กลองสะบัดชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ ในสมัยก่อนใช้ ตียามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็น ขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ทำนองที่ใช้ในการตี กลองสะบัดชัยโบราณมี 3 ทำนอง คือ ชัยเภรี, ชัยดิถี และชนะมาร

การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

รูปร่างลักษณะกลองสะบัดชัย[แก้]

รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้น เท่าที่พบมีแห่งเดียว คือกลองสะบัดชัยจำลองทำด้วยสำริด ขุดพบที่วัดเจดีย์สูง ตำบลบ้านหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยดังกล่าวประกอบด้วยขนาดกลองสองหน้าเล็ก 1 ลูก กลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอ ๆ กับกลองใหญ่อีก 1 ใบ พร้อมไม้ตีอีก 3 อัน หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน

ส่วนที่พบโดยทั่วไป คือกลองสะบัดชัยที่แขวนอยู่ตามหอกลองของวัดต่าง ๆ ในเขตล้านนา ซึ่งมักจะมีลักษณะเหมือนกัน คือมีกลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก หน้ากว้างประมาณ 30 – 35 นิ้ว ยาวประมาณ 45 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุด ( ล้านนาเรียก "แซว่" ) โดยที่หมุดไม่ได้ตัดเรียบคงปล่อยให้ยาวออกมาโดยรอบ ข้าง ๆ กลองใหญ่ มีกลองขนาดเล็ก 2 - 3 ลูก เรียกว่า " ลูกตุบ " กลองลูกตุบทั่วไปมักมีสองหน้าบางแห่งมีหน้าเดียว ขนาดหน้ากว้างประมาณ 8 – 10 นิ้ว ความยาวประมาณ 12 – 15 นิ้ว หน้ากลองหุ้มด้วยหนังตรึงด้วยหมุดเช่นกัน

กลองสะบัดชัยในปัจจุบันเป็นกลองที่ย่อส่วนมาจากวัด เมื่อย่อขนาดให้สั้นลง โดยหน้ากว้างยังคงใกล้เคียงกับของเดิม ลูกตุบก็ยังคงอยู่ ลักษณะการหุ้มหน้ากลองเหมือนของเดิมทุกประการ ตัวกลองติดคานหามสำหรับคนสองคนหามได้ ต่อมาไม่นิยมใช้ลูกตุบ จึงตัดออกเหลือแต่กลองใหญ่ ลักษณะการหุ้มเปลี่ยนจากการตรึงด้วยหมุดมาใช้สายโยงเร่งเสียง เพราะสะดวกต่อการตึงหน้ากลองให้ตึงหรือหย่อนเพื่อให้ได้เสียงตามที่ต้องการ ข้างกลองประดับด้วยไม้แกะสลักซึ่งนิยมแกะเป็นรูปนาค และมีผ้าหุ้มตัวกลองให้ดูสวยงามอีกด้วย

การแต่งกายของผู้แสดง[แก้]

ผู้แสดงใส่ชุดพื้นเมืองเหนือ นุ่งเตี่ยวสะดอ โพกศรีษะ สวมเสื้อม่อฮ้อม

บทบาทของกลองสะบัดชัย[แก้]

อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันศิลปะการตีกลกองสะบัดชัย เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้นำชื่อเสียงทางด้านวัฒนธรรมพื้นสู่ล้านนา และบทบาทของกลองสะบัดชัยจึงอยู่ในฐานะการแสดงในงานวัฒนธรรมต่าง ๆเช่น งานขันโตก งานพิธีต้อนรับแขกเมืองขบวนแห่ ฯลฯ

แต่โอกาสในการใช้กลองสะบัดชัยแต่เดิมมาจนถึงปัจจุบันยังมีอีกหลายประการ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในวรรณกรรมต่าง ๆมากมาย สรุปได้ดังนี้

ใช้ตีบอกสัญญาณ[แก้]

การใช้กลองสะบัดชัยตีบอกสัญญาณนั้นมีหลายลักษณะ ดังนี้

สัญญาณโจมตีข้าศึก

ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดพระงาม ผูกที่ 2 กล่าวถึงสมัยพระญามังราย ตอนขุนครามรบพระญาเบิกที่เมืองเขลางค์ ขุนครามแต่งกลให้ขุนเมือง

เชริงเป็นปีกขวา ขุนเมืองฝางเป็นปีกซ้ายยกพลเข้าโจมตี กล่าวว่า ‘' เจ้าขุนครามแต่งกลเส็กอันนี้ แล้วก็หื้อสัญญาริพลเคาะคล้องโย้ง ( ฆ้อง ) ตีกลองชัย ยกสกุลโยธาเข้าชูชนพระญาเบิก ยู้ขึ้นมาวันนั้นแล กลองชัยในที่นี้ คือกลองสะบัดชัยนั่นเอง เพราะในบริบทที่ใกล้เคียงกันนี้มีคำว่า

‘' สะบัดชัย ตีคู่กับฆ้องอยู่ด้วย กล่าวคือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พระยาลุ่มฟ้าห้อยกพลเข้าตีเชียงแสนชาวเมืองแต่งกลศึกโดยขุดหลุมพรางฝังหลาว แล้วตีปีกทัพล้อมไล่ทัพห้อให้ถูกกล

‘' ยามแตรจักใกล้เที่ยงวันหร้อ ( ฮ่อ ) ยกพลเส็กเข้ามาชาวเราจิ่งเคาะคล้อง ( ฆ้อง ) ตีสะบัดชัย ยกพลเส็กกวมปีกกากุมติดไว้ และในสมัยพระญาติโลกราช ตอนหมื่นด้งนครรบชาวใต้ ( สองแคว ) ได้ให้พลโยธาซุ่มอยู่จนข้าศึกตายใจแล้ว กล่าวว่า ‘' หมื่นด้งหื้อเคาะคล้องโย้ง ตีสะบัดชัย เป่าพุลุ ลาภา ปลี่หร้อยอพลเส็กเข้า ฝูงอยู่คุ่มไม้ก็สว่ายเดงช้างตีจองวองยู้เข้าไพ โห่ร้องมี่นันมากนัก

สัญญาณบอกข่าวในชุมชน

วรรณกรรมไทเขินเรื่อง ‘' เจ้าบุญหลง ผูกที่ 5 ตอนชาวเมืองปัญจรนคาผูกผุสรถเพื่อเสี่ยงเอาพญาเจ้าเมือง อามาตย์ได้สั่งให้เสนาไปป่าวประกาศ ‘' อมาตยแก้วพรองเมือง หื้อเสนาเนืองเอิ้นป่าว ค้อนฟาดหน้ากลองไชย เสียงดังไปผับจอด รู้รอดเสี้ยงปัญจรนคร ‘' และผูกที่ 7 ตอนเจ้าพรหมปันจัดเตรียมทัพไปเยี่ยมอนุชาและมารดา ได้สั่งให้เสนาไปร้องป่าวให้ชาวเมืองเตรียมขบวนาร่วมด้วย ‘' เจ้าก็ร้องเสนามาสู่ แทบใกล้กู่ตนคำปลงอาชญาทำโดยรีบ ถีบคนใช้หนังสือ กลองสะบัดชัยตีป่าวกล่าวไพร่ฟ้ามามวล

เป็นมหรสพ[แก้]

วรรณกรรมเรื่อง อุสสาบารส ผูกที่ 1 ตอนพระยากาลีพรหมราชให้นำมเหสีสุราเทวีไปเที่ยวชมสวนอุทยานและในสวนอุทยานก็มีการเล่นมหรสพ ‘' มหาชนา อันว่าคนทังหลายก็เหล้นมโหรสพหลายประการต่าง ๆ ลางพร่องก็ตีกลองสะบัดชัยตื่นเต้น ลางพร่องก็ตีพาทย์ค้องการะสับ ลางพร่องเยียะหลายฉบับ ฟ้อนตบตีนมือ ลางพร่องปักกะดิกเอามือตางตีน

ในวรรณกรรมประเภทคร่าวซอเรื่อง หงส์หิน ที่แต่งโดยเจ้าสุริยวงส์ ตอนมีงานสมโภชเจ้าหงส์หินได้เป็นเจ้าเมืองกล่าวถึงการเล่นมหรสพต่าง ๆ ซึ่งมีกลองสะบัดชัยด้วย ว่า

‘' เจ็ดแบกเมี้ยน บ่ถูกตัวเขา ดาบลาเอา ท่ารบออกเหล้นกลองสะบัดชัย ลูกตุบไล่เต้น ขบวนเชิงต่อยุทธ์ ชนผัดหลัง แล้ววางอาวุธ พิฆาตข้าฟันลอง

และแม้ในงานศพของกษัตริย์ หรือเจ้าเมืองก็มีกลองสะบัดชัยเป็นมหรสพ เช่น ที่ปรากฏในวรรณกรรมคร่าวซอเรื่องก่ำกาดำ ตอนงานศพของพระยาพาราณสี

‘' เชิญพระศพมา ฐานตั้งไว้ กลางข่วงกว้างเมรุไชย ฟังดูกลองค้อง พิณพาทย์เสียงใส เภรีบัดไชย สรรญเสริญเจ้า

เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ[แก้]

วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง ‘' ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตี กลองสะบัดชัย เหล้นม่วนโห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก หากได้แล้วก็ตีค้อง กลองสะบัดชัย สงวนม่วนเหล้น กวัดแก่วงดาบฟ้อนไปมา

เครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน[แก้]

ในวรรรณกรรมประเภทโคลงเรื่องอุสสาบารส มีการตีกลองสะบัดชัย ดื่มสุราในเหล่าพลโยธายามว่างจากการรบ ดังปรากฏในโคลงบทที่ 130 ว่า

พลท้าวชมชื่นเหล้น สะบัดชัย อยู่แล

มัวม่วนกินสนุกใจ โห่เหล้า

ทัพหลวงแห่งพระขิต ชมโชค พระเอย่

กลองอุ่นเมืองท้าวก้อง ติ่งแตร

บทบาทและหน้าที่ของกลองสะบัดชัยจากหลักฐานทางวรรณกรรมดังกล่าวแสดงว่าแต่เดิมนั้นเกี่ยวพันกับฝ่ายอาณาจักรกษัตริย์หรือเจ้าเมืองและกองทัพทั้งนั้นต่อมาเมื่อสถาบันกษัตริย์เจ้าเมืองของล้านนาถูกลดอำนาจจนสูญไปในที่สุด กลองสะบัดชัยซึ่งถือได้ว่าเป็นของสูง จึงเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ไปอยู่กับ ศาสนจักร ซึ่งมีบทบาทคู่กับ ‘' อาณาจักร มาตลอดศาสนสถานของพุทธศาสนาคือวัด ฉะนั้นวัดจึงน่าจะเป็นสถานที่รองรับกลองสะบัดชัยมาอีกทอดหนึ่ง และเมื่อเข้าไปอยู่ในวัดหน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้น คือตีเป็น ‘' พุทธบูชา จนได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า กลองปูชา ( อ่าน ก๋องปู๋จา ) เวลาตีก็บอกว่า ตีกลองปูชา กระนั้นก็ตามหลายแห่งยังพูดว่า ตีกลองสะบัดชัย อยู่ดี

อย่างไรก็ตามแม้จะได้หน้าที่ที่ใหม่แล้ว หน้าที่เดิมที่ยังคงอยู่ก็คือเป็น สัญญาณ เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของชุมชนข่าวสารต่าง ๆ จึงมักออกจากวัด ปัจจุบันจึงได้ยินเสียงกลองจากวัดอยู่บ้าง ( เฉพาะวัดที่ยังไม่มีเครื่องเสียงตามสาย ) เพื่อเป็นสัญญาณเรียกประชุมสัญญาณบอกเหตุฉุกเฉิน สัญญาณบอกวันโกนวันพระและหน้าที่รองลงมาที่เกือบจะสูญหายแล้วาคือเป็น ‘' มหรสพ ซึ่งเหลือเฉพาะในงานบุญคือ บุญสลากภัตต์ที่เรียกว่า ทานกวยสลาก ( อ่าน ‘' ตานก๋วยสะหลาก )


หมายเหตุ[แก้]

การเรียงของลูกกลองสบัดชัยในอดีตจะเอาลูกตุบไว้ด้านขวา เอาใบใหญ่ไว้ด้านซ้าย ซึ่งตรงกันข้ามกันกับกลองปูจา เพราะกลองปูจา จะเอาลูกตุบไว้ด้านซ้าย เอาใบใหญ่ไว้ด้านขวา แต่เมื่อยุคสมัย บวกกับสภาพแวดล้อม ทำให้การใส่ลูกตุบของกลองสบัดชัยไม่มีอีกต่อไป คงเหลือแต่ตัวแม่ หรือใบใหญ่

ทรรศนะที่ว่ากลองสะบัดชัยเปลี่ยนที่อยู่ใหม่จากอาณาจักรสู่ศาสนจักรเป็นเพียงความเข้าใจที่ได้จากการวิเคราะห์จากหลักฐานที่ยกมาเท่านั้น ผู้อ่านอาจไม่เห็นด้วยก็ได้ เพราะวัดมีหอกกลองมาช้านานแล้ว

การนำกลองสะบัดชัยเข้าสู่ขบวนแห่

บทบาทและหน้าที่เดิมของกลองสะบัดชัยอย่างหนึ่งคือเป็นมหรสพ ซึ่งเป็นมหรสพในงานระดับกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ( วัง ) ต่อมาเป็นมหรสพในงานบุญคือระดับศาสนา ( วัด ) ก็ยังหาหลักฐานไม่พบว่ามีการนำเอาเข้าขบวนแห่ด้วยหรือไม่ เพราะกลองสะบัดชัยหรือกลองบูชาที่อยู่ตามวัดนั้นมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ยากแก่การเคลื่อนย้าย ภายหลังน่าจะมีผู้คิดว่าควรนำไปแห่เข้าขบวนด้วย จึงจำลองขนาดให้พอหามสองคนได้โดยย่อขนาดให้สั้นลงประมาณ 1 ใน 3 ส่วน

อ้างอิง[แก้]