ปี่จุม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปี่จุม เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าของภาคเหนือ (ล้านนา) คำว่า "จุม" เป็นภาษาล้านนาหมายถึงการชุมนุม หรือการประชุมกัน ดังนั้น ปี่จุม จึงหมายถึง การนำปี่หลาย ๆ เล่มนำมาเป่ารวมกัน ทำด้วยไม้รวก ลำเดียว นำมาตัดให้มีขนาดสั้น ยาว เรียงจากขนาดเล็ก (ปลายไม้) ไปหาใหญ่ (โคนของลำไม้) มีต่าง ๆ กัน ตามระดับเสียง เรียงจากขนาดเล็ก ซึ่งมีระดับสูง ไปหาขนาดใหญ่ที่มีเสียงต่ำ ดังนี้

  • ปี่ก้อยเล็ก
  • ปี่เล็ก หรือ ปี่ตัด
  • ปี่ก้อย
  • ปี่กลาง
  • ปี่แม่

ปี่จุมนิยมใช้บรรเลงประกอบการขับซอพื้นเมืองของล้านนา นิยมกันมากในจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง โดยเพลงหรือทำนองซอที่ใช้ปี่ชุมบรรเลง ได้แก่ ทำนองตั้งเชียงใหม่ จ้อยเชียงแสน จะปุ ละม้าย เงี้ยว พม่า อื่อ ล่องน่านก๋าย พระลอเดินดง

ประเภทของปี่จุม[แก้]

ส่วนประกอบ[แก้]

ไม้ที่ใช้มาทำปี่จุมมักจะเป็นไม่ไผ่รวกชนิดหนึ่ง มีสีออกแดง ปี่ 1 จุมจะใช้ไม้ไผ่รวกลำเดียวกันทำโดยตัดไม้ตามขนาดที่ต้องการ นำมาตากแดดจนแห้งดีแล้ว นำไปทะลวงข้อโดยใช้เหล็กแหลมเผาไฟ ทางปลายที่เรียวเล็กจะใช้เป็นหัวเล่ม ซึ่งจะปาดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า เอาไว้ใส่ลิ้นปี่ แล้จะเจาะรูไล่ลงมา 7 รู ซึ่งระยะห่างของรูแต่ละช่วงจะไม่เท่ากันเหมือนขลุ่ย รูที่เจาะนั้นก็จะไม่เจาะเหมือนขลุ่ยกล่าวคือจะเจาะทะลุย้อนขึ้นไปทางหัวปี่ที่ใส่ลิ้น ไม่เจาะทะลุตรง ๆ เวลาเป่าจะใช้ปากอมลิ้นเข้าไปแล้ว ใช้แก้มทำกล่องลมเพื่ออัดลมเข้าลิ้นให้เกิดเสียง อย่าง "มุราลี" ของพระกฤษณะ

ลิ้นปี่ถือว่าเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของปี่จุม จะใช้ทองแดง หรือสำริด ตีให้เป็นแผ่นบาง ๆ ปัจจุบันใช้เหรียญ 25 สตางค์ เหรียญ 50 สตางค์ นำมาทุบหรือรีดให้แบบ แล้วทำการเซาะให้เป็นแนวร่องทะลุ ให้เป็นรูปตัว V ซึ่งเสียงของปี่จะดีหรือไม่ จะเป่าง่ายเป่ายากขึ้นอยู่กับลิ้นปี่นั้นเอง เพราะฉะนั้นจึงมีเพียงจั้งปี่รุ่นเก่า ๆ เท่านั้นที่ทำปี่ได้เสียงดี และหาผู้สืบต่อได้ยากเพราะต้องใช้เวลา และสมาธิสูงในการทำวงปี่สมัยก่อนนั้น จะประกอบด้วย ปี่จุม 4 เพียงเท่านั้น ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ โดยลดปี่ลงเพียง 3 เล่ม คือ ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อย และได้นำซึง เข้ามาแทน เพื่อใช้เป็นเสียงทุ้ม จนถึงปัจจุบันนี้ วงปี่เหลือเพียง ปี่กลาง ปี่ก้อย ปี่เล็ก และ ซึง โดยได้ตัดปี่แม่ออกเนื่องจากปี่แม่มีลีลาเม็ดพรายน้อย ประกอบกับมีความยาวมาก เด็ก ๆ รุ่นใหม่ที่จะหัด นิ้วมือจะสัมผัสรูปี่ไม่ถึง ปี่แม่จึงค่อย ๆ เลือนหายไปจากวงซอ สำหรับ "ปี่ก้อย" นั้นได้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของวงซอเพราะถือว่า เป็นผู้นำเปรียบเสมือนระนาดเอกของภาคกลาง จั้งซอและจั้งปี่เล่มอื่น ๆ จะฟังเสียงจากปี่ก้อย เพราะปี่ก้อยจะมีลีลาเม็ดพรายที่มากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจั้งปี่ที่ทำการเป่าด้วย จั้งซอจะเปลี่ยนทำนองซอเป็นทำนองไหนก็ต้องบอกจั้งปี่ก้อยเพียงผู้เดียว เสียงที่ดังระรัวแต่อ่อนหวาน จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของปี่ซอ

อ้างอิง[แก้]