีก เช่น คาวเบลส์ เป็นต้น
    • 2.8 คองกา (อังกฤษ: Conga) กลองชนิดหนึ่งมีรูปทรงต่าง ๆ กัน โดยปกติมีความสูง ประมาณ 30 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 11 นิ้ว ตัวกลองทำด้วยไม้อาจใช้ท่อนไม้นำมาขุดให้กลวง หรือใช้แผ่นไม้ตัดให้เป็นรูปทรงตัวกลองคาดแผ่นโลหะไว้รอบตัวกลองติดยึดด้วยหมุดโลหะ คองก้าเป็น กลองหน้าเดียว ขึงด้วยหนังสัตว์ กลองคองก้ามีหลายขนาด ต่างระดับเสียงกัน จะใช้ 3-5 ใบ
    • 2.9 บองโก (อังกฤษ: Bongos) เป็นกลองคู่ต้องมี 2 ลูกเสมอ เล็ก 1 ลูก ใหญ่ 1 ลูก ระดับเสียงของกลอง 2 ลูกตั้งให้ห่างกันในระยะคู่ 4 หรือคู่ 5
    • 2.10 แทมบูรีน (อังกฤษ: Tambourine) ประกอบขึ้นด้วยขอบกลมเหมือน ขอบกลองขนาดเล็กประมาณ 10 นิ้ว ขอบอาจจะทำด้วยไม้ พลาสติก หรือโลหะ รอบ ๆ ขอบติดด้วย แผ่นโลหะประกบกัน 2 แผ่นหรือติดด้วยลูกกะพรวนเป็นระยะใช้ตีกระทบกับฝ่ามือ หรือสั่นเขย่าให้เกิดเสียงดังกรุ๋งกริ๋งเพื่อประกอบจังหวะ แทมบูรีนบางชนิดขึงด้วยหนัง 1 ด้าน ใช้ฝ่ามือตีที่หนังได้
    • 2.11 คาวเบลส์ (อังกฤษ: Cowbells) พัฒนามาจากกระดิ่งผูกคอวัว รูปทรงคล้ายระฆังมากกว่ากระดิ่ง ตีด้วยไม้ตีกลอง ใช้มากในดนตรีละตินอเมริกา ดนตรีประกอบการเต้นลีลาศหรือเพลงลูกทุ่งของไทย คาวเบลส์ยังใช้เป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของกลองชุดอีกด้วย
    • 2.12 มาร์กทรี (อังกฤษ: Mark Tree) ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Mark Tree”, “Chime Tree” หรือ “Bar Chimes” เป็นเครื่องประกอบจังหวะของดนตรีตะวันตก ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายระฆังราวแต่มีขนาดเล็ก ประกอบด้วยลูกระฆังจำนวนมากแขวนเรียงตามลำดับความยาว ลูกระฆังมักทำจากอะลูมิเนียมทรงกระบอกตันหรือท่อทองเหลืองกลวง บรรเลงโดยใช้นิ้วมือหรือแท่งโลหะรูดไปตามแนวลูกระฆังหรือที่สายแขวนลูกระฆัง อนึ่ง ในประเทศไทยนิยมเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ราวเบล” ซึ่งไม่ใช่ชื่อที่ถูกต้องและยังสับสนกับ “Round Bell” ซึ่งหมายถึง “กะพรวน”

ความเป็นมาของเครื่องกระทบ[แก้]

  • ยุคหินเก่าตอนต้น มีการค้นพบเครื่องดนตรีหลายชนิดทั้งที่ทำให้เกิดเสียงโดยการเคาะ เป่า และขัดถู ส่วนเครื่องกระทบที่ค้นพบในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำหนังสัตว์มาขึงกับตอไม้ที่เจาะกลวงตรงกลางและใช้กระดูกสัตว์ตี เรียกว่า กลองขึงหนัง
  • ยุคหินใหม่ตอนปลาย ค้นพบ Rattle เป็นการนำเศษก้อนหินหรือเปลือกหอยมาร้อยรวมกันแล้วเขย่าให้เกิดเสียง, ไซโลโฟน การนำเศษไม้หรือเศษกระดูกที่มีขนาดใกล้เคียงกัน นำมาเรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก แล้วตีด้วยไม้หรือกระดูก, กลองขึงหนัง และไม้ตีชนิดต่างๆ
  • ยุคกลาง ดนตรีถูกจำกัดอยู่เพียงการร้องเพลงเพื่อศาสนาเท่านั้น ทำให้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องกระทบไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่จะพบในลักษณะที่เป็นของเล่น หรือเครื่องส่งสัญญาณต่างๆ เช่น กระดิ่ง หรือระฆัง
  • ยุคกลางตอนปลาย เพลงนอกศาสนาเริ่มมีถือกำเนิดขึ้น แต่เครื่องกระทบยังคงไม่ได้รับความนิยม ที่พอจะรู้จักและพบในช่วงนี้คือ กลองTabor (เป็นกลองขนาดเล็กที่ใช้ตีประกอบการเป่าขลุ่ย ที่ได้รับอิทธิพลจากตุรกี), แทมบูรีน (Tambourine) และกลองทิมปานี (Timpani) หรือเรียกว่า แคทเทิลดรัมส์ (Kettledrums) ซึ่งจะใช้ในราชสำนักและพิธีกรรมทางศาสนา ต่อมาปีค.ศ. 1670 มีการนำเครื่องกระทบเข้ามาใช้ในวงออร์เคสตรา โดยกลองทิมปานีได้รับการยอมรับมากที่สุด เครื่องกระทบจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น
  • ยุคโรแมนติก เครื่องกระทบมีบทบาทมากขึ้น และได้รับการพัฒนาขึ้นด้วย โดยมีการเปลี่ยนแปลงให้มีหลายขนาด และหลายๆ เสียง เช่น แทมบูรีน, ไซโลโฟน, ระฆังราว (Tubular Bell), คัสทาเนท (Castanets) หรือกรับสเปน
  • ยุคสมัยใหม่ (Modern) ใยยุคนี้มีการปรับปรุงและก่อสร้างกลไกต่างๆ ให้กับเครื่องกระทบเพื่อตอบสนองการใช้งานของคีตกวี เช่น การเปลี่ยนเสียงของกลองทิมปานี
  • ศตวรรษที่ 20 กลองหนังถูกพัฒนาเป็นกลองชุด (Drums Set) และไซโลโฟน ได้รับการพัฒนาให้มีรูปแบบแตกต่างไปจากเดิมเรียกว่า ไวบราโฟน (Vibraphone) และมาริมบา (Marimba)

เครื่องกระทบในวงดนตรีประเภทต่างๆ[แก้]

เครื่องกระทบในวงออร์เคสตรา[แก้]

เครื่องกระทบแบบมีระดับเสียงในวงออร์เคสตรา โครเทล (บน) และกลอกเคนสปีล (ล่าง)

ในวงออร์เคสตรา เครื่องกระทบถือเป็นหนึ่งในสี่ส่วนประกอบอันได้แก่ เครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าลมทองเหลือง และเครื่องกระทบ เครื่องกระทบที่มักจะใช้ในวงออร์เคสตราได้แก่ ทิมปานี กลองสแนร์ กลองใหญ่ ฉาบ ไทรแองเกิล แทมแทม กลอกเคนสปีล ไซโลโฟน เซเลสทา และไชมส์ นอกจากนี้ ฝ่ายเครื่องกระทบยังรับผิดชอบการสร้างเสียงอื่นๆ เช่น คาวเบลล์ วูดบลอก และเครื่องดนตรีแปลกๆอีกหลายชนิด โดยทั่วไปนักเพอร์คัชชันจะถูกฝึกให้เล่นได้ทุกเครื่อง แต่นักทิมปานีมักจะเล่นทิมปานีเป็นหลักแม้ว่าจะถูกฝึกมาแบบนักเพอร์คัชชันก็ตาม นอกจากนักทิมปานี ผู้เล่นคนอื่นจะต้องพร้อมกับการเล่นทุกเครื่อง รวมถึงเครื่องดนตรีแปลกๆอย่างกลองบองโกหรือลูกซัด ในหนึ่งเพลงผู้เล่นอาจจะต้องเล่นมากกว่าหนึ่งเครื่องดนตรี ซึ่งหลายครั้งต้องเปลี่ยนระหว่างเครื่องอย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่เล่นสองเครื่องในเวลาเดียวกัน

เครื่องกระทบในวงโยธวาทิต[แก้]

เครื่องกระทบในวงโยธวาทิต โดยเครื่องดนตรีจะติดกับตัวผู้เล่น

เครื่องกระทบที่ใช้บรรเลงในวงโยธวาทิต จะถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการเล่นในขณะที่มีการเคลื่อนไหว คือจะมีส่วนที่ช่วยยึดติดเครื่องดนตรีกับร่างกาย และมีเสียงดัง เพราะการบรรเลงของวงโยธวาทิตมักจะอยู่กลางแจ้งภายนอกอาคาร และมีการแปลขบวนแถวด้วย

เครื่องกระทบที่นิยมนำมาใช้ในวงโยธวาทิต ได้แก่ กลองสแนร์ กลองเทเนอร์ เบสดรัม (กลองใหญ่) ฉาบ เป็นต้น ในวงโยธวาทิตมักมีการใช้เบสดรัม 4-5 ใบ โดยจะเรียกรวมกันว่า กลองคอร์ด ส่วนกลองสแนร์จะใช้ 3 ใบขึ้นไป เพื่อให้เสียงดัง และมีความหนักแน่น นอกจากนั้นยังมีการนำเฉพาะเครื่องกระทบที่อยู่วงโยธวาทิตมารวมวงรู้จักกันในชื่อดรัมไลน์