สุวิทย์ วัดหนู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุวิทย์ วัดหนู
นายสุวิทย์ วัดหนู ขณะเข้าร่วมการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549
เกิด20 ธันวาคม พ.ศ. 2495
ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
เสียชีวิต12 มีนาคม พ.ศ. 2550 (54 ปี)
โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3
สาเหตุเสียชีวิตโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
สัญชาติไทย
การศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตบางแสน)
อาชีพนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ นักพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2519 - 2550
มีชื่อเสียงจากเข้าร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
แนวร่วมคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่วนสูงcm
คู่สมรสนางสุวรรณี วัดหนู
ญาติเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

สุวิทย์ วัดหนู (20 ธันวาคม พ.ศ. 2495 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2550) เป็นนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย สลัม และคนจนเมือง เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เลขาธิการเครือข่ายคนเดือนตุลา มีบทบาทขับไล่เผด็จการในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 และเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประวัติ[แก้]

สุวิทย์เกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมทะเลในตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตบางแสน (มหาวิทยาลัยบูรพาในปัจจุบัน) และเริ่มเข้าร่วมงานกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา ต่อมาเข้าเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับรุ่นพี่คือ วิทยากร เชียงกูล และ จรัล ดิษฐาอภิชัย ภายในรั้วมหาวิทยาลัย และก้าวไปกับขบวนการประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ 3 ทรราช "ถนอม-ประภาส-ณรงค์" อันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516

ปี พ.ศ. 2518 เขาเพิ่งจบศึกษาศาสตร์บัณฑิต และเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนช่างกล พระราม 6 และมีบทบาทสำคัญในฐานะแกนนำ "แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย" ป้องกันกำลังจัดตั้งนักเรียนอาชีวะของฝ่ายขวาจัด ในการชุมนุมเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตยอันนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 หลังจากถูกปราบปรามในเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาถูกสถานการณ์กดดันให้ต้องหนีเข้าป่า ไปประจำเขตงานทางใต้ (สุราษฏร์-ชุมพร) ใต้ร่มเงาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นานถึง 8 ปี

เมื่อออกจากป่าในปี พ.ศ. 2528 ก็เข้าทำงานกับมูลนิธิดวงประทีป และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2532 ก็เข้าทำงานที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่, เลขาธิการ และกรรมการมูลนิธิฯ จนกระทั่งเสียชีวิต

สุวิทย์เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเลขาธิการเครือข่ายคนเดือนตุลา และมีบทบาทขับไล่เผด็จการในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เขาเก็บตัว ลดกิจกรรมที่เคยร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยลง เนื่องจากตั้งใจจะเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชนดังที่เคยคิดไว้กับผู้ร่วมอุดมการณ์ เพื่อผลักดันประชาธิปไตยในแนวทางรัฐสภา

สุวิทย์เสียชีวิตเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยนางสุวรรณี วัดหนู ภรรยาบอกว่า ก่อนหน้านั้นเขาไปประชุมกับเครือข่าย เมื่อกลับมาบ้านก็รับประทานอาหารและดูโทรทัศน์ จากนั้นได้บ่นปวดหลัง จึงให้ภรรยานวด และกินยานอนหลับ (ซึ่งทำเป็นประจำเมื่อมีอาการปวดหลัง) หลังจากอาบน้ำและเข้านอนตามปกติแล้ว คืนนั้นเธอแปลกใจที่ไม่ได้ยินเสียงเขานอนกรนเช่นที่เคยเป็น เมื่อลองเรียกก็ไม่เสียงตอบ กระทั่งไปปลุกพบว่าหมดสติไปแล้ว จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 แต่แพทย์ระบุว่าเสียชีวิตก่อนมาถึง

อ้างอิง[แก้]