มหาศาลาประชาชน

พิกัด: 39°54′12″N 116°23′15″E / 39.90333°N 116.38750°E / 39.90333; 116.38750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มหาศาลาประชาชน
人民大会堂
เหรินหมินต้าฮุ่ยถาง
มหาศาลาประชาชน และอนุสาวรีย์วีรชน
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ที่ตั้งถนนเหรินต้าฮุ่ยถางตะวันตก
จัตุรัสเทียนอันเหมิน,
เขตซีเฉิง,
กรุงปักกิ่ง
ประเทศ จีน
พิกัด39°54′12″N 116°23′15″E / 39.90333°N 116.38750°E / 39.90333; 116.38750
เปิดใช้งานกันยายน พ.ศ. 2502; 64 ปีก่อน
มหาศาลาประชาชน
ห้องประชุมใหญ่มหาศาลาประชาชน
อักษรจีนตัวย่อ人民大会堂
อักษรจีนตัวเต็ม人民大會堂
ความหมายตามตัวอักษรห้องโถงใหญ่ของประชาชน

มหาศาลาประชาชน (จีนตัวย่อ: 人民大会堂; จีนตัวเต็ม: 人民大會堂; พินอิน: Rénmín Dàhuìtáng; แปลตรงตัว: "ห้องโถงใหญ่ของประชาชน") เป็นอาคารของรัฐซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ถูกใช้เป็นอาคารทางนิติบัญญัติและใช้ในพิธีการต่าง ๆ ของรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำหน้าที่เป็นสถานที่ประชุมใหญ่ประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติของประเทศ ควบคู่ไปกับการประชุมระดับชาติของสภาที่ปรึกษาทางการเมืองประชาชนจีน ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาทางการเมืองของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่สำหรับการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนนับตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 12 เมื่อปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา และการประชุมคณะกรรมาธิการกลางพรรคซึ่งจัดขึ้นประมาณปีละครั้ง

อาคารนี้ยังถูกใช้สำหรับกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการประชุมระดับชาติขององค์กรทางสังคมและการเมืองต่าง ๆ การฉลองครบรอบใหญ่ ตลอดจนพิธีรำลึกถึงอดีตผู้นำ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเยี่ยมชมเมืองหลวง

มหาศาลาประชาชนปรากฎอยู่ในด้านหลังของธนบัตรหยวนเหรินหมินปี้ชุดที่ 5 ใบละ 100 หยวน

ที่มาของชื่อ[แก้]

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2502 ประธานเหมา เจ๋อตงแห่งคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มาเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้าง ว่าน หลี่ (万里) รองนายกเทศมนตรีปักกิ่ง รายงานว่าหอประชุมนี้ยังมิได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ หลังจากปรึกษาหารือกันระยะหนึ่ง ในที่สุดเหมา เจ๋อตงก็ได้ตั้งชื่อหอประชุมนี้ว่า "ห้องประชุมใหญ่ของประชาชน" (人民大会堂)

ประวัติ[แก้]

มหาศาลาประชาชนขณะกำลังก่อสร้าง

ในการประชุมเมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501 คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจริเริ่มโครงการก่อสร้างสำคัญหลายโครงการในกรุงปักกิ่ง รวมทั้งมหาศาลาประชาชน

นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ต้องการสถาปัตยกรรมที่จะบ่งบอกว่า "ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ" และขอให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 10 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เหลือเวลาเพียง 1 ปีกับ 1 เดือนนับตั้งแต่การตัดสินใจสร้างและเสร็จสิ้นโครงการ และเวลาก็กระชั้นชิดมาก

ในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ. 2502 จ้าว เผิงเฟย (赵鹏飞) ผู้อำนวยการคณะกรรมการการก่อสร้างเทศบาลปักกิ่งในฐานะตัวแทนรัฐบาล ได้เชิญสถาปนิก ศิลปิน และอาจารย์ชั้นนำกว่า 30 คนจาก 17 มณฑลและเมืองต่าง ๆ รวมถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง อู่ฮั่น และเทียนจิน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ ในด้านแสง เสียงและโทรคมนาคม ในการออกแบบมหาศาลาประชาชน

หลังจากการพิจารณาคัดเลือกแบบจากทั้งหมด 184 แบบ แบบของสถาบันการวางแผนและการจัดการเทศบาลปักกิ่ง ที่ออกแบบโดย จ้าว ตงรื่อ (赵冬日) และเสิ่น ฉี (沈其) ได้รับการคัดเลือก และถูกส่งไปยังนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อพิจารณาอนุมัติในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และในวันที่ 23 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ก็ได้พิจารณาอนุมัติแบบ

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2501 การก่อสร้างมหาศาลาประชาชนได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ สถาบันออกแบบและวิจัยสถาปัตยกรรมปักกิ่งรับผิดชอบการออกแบบด้านเทคนิคและการออกแบบเขียนแบบการก่อสร้าง จาง ป๋อ (张镈) ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการการก่อสร้างเทศบาลปักกิ่งให้เป็นหัวหน้าสถาปนิกของมหาศาลาประชาชน ทำหน้าที่ออกแบบ จัดหาวัสดุ และก่อสร้างในเวลาเดียวกัน

วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2502 มหาศาลาประชาชนก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ

มหาศาลาประชาชนหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2502

การออกแบบ[แก้]

มหาศาลาประชาชนตอนกลางคืน

มหาศาลาประชาชนได้รับการออกแบบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพและความเสมอภาคทางชาติพันธุ์ของชาติ

มหาศาลาประชาชนมีพื้นที่ในอาคาร 171,801 ตารางเมตร ยาว 336 เมตร กว้าง 206.5 เมตร จุดที่สูงที่สุดมีความสูง 46.5 เมตร มีปริมาตรภายในกว่า 90,000 ลูกบาศ์กเมตร

ภายนอกเป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์นีโอคลาสสิกและโซเวียต ภายในเป็นการตกแต่งสไตล์จีน ฐานด้านล่างเป็นหินแกรนิตสูง 5 เมตร ภายนอกเป็นผนังหินแกรนิตสีเหลืองอ่อน เชิงชายคาเป็นกระเบื้องเคลือบสีเขียวและสีเหลืองด้านบน

อาคารถูกแบ่งออกเป็นส่วนหลักจำนวนสามส่วน ได้แก่[แก้]

  • ส่วนกลาง: ห้องประชุมใหญ่, ห้องประชุมกลาง, และโถงประชุม (ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญฯ), โถงกลาง, โถงทอง
  • ส่วนเหนือ: ห้องรัฐพิธีจัดเลี้ยง, โถงรัฐพิธีต้อนรับ, โถงเหนือ, โถงตะวันออก, โถงตะวันตก
  • ส่วนใต้: สำนักงานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ

ห้องโถงกลางครอบคลุมพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร ผนังและพื้นปูด้วยหินอ่อนสี มีเสาหินอ่อนสีขาว 20 ต้นล้อมรอบ ทางเดินกว้าง 12 เมตรที่ชั้นกลาง มีทางเข้าหลัก 6 ทางไปสู่ ​​หอประชุมหมื่นคน

แต่ละมณฑล เขตปกครองพิเศษ เขตปกครองตนเองของจีนมีห้องโถงของตนเองในห้องโถงใหญ่ เช่น โถงปักกิ่ง โถงฮ่องกง และโถงไหหลำ ห้องโถงแต่ละห้องมีลักษณะเฉพาะและตกแต่งตามสไตล์ท้องถิ่น

หอประชุมหมื่นคน (The Auditorium of Ten Thousand People)
ห้องประชุมหมื่นคน

หอประชุมหมื่นคน เมื่อสร้างเสร็จก็กลายเป็นหอประชุมใหญ่ที่สุดของจีน แทนที่หอรำลึกซุน ยัตเซ็น ในนครกว่างโจว สามารถรองรับผู้คนได้พร้อมกันถึง 10,000 คน เพดานประดับด้วยดวงไฟกาแล็กซี โดยมีดาวสีแดงดวงใหญ่อยู่ตรงกลางเพดาน และลวดลายของคลื่นน้ำแสดงถึงผู้คน สิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมโสตทัศนูปกรณ์และระบบอื่นๆ ที่ปรับเปลี่ยนได้สำหรับประเภทและขนาดการประชุมที่หลากหลาย พร้อมระบบล่ามแปลภาษา

เพดานหอประชุมหมื่นคน
โถงสีทอง (Golden Hall)
โถงสีทอง (ห้องโถงกลางชั้นสาม)

ชื่ออย่างเป็นทางการของโถงสีทองคือ "ห้องโถงกลางชั้นสาม (三楼中央大厅)" เป็นสถานที่ที่ผู้นำของพรรคและรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนรับแขกจากต่างประเทศและทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ เพื่อยื่นหนังสือรับรอง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ที่ผู้นำจัดแถลงข่าว

โถงเหนือ (North Hall)

โถงเฟิงเหมิน (风门) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โถงเหนือ เป็นสถานที่ที่รัฐบาลจีนจัดรัฐพิธีต้อนรับการมาเยือนของประมุขแห่งรัฐที่มีความสัมพันธ์ทางการทูต ฝั่งตะวันออกมีหอประชุมแขกของรัฐ และฝั่งตะวันตกมีห้องโถงของรัฐ

ห้องรัฐพิธีจัดเลี้ยง (The State Banquet Hall)
ห้องรัฐพิธีจัดเลี้ยง

ห้องรัฐพิธีจัดเลี้ยง อยู่ที่ส่วนเหนือของมหาศาลาประชาชน มีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร และสูง 15 เมตร สามารถรับรองแขกได้ 7,000 คน และสามารถรับประทานอาหารพร้อมกันได้สูงสุด 5,000 คน (เช่นในโอกาสการเยือนประเทศจีนของ ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในปี 1972) ผนังสีเหลืองครีมและเสาทรงกลมขนาดใหญ่ประดับด้วยเครื่องทองและมีเวทีสำหรับกล่าวสุนทรพจน์และทำการแสดง

การใช้งาน[แก้]

มหาศาลาประชาชนใช้สำหรับการจัดกิจกรรมระดับชาติมากมาย รวมถึงการประชุมระดับชาติขององค์กรทางสังคมและการเมืองต่างๆ การเฉลิมฉลองวันชาติ

มหาศาลาประชาชนยังถูกใช้สำหรับรัฐพิธีศพและพิธีรำลึกถึงผู้นำระดับสูงหลายคน เช่น รัฐพิธีศพของอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หู เย่าปังในปี พ.ศ. 2532 ของอดีตผู้นำสูงสุดเติ้ง เสี่ยวผิงในปี พ.ศ. 2540 และครั้งล่าสุดคือของอดีตประธานาธิบดี เจียง เจ๋อหมินในปี พ.ศ. 2565

อาคารและหอประชุมใหญ่หมื่นคน เปิดให้สาธารณชนเข้าชมในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวเมื่อไม่ได้ใช้งาน การประชุมและคอนเสิร์ตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองบางงานก็สามารถจัดขึ้นในนี้ได้เช่นกัน

ดูเพิ่ม[แก้]